ปัญหาระบบขับถ่าย

ระวัง! ท้องผูกนานๆ มะเร็งอาจถามหา

ระวัง! ท้องผูกนานๆ มะเร็งอาจถามหา

ใครที่ ท้องผูก อยู่ต้องอ่านบทความนี้ เพราะท้องผูกไม่ขับถ่าย เป็นอันตราย เป็นภัยร้าย ซึ่งหลายๆ รอาจละเลยและมองข้ามระบบขับถ่าย แต่หารู้ไม่ว่า การไม่ขับถ่ายหลายวันต่อเนื่องเป็นเวลานาน คุณอาจเสี่ยงเป็น มะเร็ง ลำไส้

การศึกษาจาก American College of Gastroenterology ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า อาการท้องผูกเรื้อรังอาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หลังเก็บข้อมูลสุขภาพจากอาสาสมัครกว่า 100,000 ราย นาน 12 ปี พบว่า ผู้ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ถึง 1.78 เท่า และเสี่ยงพบก้อนเนื้องอก 2.7 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่มีปัญหาเรื่องการขับถ่าย

นายแพทย์นิโคลัส แทลลี่ (Nicholas Talley) จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (University of Newcastle) ประเทศออสเตรเลีย อธิบายว่า อาการท้องผูกเรื้อรังทำให้ของเสียคั่งค้างภายในลำไส้เป็นเวลานาน จนอาจส่งผลให้สารก่อมะเร็งที่ปะปนในอาหารสะสมภายในลำไส้จนเข้มข้น เมื่อสัมผัสกับผนังลำไส้อย่างต่อเนื่องจึงเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งตามมา

ท้องผูกนานๆ

ท้องผูก คืออะไร

ไม่แปลกใจเลยถ้าคุณเป็นหนุ่มสาวชาวออฟฟิศคนหนึ่ง ที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับระบบขับถ่ายในทุกๆ เช้า ไหนจะต้องรีบงัดแงะตัวเองขึ้นมาจากเตียง รีบอาบน้ำแต่งตัว กว่าจะออกจากบ้าน กว่าจะถึงที่ทำงาน บ้านไกลจากออฟฟิศไปอีกก็คือแจ็กพอต ต้องเผชิญกับการจราจรที่สุดแสนจะน่าเบื่อ แค่คิดก็เหนื่อยแล้วนะคะ ต้องทำทุกอย่างแข่งกับเวลาเนี่ย ยิ่งถ้ามัวมาเสียเวลาอยู่กับการเข้าห้องน้ำในตอนเช้า เข้าแต่ละครั้งก็สุดแสนจะลำบาก เรียกว่าต้องเบ่งกันจนหน้ามืด บางคนนั้นปล่อยทิ้งไว้หลายวันยิ่งอึดอัด ไม่สบายตัว ยิ่งคิดพาลให้ยิ่งเครียด

เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าการขับถ่ายในทุกๆ เช้าเป็นเรื่องยาก ไม่ต้องถึงกับคำนวนนับวันเวลาว่าเราอุจจาระน้อยกว่ากี่ครั้งต่อสัปดาห์ แล้วจะต้องเข้าข่ายกับภาวะท้องผูก เพราะจริงๆแล้วอาการท้องผูกเนี่ย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งหรือความสม่ำเสมอในการขับถ่ายเสมอไป การขับถ่ายมีการแปรปรวนไม่เหมือนกันในแต่ละคน ตราบใดที่เราสามารถถ่ายได้อย่างสบายๆ ไร้กังวล ไม่ต้องเบ่ง อุจจาระนิ่มจับตัวเป็นก้อนดี แม้ 2-3 วัน จะถ่ายสักครั้งก็ไม่ถือว่าผิดปกตินะคะ และต้องขอบอกก่อนเลยว่า ภาวะท้องผูกเป็นอาการ ไม่ใช่โรคอย่างที่หลายคนกำลังเข้าใจ

ทนทุกข์ทรมานกับระบบขับถ่าย

ถ้ารู้สึกว่าหลายต่อหลายครั้งต้องนั่งในห้องน้ำนานถึงครึ่งชั่วโมงเพื่อเบ่งถ่าย หรือบางครั้งต้องใช้น้ำฉีด ถ่ายไม่สุด เหมือนมีอะไรมาอุดกั้นอยู่ ถ่ายออกมาน้อย อุจจาระแข็งมีลักษณะเป็นเม็ด ผิวขรุขระหรือแห้งแตก กลิ่นสุดแสนจะบรรยาย รู้สึกอึดอัดแน่นท้อง อาการคร่าวๆเหล่านี้พอที่จะบ่งบอกได้ว่าคุณมีอาการท้องผูกอย่างแน่นอน เชื่อพี่ พี่เรียนมา ! อยากจะขอเตือนสักนิดนึงว่าอย่าปล่อยให้ภาวะการขับถ่ายที่ผิดปกติดำเนินไปเรื่อยๆทุกวันโดยไม่คิดจะหาทางแก้ไข หรือแก้ไขอย่างผิดวิธี

ท้องผูกอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรง

การปล่อยปละละเลยในเรื่องท้องผูกอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรง มันเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้มากขึ้น ส่งผลอันตรายกับลำไส้ใหญ่ได้ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย การขับถ่ายถือเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันที่ทุกๆ คนควรทำให้เป็นนิสัย การขับถ่ายในตอนเช้าถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด เราขอแนะนำว่าให้ตื่นเช้าๆ เวลาประมาณ 05.00 – 07.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ลำไส้ใหญ่ทำงานขับกากอาหารออกจากร่างกาย

การขับถ่ายที่ดีจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้ดีตามไปด้วย หมดปัญหากลิ่นปาก กลิ่นตัวเหม็น เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณมีอาการท้องผูก สารพิษและของเสียที่ตกค้างต่างๆ ในลำไส้จะถูกขับออกมาทางลมหายใจและผิวหนัง

นั่งในห้องน้ำนาน

เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ปล่อยปละละเลยกับเรื่องดังกล่าว ไม่ยอมขับถ่ายให้เป็นนิสัยด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีเวลา ถ่ายไม่ออก แล้วก็ไม่อยากนั่งห้องน้ำเป็นเวลานาน ๆ แน่นอนว่าการไม่ขับถ่ายนั้นส่งผลเสียกับสุขภาพมากมาย โดยเฉพาะผู้หญิงมีโอกาสท้องผูกมากกว่าผู้ชาย 10 : 1 คน ด้วยผลจากฮอร์โมนเพศหญิง ระบบทางเดินอาหารของผู้หญิงทำงานได้ช้า ดื่มน้ำน้อย ยาบางชนิด พฤติกรรมการขับถ่ายที่ไม่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงความเครียดและความเร่งรีบในชีวิตประจำวันก็เป็นปัจจัยสำคัญ

ลองสังเกตตัวเองดูว่า คุณน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อุจจาระแข็ง เบ่งไม่ออก ถ่ายไม่สุด ต้องใช้น้ำฉีดสวน หรือนิ้วช่วย หากอุจจาระมีเลือด นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า #มะเร็งลำไส้ กำลังถามหา ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวทางเดินอาหาร เพื่อวินิจฉัยโรค ทั้งการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ การตรวจการเบ่งอุจจาระ การวัดการบีบตัวของกล้ามเนื้อหูรูด การฝึกควบคุม และเบ่งถ่ายอุจจาระที่ถูกต้องค่ะ

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ดูแลผู้สูงวัยในบ้านอย่างไร ไม่ให้เกิด “อาการท้องผูก”

อย่ากินยาถ่ายเพื่อ แก้อาการท้องผูก

กดจุด บรรเทาอาการท้องผูก

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.