ศิลป์ พีระศรี

คิดถึงอาจารย์ฝรั่ง ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย

คิดถึงอาจารย์ฝรั่ง ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย

“พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” คติพจน์สุดคลาสสิคที่ไม่มีวันหายไปจากใจชาวศิลปากร คำพูดของอาจารย์ฝรั่ง ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี หรือ ที่ใคร ๆ ต่างเรียกท่านว่า อาจารย์ศิลป์

ชายหนุ่มชาวฟลอเรนซ์ผู้นี้มุ่งสู่สยามประเทศ เพื่อนำความรู้จากถิ่นกำเนิดซึ่งเป็นดินแดนแห่งศิลปะที่สำคัญของโลก มาสู่ดินแดนตะวันออก ด้วยความสามารถที่มีได้สรรค์สร้างงานศิลปะที่ผสมผสานระหว่างศิลปะไทยและตะวันตกได้อย่างลงตัว บุรุษผู้นี้มีนามว่า “คอร์ราโด เฟโรชี”

 

 

ชายหนุ่มชาวฟลอเรนซ์ผู้รักในงานศิลปะสุดหัวใจ

คอร์ราโด เฟโรชี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ในเขตซานโจวันนี (San Giovanni) เป็นบุตรของนายอาตูโด เฟโรชีและนางซานตินา เฟโรชี ซึ่งประกอบธุรกิจการค้า และเนื่องจากเกิดและอาศัยอยู่ ณ เมืองฟลอเรนซ์ นครแห่งการกำเนิดศิลปะเรอเนซองส์ชื่อก้องของอิตาลี จึงมีความสนใจในศิลปะมาตั้งแต่วัยเด็ก ศิลปินที่ชื่นชอบคือมิเกลันเจโลและโลเรนโซ กีแบร์ตี จึงเป็นแรงบันดาลใจให้สมัครเป็นลูกมือช่วยงานศิลปินที่มีชื่อเสียงตามสตูดิโอต่าง ๆ ของเมืองฟลอเรนซ์ ถึงจะรักในศิลปะแต่บิดาและมารดากลับไม่เห็นด้วย เพราะต้องการให้ช่วยสืบทอดธุรกิจของครอบครัว ด้วยความตั้งใจที่จะศึกษาศิลปะอย่างจริงจัง จึงเก็บเงินส่งตนเองเรียนที่สถาบันศิลปแห่งนครฟลอเรนซ์ (Accademia di Belle Arti di Firenze) หลังจากจบการศึกษาได้สอบคัดเลือกและรับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ประจำราชวิทยาลัย ด้วยความรู้ที่เชี่ยวชาญในด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ ศิลปะวิจารณ์ ปรัชญาศิลปะ และความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรม ท่านได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะไว้มากมาย และได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดออกแบบอนุสาวรีย์จากรัฐบาลหลายครั้ง อาทิเช่น ผลงานอนุสาวรีย์ผู้กล้าในสงครามโลกครั้งที่ 1 บนเกาะเอลบา

 

 

เข้ารับราชการที่สยามประเทศ

ศาสตราจารย์คอร์ราโดสมรสกับนางแฟนนี วิเวียนนี มีบุตรสาวชื่อ อิซซาเบลล่า และสืบเนื่องจากปี พ.ศ. 2466 ท่านชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรป ทั้งยังต้องการแสวงหาสถานที่ปฏิบัติงานแห่งใหม่ ประกอบกับในช่วงเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระประสงค์ต้องการบุคลากรผู้เชี่ยวชาญศิลปะตะวันตกเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้น และทำการฝึกสอนช่างไทยให้มีความสามารถในการสร้างงานประติมากรรมแบบตะวันตกด้วย ทางรัฐบาลอิตาลียื่นข้อเสนอโดยส่งคุณวุฒิและผลงานของศาสตราจารย์คอร์ราโดให้พิจารณา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงคัดเลือกศาสตรจารย์คอร์ราโดให้มารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร กระทรวงวัง ท่านและครอบครัวเดินทางมาสยามเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2466 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2469 ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา

 

 

วางรากฐานศิลปะตะวันตกในไทย

ด้วยความเป็นผู้มีความสามารถของศาสตราจารย์คอร์ราโด ท่านได้วางแผนหลักสูตรอบรมโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ที่สนใจในวิชาประติมากรรม ซึ่งส่วนมากจบการศึกษามาจากโรงเรียนเพาะช่าง ต่อมาบุคคลที่ผ่านการอบรมก็ได้เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของกิจการงานปั้นหล่อของกรมศิลปากร ทำให้ทางราชการขอให้ศาสตราจารย์คอร์ราโดวางหลักสูตรการศึกษารูปแบบเดียวกันกับสถาบันศิลปยุโรป

 

 

จากโรงเรียนประณีตศิลปกรรมสู่มหาวิทยาลัยแห่งศิลปะ

ศาสตราคอร์ราโดต้องการพัฒนาวงการศิลปะไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และด้วยเป็นช่วงที่ศิลปะตะวันตกกำลังรุ่งเรืองในประเทศไทย สิ่งที่ท่านเล็งเห็นคือจะทำอย่างไรให้คนไทยสามารถสร้างผลงานแบบตะวันตกได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องว่าจ้างช่างชาวตะวันตก และมีงานศิลปะที่เป็นแบบฉบับของตนเอง ด้วยแนวคิดนี้จึงทำให้เกิด “โรงเรียนประณีตศิลปกรรม” ในสังกัดกรมศิลปากร ต่อมาภายหลังได้รวมเข้ากับโรงเรียนนาฏยดุริยางคศาสตร์ เปลี่ยนชื่อมาเป็น “โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง”  จนกระทั่งปี พ.ศ. 2485 กรมศิลปากรแยกออกจากกระทรวงศึกษาธิการไปอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น  คือ ฯพณฯจอมพล ป.พิบูลสงคราม เห็นความสำคัญของศิลปะว่าเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่งของชาติ จึงมีคำสั่งให้อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นคือ “พระยาอนุมานราชธน” ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร และตราพระราชบัญญัติ ยกฐานะโรงเรียนศิลปากรขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร” เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 โดยจัดตั้งคณะจิตรกรรมและประติมากรรม ขึ้นเป็นคณะแรก ซึ่งศาสตราจารย์คอร์ราโดได้ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคนแรกของมหาวิทยาลัย ควบคู่ไปกับตำแหน่งอาจารย์ผู้สอนอีกด้วย

 

 

ที่มาของนาม ศิลป์ พีระศรี

พ.ศ. 2485 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศอิตาลียอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ชาวอิตาลีในประเทศไทยจึงตกอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นเองต้องการทราบว่าชาวอิตาลีกลุ่มนี้ภักดีต่อกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซาวอย ผู้ซึ่งประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร หรือสนับสนุนฝ่ายสาธารณรัฐสังคมนิยมอิตาลีที่ประกาศขอสู้ต่อกันแน่ ทำให้ศาสราจารย์คอร์ราโดถูกควบคุมตัวไว้เช่นกัน แต่รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงความสามารถของท่าน จึงได้ทำการขอควบคุมตัวท่านไว้เอง เพื่อไม่ให้ถูกเกณฑ์ไปเป็นเชลยสร้างทางรถไฟสายมรณะและสะพานข้ามแม่น้ำแคว เมืองกาญจนบุรี โดยหลวงวิจิตรวาทการได้ดำเนินการโอนสัญชาติจากอิตาเลียนมาเป็นสัญชาติไทย แล้วเปลี่ยนชื่อของท่านจากนายคอร์ราโด เฟโรจีมาเป็น “นายศิลป์ พีระศรี” นับตั้งแต่นั้นมา

 

 

คุณูปการต่อวงการศิลปะไทย

ด้วยความรู้ในด้านศิลปะตะวันตกที่ท่านได้พร่ำสอนให้แก่ลูกศิษย์ ทำให้วงการศิลปะไทยเกิดศิลปินหน้าใหม่ที่มีฝีมือและรูปแบบการสร้างสรรค์ผลงานที่แปลกใหม่ออกมา ศาสตราจารย์ศิลป์ได้รับมอบหมายให้สร้างพระบรมราชนุสาวรีย์และอนุสาวรีย์สำคัญของไทยมากมายหลายแห่ง ถึงการสร้างประติมากรรมจะเป็นศาสตร์ความรู้แบบตะวันตก แต่ท่านก็ไม่ทอดทิ้งความเป็นไทย งานประติมากรรมทุกชิ้นที่ท่านสร้างสรรค์ในไทยจึงเป็นศิลปะแบบไทยประเพณี  เพราะท่านเล็งเห็นว่าศิลปะไทยนั้นมีความงามและเอกลักษณ์ที่เป็นของตนเอง อีกทั้งช่างไทยจะได้มีการสืบทอดความรู้วิชาทางด้านศิลปะไทยสืบต่อไป กลายเป็นการรักษารากเหง้าของคนไทยไปโดยปริยาย

 

 

ด้วยศิลปะไทยมีหลายแขนง ท่านจึงส่งเสริมศิลปะไทยในแต่ละแขนงด้วยการตั้งคณะต่างๆเพิ่มขึ้นในมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้แก่ คณะสถาปัตยกรรม ศึกษาสถาปัตยกรรมไทย คณะโบราณคดี ศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ และอายุของวัตถุศิลป์ คณะมัณฑณศิลป์ ศึกษาการศิลปตกแต่ง และการออกแบบ ด้วยคุณูปการนานัประการนี้เอง ศาสตราจารย์ศิลป์จึงได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของศิลปะไทยสมัยใหม่ ที่ได้พลิกโฉมรูปแบบศิลปะไทยแบบเดิมให้มีความก้าวหน้าไปอย่างสูงทัดเทียมระดับสากล

 

 

ในช่วงบั้นปลายชีวิตของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านอุทิศเวลาที่เหลือให้กับวงการศิลปะไทย ทั้งการสอน การสร้างสรรค์ผลงาน รวมไปถึงการศึกษาศิลปะไทยอย่างลึกซึ้ง เพื่อการสร้างสรรค์งานศิลปะไทยสมัยใหม่ ควรมีเอกลักษณ์ของไทยไว้ให้สืบต่อไป แม้ความรู้ด้านศิลปะตะวันตกเริ่มแพร่หลายแล้วก็ตาม งานของศาสตรจารย์ศิลป์ถือเป็นงานแรกเริ่มของศิลปะไทยสมัยใหม่ ที่แม้จะได้รับอิทธิพลตะวันตกแต่ก็ผสมผสานศิลปะแบบไทยประเพณีไว้อย่างกลมกลืน

 

 

บั้นปลายชีวิตของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้แต่งงานใหม่กับนางมาลินี เคนนี่ในปีพ.ศ. 2502 แต่ไม่ได้มีบุตรด้วยกัน ศาสตราจารย์ศิลป์ยังคงทุ่มเทเวลาและอุทิศชีวิตให้กับวงการศิลปะไทยเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2505 ท่านได้ล้มป่วยลงด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก่อนที่จะถึงแก่อนิจกรรมในวันที่14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวภายหลังการเข้ารับการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมสิริอายุได้ 69 ปี 7 เดือน 29 วัน โดยมีพิธีพระราชทานเพลิงศพที่วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2506 อัฐิถูกแยกเป็นสามส่วนด้วยกันคือที่ สุสานชิมิเตโร เดญลี อัลลอรี เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ส่วนที่สองถูกบรรจุในอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ณ ลานศาสตรจารย์ศิลป์ พีระศรี ในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ และส่วนที่สามถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ในกรมศิลปากร

 

ที่มา :

https://th.wikipedia.org

https://guru.sanook.com

 

ภาพ :

https://th.wikipedia.org

http://www.l.su.ac.th

https://hilight.kapook.com

https://www.su.ac.th

http://www.snc.lib.su.ac.th

https://campus.campus-star.com


บทความน่าสนใจ

นทีป์ ฅนปากศิลป์ จากสตั๊นท์แมนสู่ศิลปิน ผู้รังสรรค์ผลงานศิลปะด้วย “ปาก”

เสพศิลป์เคล้าธรรมะสู่ความเป็นปราชญ์ นิทรรศการศิลป์ สุ จิ ปุ ลิ

ศาสตร์ศิลป์บนเส้นทางธรรม ณ เฮือนชมจันทร์ เชียงราย

“ต่ายกู๋น (Tai Kwun)” แลนด์มาร์คเชิงมรดกศิลปะวัฒธรรมแห่งใหม่ในฮ่องกง

ทอม บ็อบ ศิลปินเจ้าของไอเดียสร้างสุข เสกมุมโทรมๆ ให้เป็น งานศิลปะ สุดว้าว

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.