โรคมะเร็งรังไข่ ป้องกัน บำบัด รักษาด้วยอาหาร

โรคมะเร็งรังไข่ ป้องกัน บำบัด รักษาด้วยอาหาร

โรคมะเร็ง  แค่ได้ยินชื่อก็เป็นฝันร้ายที่ใครก็ไม่อยากพบเจอ โดยเฉพาะ “ โรคมะเร็งรังไข่ ”  ซึ่งคุณผู้หญิงทั้งหลายคือผู้เสี่ยงต่อโรค ฉบับนี้คุณหมอจึงพาคุณไปรู้จักกับโรคดังกล่าว พร้อมวิธีป้องกันรักษา  รวมไปถึงเมนูอาหารต้านโรคร้ายนี้ เพื่อให้คุณผู้หญิงนำไปใช้ป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากฝันร้ายนี้กัน

“ถุงเงินเสวย” จานอร่อย ต้านมะเร็งรังไข่
สวัสดีค่ะคุณสุภาพสตรีทุกท่าน ดิฉันเชื่อว่าหลายคนคงเคยมีเพื่อนหรือคนใกล้ชิด ที่เคยมาเล่าเรื่องอาการเจ็บป่วยให้ฟังกันเสมอ ในบางโรคหรือบางอาการก็หายได้โดยง่าย ในบางโรคก็ต้องใช้เวลาในการรักษา ในบางคนที่อาจโชคไม่ดีนักก็จะพบเจอโรคร้ายๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งโรคที่กลัวกันมากก็คือ“โรคมะเร็ง” นั่นเอง จริงไหมคะ

ผู้ป่วยโรคนี้หลายคนโชคดี เพราะตรวจพบว่าป่วยในระยะเริ่มต้น ทว่าหลายท่านก็โชคไม่เข้าข้างนักเพราะดันไปตรวจ พบเจ้าโรคร้ายนี้ในช่วงเกือบจะท้ายๆ แต่ก็ยังมีความหวังในการรักษา เนื่องจากในปัจจุบันนั้นมีความหลากหลายทางการแพทย์ที่รักษาโรคดังกล่าว แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ในการดูแลของผู้ที่มีความรู้ความชำนาญเท่านั้น

ในครั้งนี้ดิฉันขอพุ่งประเด็นไปที่โรค “มะเร็งรังไข่” โรคที่เป็นดุจฝันร้ายของผู้หญิงหลายคน ซึ่งโรคนี้มักเกิดกับผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยกว่าในช่วงอายุอื่นๆ

รังไข่เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการผลิตไข่และฮอร์โมนเพศหญิงที่สำคัญและส่งผลต่อการมีประจำเดือนในแต่ละเดือน “โรคมะเร็งรังไข่” นั้นมักพบในหญิงที่อยู่ในช่วงมัชฌิมวัย คือ ช่วงอายุ 20 – 45 ปี ซึ่งมักตรวจไม่พบโรคในช่วงระยะแรก แต่มักจะพบในระยะ 2 – 3 และก้อนเนื้อโตแล้ว อาการที่แสดงให้เห็นคือ มีอาการปวดประจำเดือน มีเลือดประจำเดือนออกมาผิดปกติ บางรายอาจพบว่ามีอาการท้องโตหรืออาจมีอาการกดเจ็บท้องน้อย อาจมีประวัติทางพันธุกรรมหรือญาติพี่น้องที่ใกล้ชิดและในคนอ้วนหรือวัยรุ่นที่อ้วนมีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นได้ หรือในผู้ที่มีภาวะไขมันสูงก็มีภาวะเสี่ยงด้วยเช่นกัน

การรักษาโรคนี้นั้น ในรายที่เป็นในระยะแรกอาจเพียงผ่าตัดออกและเฝ้าระวังในช่วง 2 – 5 ปี โดยตรวจเช็กอย่าง สม่ำเสมอ เมื่อพ้นเขตนี้ก็ถือว่าปลอดภัยในรายที่เป็นมากอาจต้องผ่าตัดและให้เคมีบำบัด ซึ่งอาจเกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดตามร่างกาย ชาตามร่างกาย แขน ขาไม่มีกำลัง ผมอาจร่วง อ่อนเพลีย บางรายอาจมีอาการ ร้อนๆ หนาวๆ ได้

วิธีป้องกันตนให้ห่างจากโรคมะเร็งรังไข่
1. รับประทานอาหารจำพวกผักผลไม้ให้มากพอควร
2. ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ
3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง และรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่
4. รับประทานอาหารที่มีกากใย เพื่อให้การขับถ่ายดี ป้องกันการสะสมของของเสียในร่างกาย
5. ดื่มน้ำวันละ 1.5-2 ลิตร

ในครั้งนี้ดิฉันจึงขอนำเสนอเมนูอาหารที่ปรุงขึ้นจากผักหลากชนิด เพื่ออาศัยสรรพคุณของสารพฤกษเคมีในพืชผักมาช่วย ป้องกันโรคมะเร็งรังไข่กันค่ะ

แครอต  บรอกโคลี  หน่อไม้ฝรั่ง เห็ดหอม  ช่วยป้องกันมะเร็งต่างๆ มีกากใยสูง  ป้องกันสิ่งคั่งค้างในลำไส้ มีสารต้านอนุมูลอิสระ  มีวิตามินเอ ซี และเบต้าแคโรทีนสูง  ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง

 

โรคมะเร็งรังไข่ ถุงเงิน ถุงเงินเสวย
ถุงเงินเสวย

 

ถุงเงินเสวย

โดย อาจารย์วันทนี  ธัญญา  เจตนธรรมจักร ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทย

ส่วนผสม (สำหรับถุงเงิน 10 ชิ้น) เตรียม 20 นาที ปรุง 20 นาที
ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ชนิดแผ่น ตัดขนาด 4×4 นิ้ว 10 แผ่น
ต้นหอมลวก สำหรับมัดแผ่นก๋วยเตี๋ยว 10 เส้น
ผักรับประทานเคียงกัน ได้แก่ แตงกวา ใบโหระพา ผักสลัด ใบสะระแหน

ส่วนผสมไส้
แครอตหั่นเต๋าเล็ก 3 ช้อนโต๊ะ
หน่อไม้ฝรั่งหั่นเต๋า 3 ช้อนโต๊ะ
บรอกโคลีหั่นเต๋า 3 ช้อนโต๊ะ
ข้าวโพด แกะเอาแต่เม็ด 3 ช้อนโต๊ะ
เห็ดหอมสดหั่นเต๋า 3 ช้อนโต๊ะ
เนื้อกุ้งสับ 3 ช้อนโต๊ะ
น้ำมันมะกอก 1 ช้อนโต๊ะ
ซีอิ๊วขาว 3/4 ช้อนโต๊ะ
เกลือเล็กน้อย
พริกไทยป่นเล็กน้อย
น้ำตาลทรายไม่ขัดขาวเล็กน้อย

ส่วนผสมน้ำจิ้ม
ซีอิ๊วดำหวาน 1/4 ช้อนชา
น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำส้มสายชูหมัก 1 ช้อนโต๊ะ
พริกชี้ฟ้าแดงสับ 1 ช้อนชา
น้ำสุก 3 ช้อนโต๊ะ
เกลือเล็กน้อย

วิธีทำ
1. ใส่น้ำมันลงในกระทะพอร้อน ใส่กุ้งลงผัด ตามด้วยบรอกโคลี แครอต ผัดต่อสักพัก พอแครอตสุกจึงใส่เห็ดหอม หน่อไม้ฝรั่ง เม็ดข้าวโพดลงผัด ปรุงรสด้วยเกลือ พริกไทย ซีอิ๊วขาว น้ำตาล ชิมรสให้มีรสชาติอ่อน ๆ ปิดไฟ
นำไส้ไปห่อด้วยแผ่น ก๋วยเตี๋ยว มัดชายแป้งด้วย ต้นหอมลวกให้สวยงาม มีลักษณะคล้ายถุงขนาดเล็ก แล้วนำไปนึ่งในลังถึงสักครู่พอให้ แผ่นก๋วยเตี๋ยวร้อนและนิ่มดี ระหว่างนึ่งให้ผสมส่วนผสมน้ำจิ้มรวมกันไว้
2. จัดถุงเงินเสวยใส่จานเคียง ด้วยน้ำจิ้มและผักเคียง

พลังงานต่อหนึ่งชิ้น 22.31 กิโลแคลอรี
โปรตีน 1.25 กรัม
ไขมัน 1.28 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 3.75 กรัม
ไฟเบอร์0.25 กรัม

 

 

 

 

 

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.