ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดโรคติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนหนุ่มสาว จริงหรือ?
ปัจจุบันแม้จะมียาปฏิชีวนะสำหรับฆ่าเชื้อโรคดีๆ แต่โรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นกับคนเราก็ยังเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญอยู่ดี โดยเฉพาะในผู้สูงอายุยิ่งมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย และการติดเชื้อบางอย่างอาจทำให้เกิดอันตรายต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลหรืออาจเสียชีวิตได้ ผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนหนุ่มสาว
และอาการของการติดเชื้อก็ไม่ชัดเจนเท่า เช่น ติดเชื้อที่ปอด แทนที่จะมีไข้ ไอ เหนื่อย อาจมีอาการซึม สับสน พูดเพ้อ เบื่ออาหาร หกล้ม เป็นต้น นอกจากนั้นการตรวจหาตำแหน่งติดเชื้อและหาเชื้อก่อโรคก็ทำได้ลำบากกว่าคนหนุ่มสาว การตอบสนองต่อการรักษาก็ไม่ค่อยดี ทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าคนหนุ่มสาว
ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดโรคติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนหนุ่มสาว สาเหตุเกิดจาก
ผู้สูงอายุมักมีความเจ็บป่วยทางร่างกายหลายอย่าง เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคถุงลมโป่งพอง หัวใจวาย ขาดสารอาหาร ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น ทำให้มีความต้านทานโรคต่ำ
การทำงานของอวัยวะต่างๆ ไม่ดีเหมือนเดิม เช่น การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุช่องคลอดทำให้ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะง่าย หลอดลมของผู้สูงอายุมีการขับไล่สิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปไม่ดีเหมือนคนหนุ่มสาว เป็นต้น
ภูมิคุ้มกันลดลง โดยเฉพาะภูมิคุ้มกันด้านเซลล์ (Cell mediated immune response) ทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อที่ต้องต้านทานด้วยภูมิคุ้มกันนี้เพิ่มขึ้น เช่น วัณโรค เป็นต้น นอกจากนั้นยังเกิดงูสวัด ซึ่งเป็นการกำเริบของเชื้ออีสุกอีใสที่เคยเป็นในอดีตและซ่อนตัวอยู่ จนเมื่อภูมิคุ้มกันลดลงก็กำเริบขึ้นมา
ผู้สูงอายุอาจต้องได้รับยาที่ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง เช่น การที่ต้องรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ซึ่งกดภูมิคุ้มกันรักษาโรค บางครั้งผู้สูงอายุอาจซื้อยาหม้อ ยาไทย ยาชุด ยาลูกกลอนมารับประทานซึ่งยาเหล่านั้นอาจมีสเตียรอยด์ผสมอยู่
การตรวจ การรักษาหลายอย่างที่ผู้สูงอายุได้รับอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย เช่น ต้องใส่สายสวนปัสสาวะ ต้องส่องกล้องตรวจอวัยวะต่างๆ เป็นต้น
ผู้สูงอายุยังมีโอกาสต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้มาก ทำให้เกิดการติดเชื้อของโรงพยาบาลได้ และมักเป็นเชื้อโรคที่ดื้อยาอีกด้วย
โรคติดเชื้ออะไรที่มักเกิดได้ง่ายในผู้สูงอายุ
โรคปอดอักเสบ
ปอดอักเสบเป็นการติดเชื้อที่สำคัญและทำให้ผู้ป่วยต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล สาเหตุที่ผู้สูงอายุเกิดปอดอักเสบได้ง่ายเนื่องจากการพัดโบกสิ่งแปลกปลอมของเซลล์เยื่อบุหลอดลมออกจากปอดทำงานไม่ดี การไออย่างมีประสิทธิภาพน้อยลงและความยืดหยุ่นของถุงลมไม่ดี สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้กลไกการป้องกันการติดเชื้อของปอดทำได้น้อยลง โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น ถุงลมโป่งพอง หัวใจวาย เป็นต้น จะยิ่งทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
อาการของโรคนี้ คือ ไข้ ไอ มีเสมหะ หอบเหนื่อย บางคนมีอาการสับสน พูดเพ้อ เบื่ออาหารหรือหกล้มได้ ควรรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากถ้าไปช้าอาจหายใจเองไม่ไหวและช็อกได้ แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกายและตรวจเอ็กซเรย์ปอด เก็บเสมหะตรวจและตรวจเลือด ถ้าอาการน้อยอาจให้เป็นยารับประทาน แต่ถ้าอาการค่อนข้างมากก็จะต้องฉีดยาและนอนโรงพยาบาล
ไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่จะมีการระบาดใหญ่เป็นประจำในช่วงฤดูหนาว เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิดด้วยกันคือ ชนิดเอ บีและซี เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดซีนั้นพบน้อยในวงแคบและไม่รุนแรง ส่วนชนิดบีพบเฉพาะในคนไม่ค่อยทำให้เกิดอาการรุนแรง แต่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอนั้นพบได้ในคนและสัตว์นานาชนิดสามารถก่อโรคได้รุนแรงและเป็นปัญหาของโลกเกือบทุกปีเพราะแพร่ระบาดในหลายพื้นที่