[bc_video video_id=”6063811348001″ account_id=”6037995614001″ player_id=”default” embed=”in-page” padding_top=”56%” autoplay=”” min_width=”0px” max_width=”640px” mute=”” width=”100%” height=”100%” ]
ทำไมถึงเรียกว่า เห็ดเผาะ
วันนี้ A Cuisine จะชวนทุกคนมาทำ แกงคั่วเห็ดเผาะ เมนูที่ถูกใจใครหลายๆคน แต่สงสัยหรือไม่ ว่าทำไมถึงเรียกเจ้าเห็ดชนิดนี้ ว่า เห็ดเผาะ เรามีคำตอบมาให้ พร้อมสูตร แกงคั่วเห็ดเผาะ รสกลมกล่อม รับรองว่าถูกใจทุกคนอย่างแน่นอนค่ะ
“เห็ดเผาะ” (Barometer Earthstars) หรือชาวล้านนาเรียกว่า “เห็ดถอบ” เป็นเห็ดที่ขึ้นอยู่ตามป่าชื้น ส่วนมากจะพบตามป่าธรรมชาติในช่วงต้นฤดูฝนเท่านั้น เป็นเห็ดที่มีคุณค่าและรสชาติที่อร่อย ได้ชื่อว่าเห็ดเผาะ มาจากเวลาเคี้ยวเห็ดชนิดนี้จะมีความมัน กรอบ ส่วนภายในของเห็ดจะกลวง เมื่อเคี้ยวแล้วจะเกิดเสียงดังเผาะๆ ทำให้เรียกกันว่าเห็ดเผาะ เห็ดชนิดนี้จะไม่มีรากและลำต้น มีเปลือก 2 ชั้น ดอกเห็ดโตจะเป็นรูปดาว ผิวจะมีสีขาวนวลเรียบ และเปื้อนดินเห็ดเผาะ มีลักษณะกลม พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศไทย เจริญเติบโตได้ดีในช่วงฤดูฝน นิยมนำมาทำแกงเมนูอาหารต่างๆ เช่น แกงคั่วเห็ดเผาะ เป็นต้น
การเลือกซื้อเห็ดเผาะ
เห็ดเผาะสดจะต้องไม่แช่หรือล้างน้ำมาก่อน ชอบแบบเคี้ยวกรุบ ๆ ควรเลือกเห็ดอ่อน จะเป็นเห็ดลูกเล็กๆ ที่เปลือกภายนอก สีจะออกขาวไล่ไปจนถึงน้ำตาลอ่อน เคี้ยวแล้วเนื้อในจะมีน้ำเห็ดไหลอยู่ในปาก ถ้าหากชอบแบบเนื้อเหนียวควรเลือกเห็ดแก่ ลูกจะใหญ่เป็นระยะสุดท้ายของเห็ด เปลือกภายนอกสีน้ำตาลดำ เมื่อเอานิ้วบีบลงไปจะรู้สึกถึงความแข็งและเหนียวได้อย่างชัดเจน
การเก็บรักษาเห็ดเผาะ
หากยังไม่นำมาประกอบอาหารอย่าเพิ่งล้างเพราะจะทำให้เห็ดเสียง่าย เก็บโดยห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์แล้วแช่ตู้เย็นไว้ หรือจะล้างทำความสะอาด เอาดินที่ติดอยู่ออกให้หมด จากนั้นจึงนำไปต้มในน้ำเกลือที่เดือดจัดจนสุกทิ้งไว้สักครู่ จากนั้นรีบตักเห็ดที่ยังร้อนอยู่แช่ในน้ำเย็นจัดเพื่อให้เห็ดคงความกรอบ นำขึ้นมาสะเด็ดน้ำ ใส่ถุงพลาสติก แบ่งเก็บไว้แต่ละถุงพอสำหรับประกอบอาหาร 1 มื้อ สามารถถนอมอาหารโดยแช่ไว้ในช่องแช่แข็งจะเก็บไว้ได้นานยิ่งขึ้น