เชื่อว่า “อาการท้องผูก” คือหนึ่งในปัญหาหลักที่คอยมากวนใจผู้สูงอายุที่เรารัก ซึ่งหากลองไปถามผู้ดูแลผู้สูงอายุ ว่าอะไรเป็นปัญหากวนใจเกี่ยวกับสุขภาพของผู้สูงอายุ รับรองต้องได้คำตอบว่า “ท้องผูก” อย่างแน่นอน เพราะอาการนี้จะเเป็นคำตอบอันดับต้นๆ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องจัดการกันในแต่ละวัน รู้หรือไม่ ยิ่งอายุมากขึ้นโอกาส ท้องผูก ก็ยิ่งมากขึ้น และผู้หญิงมักมีปัญหานี้มากกว่าผู้ชาย ยิ่งถ้าเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ พบว่ามีภาวะท้องผูกสูงถึง 80%
บางคนอาจมีคำถามขึ้นมาตอนนี้ว่า แล้วอย่างไรจึงเรียกว่าท้องผูก ไม่ได้ถ่ายมากี่วันถึงจะเรียกว่าท้องผู้ โดยข้อสังเกตมีดังนี้ค่ะ หากมีอาการอย่างน้อยสองในสามข้อ ถือว่ามีอาการท้องผูก ต้องหาทางแก้ไข ขับถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งใน 1 สัปดาห์ อุจจาระแข็ง หรือจับเป็นก้อน หรือขับถ่ายยาก หรือขับถ่ายเองไม่ได้ ต้องให้ช่วยบ่อยๆ เป็นเวลากว่า 6 เดือน หากมีอาการเหล่านี้นั่นแสดงว่าผู้สูงอายุที่เรารักพบภาวะท้องผูกเข้าแล้วนั่นเอง
ผู้ที่มีปัญหาท้องผูกมักจะดำเนินวิธีการแก้ไขในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น การหาอาหารหรือผลไม้บางชนิดมารับประทาน แล้วทำให้มีการถ่ายอุจจาระออกมา บางคนใช้ยาหรือน้ำสบู่สวนทวาร ทำให้อุจจาระนิ่มหรืออ่อนตัวลง แล้วทำให้ขับถ่ายออกมาโดยง่าย บางคนนิยมซื้อยาระบายมารับประทาน ซึ่งยาพวกนี้จะทำให้ลำไส้ขับถ่ายอุจจาระออกมาด้วยกลไกต่าง ๆ กัน
อาการท้องผูก มีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายอย่าง
-รับประทานอาหารที่มีกากน้อย หรือมีเส้นใยน้อยมาก
ถ้าคนรับประทานอาหารที่มีเส้นใยมาก อุจจาระก็จะมีปริมาณมากด้วย และทำให้เกิดความรู้สึกอยากถ่าย เมื่อกากอาหารและเส้นใยมาถึงลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ส่วนคนที่ไม่ค่อยรับประทานผักหรือผลไม้ จะมีกากอาหารที่เป็นอุจจาระในปริมาณน้อย จึงยังไม่สามารถกระตุ้นลำไส้ใหญ่ส่วนปลายให้เกิดการขับถ่ายได้ อุจจาระส่วนนั้นก็จะค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ และถ้านานเข้า ก็จะแห้งและแข็ง
-ไม่ได้ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา หรือกลั้นอุจจาระบ่อย ๆ
ถ้าปวดเวลาไหนก็ไปถ่ายเวลานั้น บางครั้งเกิดปวดถ่าย แต่ไม่สามารถจะไปถ่ายได้ เช่น กำลังอยู่ในงานเลี้ยง หรืออยู่ในที่ที่ไม่มีห้องน้ำที่สะอาดพอ ทำให้ต้องกลั้นเอาไว้ บางคนกำลังทำงานอดิเรกอยู่เพลิน ๆ ดูทีวีเพลิน ๆ ก็ไม่อยากลุกไปถ่าย ทำให้ท้องผูกได้
-ดื่มน้ำในปริมาณน้อย
“น้ำ” ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ร่างกายของเราต้องใช้น้ำเพื่อเป็นส่วนประกอบของเลือด ของเซลล์ต่าง ๆ และทำให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายสามารถทำงานได้ตามปกติ ผู้สูงอายุมักจะดื่มน้ำน้อย เนื่องจากศูนย์ที่กระตุ้นให้รู้สึกหิวน้ำทำงานไม่ค่อยดี ผู้สูงอายุจึงไม่ค่อยรู้สึกหิวน้ำ และในบางรายมีปัญหาเรื่องกลั้นปัสสาวะลำบากหรือกลั้นไม่อยู่ ผู้สูงอายุจะพยายามช่วยตัวเอง ด้วยการดื่มน้ำน้อยลง เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องปัสสาวะรด/ราด เมื่อร่างกายได้น้ำน้อย ไม่พอใช้ ก็จะพยายามดูดน้ำจากกากอาหารในลำไส้ออกมา ทำให้กากอาหารนั้นแข็งมากขึ้น ทำให้ถ่ายออกยาก เกิดอาการท้องผูกตามมา
-การรับประทานยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้
กรณีนี้ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเปลี่ยนยาเป็นกลุ่มอื่น ๆ อย่าพยายามแก้ปัญหาด้วยการไปซื้อยาระบายมารับประทาน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ยาที่พบว่าทำให้เกิดอาการท้องผูกได้บ่อย เช่น ยาแก้ไอและยาแก้ปวด ที่มีส่วนประกอบของอนุพันธ์จากฝิ่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของอลูมิเนียม และแคลเซียม ยาบำรุงเลือดที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก ยาต้านความเศร้า เป็นต้น
-โรคทางกายบางโรคอาจมีผลทำให้เกิดอาการท้องผูกได้
เช่น คนไข้เบาหวานที่เป็นมานาน จนเกิดอาการแทรกซ้อน โดยระบบประสาทอัตโนมัติที่จะช่วยเรื่องการบีบตัวของลำไส้ทำงานไม่ค่อยดี ทำให้ประสิทธิภาพของลำไส้ ที่จะบีบตัวไล่กากอาหารลงมาที่ทวารหนักลดลง กากอาหารค้างอยู่ในลำไส้นานขึ้น ทำให้แห้งและแข็งตัวขึ้น โรคไทรอยด์ทำงานต่ำกว่าปกติ และภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ก็จะทำให้ท้องผูกได้เช่นกัน ในผู้ป่วยที่มีโรคทางระบบประสาท ทำให้ไม่สามารถจะเดินได้อย่างปกติ หรือผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวร่างกาย ได้แต่นั่ง ๆ นอน ๆ ตลอดเวลา จะทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ช้าลง และทำให้เกิดภาวะท้องผูกได้
วิธีแก้ไขการท้องผูกเบื้องต้น
การท้องผูก ก็เหมือนการที่มีเศษอาหารเกาะกันแน่น ค่อนข้างแห้ง ในท่อน้ำทิ้งของอ่างล้างจาน จึงอุดตัน หากไม่รุนแรงมากนักเราสามารถที่จะพยายามช่วยให้เศษอาหารเคลื่อนเหล่านี้ เคลื่อนไปได้ด้วยการทำให้เศษอาหารเหล่านี้ชุ่มน้ำ และ ช่วยให้ท่อขยับบีบตัว เศษอาหารที่อุดตัน ก็จะค่อยๆออกมา การแก้ไขการท้องผูกเบื้องต้น ทำได้โดยการปรับเรื่องน้ำ ใยอาหาร และการเคลื่อนไหวร่างกายดังนี้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
ผู้สูงอายุมักเลี่ยงไม่ค่อยดื่มน้ำ อาจเพราะเข้าห้องน้ำเองไม่สะดวก จึงคิดเอาเองว่ากินน้ำให้น้อยลง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อร่างกาย การถ่ายยากหรือท้องผูก เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ร่างกายได้รับน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งโดยทั่วไปผู้สูงอายุควรดื่มน้ำ อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน หรือ 1.5-2 ลิตร (ยกเว้นผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว หรือไตวายที่ต้องจำกัดน้ำ) ควรมีขวดใส่น้ำที่บอกปริมาตรไว้ประจำตัว เพื่อที่จะได้รู้ว่าในแต่ละวัน ดื่มน้ำเพียงพอหรือไม่ และควรเตรียมความสะดวกในการปัสสาวะ ไม่ให้เดินไกลเกินไป หรืออาจใส่กางเกงอนามัย เพื่อลดปัญหาการไม่ชอบเข้าห้องน้ำ
- กิน “ใยอาหาร” ให้เพียงพอ
ใยอาหารมีหลากหลาย แต่ใยอาหารชนิดละลายน้ำเป็นชนิดที่ช่วยให้ขับถ่ายได้ดี เพราะอุ้มน้ำทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม เคลื่อนตัวได้ง่าย เช่น ใยอาหารจากผลไม้เช่น ลูกพรุน แอบเปิ้ล กล้วย ส้ม ข้าวโอ๊ต ถั่ว เป็นต้น
- กินอาหารที่มีจุลินทรีย์สุขภาพ หรือที่เรียกว่า “โพรไบโอติกส์”
ระบบทางเดินอาหาร (ลำไส้เล็ก-ลำไส้ใหญ่) นอกจากจะเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อการย่อย-ดูดซึม-ขับถ่ายแล้ว ยังเป็นอวัยวะภูมิคุ้มกันขนาดใหญ่ของร่างกายอีกด้วย เพราะคนเราจะติดเชื้อโรคได้หลักๆ อยู่ไม่กี่ทาง เช่น การหายใจเอาเชื้อโรคเข้าไป และการกินอาหารแล้วมีเชื้อโรคแฝงเข้าไปด้วย และการติดเชื้อจากอาหารนี่แหละ ที่ทำให้ระบบขับถ่ายเรามีปัญหา ซึ่งการได้รับจุลินทรีย์สุขภาพ (โพรไบโอติกส์ ; Pro-biotics) จะช่วยให้สุขภาพลำไส้ดีขึ้นได้
จุลินทรีย์สุขภาพ ช่วยเรื่องขับถ่ายและระบบภูมิคุ้มกันได้อย่างไร
จุลินทรีย์สุขภาพ (โพรไบโอติกส์) จะส่งเสริมสุขภาพและการทำงานของลำไส้ใหญ่ โดยการกินใยอาหารชนิดพิเศษในข้อ 2 ที่เรียกว่า พรีไบโอติกส์ เป็นอาหาร แล้วผลิตสารให้พลังงานแก่เซลล์ลำไส้ขึ้นมา เมื่อเซลล์ลำไส้ได้พลังงานเพิ่มเติมจึงทำหน้าที่ขับถ่ายและป้องกันเชื้อโรคได้ดี กระบวนการนี้จะช่วยปรับสมดุลในลำไส้ ช่วยกำจัดจุลินทรีย์ชนิดไม่ดี ที่ก่อให้เกิดโรคให้ลดลงได้อีกด้วย
- จัดตารางเวลาเข้าห้องน้ำและออกกำลัง
นอกจากเรื่องอาหารแล้ว พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการเคลื่อนไหว เป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการแก้ไขท้องผูก ทาที่ดีควรจัดตารางเวลาเข้าห้องน้ำและออกกำลังให้เป็นกิจวัตรประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น จัดเวลาเข้าห้องน้ำเวลาเดิมเป็นประจำทุกเช้าและเย็น (แม้ว่าไม่ปวด) ในระหว่างวัน ให้เดินหรือออกกำลังกายเบาๆ (เช่น โยคะ ไทชิ) ประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนมื้อว่าง ที่ประกอบด้วยเครื่องดื่มร้อน(ไม่มีคาเฟอีน) และของว่างพวกผลไม้หรือธัญพืชนิ่มๆ ก่อนนอนให้ดื่มอาหารเสริมที่มีใยอาหาร เป็นต้น
- ดูแลอาหารให้เหมาะสมและเพียงพอ
ในกรณีที่ผู้สูงอายุไม่ได้มีปัญหาท้องผูกเพียงอย่างเดียว แต่ปัญหาอื่นๆร่วมด้วย เช่นมีปัญหาการเคี้ยว ไม่สามารถกินผักผลไม้ปกติได้ ต้องควบคุมน้ำตาล/ไขมัน มีภาวะน้ำหนักลดหรือกล้ามเนื้อลีบร่วมด้วย ควรพิจารณาอาหารเสริมที่มีสารอาหารเหมาะสมกับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ที่เรียกว่า “อาหารสูตรครบถ้วน” ที่มีโปรตีนสูง เป็นโปรตีนคุณภาพดี น้ำตาลไม่สูง มีไขมันที่ดี พร้อมกับใยอาหารและพรีไบโอติกส์ ก็จะช่วยตอบโจทย์สุขภาพของผู้สูงอายุได้อย่างครบถ้วน
ทั้งหมดนี้เป็นเคล็ดลับและเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ให้ผู้ดูแลหรือตัวผู้สูงอายุเอง นำไปปฏิบัติเพื่อป้องกันอาการท้องผูกที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่าลืมว่าระบบขับถ่ายของคนเรานั้นสำคัญมาก ถ้าปล่อยให้ท้องผูกบ่อยๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวตามมาได้ค่ะ
ข้อมูลจาก: ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ