ครูต้นกล้วย – วรินทร์ อาจวิไล : สร้างชุมชนคลองเตยให้เป็นแหล่งผลิตนักดนตรีที่ดี
ครูต้นกล้วย – วรินทร์ อาจวิไล หนุ่มไฟแรงที่รักในเสียงดนตรีและชื่นชอบในหนังเรื่อง Season Change ทำให้เขามุ่งมั่นที่จะเรียนดนตรีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงครั้งแรก ๆ จะสอบไม่ผ่าน แต่ก็ไม่ทอดทิ้งความฝัน จนกระทั่งเขาทำมันได้สำเร็จ ระหว่างที่เขาเดินอยู่บนถนนแห่งเสียงดนตรีและความฝัน เขาไม่รี่รอที่จะเรียนรู้และไขว่คว้าประสบการณ์ในด้านดนตรี แล้วนำสิ่งนี้มาพัฒนาชุมชนคลองเตยที่ใคร ๆ มองในแง่ลบให้กลายเป็นแหล่งผลิตนักดนตรีที่ดี
” ย้อนกลับไปเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ผมเป็นเด็กในชุมชนแถวคลองเตย ชื่อ “ชุมชนน้องใหม่” ตอนนั้นยังไม่รู้จักดนตรีอะไรเลย จนกระทั่งอาจารย์ Solveig Juhannessen ซึ่งท่านเป็นชาวนอร์เวย์ตามสามีมาเมืองไทย และใช้ความรู้ด้านดนตรีสอนเด็ก ๆ ที่บ้านสรรเสริญ สถานที่รับเลี้ยงเด็กที่แยกออกมาจากคริสตจักรอิมมานูเอล ทำให้ผมได้รู้จักกับดนตรี ท่านชักชวนผมและเพื่อน ๆ มาเรียนดนตรี
” ท่านถนัดเล่นเปียโน แต่ท่านเลือกสอนไวโอลินเพราะเป็นเครื่องดนตรีที่พกพาสะดวก ตอนแรกผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไวโอลินคืออะไร ท่านก็จับยัดใส่มือ ครั้งแรกที่เห็นก็รู้สึกว่าเครื่องดนตรีชิ้นนี้สวยและน่ารักดี แต่พอลองสีไปเท่านั้น ก็ไม่ชอบเสียงของมันเลย (หัวเราะ) ถ้าใครที่เคยเล่นไวโอลินจะทราบว่าครั้งแรกที่สีเสียงของมันไม่ได้ไพเราะอย่างที่คิด ผมไม่จับต้องมันอีกเลยนานถึง 8 เดือน จนกระทั่งวันหนึ่งผมมาที่คริสตจักรอิมมานูเอลแล้วได้ฟังเพลงที่อาจารย์ผมเล่น เสียงไวโอลินที่ท่านบรรเลงมันช่างไพเราะเหลือเกิน ด้วยความประทับใจในวันนั้นทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจอยากเล่นไวโอลินเป็น ผมจึงขอร้องให้อาจารย์ช่วยสอนไวโอลินอีกครั้ง และพัฒนาฝีมือมาเรื่อย ๆ จนเล่นเป็น
” ผมมีความผูกพันกับที่นี่เพราะที่นี่เปรียบเสมือนครอบครัว ตอนเด็กอาจารย์มักพาพวกเราไปเล่นคอนเสิร์ตร่วมกับโรงเรียนนานาชาติบ้าง พาไปออกนอกสถานที่บ้าง จึงทำให้มีความทรงจำที่สนุกสนาน ตื่นเต้น ได้พบเจอกับผู้คน และได้เห็นอะไรใหม่ ๆ ผมก็เรียนดนตรีกับท่านมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้ดูหนังเรื่อง Season Change เป็นหนังที่ผมชอบมาก ประมาณ 20 รอบ (หัวเราะ) จนแม่ถึงกับว่าผมบ้าไปแล้ว ถึงขนาดดูจนพูดตามบทได้เลย
” หนังเรื่องนี้ทำให้ผมรู้ว่าโลกภายนอกมีโรงเรียนที่มีการสอนดนตรีอย่างจริงจัง แล้วบวกกับบรรยากาศใน Season Change ทำให้มีความใฝ่ฝันอยากเรียนโรงเรียนดนตรีอย่างในหนัง ผมสืบค้นในอินเตอร์เน็ตว่ามีโรงเรียนแบบนี้จริงไหม สุดท้ายก็ได้รู้ว่าที่นั่นคือ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผมสมัครสอบเข้าทันที ตอนแรกพ่อแม่ไม่เห็นด้วยเพราะท่านคิดว่าถ้าส่งลูกไปเรียนดนตรีแล้วพอลูกจบมาจะทำงานอะไร เราก็พยายามบอกกับท่านเสมอว่า (ยึดคำพูดตามหนังเลย)
คนเราอ่ะอยู่กับลูกไปไม่ได้ตลอดหรอก แต่ไอ้สิ่งที่เขาชอบเนี่ย จะอยู่กับเขาไปตลอดชีวิต พ่อแม่ไม่ได้อยู่กับลูกไปตลอดนะ แต่ความฝันของลูกต่างหากที่จะอยู่กับลูกไปตลอด
” ถ้าพ่อแม่ไม่ให้เรียนจริงๆ อย่างไรก็จะสอบเพราะอยากรู้ว่าผมมีความสามารถที่จะสอบผ่านไหม จึงขออนุญาตท่านไปสอบ ผมสอบถึงสามครั้ง ครั้งแรกกับครั้งที่สองไม่ผ่านทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ แต่ครั้งที่สามสอบผ่านภาคปฏิบัติแต่ตกภาคทฤษฎี ตอนนั้นคิดในแง่ดีว่าอย่างน้อยก็สอบผ่านภาคปฏิบัติ แต่ที่สอบไม่ผ่านภาคทฤษฎีเพราะผมไม่รู้เรื่องทฤษฎีมากกว่า
” ในเวลาต่อมามิชชันนารีชาวฟินแลนด์ชื่อว่า Susanna Ketunen ถูกส่งมาช่วยงานที่คริสตจักรอิมมานูเอล ซึ่งท่านก็เป็นอาจารย์สอนดนตรีผมด้วยตอน ม.3 ท่านก็เมตตาช่วยสอนทฤษฎีดนตรีให้อย่างเอาจริงเอาจัง บังคับให้ไปเรียนกับท่านทุกเย็น แต่ผมเรียนหนักพออยู่แล้วเพราะตอนนั้นเรียนสายวิทย์ ก็ไปเรียนบ้างไม่เรียนบ้างจนท่านไม่พอใจแล้วบอกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้จะเป็นนักดนตรีได้อย่างไร แล้วท่านก็เปิดซีดีให้ผมดู เป็นซีดีบันทึกภาพวิดีโอสมัยท่านเป็นวัยรุ่นว่าไปแข่งขันดนตรี เล่นคอนเสิร์ตที่ไหนบ้าง ผมจึงเกิดความรู้สึกว่าถ้าได้เป็นอย่างท่านคงเป็นอะไรที่สนุกนะ หลังจากนั้นผมมุ่งมั่นพยายามเรียนและซ้อมอย่างหนักเป็นเวลาถึง 3 ปีก็สามารถสอบเข้าปี 1 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้สำเร็จ
” หลังจากเข้าเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างแรกคือค่าเทอมที่สูงขึ้น นี่คือเหตุผลหนึ่งที่พ่อแม่ไม่อยากให้เรียน ทางคริสตจักรอิมมานูเอลช่วยเรื่องทุนการศึกษาเป็นระยะเวลา 1 ปี หลังจากนั้นพ่อแม่เป็นฝ่ายส่งผมเรียน จำได้ว่าท่านเหนื่อยเพื่อผมมาก ต้องทำงานหาเงินให้พอจ่ายค่าเทอม ผมไม่อยากเป็นภาระท่านทั้งสองจึงไปรับสอนพิเศษที่สถาบันสอนดนตรี KPN และเป็นสมาชิกวงดนตรีของมหาวิทยาลัยรับแสดงตามงานต่างๆ ตอนเรียนก็หาประสบการณ์สมัครไปแข่งขันที่ต่างประเทศ เช่น อเมริกา โปแลนด์ รัสเซีย และหลายประเทศในยุโรป ได้เหรียญทองด้วย ถือว่าช่วงนั้นผมได้ประสบการณ์ที่ดีมากมาย พอเรียนจบแล้วได้รับเงินเดือนครั้งแรก พ่อแม่ถึงกับพูดว่าเล่นดนตรีเป็นอาชีพได้จริง ๆ ด้วย และตอนนี้ผมมีเกียรติและชื่อเสียง แล้วสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทางสังคม ท่านยิ่งสนับสนุนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะไปแสดงดนตรีที่ไหน ท่านก็ตามไปให้กำลังใจเสมอ
” ผมไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะเป็นครู จากประสบการณ์การเป็นครูสอนในสถาบันสอนดนตรีทำให้รู้ว่าการเป็นครูนั้นไม่ง่ายเลย แต่ทุกวันนี้ครูกลับเป็นงานของผม ก่อนที่ผมจะมาเป็นครูสอนดนตรีที่นี่ เคยสอบเข้าเป็นสมาชิกวงไทยแลนด์ฟิลฮาร์โมนิกออร์เคสตราแล้วติดเป็นคนสุดท้าย ตอนนั้นตกใจมากว่าติดได้อย่างไร พอได้เข้าไปเล่นก็รู้สึกว่าสิ่งนี้คือความสุขที่เราต้องการ ได้เล่นและซ้อมเพลงเพราะๆ ทุกวัน แต่ในความสุขก็มีความกดดันหลายอย่างเพราะว่าทุกคนต้องมีศักยภาพที่เท่าเทียมกันเพื่อจะได้พาวงไปรอด
” ขณะนั้นทางคริสตจักรอิมมานูเอลมีลูกศิษย์มากขึ้น เพราะทราบว่าคริสตจักรฯสามารถส่งผมไปเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้ ก็มีคนให้ความสนใจและเชื่อว่าดนตรีสามารถพัฒนาคนจนสามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้จริงๆ อาจารย์ Solveig Juhannessen สอนไม่ไหวเพราะเด็กเยอะขึ้น ผมเลยเข้ามาช่วยท่านสอนได้แค่เฉพาะวันอาทิตย์
ผมพยายามเรียนรู้และสังเกตว่าอาจารย์ทำอย่างไรเด็กจึงรักท่าน และสนใจเรียน ผมก็จดจำแล้วนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับประสบการณ์ที่เคยสอนดนตรีตามสถาบันสอนดนตรีมาก่อน
” พอวงออร์เคสตราสอบออดิชั่น ผมสอบไม่ผ่าน ทำให้ผมเคว้งคว้างไปเลย อาจารย์ทราบเลยชวนผมมาสอนดนตรีที่นี่อย่างเต็มตัว ผมได้นำความรู้จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มาสอนเด็กที่นี่ด้วย ให้พวกเขาได้รู้จักทฤษฎีดนตรีเพื่อจะได้เข้าใจการเล่นดนตรีมากขึ้น
” แรกๆ ที่มาสอนที่นี่อย่างเต็มตัว เด็ก ๆ ไม่ค่อยให้ความเคารพผมในฐานะครูเท่าไร เพราะอายุไม่มาก เด็ก ๆ จึงมองผมเป็นพี่มากกว่า และด้วยความที่เป็นคนดุ ถ้าเด็กเล่นดนตรีไม่ได้ดั่งใจก็จะดุเด็กคนนั้นจนไม่ชอบผม ผมจึงปรับปรุงตัวด้วยการพูดคุยกันด้วยเหตุและผลมากขึ้น นอกจากสอนดนตรีแล้วผมจะแทรกเรื่องทักษะชีวิตเข้าไปด้วย เช่น
ถ้าหนูไม่สามารถเล่นดนตรีให้ดีขึ้นได้ แล้วหนูต้องออกไปเผชิญกับโลกภายนอก หนูจะสู้คนอื่นได้อย่างไร
” รวมไปถึงเรื่องของเวลา การเคารพผู้ใหญ่ สอนให้รู้โทษของยาเสพติด จะได้ไม่ไปเกี่ยวข้อง มีเด็กไม่น้อยที่นำเรื่องปัญหาในครอบครัวมาปรึกษา เพราะเด็กหลายคนมีครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์แบบ ผมจึงเป็นเหมือนพี่ บางครั้งก็เป็นเหมือนพ่อและที่ปรึกษาให้กับพวกเขา เล่นกับเขา มีความสุขกับเขา ผมเลยไม่มีความเป็นครูเท่าไร เพราะความเป็นครูจะทำให้เกิดระยะห่างกับเด็ก
” ดนตรีสามารถละลายพฤติกรรมของเด็กได้ ด้วยความเป็นวงดนตรี ทุกคนต้องเล่นเพลงเดียวกัน โรงเรียนดนตรีของเรามีเด็กที่มาจากหลากหลายครอบครัว หลากหลายฐานะ ถึงมีความแตกต่างกันแต่สุดท้ายเราต้องมาอยู่วงเดียวกัน ไปพร้อมกันและทำงานเป็นทีม ทุกคนต้องถอดหมวกออก ขณะที่อยู่ในวงจะไม่แบ่งแยกฐานะ เราทุกคนคือวงเดียวกัน เป็นนักเรียนที่มีพื้นฐานในระดับเท่ากัน ต่อให้บางคนเก่งกว่าก็ต้องรอคนที่ไม่เก่ง เราต้องแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผมจะคอยเตือนเด็กๆ เสมอว่า
ใครบอกว่าหนูเก่ง แต่จริง ๆ หนูไม่ได้เก่งนะ อย่าทำตัวเองเป็นน้ำเต็มแก้ว
” สิ่งที่ผมสอนล้วนมาจากประสบการณ์จริงส่วนตัว เพราะผมเคยเป็นอย่างนี้มาก่อน ตอนเด็กผมจะคิดเสมอว่าเราเก่ง เพราะได้ยินคำชม อยู่แต่ในชุมชนไม่เคยออกไปเผชิญโลกกว้าง แต่พอได้ไปเรียนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ นั่นคือการออกไปสู่โลกกว้างครั้งแรก ทำให้ได้พบเจอกับคนเก่งๆ และได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วผมไม่ได้เก่งอะไรเลย เป็นความเข้าใจผิดมาโดยตลอด
” ความฝันของผมคือการเล่นเพลงคลาสสิคให้ชุมชนฟัง วันนั้นผมพาเด็กๆ ไปแสดงดนตรีใต้ทางด่วน บริเวณบ้านของผม ตรงนั้นมีทั้งวงเหล้า กลุ่มเด็กวิ่งเล่น มันมีความวุ่นวายแต่เราก็จัดคอนเสิร์ตขึ้น และมีวงดนตรีจากญี่ปุ่นมาร่วมแสดงด้วย คอนเสิร์ตครั้งนี้จะไม่เหมือนที่เคยแสดงมา คือเราจะเอาเพลงไทยมาเล่น เช่น ค้างคาวกินกล้วย คนในชุมชนก็จะรู้สึกว่า จริง ๆ แล้วเพลงคลาสสิคไม่ได้ฟังยากนะ ดนตรีคลาสสิคสามารถเล่นเพลงไทยและเพลงหมอลำได้ด้วย ทำให้คนในชุมชนยอมรับรวมไปถึงผู้ปกครองของเด็กด้วย
” ดนตรีช่วยเปลี่ยนแปลงผมมาก ทำให้มีกระบวนการคิดที่เป็นระบบ คิดช้าลง เช่น ตอนซ้อมดนตรีจะเลือกซ้อมในจุดที่อ่อน หรือจุดที่เล่นไม่ดีเท่านั้น การที่มองเห็นจุดบกพร่องในการเล่นดนตรี ทำให้ผมสามารถคิดแก้ปัญหาได้ตรงจุด ตอนเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ผมจะเป็นคนที่ชอบคิดจิตนานการสูงมาก อาจารย์สิทธิชัย เพ็งเจริญจะคอยห้ามปรามและพยายามดึงผมกลับมาอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง เพื่อเข้าใจพื้นฐานความเป็นจริงก่อนที่จะคิดฟุ้งซ่าน สิ่งที่ท่านสอนช่วยให้ผมคิดอะไรมีเหตุผลและระมัดระวังมากขึ้น นี่คือผลพวงที่ได้จากการเรียนดนตรี
” การที่ผมได้มาทำงานที่นี่ทำให้ผมรู้ว่าคนไทยน่ารัก มีหลายคนให้ความช่วยเหลือโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เขามาเพื่อให้จริง ๆ ผู้สนับสนุนบางท่านเป็นคนชอบดนตรีแต่เล่นดนตรีไม่เป็น ท่านก็มอบเงินสนับสนุน อาหาร หรืออะไรต่าง ๆ ที่พอจะช่วยเหลือโรงเรียนดนตรีอิมมานูเอลได้ ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เป็นผู้เปิดประตูแห่งโอกาสให้กับโรงเรียนแห่งนี้คือ รองศาสตราจารย์ ดร. สุกรี เจริญสุข ถ้าไม่ได้ความช่วยเหลือจากท่านผมและโรงเรียนคงไม่ได้มาถึงจุดนี้ สมัยผมเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ผมไม่ได้รู้จักกับท่านเป็นการส่วนตัว จนกระทั่งวันหนึ่งผมได้ออกรายการช่องมหิดลชาแนล ทำให้ผู้สนับสนุนท่านหนึ่งเห็นผมจากรายการนี้แล้วถามไปทางอาจารย์สุกรี เจริญสุขว่ามีนักศึกษาในวิทยาลัยมาจากชุนชมคลองเตยด้วยหรือ อาจารย์ก็แปลกใจเพราะเด็กในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ส่วนมากเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวฐานะดี ท่านเลยถามผ่านลูกของท่านซึ่งเป็นนักดนตรีอยู่ในวงออร์เคสตราที่ผมเคยแสดง แล้วท่านก็เรียกผมไปสอบถาม พอท่านทราบเรื่องราวของโรงเรียนทั้งหมด ท่านก็เมตตาให้ผมเรียนเสริมหลายคอร์ส และพาผมไปรู้จักกับผู้สนับสนุนรายใหญ่ซึ่งท่านนี้บริจาคเครื่องดนตรีมา 30 ชิ้น นอกจากนั้นก็ช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ เช่น ทุนอาหารกลางวัน หรือผู้สนับสนุนบางท่านก็ช่วยเรื่องค่าเดินทางในการไปแสดงดนตรีต่างประเทศอีกด้วย ผู้สนับสนุนอีกท่านหนึ่งที่คลุกคลีอยู่กับชุมชนย่านคลองเตยมานานคือ ท่านกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านทราบเรื่องราวของเราผ่านเฟซบุ๊ก
” โรงเรียนดนตรีอิมามานูเอลจัดคอนเสิร์ตมาแล้ว 11 ครั้ง จะมีคอนเสิร์ตอีกครั้งประมาณช่วงเดือนมีนาคม และคอนเสิร์ตกาล่าดินเนอร์ช่วงเดือนพฤษภาคม จากที่เคยจัดคอนเสิร์ตมามีครั้งหนึ่งที่ผมประดับใจมากคือ จัดคอนเสิร์ตที่จัดโดยสถานทูตเยอรมนี สถานทูตเชิญทูตจาก 19 ประเทศมาร่วมงาน แล้ววันนั้นโรงเรียนเราได้เงินบริจาคทั้งหมดหนึ่งล้านสี่แสนบาท ตอนนั้นผมคุยกับอาจารย์ Solveig Johannessen ซึ่งท่านยังไม่ได้กลับนอร์เวย์ว่า
อาจารย์ดูสิตอนนี้เรามาไกลมากเลยนะครับ ไม่เคยคิดเลยว่าจะมีคนจัดงานแบบนี้ให้เรา มันเหมือนฝันเลยนะครับ
” อาจารย์ยิ้มโดยไม่ตอบอะไร ผมในฐานะเด็กที่มาจากชุมชนคลองเตยได้ถ่ายรูปและสนทนากับทูตและนักการทูตเกือบทุกประเทศ สิ่งนี้บ่งบอกได้ว่าผมมาไกลเกินฝันมากแล้ว
” โรงเรียนดนตรีอิมมานูเอลไม่ได้เป็นแค่โครงการเพื่อให้คนจนเรียนดนตรี แต่เราอยากให้ทุกคนได้เห็นว่าดนตรีนั้นมีผลกระทบต่อคุณอย่างไร ดนตรีที่เล่นมีคุณภาพอย่างไร เราส่งไปถึงคุณได้อย่างไร หลายคนอาจมองว่า พอนึกถึงคลองเตยก็คิดไปในทางลบ แต่ผมอยากให้ทุกคนพอพูดถึงคลองเตยก็อยากให้คิดว่าที่นี่เป็นแหล่งผลิตนักดนตรีที่ดี ”
เรื่อง : วรินทร์ อาจวิไล
เรียบเรียง : ชนินทร์ ผ่องสวัสดิ์
ภาพ : ฝ่ายภาพ อมรินทร์พริ้นติ้งฯ
บทความน่าสนใจ
ชีวิตนี้ไม่เสียชาติเกิด ครูลิลลี่ กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์
เมื่อไม่อยากผิดพลาดซ้ำ จงใช้ความผิดเป็น “ครู”
ครูวัยเกษียณขออุทิศชีวิตนี้เพื่อการศึกษา สอนหนังสือฟรี หวังช่วยเหลืออนาคตของชาติ
Dhamma Daily : คุณครูเกรงจะอธิบาย คำสอนของพระพุทธเจ้า ผิดเพี้ยน
สุพิศ คงนวลใย – แม้ต้องใช้ชีวิตในดงควันปืน แต่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือบ้านเกิดของครู