17 TRICKS ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ อย่างเข้าใจ
การ ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เป็นเรื่องใหญ่และเป็นภาระที่หนักอึ้งล้นฟ้า ลูก ๆ หลาน ๆ หลายคนก็เลยพากันเขียนจดหมาย มาปรึกษาผม ว่าจะดูแลพ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยาย ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ อย่างไรดี (ดีทั้งตัวผู้ป่วยและผู้ดูแลนั่นแหละครับ)
![](https://cheewajit.com/app/uploads/2021/03/image-40-893x1024.png)
ก่อนอื่น คุณต้องเข้าใจว่าคนเป็นอัลไซเมอร์ หรือสมองเสื่อม ได้สูญเสียความสามารถที่จะเข้าถึงความจำที่สมองเก็บไว้ แต่สิ่งที่ยังเหลืออยู่แน่ ๆ คือ ความเป็นคน ซึ่งยังอาจมีถูกใจ ไม่ถูกใจ ยังอาจมีตัวตนหรือความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งบ่อยครั้งจะถูกประเมินว่าดื้อ หรือถือดี
นอกจากนี้ ธรรมชาติของผู้ป่วยทางสมองคือ มีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ เอานิยายอะไรไม่ได้ ถ้าคุณไปเอานิยายกับท่านเข้า คุณก็โง่แล้ว
ในฐานะ “ผู้ดูแลคนป่วยอัลไซเมอร์”
- การจะให้คนสมองเสื่อมสนใจว่าเราจะพูดกับท่าน เราควรจะเข้าไปหาท่านทางด้านหน้า อย่าพูดแบบอยู่คนละห้องหรืออยู่ข้าง ๆ
- ขึ้นต้นประโยคด้วยการแนะนำตัวเองอยู่ในทีทุกครั้ง มิฉะนั้นตัวเราเองก็จะถูกท่านลืมในไม่ช้า เช่น สมมุติว่า เราชื่อเล็ก “…เล็กนะพ่อ ลูกคนที่ 5 ของพ่อน่ะ…”
- สบตาทุกครั้งที่พูดกัน
- พูดกับท่านแบบตัวต่อตัว อย่าพูดแบบวงสนทนา
- จับมือท่านไปบีบเวลาพูด เพ่อื ให้ท่านสนใจว่าเรากำลังพูดด้วย
- ใช้คำง่าย ๆ สั้น ๆ พูดซ้ำ ๆ ถ้าจำเป็น เวลาท่านพูดมาหากไม่สมบูรณ์ เราก็ต่อเสียให้สมบูรณ์โดยไม่ตำหนิ เช่น “เห็นสีม่วง ๆ ของพ่อไหม” “พ่อหมายถึงน้ำผลไม้ปั่นที่หนูเพิ่งปั่นให้เหรอ ก็พ่อเอาไปวางไว้ในห้องน้ำไง”
- อย่าทำเสียงสูง อย่าทำเสียงดัง อย่าตะคอก ใจเย็น ๆ
- อย่าถามคำถามที่ท้าทายให้รื้อฟื้นความจำในอดีต เพราะจะก่อความรู้สึกว่าท่านถูกดูถูกได้ หรือไม่ก็นำไปสู่การทะเลาะกัน
- ถ้าจะให้ท่านทำอะไรแล้วท่านไม่เอาด้วย เราก็ต้องยอมรับว่าท่านยังไม่ร่วมมือ อย่าฝืน อย่าสั่ง อย่าเร่ง
- พูดอะไรกับท่านให้เจาะจง อย่าพูดกว้าง ๆ เช่น แทนที่จะถามว่า “พ่อเห็นผู้หญิงคนนั้นไหม” ควรเปลี่ยนเป็นถามว่า “พ่อเห็นผู้หญิงใส่เสื้อสีน้ำเงินที่ยืนพิงฝาตรงนั้นไหม”
- ใช้หลักการสอนทักษะ เมื่อจะให้ทำอะไรที่ท่านลืมวิธีทำไปแล้ว กล่าวคือ เอางานที่จะสอนให้ทำมาแตกย่อยเป็นขั้นเป็นตอน สาธิตภาพรวมให้ดูก่อน แล้วสาธิตการทำจริงทีละขั้น แล้วให้ท่านทำตาม จากนั้นให้ท่านทำเองใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ สรุปตบท้าย ให้คำชมเมื่อทำได้สำเร็จ สอนด้วยน้ำเสียงที่อบอุ่น
- ตอกย้ำจุดแข็ง ไม่ใช่จุดอ่อนของท่าน โฟกัสที่ความสำเร็จ ไม่ใช่ความล้มเหลว
- แกล้งโง่เสียบ้าง ถ้าท่านว่าเราผิด อย่าเถียง ให้พูดว่า “หนูขอโทษ” จะดีกว่า แม้ว่าเราจะไม่ได้ทำผิดก็ตาม การเถียงเพื่อให้คนสมองเสื่อมยอมรับความเสื่อมของตัวเองนั้นเป็นการพาท่านไปโฟกัสที่จุดอ่อนของท่าน ซึ่งมีแต่จะทำให้อาการของท่านแย่ลงและเป็นภาระให้เรามากขึ้น
- อินไปกับเรื่องที่ท่านเล่า สนใจฟัง พูดเสริมตรงที่เป็นข้อมูลความจริง ตรงไหนไม่จริงอย่าขัด แม้บางครั้งจะเป็นเรื่องตอแหลชัด ๆ แต่คนสมองเสื่อมจำเรื่องราวได้กระท่อนกระแท่น และจำเป็นต้องแต่งเติมส่วนที่ขาดหายไปเสริมเข้ามาเพื่อให้สื่อสารกับคนอื่นได้ หากไปขัดคอการสื่อสารก็มีแต่จะลดน้อยลง
- อย่าให้ข้อมูลมาก ยิ่งให้ข้อมูลมาก คนเป็นโรคสมองเสื่อมยิ่งย่อยข้อมูลยาก เวลาสนทนาให้พูดแต่ข้อมูลที่จำเป็นและทำให้ข้อมูลนั้นเข้าใจง่าย เจาะทีละหนึ่งประเด็น เมื่อเข้าใจประเด็นแรกดีแล้ว จึงค่อยไปประเด็นที่สอง
- อย่าไปคาดหวังว่าท่านจะจำหรือทำอะไรได้มากมาย
- อย่านินทาท่านทั้ง ๆ ที่ท่านก็นั่งอยู่ตรงนั้น
นอกจากนี้ ผมยังงอยากจะสอนให้คุณถือปฏิบัติ โดยประเด็นสำคัญของการเป็นผู้ดูแล คือ
- ความรับผิดชอบของคุณในฐานะผู้ดูแล (Caregiver) คือ รับผิดชอบต่อตัวคุณเองก่อน ถ้ากายหรือใจของคุณป่วย คนที่ซวยก็คือผู้ป่วยเรื้อรังที่คุณดูแล
- คุณต้องอยู่ในโลกของความเป็นจริง อะไรคุณดลบันดาลได้ อะไรคุณดลบันดาลไม่ได้ ยอมรับบทบาทของตัวเองก่อน ว่าตอนนี้ทำหน้าที่ผู้ดูแลทำความเข้าใจ กับขอบเขตงานในระยะยาว งานดูแลผู้ป่วยเรื้อรังเหมือนการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่งร้อยเมตร
- รู้จักพักเอาแรง จัดเวลาและสถานที่ให้คุณได้อยู่กับตัวเอง สิ่งนี้คุณต้องจงใจทำให้ได้ทุกวัน ถ้าคุณไม่เรียนรู้ที่จะจัดเวลานอก ความคับข้องใจจะสะสมจนถึงระดับเดือดพล่านในที่สุด
- เติมพลังให้ตัวเอง ออกกำลังกายทุกวัน ดูแลโภชนาการตัวเองให้ดี กินผักและผลไม้แยะ ๆ
- ตั้งทีมของคุณขึ้นมา เช่น ดึงพวกพี่ ๆ ที่อยู่ไกล ๆ และสบาย ๆ มาช่วยคุณในบางจุดบางเรื่อง อย่างน้อยก็ช่วยส่งกำลังบำรุง
แค่นี้ทั้งผู้ดูแลและผู้ได้รับการดูแลก็จะแข็งแรงไปด้วยกันแล้วละครับ
เรื่อง นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ
ชีวจิต 459 นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 20 : 16 พฤศจิกายน 2560
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
บทความน่าสนใจอื่นๆ
เรียนรู้หลากวิธี…ช่วยห่างไกลโรคอัลไซเมอร์