เด็กน้อยบรรลุธรรม

4 เด็กน้อยบรรลุธรรม ในพุทธกาล

4 เด็กน้อยบรรลุธรรม ในสมัยพุทธกาล

พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพื่อชี้แนะให้สรรพสัตว์ไปสู่ความหลุดพ้น ในคัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวถึงผู้บรรลุธรรมเป็นผู้อรหันต์ พระโสดาปัน รวมทั้งพระอริยบุคคลประเภทต่าง ๆ ไว้มากมายทั้งที่เป็นชายและหญิง แต่ใครจะทราบว่าพระอรหันต์ที่เป็นเด็กก็มี ในวันนี้เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ซีเคร็ตจึงทำการรวบรวมเรื่องเล่าจากคัมภีร์ที่เกี่ยวกับเด็กบรรลุธรรมมาฝากค่ะ เพื่อให้เห็นว่าการบรรลุธรรมไม่ปิดกั้นในเรื่องของอายุและเพศ ขอเชิญทุกท่านพบกับ 4 เรื่องราวของ เด็กน้อยบรรลุธรรม ในสมัยพุทธกาลค่ะ

 

พระราหุล บุตรผู้คู่ควรแก่บิดา

หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง 4 เกิดพระทัยปรารถนาความหลุดพ้น มีพระดำริว่าจะเสด็จออกผนวช เมื่อพระองค์ทรงทราบว่าพระนางยโสธราพิมพา ทรงให้กำเนิดพระโอรส พระองค์ทรงรักและห่วงลูกยิ่งกว่าสิ่งใดในโลกนี้ จึงเปล่งคำอุทานออกมาว่า “พันธะนัง ชาตัง ราหุลัง ชาตัง” (ห่วงเกิดขึ้นเสียแล้ว) พระกุมารพระองค์นี้จึงมีนามว่า “พระราหุล” หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระทัยจากพระมเหสีและพระกุมารเสด็จออกผนวชเพื่อแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ในที่สุด

หลังจากตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ขณะนั้นราหุลกุมารมีพระชนมายุได้ 7 พรรษา เมื่อได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์อย่างใกล้ชิด ราหุลกุมารจึงเกิดความรักในพระบิดาเป็นอย่างยิ่ง

พระกุมารทูลขอกรรมสิทธิ์ในพระราชสมบัติจากพระบิดา แต่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาว่า ทรัพย์สมบัติทางโลกนั้นไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน พระองค์จึงพระราชทานสมบัติทางธรรมให้แก่พระราหุล โดยมีรับสั่งให้พระสารีบุตรบวชให้พระกุมาร พระราหุลจึงเป็นสามเณรรูปแรกในพุทธศาสนา

แม้จะเป็นถึงโอรสของพระศาสดา แต่ขณะที่ถือเพศบรรพชิตนั้น สามเณรราหุลก็มิได้ถืออภิสิทธิ์ใดๆ ท่านดำรงตนอยู่ในวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด มิเคยสร้างความลำบากพระทัยใดๆ ให้พระพุทธเจ้าเลย

เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติว่า ภิกษุที่นอนร่วมกุฏิกับอนุปสัมบัน (ผู้ยังมิได้อุปสมบท ได้แก่ คฤหัสถ์และสามเณร) ต้องอาบัติ สามเณรราหุลก็เคารพในข้อบัญญัติดังกล่าว จากเดิมที่เข้า-ออกพระกุฏิของพระพุทธเจ้าและพระสาวกอยู่เป็นนิตย์ แต่เพราะเกรงว่าตนเองจะเป็นต้นเหตุทำให้พระพุทธเจ้าและพระสาวกต้องอาบัติ สามเณรราหุลจึงเลือกที่จะจำวัดในเวจกุฎี (ส้วม) ของพระพุทธเจ้าตลอดทั้งคืน

นอกจากพระราหุลจะปฏิบัติตามกิจของสามเณรอย่างไม่ย่อหย่อนแล้ว ท่านยังมุ่งกำจัดกิเลสด้วยการถือการนั่งเป็นวัตร นั่นคือพระราหุลไม่เอนกายลงนอนเลยเป็นเวลาถึงสิบสองปี ผลจากการถือวัตรปฏิบัติเช่นนี้ ทำให้ท่านสามารถขัดเกลากิเลสและดำรงตนเป็นผู้สันโดษมักน้อยได้ดียิ่งขึ้น

ทุกๆ วัน สามเณรราหุลจะลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ กอบทรายขึ้นมาหนึ่งกำมือแล้วกล่าวว่า วันนี้เราพึงได้โอวาทจากพระพุทธเจ้าและพระอุปัชฌาจารย์ทั้งหลายมากเท่าเม็ดทรายนี้

ด้วยเหตุที่พระราหุลเป็นผู้ยินดีในการเรียนรู้และมุ่งมั่นศึกษาพระธรรมอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าจึงทรงแต่งตั้งพระราหุลเป็นเอตทัคคะผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านเป็นผู้ใคร่ศึกษา

ด้วยความเคารพนอบน้อมต่อพระโอวาทและดำรงตนโดยไม่ถือทิฐิว่าเป็นผู้มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระศาสดา พระราหุลจึงควรค่าแก่คำยกย่องจากภิกษุทั้งหลายว่า เป็นโอรสที่คู่ควรแก่พระบิดาอย่างแท้จริง

ที่มา : พระราหุล บุตรผู้คู่ควรแก่บิดา

 

โสปากะ เด็กน้อยผู้รอดพ้นจากภัยด้วยพุทธบารมี

โสปากะ เป็นเด็กชายคนหนึ่งในสมัยพุทธกาล เป็นบุตรที่เกิดในตระกูลพ่อค้า บิดาตายตั้งแต่ตนยังเล็กมาก จึงได้รับการเลี้ยงดูจากน้าชาย พอน้าชายแต่งงานมีครอบครัว ลูกๆของน้ามักชอบแกล้งและใส่ร้ายโสปากะอยู่เสมอ จนกระทั่งน้าชายทนไม่ไหว จึงเอาโสปากะไปผูกมัดไว้กับศพในป่าช้า เพื่อให้เป็นอาหารของสุนัขป่า โสปากะเด็กน้อยผู้น่าสงสาร เสียงร้องไห้ของเด็กน้อยดังไปถึงพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงทราบด้วยญาณจึงส่งกระแสคำตรัสมายังโสปากะว่า

“ขอให้ระลึกถึงเรา จนอย่าได้กลัว”

ด้วยพุทธบารมีของพระพุทธเจ้าได้ฉุกช่วยให้เด็กน้อยพ้นจากการเป็นอาหารของสุนัขป่า เด็กชายผู้นี้ได้มาพำนักในกุฏิของพระองค์ พระองค์ได้บวชให้เด็กน้อยเป็นภิกษุ ตอนนั้นโสปากะมีอายุเพียง 7 ขวบ ถือว่าเป็นภิกษุที่อายุน้อยที่สุดในพระพุทธศาสนา (สำหรับฝ่ายภิกษุณี ถ้าอายุน้อยที่สุดคือ พระนางเสลา เจ้าหญิงแห่งเมืองอาฬวี)

ฝ่ายแม่ของโสปากะที่ออกตามหามาหลายวันก็ไม่พบลูกชาย ทราบว่าพระพุทธเจ้ามีญาณหยั่งรู้ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต จึงตัดสินใจไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าจึงทรงเทศนาว่า “บุตรทั้งหลายก็ช่วยไม่ได้ พ่อและพี่น้องก็ช่วยไม่ได้ เมื่อคนเราถึงคราวตาย ญาติพี่น้องก็ช่วยอะไรเราไม่ได้ ”

แม่ของโสปากะได้บรรลุเป็นพระโสดาบันหลังจากฟังพระธรรม ในขณะเดียวกัน โสปากะที่บวชเป็นภิกษุแล้ว ซึ่งนั่งอยู่ท่ามกลางหมู่สงฆ์ก็บรรลุอรหันตผลจากการฟังธรรม สุดท้ายแม่ก็ล่มเลิกออกตามหาโสปากะ เพราะหากลูกชายตายจริงก็ไม่สามารถช่วยลูกรักให้ฟื้นขึ้นมาได้ ส่วนโสปากะมีความอิ่มเอมในรสพระธรรมของพระพุทธเจ้า จึงไม่ได้มีใจมุ่งมั่นอยากกลับบ้านอีกต่อไป

ที่มา : โสปากะ เด็กน้อยผู้รอดพ้นจากภัยด้วยพุทธบารมี

 

พระกุมารกัสสปะบรรลุธรรมเพราะเรื่องจอมปลวก

มีธิดาเศรษฐีนางหนึ่งในกรุงราชคฤห์ เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก มีความปรารถนาอยากบวชเป็นภิกษุณี แต่บิดาให้นางแต่งงานกับบุตรชายในตระกูลเศรษฐีที่มีฐานะเท่าเทียมกัน วันหนึ่งบอกพรรณนาต่อสามีว่าเบื่อหน่ายในเรือนร่าง สามีจึงตอบกลับว่สาา ถ้าเป็นเช่นนี้ทำไมไม่ออกบวช นางจึงขออนุญาตจากสามี แล้วไปบวชเป็นภิกษุณีในสำนักของพระเทวทัต

ต่อมาเมื่อได้ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ ภิกษุณีผู้อาวุโสจึงไปเรียนให้พระเทวทัตทราบ พระเทวทัตตัดสินใจให้ธิดาเศรษฐีออกจากสำนัก ด้วยเกรงว่าจะเสื่อมเสียชื่อเสียง ภิกษุณีจึงพานางไปยังเชตวันวิหารของพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องโดยตลอด ทรงรับสั่งให้พระอุบาลีผู้เลิศทางวินัยเข้าเฝ้าแล้วตรัสว่า “อุบาลี เธอไปทำเรื่องนี้ให้เรียบร้อยตามความเป็นจริงเถิด”

พระอุบาลีได้ขอให้นางวิสาขามาตรวจ นางวิสาขาเป็นผู้มีบุตรมากจึงทราบอาการของผู้ตั้งครรภ์ดี เมื่อได้ตรวจดูมือ ดูปลายเท้า สะดือและท้องของเธอ รวมทั้งตรวจนับวันเดือนปีที่บวช แล้วก็รู้ด้วยความชำนาญว่าเธอตั้งครรภ์ก่อนมาอุปสมบท

ดังนี้ธิดาเศรษฐีจึงได้เป็นภิกษุณีอยู่ในสำนักแห่งพระพุทธเจ้า และเมื่อคลอดบุตรแล้ว เหล่าภิกษุณีทั้งหลายก็ได้ช่วยกันเลี้ยงดูทารกน้อย

วันหนึ่งพระราชาปเสนทิโกศลเสด็จพระราชดำเนินมาทางข้างสำนักภิกษุณี ทรงสดับเสียงทารกร้องจึงตรัสถามอำมาตย์ เมื่อทราบความโดยตลอดแล้ว จึงตรัสว่า

“การที่ภิกษุณีต้องเลี้ยงเด็กเป็นความกังวล เราจะรับเลี้ยงทารกนั้นเอง”

ตรัสเสร็จก็รับสั่งให้ธิดาเศรษฐีเข้าเฝ้าและทรงขอทารกไปเลี้ยงอย่างราชกุมาร ให้นามว่า “กุมารกัสสปะ”

ครั้นพอกุมารกัสสปะโตขึ้น เมื่อไปวิ่งเล่น เด็กทั้งหลายพากันเรียกเขาว่าเด็กกำพร้า เขาจึงทูลถามพระราชาว่าใครคือบิดามารดา พระราชาจึงทรงเล่าประวัติให้ฟัง กุมารกัสสปะรู้สึกสลดใจจึงทูลขอบวช โดยบวชเป็นสามเณรก่อน เมื่ออายุครบอุปสมบทแล้ว จึงได้อุปสมบทภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์

เมื่อบวชแล้วไม่นาน พระกุมารกัสสปะได้เรียนกรรมฐานในสำนักพระพุทธเจ้าแล้ว จากนั้นจึงเข้าสู่ป่าบำเพ็ญธรรม แต่ก็ไม่สามารถบรรลุคุณวิเศษได้ จึงเดินทางกลับมาหาพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง โดยได้พักอยู่ที่ป่าอันธวัน

คืนนั้นเทพที่เคยร่วมบำเพ็ญธรรมกันมาได้มาขอให้พระกุมารกัสสปะทูลถามพระพุทธเจ้า มีความโดยย่อดังนี้

มีจอมปลวกอยู่จอมหนึ่ง กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นเปลว พราหมณ์คนหนึ่งให้สุเมธเอาศัสตรามาขุดจอมปลวก พอขุดลงไปก็พบเขียง ขุดต่อไปพบอึ่งอ่าง ทางสองแพร่ง เปือกตม เต่า ดาบ ชิ้นเนื้อ นาค เมื่อพบนาค พราหมณ์ก็บอกให้บูชานาคให้ดี

ตอนเช้าพระกุมารกัสสปะจึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและทูลถามปัญหาดังกล่าว พระพุทธเจ้าทรงแก้ปัญหานั้นว่า

จอมปลวกคือกาย และกลางคืนเป็นควันเพราะคิด ส่วนกลางวันเป็นเปลวเพราะการทำงาน พราหมณ์คือพระตถาคตเจ้า สุเมธคือพระเสขะ ศัสตราคืออริยปัญญา การขุดคือความเพียรสม่ำเสมอ เขียงคืออวิชชา อึ่งอ่างคือความโกรธ ความคับแค้น ทางสองแพร่งคือสงสัย เปือกตมคือนิวรณ์ 5 เต่าคืออุปาทานขันธ์ 5 ดาบคือกามคุณ 5 ชิ้นเนื้อคือความเพลินในกาม และนาคคือพระขีณาสพ

เมื่อพระพุทธเจ้าตอบปัญหาจบ พระกุมารกัสสปะก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

ที่มา : มารดาของพระกุมารกัสสปะ

 

เสลา พระเถรีน้อยผจญมาร

พระเสลาเถรี แต่เดิมทีเป็นเจ้าหญิงแห่งเมืองอาฬวี พระธิดาแห่งพระเจ้าอาฬิกะ ครั้งหนึ่งมียักษ์ตนหนึ่งนามว่า “อาฬวกยักษ์” สิงสถิตในต้นไทรใกล้เมืองอาฬวี

พระพุทธเจ้าทรงทราบว่ายักษ์ตนนี้สามารถเป็นพระโสดาบันได้ จึงเสด็จมาโปรด เจ้าหญิงเสลามีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วสดับธรรมจากพระพุทธองค์ บรรลุธรรมตอนพระชนมายุได้ 7 ขวบ หลังจากนั้นเจ้าหญิงจึงทูลขอพระพุทธเจ้าผนวช

พระพุทธเจ้าเห็นถึงการบรรลุธรรมอย่างรวดเร็วของเจ้าหญิงน้อย พระองค์จึงทรงอนุญาตให้ผนวชเป็นภิกษุณี ซึ่งถือว่าเป็นภิกษุณีที่อายุน้อยมาก

เจ้าหญิงเสลาเข้าไปในป่าอันธวัน ซึ่งเป็นป่าที่อยู่นอกเมืองสาวัตถี แล้วทรงนั่งเล่นอยู่บนโคนต้นไม้ ขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับความสงบของป่าอยู่นั้น มารตนหนึ่งจำแลงตนเป็นคนป่าเข้ามาหาเจ้าหญิงแล้วกล่าวว่า

“ในโลกนี้ ไม่มีทางแห่งความพ้นทุกข์ เจ้าจะเอาความสงบนี้ไปเพื่ออะไร เจ้าจงแสวงหาความสุขสำราญในกามคุณทั้งหลายจะดีกว่า”

เจ้าหญิงเสลาตรัสว่า

“กามคือสิ่งที่น่าใคร่ก็จริงอยู่ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งสัมผัสทางกาย เป็นที่ตั้งให้ยึดถือหลงใหลในกามเหล่านั้น ความยินดีในกามจึงเกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้เราไม่ได้ยินดีและไม่เพลิดเพลินในกามอีกต่อไป เราละแล้วจากความลุ่มหลง เราทำลายมันได้แล้ว เจ้ามารผู้ต่ำช้า เจ้าจงรู้ไว้เถิดว่าเจ้าทำอะไรเราไม่ได้อีกต่อไป”

มารได้ยินดังนั้นก็อันตธานหายไป เพราะไม่สามารถลวงให้เจ้าหญิงเสลาหวนกลับสู่ความเป็นปุถุชนได้อีกต่อไป

ที่มา : เสลา พระเถรีน้อยผจญมาร


บทความน่าสนใจ

สามเณรนิโครธ หลานผู้เป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าอโศกมหาราช

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.