กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อพังผืดหรือที่เรียกว่า “กลุ่มอาการเอ็มพีเอส” (MPS – Myofascial Pain Syndrome) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยมาก บางครั้งมีอาการปวดตื้อ ๆ ลึก ๆ ปวดร้าวไปบริเวณข้างเคียงบางครั้งปวดพอรำคาญ บางครั้งปวดรุนแรงมากจนเคลื่อนไหวลำบากมีจุดกดเจ็บหรือจุดที่ไวต่อการกระตุ้น (Trigger point) อยู่ในกล้ามเนื้อหรือในเนื้อเยื่อพังผืด ปวดมากหลังตื่นนอนตอนเช้าหรือหลังใช้กล้ามเนื้อนั้นเป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุของโรคนี้เกิดจากการที่กล้ามเนื้อนั้นมีการทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเกิดการสะสมของของเสียในกล้ามเนื้อ ส่งผลให้กล้ามเนื้อมีการหดตัวและขาดออกซิเจน จึงส่งผลให้เกิดอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อแบบเกร็งค้างจึงมีการบีบกดของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณนั้น ๆทำให้การนำออกซิเจนมาช่วยในการเผาผลาญสารอาหารทำได้ไม่เต็มที่ กล้ามเนื้อไม่ได้รับออกซิเจนไปใช้ในกระบวนการเผาผลาญพลังงาน จึงทำให้เกิดการเผาผลาญแบบไม่ใช้ออกซิเจนมีการคั่งค้างของกรดแล็กติกอาการปวดและกรดแล็กติกจะไปกระตุ้นกล้ามเนื้อให้เกร็งแข็งโดยอัตโนมัติ และถ้าไม่ได้มีการผ่อนคลายอาการตึงตัวของกล้ามเนื้อก็มักจะทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง (Myofascial Pain) อาการเช่นนี้มักจะพบได้ในกล้ามเนื้อทุกมัดที่ต้องออกแรงอย่างหนัก กล้ามเนื้อที่มีอาการปวดล้าได้ง่าย ได้แก่ กล้ามเนื้อบริเวณบ่าคอด้านหลังและหลังส่วนล่าง
ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้หญิง พบในวัยทำงานมากกว่าวัยอื่น ๆ พบบ่อยในกลุ่มพนักงานสำนักงาน (Office) กลุ่มผู้ใช้แรงงานโดยอาการจะเป็นมากขึ้น ถ้ามีการใช้งานกล้ามเนื้อหนักอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานและใช้งานในท่าที่ไม่เหมาะสม โดยทั่วไปอาการอาจไม่รุนแรง แค่พอรำคาญ หรือรุนแรงจนส่งผลต่อการเคลื่อนไหว
มุมมองแพทย์แผนจีนกับอาการปวดเมื่อย
- อาการปวดเมื่อยคืออาการที่เกิดจากการติดขัดของการไหลเวียนเลือดและพลัง มีหลายสาเหตุ แบ่งเป็นสาเหตุภายในสาเหตุภายนอก และไม่ใช่สาเหตุทั้งจากภายในและภายนอก
- สาเหตุภายในจากอวัยวะภายใน เช่น ม้ามควบคุมกล้ามเนื้อ ตับควบคุมเอ็น ปอดควบคุมการกระจายของพลังไปที่ผิวหนัง และควบคุมพลังทั่วร่างกาย ความแปรปรวนของอารมณ์ทำให้การไหลเวียนของพลังผิดทิศทาง ติดขัด
- สาเหตุภายนอก จากความชื้น ความเย็น ลม ที่มากระทบร่างกาย ทำให้การไหลเวียนเลือดที่มาหล่อเลี้ยงผิวหนังกล้ามเนื้อติดขัด
- ไม่ใช่สาเหตุทั้งจากภายในและภายนอก เช่น จากอุบัติเหตุบาดเจ็บกล้ามเนื้อและเอ็นอาหารที่ทำให้เกิดความชื้นความเย็นภายใน การสูญเสียสารจิงจากการมีเพศสัมพันธ์ (ทำให้พลังอ่อนแอ) อิริยาบถในชีวิตประจำวันที่ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัว เป็นต้น
หลักการรักษาหรือบรรเทาอาการปวด
- ตามหลักของแพทย์แผนจีน การเจ็บปวดมาจากพลังติดขัด เลือดอุดกั้น
- การไม่คล่อง (ของเลือดและพลัง) ทำให้ปวด
- การไม่ได้รับการหล่อเลี้ยง (จากเลือดและพลัง) ทำให้ปวด
วิธีการที่ดีที่สุดคือ การปรับพลังเลือดและเพิ่มการไหลเวียนไปบริเวณที่ปวดเมื่อยซึ่งต้องแก้ทั้งองค์รวมและเฉพาะที่(การเพิ่มปริมาณออกซิเจนไปบริเวณนั้น) ในทางการรักษาจึงอาจต้องใช้ทั้งสมุนไพร การฝังเข็ม – รมยาและการนวดควบคู่กันไปตามแต่กรณี ตามสาเหตุและสภาพร่างกายของผู้ป่วย
คลิกดูสูตรอาหารหน้าถัดไป….
1.ซุปกระเพาะหมูสมุนไพรตู้จ้ง – ตั่งเซิน – เก๋ากี้ (杜仲党参枸杞猪肚汤)
ส่วนผสม (สำหรับ 1 ที่) เตรียม 30 นาที ปรุง 45 นาที
- ตู้จ้ง (杜仲) 30 – 50 กรัม
- โสมตั่งเซิน (党参) 15 กรัม
- เก๋ากี้ (枸杞) 15 กรัม
- กระเพาะหมู (猪肚) 200 – 250 กรัม
- เกลือ 1 ช้อนชา
- ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนชา
- น้ำเปล่า 10 ถ้วย
วิธีทำ
ล้างทำความสะอาดกระเพาะหมูแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำมาต้มรวมกับสมุนไพรทำเป็นซุป ปรุงรสด้วยเกลือและซีอิ๊วขาว เมื่อจะรับประทานตักเฉพาะน้ำซุปเก๋ากี้ กระเพาะหมู และโสมใส่ลงถ้วย รับประทานขณะยังอุ่นๆ
สรรพคุณ บำรุงไต – ม้าม เสริมเลือดพลัง และสารจิง สร้างความแข็งแรงให้เอ็นและกระดูก รักษาอาการอ่อนเพลีย
เหมาะสำหรับคนที่อ่อนแอ ไม่มีพลังเลือดน้อย และมีอาการปวดเมื่อยหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่แข็งแรง
พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 221.70 กิโลแคลอรี
โปรตีน 34.61 กรัม ไขมัน 7.70 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 1.13 กรัม ไฟเบอร์ 0.18 กรัม
2.ไก่หนุ่มตุ๋นสมุนไพรเก๋อเกิน
ส่วนผสม (สำหรับ 1 ที่) เตรียม 30 นาที ปรุง 60 นาที
- สมุนไพรเก๋อเกิน (葛根) 50 กรัม
- ไก่หนุ่ม 1 ตัว
- เหล้าเหลือง 10 – 15 ซีซี
- ขิงหั่นเป็นฝอย (姜丝) 1 แว่น
วิธีทำ
ใส่สมุนไพรเก๋อเกิน (葛根) เติมน้ำ 700 ซีซี ต้มจนเหลือ 500 ซีซี กรองเฉพาะส่วนของน้ำสมุนไพรเอากากออก เอาไก่ที่ล้างสะอาดแล้วหั่นเป็นชิ้นแล้วผัดน้ำมันเล็กน้อยในกระทะพอให้สุก แล้วนำชิ้นไก่ไปใส่ในน้ำสมุนไพร เติมเหล้าเหลือง 10 – 15 ซีซี ขิงฝอยตุ๋นด้วยไฟอ่อนๆ จนเนื้อไก่เปื่อย ปรุงรสตามต้องการ รับประทานเป็นกับข้าว
สรรพคุณ กระตุ้นการไหลเวียนเลือดคลายกล้ามเนื้อ บำรุงเลือดเสริมความแข็งแรงของเอ็นเหมาะสำหรับอาการปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ อาการตกหมอน
พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 3,662.16 กิโลแคลอรี
โปรตีน 344.22 กรัม ไขมัน 249.18 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 4.51 กรัม ไฟเบอร์ 0.72 กรัม
โดย : แพทย์จีน นพ.ภาสกิจ วัณนาวิบูล อุปนายกและเลขาธิการสมาคม แพทย์แผนจีนประเทศไทย (www.samluangclinic.com)
เรียบเรียง : สิทธิโชค ศรีโช ภาพ : พีระพัฒน์ พุ่มลำเจียก ผู้ช่วยช่างภาพ : ณัฐยา วิชัยกุล สไตล์ : ปรางรัตน์ ฤกษ์สง่า