โรคซึมเศร้าในผู้สูงวัย ไม่ใช่เรื่องเล็ก! ควรป้องกันตั้งแต่วันนี้

ปัจจุบันพบว่ามีคนสูงวัยจำนวนไม่น้อยที่เลือกปลิดชีพตัวเองจากปัญหาที่รุมเร้า การผ่านเหตุการณ์รุนแรงที่ฝังใจ การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักอย่างภรรยาหรือสามี หรือแม้แต่การถูกลูกหลานทิ้งให้อยู่เพียงลำพังโดดเดี่ยว ปัจจัยเหล่านี้ล้วนกระตุ้นให้คิดสั้นได้ทั้งสิ้น เพื่อกระตุ้นให้ใจสบาย กายเป็นสุข

ภาวะอารมณ์เศร้า หรือโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ (Late-life depression) เป็นโรคซึมเศร้าที่เกิดในผู้สูงวัย ช่วงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แบ่งเป็น 2 แบบ คือ อาการซึมเศร้าที่เป็นมาก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ และที่เกิดในช่วงที่เข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงวัยพบมากถึง 10-20 % ของประชากร และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่หย่าร้าง อยู่ตัวคนเดียว หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก จะมีความเสี่ยงกับภาวะนี้มากขึ้น

อาการซึมเศร้าในผู้สูงอายุมักไม่ค่อยตรงไปตรงมา มีตั้งแต่เศร้าเล็กน้อย อารมณ์ไม่แจ่มใส ไปจนถึงรุนแรงมากจนกระทั่งเป็นโรคหรือมีอาการจิตเวชร่วมด้วย

พญ.ภาพันธ์ ไทยพิสุทธิกุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มีข้อมูลและข้อสังเกตอาการโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ และการป้องกันมาบอกลูกๆ หลานๆ ที่ต้องดูแลร่มโพธิ์ร่มไทร ว่า ก่อนจะพูดถึงโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุและคนทั่วไป ขอย้อนไปที่เรื่อง “ความเครียด” ที่เป็นตัวสำคัญและมีผลต่อทั้งอารมณ์ จิตใจ

ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยเครียดมากๆ จนไม่สามารถจัดการได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุสำคัญของโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะผู้ที่มีความอ่อนไหวอยู่แล้ว เช่น คนสูงอายุที่สูญเสียคู่ชีวิต ถือเป็นตัวกระตุ้นการเกิดโรคดังกล่าวได้ค่อนข้างมากเช่นกัน นอกจากนี้ คุณตาคุณยายที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังซึ่งรักษาไม่หายขาด อาทิ โรคมะเร็ง กระทั่งการอยู่ในสภาพแวดล้อมของครอบครัวที่ไม่สามารถระบายความในใจกับใครได้

หากเป็นผู้สูงวัยที่อยู่ต่างจังหวัดก็อาจคุยกับคนในชุมชนหรือเพื่อนต่างหมู่บ้านได้ ขณะที่ผู้สูงอายุในชุมชนเมืองอาจขาดการสื่อสารกับผู้อื่น เนื่องจากสังคมเมืองนั้นต่างคนต่างอยู่ ที่น่าสนใจ ผู้ที่เกษียณอายุราชการก็อาจเข้าข่ายเป็นโรคนี้ได้หากไม่ได้วางแผนการใช้ชีวิตหลังจากนี้ ทั้งนี้ โรคซึมเศร้ายังสามารถพบได้ในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ที่สำคัญผลการรักษาก็ไม่ดีเท่ากับวัยอื่นๆ และหากปล่อยโรคนี้ไว้นานๆ ก็จะทำให้คุณตาคุณยายป่วยโรคสมองเสื่อมได้ในที่สุด

สำหรับอาการของโรคซึมเศร้าที่ลูกหลานพึงให้การสังเกตนั้นมีด้วยกันตั้งแต่ 1.นิ่ง 2.หงุดหงิดง่าย 3.อารมณ์แปรปรวน นอกจากนี้ก็มีอาการอื่นร่วมด้วย เป็นต้นว่า ผู้สูงอายุท่านนั้นชอบนอนเฉยๆ ไม่อยากทำอะไร เฉื่อยชา, กินไม่ได้ นอนไม่หลับ, เข้านอนเร็ว ตื่นบ่อย, ตื่นนอนเช้ากว่าปกติ, บางรายรับประทานอาหารจุ, ไม่ค่อยมีสมาธิ, หลงลืม, ไม่ทำกิจกรรมที่เคยทำหรือเคยชอบ เช่น ไม่ขับรถ, ไม่ชอบเข้าวัดทำบุญ หรือไม่ทำงานอาสาต่างๆ เหมือนอย่างที่เคย

บางรายก็จะบ่นปวดหัว, ชอบพูดประชด เสียดสี ในรายที่อาการของโรคซึมเศร้าหนักมักจะชอบคิดว่าอวัยวะภายในร่างกายหายไป ฯลฯ

พูดง่ายๆ ว่าความจำหรือความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนการวางแผนตัดสินใจจะหายไป หรือเกิดความบกพร่องจากภาวะโรคซึมเศร้านั่นเอง ดังนั้นหากพบว่าคุณพ่อคุณแม่มีอาการที่กล่าวนานเกิน 2 อาทิตย์ อาจเข้าข่ายป่วยโรคดังกล่าว จึงควรรีบพาไปพบแพทย์

สิ่งที่น่าเป็นกังวลอีกอย่างคือ หากมีอาการหนักหรือถึงขั้นที่คนไข้บ่นอยากฆ่าตัวตาย หากมาขึ้นถึงขั้นนี้ แนะนำให้ลูกหลานควรให้ความใส่ใจ รีบเข้าไปพูดคุยซักถาม รับฟังปัญหาโดยต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ตำหนิความคิดของผู้ป่วย อีกทั้งต้องไม่พูดว่าเรื่องของผู้ป่วยเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือรีบพาไปพบจิตแพทย์ด่วนที่สุด เนื่องจากไม่ใช่สิ่งที่ผู้ป่วยขู่ เพราะผู้สูงอายุป่วยโรคซึมเศร้ามักจะฆ่าตัวตายด้วยวิธีรุนแรงกว่าผู้ป่วยเด็ก”

แท้จริงอาการของโรคซึมเศร้ามีสาเหตุมาจากความเครียด เพราะผู้สูงอายุบางรายไม่สามารถจัดการกับความกดดันดังกล่าวได้ กระนั้นการสร้างความผ่อนคลายให้กับท่านที่นอกเหนือจากการรับฟังแล้ว การหาเวลาไปเยี่ยมเยียนบ่อยๆ หากิจกรรมเพลิดเพลินทำด้วยกันอาทิตย์ละครั้ง 2 ครั้ง ก็นับเป็นการป้องกันโรคนี้ได้ทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตามอย่ามองว่าภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุอาจเป็นเพียงเรื่องปวดหัวเล็กน้อยของคนรอบข้างหรือคนในครอบครัว ไปจนกระทั่งรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ผู้เป็นโรคซึมเศร้ามักไม่สนใจตัวเอง กินน้อยหรือไม่กินเลย เบื่อหน่ายการใช้ชีวิต ไม่นอน ไม่ออกกำลังกาย ไม่ทำกิจกรรม ไม่รับประทานยาตามสั่ง ทำให้ภาวะโภชนาการและความแข็งแรงของร่างกายลดลง โรคประจำตัวอื่นๆจะควบคุมได้ยากขึ้น หากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่สภาพอารมณ์ของผู้สูงวัยอาจแย่ลงต่อเนื่องไปนานจนทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้ หรืออาจกลายเป็นภาวะซึมเศร้าขั้นรุนแรงจนผู้ป่วยเลือกที่จะจบชีวิตตัวเอง ซึ่งแม้ว่าการฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่เมื่อตัดสินใจทำแล้ว มักจะเลือกวิธีการที่รุนแรงและทำสำเร็จเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นหากผู้สูงวัยมีอาการเบื้องต้นที่เข้าข่ายภาวะซึมเศร้า ผู้ใกล้ชิดควรรีบพามาพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงที

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

การเปลี่ยนแปลงตามอายุที่ส่งผลต่อร่างกาย และอารมณ์

“ดนตรี” ช่วยกระตุ้นความทรงจำผู้สูงวัยได้!

สูงวัยสุขภาพดีได้ง่ายๆ ด้วยการใช้ชีวิตตามหลัก 6 อ.

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.