ผู้สูงวัยเกิดปัญหาการกลืนลำบาก ลูกหลานอย่านิ่งนอนใจ!!

วัยสูงอายุเป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพและระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งการกลืนด้วยโดยการเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดกับลักษณะทางกายวิภาคของศีรษะและลำคอ สรีรวิทยา และกลไกของระบบประสาทที่ควบคุมการกลืน ส่งผลให้ความสามารถสำรองของการกลืนในผู้สูงอายุลดลง ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะกลืนลำบากได้ง่ายขึ้น

ซึ่งเรื่องนี้ผู้ดูแลเองต้องใส่ใจให้ดี เพราะเมื่อเกิดภาวะกลืนลำบากขึ้นแล้วหากรักษาไม่ทันท่วงทีอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา

การกลืนลำบาก พบได้ตามความเสื่อมของร่างกายเมื่อสูงอายุขึ้น และพบมากในผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับสมองและระบบประสาท โดยพบว่า ผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ มีภาวะกลืนลำบากมากที่สุด รองลงมาคือ โรคพาร์กินสัน และ โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก โดยจะมีอาการสำลักเมื่อดื่มน้ำหรืออาหาร มักพบในผู้ที่กล้ามเนื้อที่ใช้กลืนมีปัญหาบีบตัวผิดจังหวะ ทำให้น้ำหรืออาหาร หลงเหลือไม่ได้กลืนลงลำคอ จนเกิดการสำลักนั่นเอง

หากไม่ดูแล ภาวะกลืนลำบากจะส่งผลกระทบทั้งทางกายและทางใจ   

การสำลักอาหาร หรือมีการกลืนลำบากนี้ หากไม่ดูแลให้ดีผู้ป่วยจะไม่อยากกินอาหาร หรือมักหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำ หรือกินน้อยลง ทำให้ร่างกายขาดน้ำ ขาดสารอาหาร ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมโรคเดิมที่เป็นอยู่ น้ำหนักลด ร่างกายอ่อนแอ เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะการติดเชื้อในปอดและทางเดินหายใจจากการสำลัก

ส่วนผลเสียที่จะส่งผลทางสังคมและจิตใจของผู้ป่วยก็คือ มักมีความกังวลในการกินข้าวร่วมกับผู้อื่น ทำให้ออกห่างจากสังคม กินอาหารคนเดียวนำไปสู่ความเศร้า หดหู่ ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง และมีความอยากอาหารลดลง ยิ่งจะทำให้สุขภาพโดยรวมทรุดโทรมลงไปอีก

การรักษาภาวะกลืนลำบาก

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในวัยสูงอายุทำให้เกิดภาวะกลืนลำบาก ผู้สูงอายุบางรายอาจมีอาการของภาวะกลืนลำบากเป็นครั้งคราว แต่หากอาการเหล่านี้มีมากจนมีภาวะแทรกซ้อนเช่น น้ำหนักลด มีภาวะขาดอาหารหรือขาดน้ำ รวมทั้งมีภาวะแทรกซ้อนในเรื่องปอดอักเสบ หรือความสามารถในการช่วยเหลือตนเองลดลง ผู้ป่วยเหล่านี้ควรได้รับการประเมินความสามารถในการกลืน รวมทั้งให้การรักษาที่เหมาะสมเป้าหมายของการรักษาภาวะกลืนลำบาก

โดยผลของการรักษาที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีการกลืนอาหารและน้ำได้อย่างปลอดภัย ได้รับอาหารและน้ำอย่างเพียงพอ ป้องกันภาวะปอดอักเสบจากการสำลัก

ในด้านแนวทางการรักษาภาวะกลืนลำบากนั้น เมื่อพาท่านไปพบแพทย์ จะได้รับการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของภาวะกลืนลำบาก ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากภาวะกลืนลำบาก รักษาและฟื้นฟูความสามารถในการกลืน ใช้เทคนิคชดเชยเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการกลืน รวมถึงปรับสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารและการกลืนให้เหมาะสมและปลอดภัย

วิธีการรักษาภาวะกลืนลำบากประกอบด้วย

การปรับอาหาร (Dietary modification)

ถือว่าเป็นวิธีการรักษาที่มีความสำคัญ หากประเมินแล้วว่าผู้ป่วยมีคุณสมบัติที่จะได้รับอาหารทางปาก ก็ควรเลือกชนิดของอาหารที่ใช้ในการฝึกกลืนอย่างเหมาะสม ถึงแม้ว่าอาหารเหลวเมื่อรับประทานแล้วจะไม่มีอาหารเหลือค้างในปาก แต่ผู้ที่มีภาวะกลืนลำบากจากระบบประสาทผิดปกติเมื่อกลืนอาหารเหลว อาหารจะผ่านจากระยะช่องปากเข้าสู่ระยะคอหอยอย่างรวดเร็วก่อนที่จะเกิดการกลืนจึงเกิดการสำลักได้บ่อย

แต่อาหารที่มีความข้นมากกว่าปกติจะช่วยชะลอไม่ให้อาหารเข้าสู่ระยะคอหอยก่อนเกิดการกลืน ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์ควรจำกัดการให้ของเหลวรวมทั้งอาหารเหลวแก่ผู้ที่กลไกการกลืนยังทำงานไม่ดี ในปัจจุบันมีสารเพิ่มความหนืด (thickener) ที่ผสมได้ทั้งอาหารเหลวและของเหลวช่วยให้ผู้ที่มีปัญหากลืนลำบากมีความปลอดภัยมากขึ้น ภายหลังการประเมินจึงต้องเลือกอาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วย สมาคมนักโภชนาการแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้แบ่งอาหารที่ใช้ในการฝึกกลืนสำหรับผู้ป่วยกลืนลำบากเป็น 4 ระดับ ได้แก่

อาหารระดับ 1: อาหารปั่นข้น เนื้อเดียวกัน เกาะกันเป็นก้อน ไม่มีน้ำ และไม่จำเป็นต้องบดเคี้ยว (pureed) เหมาะ

สำหรับผู้ที่มีภาวะกลืนลำบากปานกลางถึงมาก

อาหารระดับ 2: อาหารปั่นข้นปานกลาง ถึงมาก เนื้อนุ่มเกาะกันเป็นก้อนได้ง่าย และต้องการการบดเคี้ยว (semisolid)

อาหารระดับ 3: อาหารอ่อน เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย (softsolid) เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะกลืนลำบากเล็กน้อย

อาหารระดับ 4: อาหารปกติ

การออกกำลังกายกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน (Oromotor exercise)

กล้ามเนื้อของผู้สูงอายุจะมีมวลกล้ามเนื้อลดลง และกำลังของกล้ามเนื้อก็ลดลงตามไปด้วย แต่สามารถทำการฟื้นฟู กำลังได้โดยการออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อซึ่งกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืนก็เช่นเดียวกัน

มีการศึกษาและงานวิจัยรับรองออกมาว่ากล้ามเนื้อที่ช่วยในการกลืนสามารถฟื้นฟูกำลังโดยการออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้ อย่างไรก็ตามผลของการออกกำลังกายกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืนต่อกลไกการกลืนที่เปลี่ยนแปลงไป ยังสรุปได้ไม่ชัดเจน เนื่องจากการศึกษาส่วนใหญ่เป็นการศึกษาขนาดเล็กและมีความหลากหลาย

>>อ่านต่อหน้าถัดไป<<

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.