สมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ (Blue Book) ไอเท็มคู่กายคนวัย 60+
พอย่างเข้า 60 ร่างกายของเราก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกครั้ง การดูแลสุขภาพก็ต้องเพิ่มระดับความเข้มข้นขึ้น ซึ่งหนึ่งในตัวช่วยที่จะทำให้เราเห็นแบบแผนการดูแลสุขภาพของตัวเอง รวมถึงรู้ว่าควรต้องตรวจอะไรบ้าง ก็คือ สมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ หรือ Blue Book ซึ่งสำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย ได้ทำแจกเอาไว้
ครั้งนี้ชีวจิตไม่ได้แค่มาแจก แต่จะพาไปดูการใช้งาน และทำความรู้จักสมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ ที่กลายเป็นผู้ช่วยดูแลสุขภาพคนวัย 60+
สมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ คืออะไร
หากเด็กเล็กมีสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก หรือที่คุ้นในชื่อ สมุดชมพู ผู้สูงอายุเองก็มีเล่มแบบนี้เช่นเดียวกันในชื่อ สมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ หรือ เล่มฟ้า (Blue Book) โดยสำนักอนามัยผู้สูงอายุ ได้มีข้อแนะนำในการใช้ไม่เพียงเพื่อจดบันทึกเพื่อสังเกตตัวเอง แต่ยังเพื่อประโยชน์ในการพบแพทย์ไว้ด้วย คือ
- ใช้เพื่อบันทึกข้อมูลสุขภาพ และการเปลี่ยนแปลง
- เพื่อประเมินพฤติกรรมสุขภาพ และสภาวะสุขภาพด้วยตนเอง
- ติดตัวยามเข้ารับการตรวจรักษาหรือรับคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณะสุข
ไม่เพียงเท่านั้นในสมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ ยังแนะนำสิทธิต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพในระบบต่างๆ และโภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงการดูแลสุขภาพจิต อีกด้วย
รีวิว สมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ
สมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุที่แอดจะพาไปดูในครั้งนี้ เป็น “ฉบับปรับปรุง ปี 2565” โดยในหน้าแรก ๆ เป็นการกรอกข้อมูลสุขภาพ รวมถึงข้อมูลบุคคลที่ติดต่อได้ในยามฉุกเฉิน หลังจากนั้น จะเป็นการแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ
- บันทึกประเมินโดยครอบครัว ผู้ดูแล อาสาสมัคร
- บันทึกประเมินโดยบุคลากรทางแพทย์
- บันทึกประเมินด้วยตนเอง
- ความรู้สู่การเป็นผู้สูงอายุสุขภาพดี
- และบันทึกการตรวจรักษา
ส่วนที่ 1 บันทึกประเมินโดยครอบครัว ผู้ดูแล อาสาสมัคร
เป็นแบบประเมินเรื่องในชีวิตประจำวัน เช่น การทานอาหาร การขับถ่าย
อีกหนึ่งปัญหาของผู้สูงอายุคือเรื่องการทรงตัว การเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งในสมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ ก็ยังมีแบบทดสอบเพื่อให้ทำการประเมินด้วยตัวเอง
และผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องหกล้มบ่อยๆ ก็มีหน้าสำหรับบันทึกเรื่องการหกล้ม ซึ่งจะนำไปสู่การเข้ารับประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม โดยบุคลากรทางการแพทย์
และนอกจากการเจาะเลือดแล้ว สมุดเล่มนี้ก็ยังช่วยประเมินความเสี่ยงการเกิดภาวะไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด
ส่วนที่ 2 บันทึกประเมินโดยบุคลากรทางแพทย์
ในส่วนที่ 2 นี้ เป็นการทำประเมินโดยบุคลาการทางการแพทย์ และสาธารณสุข ซึ่งจะมีการตรวจต่างๆ เช่น การประเมินสุขภาพช่องปาก โดยทันตบุคลากร ซึ่งนับได้ว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
อีกหนึ่งการทดสอบ ที่แอดมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ละเลยไม่ได้คือ บันทึกการทดสอบสภาพสมองเบื้องต้น เพื่อเป็นเช็กภาวะอัลไซเมอร์
อีกหนึ่งประเด็นที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ การประเมินภาวะเปราะบางของผู้สูงอายุ เช่นว่า เดินระยะทาง 300-400 เมตร ได้เองหรือไม่ อ่อนเพลียบ่อยไหม ซึ่งไม่เพียงจะเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ยังมีประโยชน์ต่อบุตรหลาน หรือผู้ดูแล เพื่อการดูแลผู้สูงอายุ
นอกจากนั้นแล้วในผู้สูงอายุ อีกหนึ่งโรคที่น่ากลัวคือภาวะซึมเศร้า ซึ่งในเล่มฟ้านี้ ก็มีแบบประเมินโรคซึมเศร้าอยู่ด้วยเช่นกัน
ส่วนที่ 3 บันทึกประเมินด้วยตนเอง
เป็นการสอบถามพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การกินผัก ผลไม้ การตรวจสุขภาพประจำปีแล้ว ยังใส่ใจถึงรายละเอียดเล็กๆ เช่นการคัดกรองภาวะกลั้นปัสสาวะ การประเมินปัญหาการนอน
และไม่ว่าวัยไหน มะเร็งเต้านมก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องกังวลในเล่มฟ้านี้ มีคู่ของการคลำเต้านมด้วยตัวเอง พร้อมให้จดบันทึก เพื่อสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้
ส่วนที่ 4 ความรู้สู่การเป็นผู้สูงอายุสุขภาพดี
ในส่วนที่ 4 ซึ่งเป็นเรื่องของความรู้ เขาก็ทำออกมาได้อย่างน่ารัก เข้าใจง่าย ด้วยเนื้อหาสุขภาพที่ย่อยมาแล้ว พร้อมกันนำเสนอผ่านรูปภาพ ที่ไม่เพียงดีในแง่การนำเสนอข้อมูล แต่ยังน่ารักอ่านง่ายอีกด้วย รวมถึงยังมีเกมส์ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานสมอง ให้ทำตามได้
ส่วนที่ 5 และบันทึกการตรวจรักษา
ในส่วนที่ 5 นี้ เป็นเรื่องของการจดบันทึกประวัติการรักษาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิต ค่าเลือดต่างๆ และในเมื่อเด็กๆ ยังมีบันทึกการฉีดวัคซีนต่างๆ ผู้สูงอายุเองก็ต้องมีบันทึกการฉีดวัคซีนสำคัญด้วยเช่นกัน
และนอกจะเป็นสมุดเพื่อบันทึกสุขภาพแล้ว สมุดเล่มนี้ยังเป็นสมุดจดบันทึกวันนัดกับคุณหมอได้ด้วยนะ ซึ่งแอดว่าช่วยได้มาก เพราะบางครั้งใบนัดหมอ ก็มาเป็นเอกสารใบเดียว เสี่ยงต่อการสูญหาย มาจดในสมุดแบบนี้แหล่ะ ไม่หายแน่นอน
รับสมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ ได้ที่ไหน
ในปัจจุบันนี้ มีความสะดวกในการใช้สมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุอย่างมาก เนื่องจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำทั้งแบบ ออฟไลน์ และออนไลน์ แล้วแต่ความสะดวกของผู้ใช้เลยทีเดียว
- สามารถขอรับเล่มได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
- ดาวน์โหลดไฟล์จาก สำนักงานอนามัยผู้สูงอายุ เพื่อปรินท์ และทำเล่มใช้เอง สามารถดาวน์โหลดได้ที่ คลิก
- ใช้สมุดบันทึกสุขภาพผู้สูง แบบออนไลน์ จากเว็บไซต์ที่สำนักงานอนามัยผู้สูงอายุจัดทำไว้ โดยจะต้องล็อกอินเข้าสู่ระบบ สามารถเข้าใช้งานได้ที่ คลิก
- อีกหนึ่งระบบที่สะดวก และป้องกันการทำหาย คือเข้าใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่น “สมุดสุขภาพผู้สูงอายุ(Bluebook)” บนโทรศัพท์ได้อย่างง่ายดาย สามารถดาวน์โหลได้ที่ คลิก
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
7 สิ่งสำคัญ เมื่อทำ บ้านสำหรับผู้สูงอายุ