ห่อหมกปลาคังใส่กระเทียมดองและวุ้นเส้น รสหวานซ่านลิ้นของกระเทียมดองนั้น นับว่ามีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร น้ำกระเทียมดองหรือแม้แต่ตัวกระเทียมดองเองจึงนำมาใช้ปรุงอาหารหลากชนิด เพื่อเพิ่มเสน่ห์ให้แต่ละจาน อาทิ ยำปลาแนม หมี่กรอบ เป็นต้น
ทว่าครานี้เราลองนำเนื้อกระเทียมดองแกะเป็นกลีบๆ มาเคล้ากับปลาพร้อมเครื่องพริกแกงแบบอีสาน แล้วทำเป็นห่อหมกรับประทานดู บอกได้เลยว่า แต่ละคำที่เคี้ยวไปเจอกระเทียมดองนั้น ช่วยเติมเต็มรสชาติให้กับห่อหมกห่อนี้ได้ดีทีเดียว เล่าไปคุณก็คงไม่เชื่ออย่างนั้นจึงขอท้าให้ลองปรุงรับประทานเลยแล้วกัน
ส่วนผสม (สำหรับ 8 ห่อ) เตรียม 40 นาที (รวมเวลาห่อ) ปรุง 15 นาที
- เนื้อปลาคังแล่เป็นชิ้นพอคำ 500 กรัม
- กระเทียมดองหัวใหญ่แกะเอาเฉพาะเนื้อกระเทียมเป็นกลีบ ½ ถ้วย
- วุ้นเส้นแช่น้ำหั่นท่อนยาว 5 นิ้ว 6 ถ้วย
- ไข่ไก่ 2 ฟอง
- ใบมะกรูดฉีก 5 ใบ
- น้ำปลา 1½ ช้อนโต๊ะ
- น้ำกระเทียมดอง 1 ช้อนโต๊ะ
- ต้นหอมหั่นท่อน 2 ถ้วย
- ผักชีลาวหั่นท่อน 2 ถ้วย
- พริกกะเหรี่ยงสดสำหรับทำลูกโดดตามชอบ
ส่วนผสมพริกแกง (สำหรับเคล้าปลาและวุ้นเส้น)
- พริกกะเหรี่ยงสด 7 เม็ด
- ข่าแก่ซอย ¼ ถ้วย
- ตะไคร้ซอย ½ ถ้วย
- หอมเล็กซอย ½ ถ้วย
- กระเทียมกลีบเล็กปอกเปลือก ¼ ถ้วย
- กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ
ส่วนผสมสำหรับปรุงรสวุ้นเส้น
- น้ำปลา 1½ ช้อนโต๊ะ
- น้ำกระเทียมดอง 1 ช้อนโต๊ะ
- ส่วนประกอบอื่นๆ
- ใบตองสำหรับห่อและไม้กลัด
วิธีทำ
1. โขลกส่วนผสมพริกแกงรวมกันให้ละเอียดแล้วแบ่งครึ่ง ส่วนหนึ่งนำไปเคล้ากับเนื้อปลากระเทียมดองไข่ไก่วุ้นเส้นน้ำปลา น้ำตาลในภาชนะ ก่อนใส่ผักชีและต้นหอมเคล้าพอเข้ากัน พักไว้ อีกส่วนนำไปขยำกับวุ้นเส้นแล้วปรุงรสให้เสร็จ เตรียมไว้
2. ตักวุ้นเส้นใส่ลงใบตองส่วนหนึ่ง แล้วตักส่วนผสมเนื้อปลาที่เคล้ากับเครื่องพริกแกงและผักแล้วทับลงไป โรยด้านบนด้วยพริกกะเหรี่ยงสดที่เตรียมไว้ทำลูกโดดตามชอบแล้วห่อกลัดให้เรียบร้อย ทำอย่างนี้จนหมดส่วนผสมก่อนนำไปนึ่งจนสุก (ประมาณ 15 นาที) ปิดไฟ แกะออกจากใบตอง รับประทานเป็นอาหารจานเดียวหรือรับประทานขณะร้อนกับข้าวเหนียวก็ได้
พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 249.67 กิโลแคลอรี
โปรตีน 13.29 กรัม ไขมัน 10.71 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 23.48 กรัม ไฟเบอร์ 0.97 กรัม
หมายเหตุ : การรับประทานอาหารที่ถนอมไว้โดยเฉพาะของหมักดอง ควรระวังสุขภาพด้วย เหตุเพราะการหมักดองนั้นต้องมีการเติมเกลือลงไปทำให้มีปริมาณโซเดียม หรือเกลือค่อนข้างสูงจึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ไต ตับ หัวใจ และผู้ที่มีความดันโลหิตสูง