ท็อป-ดารณีนุช ปสุตนาวิน

ท็อป-ดารณีนุช ปสุตนาวินกับเส้นทางที่มุ่งแสวงหาความสงบทางใจ

ท็อป-ดารณีนุช ปสุตนาวิน กับเส้นทางที่มุ่งแสวงหาความสงบทางใจ

หลังจากชีวิตคู่ของดาราเจ้าบทบาท ท็อป-ดารณีนุช ปสุตนาวิน ได้จบลง เธอก็ได้รับฉายาว่า “หม้ายสายธรรมะ” ฉายานี้เธอไม่ได้มาลอย ๆ แต่ได้มาเพราะเธอสนใจด้านนี้จริง ๆ ทุกคำพูดที่อยู่ในบทความเรื่องนี้ล้วนถ่ายทอดมาจากประสบการณ์ จากคนที่ชอบเที่ยว แสวงหาความสุขจากวัตถุ กลายมาเป็นผู้ที่มุ่งแสวงหาความสุขจากความสงบภายในใจ

 

สิ่งที่ทำให้ก้าวสู่เส้นทางธรรม

“เริ่มมาปฏิบัติธรรมครั้งแรกตอนอายุ 37 ปี จุดหักเหที่ทำให้เรามาสนใจธรรมะตอนนั้นเพราะเกิดความคิดว่า ตอนดื่มเหล้ามันก็สนุกนะ ชอบอ่านหนังสือธรรมะด้วย คิดว่าการที่ไม่ได้รักษาศีล 5 ให้ครบบริบูรณ์ ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนเลว หลังเลิกงานก็จะไปเที่ยวสนุก ตอนนั้นพี่ตุ๊ก-ญาณี จงวิสุทธิ์เปิดร้าน ก็ไปเที่ยวร้านแกเป็นประจำ พอเมาก็ห้องน้ำห้องเดิม มองดูกรอบรูป แจกัน ก็ตั้งคำถามขึ้นมาในใจว่า นี่หรือความสุข  ทำไมความสุขมันเหนื่อยอย่างนี้ แต่ก็สนุกนะมาทุกครั้งไม่เคยผิดหวังเลย เลยรู้สึกเบื่อ จึงหันมาอ่านหนังสิอธรรมะ และได้พบกับเพื่อนในวงการที่ปฏิบัติธรรม เช่น แอน-สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ ธงธง-นที ธีระเสรีวงศ์ พอเจอแอนทีไรก็ทักว่า ‘พี่อยากไปปฏิบัติจัง แต่กลัวว่าไปแล้วจะเสียรายได้ เพราะต้องเสียรายได้ไปตั้ง 7-8 วัน’ แอนจึงพูดขึ้นมาว่า ‘อยู่ที่พี่จะสะสมอะไร ถ้าอยากสะสมอริยทรัพย์ก็ควรไป’ ตอนนั้นเราไม่เข้าใจคำว่า ‘อริยทรัพย์คืออะไร’ หลังจากนั้นก็ไปเจอธงธง เขาก็ทักเราว่า ‘เจอพี่ดีจังเลย ดูพี่ท็อปมีความสุข’ เราก็ตอบเขาว่า ‘พี่ไม่ได้เป็นแบบนี้ทุกวันนะธงธง บางวันก็จิตตก มันแล้วแต่วัน’ ธงธงก็แนะนำให้ไปปฏิบัติธรรมแล้วยื่นใบสมัครให้ จึงได้มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมที่วัดผาณิตาราม จังหวัดฉะเชิงเทรา”

 

ท็อป-ดารณีนุช ปสุตนาวิน
ท็อป-ดารณีนุช ปสุตนาวิน

0

ปฏิบัติธรรมครั้งแรกถึงกับเสียน้ำตา

“จำได้ว่าคอร์สแรกที่ไปเป็นการปฏิบัติธรรม 3 วัน เราก็พยายามปฏิบัติตาม ค่อยๆ เดินจงกรม จนกระทั่งสัมผัสได้ถึงความสงบ แล้วเขาก็เชิญให้เราออกไปพูด เราก็ร้องไห้เพราะใจเราคิดสกปรกมาตลอด ตอนเด็กมองอะไรก็สวยไปหมด แต่พอโตขึ้นกลับไม่มีความรู้สึกแบบนี้อีกเลย เพื่อนคนหนึ่งก็บอกเราว่า เป็นเรื่องปกติเมื่อโตขึ้นความเป็นเด็กก็ตายไปจากเรา จำได้ว่าก่อนมาถึงวัดผาณิตาราม จะผ่านทุ่งนาและมีแผงขายกังหันเรียงรายอยู่ข้างทาง ตอนนั้นเรามองก็ไม่รู้สึกอะไร แต่พอออกมาจากวัดกลับรู้ว่ามองอะไรก็มีความสุขไปหมด ภาพของทุ่งนาที่ก่อนหน้านี้เราเฉยๆ กลับทำให้เราสุขใจที่ได้ดู พอเล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็บอกว่า เด็กกลับมาแล้ว”

 

รู้แล้วว่าเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร

“พอศึกษาธรรมะมากขึ้น ก็นึกถึงเพื่อนผู้ชายสมัยเรียนคนหนึ่ง เขาเป็นคนชอบปฏิบัติธรรม จึงโทรไปเพื่อบอกเขาว่า ตอนนี้เรารู้แล้วนะว่าเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ไม่ใช่ใช้ชีวิตให้หมดไปวัน ๆ เพราะเรารู้จักการมีสติ เมื่อเรามีศีลต้องรักษาให้มั่น มีสมาธิก็จะเกิดปัญญา นี่เป็นหนทางที่จะทำให้เราพ้นทุกข์ ทำทาน รักษาศีล และภาวนา ทุกอย่างเกี่ยวโยงกัน เรารู้แล้วว่ามีสองเส้นทางคือทางแห่งการเวียนว่ายตายเกิดกับทางแห่งการพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรารู้ว่าทุกข์เกิดจากอะไร ถ้าทุกข์เพราะไม่ได้อะไรอย่างที่ใจต้องการ ก็เป็นทุกข์ของคนธรรมดา แต่ทุกข์ในอริยสัจ 4 เป็นทุกข์ที่ลึกซึ้งมาก ทุกข์เกิดจากความอยาก (ภวตัณหา) ไม่อยาก (วิภวตัณหา) เป็นกิเลสต่าง ๆ เพราะฉะนั้นเหตุแห่งการเกิด เพราะเรามีความอยาก (ตัณหา) เมื่อรู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงชี้แนะเส้นทางแห่งการหยุดเกิด ถึงกับบอกตัวเองว่า ‘มีแบบนี้ด้วยเหรอ เราไม่อยากเกิดอีกแล้ว เราเบื่อ’ คิดแบบนี้บ่อยครั้งมากจนรู้สึกเหมือนว่าเรื่องนี้ฝังอยู่ในจิตของเรามาโดยตลอด ที่เราเกิดมาเพราะเราไม่รู้ พอรู้ว่ามีหนทางนี้เราต้องปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์เพื่อขัดเกลาจนความอยากหมดสิ้นไป ถึงเราจะคิดว่าเราทำไม่ได้หรอก แต่เรามีพระอริยสงฆ์ที่ท่านปฏิบัติให้เราเห็นเป็นแบบอย่าง เราต้องทุ่มเทเหมือนกับนักกีฬาที่ฝึกฝนเพื่อให้ได้รางวัล แต่เราฝึกฝนเพื่อได้สิ่งที่เราไม่ได้อะไร คือการไม่ต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป”

 

ท็อป-ดารณีนุช ปสุตนาวิน
ท็อป-ดารณีนุช ปสุตนาวิน

1

ลึกซึ้งในธรรม

“สิ่งที่เราควรกำราบคือกิเลสในใจ ซึ่งไวมากโดยเฉพาะโทสะ (ความโกรธ) โมหะ (ความหลง) ก็ตามทันยากอยู่เหมือนกัน ตอนนี้เริ่มเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน แล้วนำคำสอนมาปรับใช้ เช่น ถ้าเป็นปัญหาเรื่องนี้เอาอุเบกขามาใช้ ถ้าเป็นปัญหานี้เอากรุณามาใช้ และทั้งชีวิตไม่เคยอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่จะอธิษฐานจิต เชื่อว่าการอ้อนวอนไม่ช่วยอะไร พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราพึ่งตนเอง เช่น ถ้าคุณอยากให้มีคนทำดีกับคุณ คุณต้องทำดีกับเขาก่อน เรื่องการกระทำก็เป็นเรื่องกรรม คนส่วนมากเข้าใจเรื่องกรรมเป็นแบบการลงทุน เช่น ฉันกินมังสวิรัติแล้วเข้าป่า สัตว์จะไม่ทำร้าย เป็นความเชื่อที่ผิด หรืออย่างที่เชื่อว่าทำดีต้องได้ดี แต่ตามจริงแล้ว ทำดีไม่ได้ดีก็มี เพราะเป็นผลมาจากอดีตชาติ อย่าลืมว่าเราไม่ได้มีชาตินี้ชาติเดียว กรรมก็คล้ายกับการฝาก ถ้าเราฝากอะไรไว้ สิ่งนั้นก็ต้องกลับมาสนองคุณ”

 

มอบธรรมะเป็นทรัพย์ให้ลูก

“ลูกชายสองคนตามไปปฏิบัติธรรมตั้งแต่เด็ก มีครั้งหนึ่งตอนเขาเด็กมาก เราสอนเขาเรื่องศีล 5 ตอนนั้นครอบครัวเราไปปฏิบัติธรรมที่ต่างจังหวัด แล้วมีมดเดินผ่าน ก็สอนเขาไม่ให้ฆ่าสัตว์ ให้เขามีเมตตา-กรุณา นอกจากเรื่องศีล 5 เขาก็จะได้เรื่องพรหมวิหารด้วย เราสอนลูกทั้งสองให้มีธรรมะและเป็นผู้ให้ ลูกคนเล็กชอบวิ่งและออกกำลังกายมาก เพราะเขาชอบบริจาคเลือด เขาคิดว่าการที่เขามีร่างกายที่แข็งแรงจะทำให้เลือดของเราดี ผู้รับเลือดก็จะได้เลือดที่ดีจากเขาไป ลูกคนโตเราก็ภูมิใจเพราะเขาได้บวชในวัดป่าที่เราศรัทธา ตอนบวชถูกงูเขียวกัดจนขาบวม ก็ยังลงมาทำวัตรเช้า-เย็นทั้งที่ต้องนั่งท่าเทพบุตร ซึ่งนี่คือเขาได้ฝึกเรื่องขันติ (ความอดทน) แล้ว”

 

ท็อป-ดารณีนุช ปสุตนาวิน
ท็อป-ดารณีนุช ปสุตนาวิน

2

เอาชนะความกลัว

ทุกเช้าจะบอกกับตัวเองว่า ‘วันนี้เราจะเดินทางไปตายหรือเปล่าก็ไม่รู้ บ้านเราอาจจะไฟไหม้ เพื่อนและลูกของเราอาจจะตายในวันนี้ก็ได้’ เป็นการทำมรณานุสติเพื่อให้เราสามารถตั้งรับได้ ถ้าในวันใดวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นจริง จะได้ไม่เสียสติ ที่เราภาวนาถึงความตาย (มรณานุสติ) เพราะเราเป็นคนที่กลัวความตาย รู้ตัวตอนที่ไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่าแห่งหนึ่ง ตอนนั้นเดินจงกรมตอนกลางคืน มีแสงเทียนเท่านั้นที่ช่วยให้เห็นทางบ้าง พอเดินจงกรมไปก็เจอกับตะขาบตัวใหญ่มาก ตอนนั้นใจตกวูบ เราก็ถามตัวเองว่า ‘กลัวเหรอ กลัวทำไม’ เราก็ตอบว่า ‘กลัวโดนตะขาบกัดแล้วตายที่นี่ แล้วไม่มีคนรู้’ ‘แกกลัวตายเหรอ’ ตอนนั้นถึงเข้าใจแล้วว่าเรากลัวความตาย จากนั้นเราเลยฝึกฝนมรณานุสติเพื่อไม่ให้เกิดการปรุงแต่งเรื่องความกลัวอีก

 

พยายามสละออก

“ทุกวันนี้ใช้ชีวิตโดยไม่สะสมอะไรแล้ว เมื่อก่อนจะซื้อของแพง ไม่ว่ารถยนต์ ไปเที่ยวต่างประเทศ เพราะมองว่าเป็นการให้รางวัลตัวเอง แต่เดี๋ยวนี้พบว่าการสะสมสิ่งของไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เราไม่ภูมิใจกับสิ่งของเหล่านี้เหมือนแต่ก่อนแล้ว ยิ่งสะสมก็ยิ่งทำงานหาเงิน เมื่อก่อนทำงานหนักมากจนลูกว่าเราไม่มีเวลาให้เขาเลย เราก็เลยอยากทำสระว่ายน้ำ จำได้เลยว่าเราบอกกับลูกว่า ‘เดี๋ยวแม่จะทำสระว่ายน้ำในบ้าน เราจะได้เล่นน้ำด้วยกัน’ เราก็คิดภาพในหัวนะว่ากำลังเล่นน้ำกับลูก ๆ มีความสุขจัง แต่เอาจริงไม่มีเวลาได้เล่น สระก็ทำแล้วด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คิดมาโดยตลอด”

 

บั้นปลายอยากแสวงหาความสงบ

“เคยบอกกับลูกว่าเราอยากบวชในบั้นปลายชีวิต ลูกคนโตยอมรับไม่ได้เพราะเขาจะติดกับภาพที่ครอบครัวต้องมีพ่อและแม่ แต่สำหรับลูกคนเล็กไม่ว่าอะไร พอลูกคนโตมีโอกาสได้บวช เขาจึงเข้าใจว่าที่แท้การบวชทำให้เราสงบ มิน่าแม่ถึงอยากบวช ในวันหนึ่งที่เราสละทุกอย่างได้แล้ว ลูกทั้งสองยืนได้ด้วยตัวเองได้แล้ว เราจะมุ่งปฏิบัติธรรมมากขึ้น เพราะเป็นความสุขของเรา”

 

เรื่อง : ดารณีนุช ปสุตนาวิน

เรียบเรียง : ชนินทร์ ผ่องสวัสดิ์

ภาพ : ฝ่ายภาพ อมรินทร์พริ้นติ้งฯ


บทความน่าสนใจ

จุดหันเหสู่ทางธรรมของ 3 คนดังสายธรรมะ

Dhamma Talk : ชวน “พ่อ” เดินทางสายธรรม

จากสานสายใยกันฉันท์มิตร สู่สาน สายธรรม กลายเป็นเพจ พาไปวัด

ส่องความคิด 5 ซุปตาร์สายธรรมะ หน้าไม่ไทยแต่ใจพุทธ

ทิ้งโลกมายาสู่เส้นทางสายธรรมของ แคท รัตติกาล อาร์สยาม

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.