พุทธปรัชญาแห่งองค์สถูป
สถูปถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่สำคัญของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในลัทธิมหายาน ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องแสดงถึงวิถีทางที่จะตรัสรู้ อันแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างทางจิตแห่งพุทธธรรม มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนส่วนต่าง ๆ ของสถูปอย่างกว้างขวางและเต็มไปด้วยความหมายทางพุทธธรรมมากขึ้น ตามที่ได้อธิบายไว้ในอังขุตตรนิกาย เป็นต้นว่า
1. ฐานสี่เหลี่ยมชั้นล่างสุด หมายถึง พื้นฐานแห่งการใช้สติพิจารณาถึงสิ่งที่ทำให้เกิดกิเลส หรือสันติปัฏฐาน 4 ได้แก่ การพิจารณากาย เวทนา จิต และธรรม
2. ฐานสี่เหลี่ยมชั้นที่ 2 หมายถึง อิทธิบาทหรือวิถีทางนำไปสู่ความสำเร็จ 4 ประการ ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา
3. ฐานสี่เหลี่ยมชั้นที่ 3 หมายถึง พลังแห่งจิต 4
4. ฐานสี่เหลี่ยมชั้นบนหมายถึงอินทรี 5 ปัญจินทริยานิ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
5. ฐานรูปกลมที่รองรับองค์สถูป (มาลัยลูกแก้ว) หมายถึงพลัง 5 ปัญจพลานิ อันหมายถึง ธรรมอันเป็นกำลังเกื้อหนุนให้ถึงอริยมรรค คือ สัทธา (ศรัทธา) วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา
6. องค์สถูปที่เป็นรูปครึ่งวงกลม ต้นกำเนิดจากรูปไข่ เรียกว่า อัณฑะ เป็นศูนย์พลังแห่งการเกิดปัญญานำไปสู่การตรัสรู้ เป็นปัจจัย 7 เรียกว่า สัตตโพชฌงค์ ได้แก่ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปิติ ปัสสิทธิ สมาธิ และอุเบกขา
7. หรรมิกา ซึ่งเดิมเป็นแท่นบูชาพระเวท ประกอบด้วย เวทิกาหรือรั้วสี่เหลี่ยม ซึ่งเป็นการกำหนดเขตศักดิ์สิทธิ์ ระยะหลังหรรมิกาได้พัฒนาขึ้นเป็นแปดเหลี่ยม จึงมีความหมายว่า มรรค 8 ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมากังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ
8. ส่วนของคอระฆังซึ่งอยู่เหนือหรรมิกาขึ้นไปถือว่าเป็นลำต้นของต้นไม้แห่งชีวิตหรือเสาแห่งจักรวาล มีความหมายถึงตถาคตพลญาณ 10 หรือทศพลญาณ คือ พระญาณ ซึ่งเป็นกำลังของพระพุทธเจ้าสิบประการ ได้แก่ ฐานาฐานญาณ สัพพัตถคามินิปฏิปทาญาณ นานาธาตุญาณ นานาธิมุตติกญาณ อินทริยปโรปริยัตตญาณ ณานาทิสังกิเลสาทิญาณ ปุปเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ และอาสวักขยญาณ
9. ฉัตร 13 ชั้น หรือชั้นแห่งต้นไม้ของชีวิต 13 ชั้น ซึ่งของไทยเรียกว่าปล้องไฉนนั้น หมายถึง ทศพลญาณ 10 และอาเวณิกสมฤตยูปัสธานะ 3
ที่มา พระบรมสารีริกธาตุ – กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ