สติปัฏฐาน4

ถอดรหัส สติปัฏฐาน4 จากคำสอนที่ครูบาอาจารย์ฝากไว้

ถอดรหัส สติปัฏฐาน4 จากคำสอนที่ครูบาอาจารย์ฝากไว้

สติปัฏฐาน4 หมายถึงข้อธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสติ ใช้สติเป็นประธานในการกำหนดระลึกรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงโดยไม่ถูกครอบงำด้วยความยินดียินร้าย ซึ่งจะทำให้เห็นผิดไปจากความเป็นจริง บรรดาครูบาอาจารย์สายปฏิบัติได้กล่าวถึงการวิปัสสนากับมหาสติปัฏฐาน4 ไว้มาก วันนี้เราจะมาถอดรหัสคำสอนกัน

 

 

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

สติปัฏฐาน4 หมวดแรกคือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการใช้สติกำหนด พิจารณากาย ให้เห็นกายในกาย คือเห็นตามความเป็นจริงของกาย เช่น เห็นว่ากายเป็นเพียงการรวมตัวกันของธาตุทั้งสี่ คือดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อจับธาตุต่าง ๆ แยกออกจากกัน สิ่งที่เรียกว่าร่างกายก็จะหายไป ดังเช่นที่ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เคยเปรียบเทียบร่างกายเหมือนกับเครื่องยนต์ โดยท่านกล่าวว่า

“การทำลายเรือนของอุปาทานทำยังไง คือให้พิจารณาแยกร่างกายกระจายออกไป อย่าให้มีตัว แยกอวัยวะทุกชิ้นส่วนออกไป แยกออกเป็นส่วน ๆ จนหมดตัวคน คนเลยไม่มี เหมือนชิ้นส่วนของเครื่องจักรกล หรือเครื่องยนต์อันหนึ่ง”

การปฏิบัติกายานุปัสสนาสามารถแบ่งได้ 6 แบบ
1) อานาปานสติ เน้นที่การมีสติ ตามรู้ ตามดูลมหายใจเข้าออกแบบต่าง ๆ สังเกตเห็นอาการของลมหายใจ
2) อิริยาบถ คือกำหนดสติให้ระลึกรู้ในอิริยาบถอาการต่าง ๆ ของกาย เช่น เดิน นอน ยืน นั่ง ฯลฯ เป็นการปฏิบัติที่ทำได้ตลอดเวลา เหมาะกับการดำรงชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน
3) สัมปชัญญะ ความรู้ตัว คือปัญญาในการมีสติต่อเนื่องในอิริยาบถต่าง ๆ เช่น เดิน ดื่ม กิน ถ่าย วิ่ง ตื่น หลับ ฯลฯ เป็นการมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม ใช้แค่ขณิกสมาธิเป็นเบื้องต้น
4) ปฏิกูลมนสิการ เมื่อมีสติในสิ่งดังกล่าวข้างต้น จิตจะหยุดฟุ้งซ่าน จากนั้นใช้สติและจิตที่ตั้งมั่นนั้นไปพิจารณาส่วนต่าง ๆ ของร่างกายว่าล้วนเป็นสิ่งปฏิกูล สกปรก โสโครก จนเกิดนิพพิทา ความเบื่อหน่าย
5) ธาตุมนสิการ พิจารณาตามความเป็นจริงของกายนี้ว่า เป็นเพียงก้อนของธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
6) นวสีวถิกา พิจารณาซากศพในสภาพต่าง ๆ กัน เพื่อให้เห็นความจริงของร่างกาย

 

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

สติปัฏฐาน4 หมวดต่อมาคือ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึง การเสวยอารมณ์ ความรู้สึก เช่น ความรู้สึกชอบไม่ชอบ หรือเฉย ๆ การทำเวทนานุปัสสนา คือการมีสติกำหนดพิจารณาเวทนา พิจารณาให้เห็นว่าเมื่อผัสสะกระทบย่อมเกิดเวทนา เกิดความสุข ความทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นเป็นธรรมดาทุกครั้งไป ให้เห็นความจริงดังนี้ ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จิตก็จะคลายความยึดถือลงไปได้

หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู เคยสอนเกี่ยวกับเรื่องเวทนาว่า

“การเจ็บปวดเมื่อนั่งสมาธิ พระพุทธเจ้าว่าให้สู้มัน มันจึงจะเห็นทุกขเวทนา นั่งสมาธิมันเจ็บให้ดูมัน มันเกิดมาจากไหน เวทนามันก็เวทนาต่างหาก ไม่มีตัวเราก็พิจารณาให้รู้เท่านั้นแหละ ของไม่มีตนมีตัว มันเกิดขึ้นจากร่างกายนี้อย่างหนึ่ง แล้วมันก็รู้สึกถึงจิต รู้ถึงกัน จิตก็ไม่ยึดยึดก็เจ็บหนักเข้าไม่สู้มัน ต้องสู้มัน มันจึงจะเห็น”

อีกตอนหนึ่งหลวงปู่กล่าวว่า

“เวทนาร่างกายมันเป็นธรรมดา มันเป็นรังของโรค เป็นก้อนโรคตั้งแต่ไหนแต่ไรมา มันเป็นอย่างใดก็ไม่มีความหวั่นไหว พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายก็ไม่มีความหวั่นไหว เวลามันจะเป็นไป ร่างกายแล้วแต่มันจะเป็นไปตามเรื่องของมัน หน้าที่ของเขาทุกขังอยู่นั่น เวทนาอยู่นั่น เกิดเวทนา ก็ให้ฝึกหัดพิจารณาโลกธรรม รูปอันนี้เราได้มาดีแล้ว เมื่อมันชำรุดทรุดโทรมไป พระพุทธเจ้าก็ไม่มีความหวั่นไหวต่อมัน มันจะเสื่อมลาภให้มันเสื่อมไปตามวิสัย ใจเราไม่เสื่อม ความนินทามันก็ลมปาก ครั้นรู้เท่าแล้ว จิตไม่กระวนกระวาย จิตไม่มาเกี่ยวข้องกับร่างกายแล้วมันก็สุขเท่านั้นแหละ”

 

 

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

สติปัฏฐาน4 หมวดที่สามคือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือที่คุ้นเคยกับคำว่า การดูจิต การดูจิตก็คือการมีสติระลึกรู้เท่าทัน พิจารณาความนึกคิด อารมณ์ที่เข้ามาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งราคะ โทสะ โมหะ ฟุ้งซ่าน โดยมีสติตามรู้สภาพเป็นจริงที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ๆ ด้วยใจที่อุเบกขาเป็นกลาง ไม่เข้าไปปรุงแต่งเพิ่ม

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล แห่งวัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ เคยสอนไว้ว่า

 “หลักธรรมที่แท้จริงคือจิต จิตของเราทุกคนนั่นแหละหลักธรรมสูงสุดที่อยู่ในจิตใจเรา นอกจากนั้นแล้ว มันไม่มีหลักธรรมใด ๆ เลย ขอให้เลิกละการคิดและการอธิบายเสียให้หมดสิ้น จิตในจิตก็จะเหลือแต่ความบริสุทธิ์ซึ่งมีประจำอยู่แล้วในทุกคน”

“กิเลสทั้งหมดเกิดรวมอยู่ที่จิต ให้เพ่งมองดูที่จิต อันไหนเกิดก่อน ให้ละอันนั้นก่อน”

 

ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

สติปัฏฐาน4 หมวดสุดท้ายคือ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ มีสติรู้ชัดธรรมทั้งหลาย ได้แก่ นิวรณ์ 5 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 โพชฌงค์ 7 อริยสัจ 4 ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้นๆ

สามารถศึกษาการปฏิบัติทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานได้เพิ่มเติม

 

จากหนังสือ สมถะเท้าขวา วิปัสสนาเท้าซ้าย (ฉบับปรับปรุงใหม่)  สั่งซื้อ คลิก โดย พศิน อินทรวงค์

 


บทความน่าสนใจ

พระเอกพล วิสารโท (โค้ชเอก) ร่วมเสวนาเรื่องความสำคัญของการมีสมาธิและสติ ณ โรงละครแห่งชาติ

อุบายในการ ทำสมาธิ โดย พระอาจารย์ชานนท์ ชยนนฺโท

ฝึกสมาธิภาวนา : สัจธรรมสากลสำหรับคนทั้งโลก โดย ว.วชิรเมธี

การปฏิบัติสมาธิ มีหลายแบบหลายแนวไม่เหมือนกัน สรุปแล้วจะเชื่อสำนักใดดี?

Dhamma Daily : วิธีฝึกนั่งสมาธิ เบื้องต้น สำหรับคนคิดมาก ฟุ้งซ่าน ท้อแท้ง่าย

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.