ปลาผัดเก๋ากี้กับห่วยซัว เมนูเครื่องยาจีนสำหรับผู้สูงอายุ
โดย อ.วันทนี ธัญญา เจตนธรรมจักร
ดิฉันชอบดูอาม่าจ่ายตลาด โดยเฉพาะเวลาเลือกซื้อปลา อาม่าจะเลือกซื้อปลาที่เนื้อยังแน่น เวลากดนิ้วลงบนตัวปลาเนื้อปลาจะเด้งกลับราวกับมีสปริง ตาปลาต้องใส เหงือกแดง ท้องไม่แตกหรือนิ่มเละ เมื่อเลือกซื้อปลาได้แล้ว อาม่าก็จะบอกให้แม่ค้าขอดเกล็ด ดึงเหงือกและไส้ปลาออก แล้วแม่ค้าก็จะใช้ใบตองห่อปลาหลาย ๆ ชั้นก่อนผูกด้วยเชือกกล้วย เป็นหูหิ้ว แทนถุงพลาสติก (ซึ่งสมัยนั้นไม่มี)
เมนูปลาประจำบ้านดิฉันมีอยู่หลายจานเด็ด แต่เมนูที่เข้าเครื่องยาจีนและอาม่าท่านเลือกปรุงให้คนในบ้านซึ่งสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงรับประทานก็คือ ปลาผัดเก๋ากี้กับห่วยซัว ซึ่งเมื่อฉันโตขึ้นและได้มีโอกาสศึกษาวิชาการแพทย์แผนจีน ถึงเข้าใจว่าอาหารจานดังกล่าวมีสรรพคุณในการช่วยบำรุงสุขภาพได้อย่างดี
ห่วยซัว เป็นหัวพืชตระกูลมันค่ะ มีรสหวานสุขุม ช่วยบำรุงอวัยวะที่เป็นแหล่งสะสมพลังงานของร่างกาย ทั้ง ม้าม ปอด ไต บำรุงชี่ ช่วยเสริมหยิน รวมทั้งช่วยรักษาอาการถ่ายอุจาระเหลว ไอและมีเสมหะมากเนื่องจากโรคปอด
ไตพร่อง ฯลฯ มีเรื่องเล่าบันทึกไว้ในตำรา อีเสวโจงโจงเชินซีลู่ ของจีนว่า สตรีผู้หนึ่งหลังคลอดแล้วเกิดอาการหอบชนิดเฉียบพลัน เหงือออกไม่หยุด นายแพทย์คนแรกจึงใช้อึ่งคี้ เส็กตี่ ซึ่งเป็นยาบำรุงพลังต้มให้นางดื่ม ทว่าเหงื่อกลับออกมามากยิ่งขึ้น แต่เมื่อหมอชื่อ จาง มารักษา จึงเปลี่ยนมาใช้ห่วยซัว 6 ตำลึง ต้มน้ำให้คนไข้ค่อย ๆ จิบดื่มเป็นเวลา 3 วันติดกัน คนไข้ก็พ้นขีดอันตรายในที่สุด
นอกจากห่วยซัวแล้ว เมนูปลาที่ว่ายังมี เก๋ากี้ ผลไม้แห้งเม็ดสีแดง มีรสหวานสุขุม สรรพคุณบำรุงตับ ไต บำรุงสายตา บำรุงเลือดและสารน้ำในร่างกายไม่ให้เสียสมดุล อีกทั้งเมื่อเลือกปรุงกับเนื้อปลาซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี ย่อยง่าย เรียกได้ว่าแต่ละตัวมีสรรพคุณบำรุงทั้งนั้นที่สำคัญรับประทานได้เรื่อยๆ ไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกายค่ะ ปลาผัดจานนี้จึงกลายเป็นอาหารอร่อยที่ไม่กระทบต่อระบบการทำงานในร่างกายของผู้ที่อ่อนแอ ทั้งยังช่วยฟื้นฟูพลังของร่างกายให้กลับมานั่นเอง
หากในบ้านคุณมีผู้สูงอายุ หรือคนป่วยหลังฟื้นไข้ บอกได้เลยค่ะว่า เมนูนี้เป็นทางเลือกที่ดีในการบำรุงสุขภาพแน่นอน ที่สำคัญแม้จะไม่ใช่คนป่วยก็สามารถรับประทานเพื่อส่งเสริมร่างกายได้ดี อย่างไรก็อย่าลืมปรุงชิมกันดูนะคะ ครั้งต่อไปดิฉันจะขอเสนอเมนูเข้าเครื่องยาจีนแสนอร่อยที่ช่วยป้องกันโรคไมเกรน อาการสุดฮิตของคนยุคนี้กัน แต่จะเป็นเมนูอะไรนั้นต้องรอติดตามใน Nutrition Therapy ฉบับหน้านะคะ
ปลาผัดเก๋ากี้กับห่วยซัว
ส่วนผสม (สำหรับ 2 ที่)
เตรียม 45 นาที (รวมเวลาแช่ห่วยซัวให้นิ่ม) ปรุง 10 นาที
เนื้อปลากะพงแดงหรือขาวแล่เป็นชิ้นพอคำ 200 กรัม
ขิงอ่อนสับละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
กระเทียมสับละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
คึ่นไฉ่หั่นเป็นท่อน 1 ต้น
เมล็ดเก๋ากี้แช่น้ำจนนิ่ม 1 ช้อนโต๊ธ
ห่วยซัว 30 กรัม
ซีอิ๊วขาว 1 ½ ช้อนโต๊ะ
น้ำมันงา 3 หยด
เหล้าจีนหรือเหล้าลำใย 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำมันสำหรับผัด 3 ช้อนโต๊ะ
น้ำซุปกระดูกหมู ¼ ถ้วย
พริกไทยป่นเล็กน้อย
น้ำเปล่าสำหรับแช่ห่วยซัว
น้ำเปล่าสำหรับลวกปลา
ข้าวสวยหรือเส้นหมี่ลวกสุกคลุกกระเทียมเจียว
วิธีทำ
1.ต้มน้ำให้เดือด ปิดไฟ ใส่ห่วยซัวลงไปแช่จนนิ่มและเริ่มใส (ใช้เวลาประมาณ 30 -45 นาที) จึงนำมาหั่นเป็นชิ้นพอคำ
พักไว้ นำเก๋ากี้แช่น้ำร้อน 5 นาทีให้พอนิ่ม พักไว้
2.ต้มน้ำในหม้ออีกใบให้เดือด ใส่เนื้อปลาลงลวกพอให้ด้านนอกสุก พักไว้
3.ผัดขิงสับและกระเทียมสับกับน้ำมันในกระทะจนหอม ใส่ห่วยซัวลงผัดจนนิ่ม ใส่เนื้อปลา ปรุงรสด้วยเกลือ ซีอิ๊วขาว พริกไทย คึ่นไฉ่ เหล้าจีน ตามด้วยเมล็ดเก๋ากี้ ผัดให้เข้ากัน ตักใส่จานโรยพริกไทยอีกเล็กน้อย รับประทานกับข้าวสวยหรือเส้นหมี่ลวกสุกคลุกกับน้ำมันกระเทียมเจียวก็ได้
หมายเหตุ : กินเป็นประจำจะช่วยบำรุงอวัยวะทังห้า ผู้ที่เป็นวัณโรคอันเกิดจากปัจจัยภายในพร่องไม่ควรรับประทาน ทั้งนี้ในตำราการปรุงอาหารเข้าเครื่องยาจีนโบราณ ยังระบุข้องบ่งใช้ห่วยซัวไว้ว่า ไม่ควรนำไปปรุงร่วมกับต้นหอมสด เพราะเป็นอาหารที่มีฤทธิ์ขัดกัน
เอกสารอ้างอิง หนังสือ อาหารเครื่องยาจีน หลักโภชนาการ พร้อมสูตรอาหารอายุวัฒนะ จัดพิมพฟ์โดยบริษัทรีดเดอร์ส ไดเจสท์ (ประเทศไทยจำกัด) หน้า 34
ห่วยซัวแห้ง มีจำหน่าย ตามร้านขายยาจีนทั่วไป ส่วนแบบสด สามารถหาซื้อได้ที่ตลาดเก่าเยาวราช
พลังงานตอหนึ่งหนวยบริโภค 249.72 กิโลแคลอรี
โปรตีน 18.36 กรัม
ไขมัน 18.17 กรัม
คารโบไฮเดรต 2.33 กรัม
ไฟเบอร0.30 กรัม