สวนโมกข์กรุงเทพ

9 ปี บนเส้นทางการขับเคลื่อนงานธรรมที่ไม่เคยหยุดนิ่งของสวนโมกข์กรุงเทพ

9 ปี บนเส้นทางการขับเคลื่อนงานธรรมที่ไม่เคยหยุดนิ่งของ สวนโมกข์กรุงเทพ

จากจุดเริ่มต้นที่คุณหมอบัญชา พงษ์พานิช ตั้งใจเผยแพร่เรื่องราวและผลงานของท่านอาจารย์พุทธทาสในรูป “หอจดหมายเหตุพุทธทาส” ณ สวนโมกข์ไชยา แต่ด้วยผลงานที่มากด้วยคุณค่าและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก จึงเกิดแรงสนับสนุนมากมายผลักดันให้หลายฝ่าย โดยเฉพาะสวนโมกขพลารามและคณะธรรมทานเห็นควรให้จัดตั้งหอจดหมายเหตุฯ ขึ้นที่กรุงเทพ และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ใช้พื้นที่ “สวนวชิรเบญจทัศ” เป็นที่ตั้ง และสวนสาธารณะแห่งนี้เป็นพื้นที่มีศักยภาพดึงดูดคนกรุงเทพฯ ให้เข้าร่วมกิจกรรม จึงขยายขอบเขตงานไม่จำกัดเพียงสร้างหอจดหมายเหตุฯ แต่พัฒนาเป็น “ สวนโมกข์กรุงเทพ ” ที่เป็นหนึ่งในเสาหลักขับเคลื่อนงานธรรมเพื่อนำธรรมะกลับสู่ใจคน

Secret ได้รับเกียรติจากคุณหมอบัญชา พงษ์พานิช มาร่วมพูดคุยถึง “9 ปี บนเส้นทางการขับเคลื่อนงานธรรมของสวนโมกข์กรุงเทพและทิศทางการเผยแผ่งานธรรมในบริบทโลกปัจจุบัน”

 

สวนโมกข์กรุงเทพ

0

เหลียวหลัง: ท่านอาจารย์พุทธทาสกับการวางรากฐานการขับเคลื่อนงานธรรม

ท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นพระที่มีวิสัยทัศน์และแสวงหาช่องทางเพื่อสื่อสารธรรมะมากที่สุดรูปหนึ่ง โดยท่านใช้สารพัดสื่อมาเผยแผ่งานธรรมของท่าน กล่าวคือ ตั้งแต่ปี 2475 ท่านตั้งโรงพิมพ์ สำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์ราย 3 เดือน เพื่อเผยแผ่ธรรมะ และในการบรรยายธรรม ท่านใช้สื่อโสตทัศน์ที่ทันสมัยที่สุดในยุคท่าน เมื่อมีโอกาสท่านก็ขยายช่องทางไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ และมีกลยุทธ์ในการออกหนังสือเป็นเล่มเล็ก เล่มใหญ่ หรือฉบับมาสเตอร์อย่างธรรมโฆษณ์ นอกจากนี้ รูปถ่ายยังเป็นอีกสื่อหนึ่งที่ท่านทำมาก ทั้งพิมพ์โปสเตอร์ แต่งกลอน และคิดวลีธรรมให้ง่ายและโดนใจคน จนหลายวลีกลายเป็นอมตะ เช่น ท่านแปลคำยากอย่างสักกายะทิฐิเป็นตัวกู-ของกู เป็นต้น

สิ่งที่สะท้อนวิสัยทัศน์ที่ข้ามห้วงเวลาของท่านในเรื่องการเผยแผ่ธรรมคือ สิ่งที่ท่านเขียนทิ้งไว้อย่างลึกซึ้งก่อนมรณภาพปี 2536 ว่า “คอมพิวเตอร์เหมือนยักษ์หลับแห่งยุคสมัย … เมื่อไหร่โพธิปัญญาจึงจะแสวงหาสหายภาพกับคอมพิวเตอร์ได้” กล่าวคือ

โพธิปัญญาคือ ความรู้ความเข้าใจในพุทธศาสนา

สหายภาพคือ Partnership

หมายความว่า คอมพิวเตอร์เป็นตัวร้ายถ้าเราจัดการไม่ดี แต่เมื่อไหร่ที่คอมพิวเตอร์กับการเรียนรู้ที่แท้จริงมาเจอกัน มันจะมีการเปลี่ยนแปลง … และนี่คือสิ่งที่ท่านอาจารย์เคยประเมินความเป็นไปได้ ทั้งที่ในวันนั้นผ่านมาเกือบ 30 ปีแล้ว วันที่คนไทยยังไม่รู้จักอินเตอร์เน็ตเลย

 

การเผยแผ่ธรรมะของสวนโมกข์กรุงเทพ

การเผยแผ่ธรรมะของสวนโมกข์กรุงเทพพยายามยึดแนวทางท่านอาจารย์และปรับปรุงให้เท่าทันกับยุคสมัย กล่าวคือ ในยุคแรกของสวนโมกข์กรุงเทพ คนอ่านหนังสือเล่มเป็นหลัก เราก็มีห้องที่เรียกว่า “ห้องหนังสือและสื่อธรรม” แต่พอโลกเปลี่ยนเราก็ต้องปรับ หนังสือยังมีอยู่แต่คนใช้ช่องทางอื่นๆ อีกเยอะแยะไปหมด และรูปแบบการมาพบกัน รูปแบบการเรียนรู้มันก็เปลี่ยน เราจึงต้องปรับพื้นที่ใหม่ให้มี “Co ธรรมะ (Working) Space” เพราะโลกทุกวันนี้ การทำงานต้องอาศัยการมีส่วนรวม และต้องการมี platform หลากหลายทั้งเชิงสถานที่ เชิงกิจกรรม ซึ่งเราก็ปรับพื้นที่บางส่วนของที่นี่เป็นที่มาพบปะ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านธรรมะ นอกจากนี้ สื่อใหม่เราก็ติดตาม วิเคราะห์ และใช้ Social network อีกหลายตัว ที่จะช่วยเผยแผ่ธรรมะไปได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่แล้วเราก็โปรโมทผ่านช่องทางเหล่านี้เช่นกัน

 

สิ่งที่ต้องทำควบคู่กับการเผยแผ่ธรรมะ

สิ่งที่ต้องทำควบคู่กับการเผยแผ่ธรรมะคือ การทำให้ท่านอาจารย์พุทธทาสและสวนโมกข์เข้าไปอยู่ในใจคนในทุกรูปแบบ ซึ่งเดิมใช้สื่อกระแสหลักอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ วารสาร  รวมถึง การร่วมมือกับ ThaiPBS ทำสารคดี “พื้นที่ชีวิต” ทั้งที่สวนโมกข์ไชยา สวนโมกข์นานาชาติ และสวนโมกข์กรุงเทพ ตลอดจนที่ไหน ๆ ก็เป็นสวนโมกข์ได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องในประเทศไทยหรือในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ซึ่งเป็นสารคดีเชิงท่องเที่ยวที่ชี้ชวนให้คนเข้ามาสนใจธรรมะของพระพุทธองค์ ของนานาครูบาอาจารย์ รวมทั้งของสวนโมกข์ด้วย ซึ่งได้รับความนิยมมาก จนกระทั่งมี Facebook และ Social network อื่น ๆ ซึ่งเราใช้ช่องทางเหล่านี้ควบคู่ไปด้วย

 

สวนโมกข์กรุงเทพ

กลุ่มเป้าหมาย

ก่อนเปิดสวนโมกข์กรุงเทพ เราคิด (เอาเอง) ว่า คนที่สนใจเรากลุ่มแรกน่าจะเป็น พวก hard core ที่สนใจงานท่านอาจารย์พุทธทาสเชิงลึก กลุ่มต่อมาคือคนที่แสวงหาคำตอบให้ชีวิตหรือที่มีปัญหาซึ่งมีอายุหลายสิบปีขึ้นไป เพราะเราเชื่อว่างานท่านอาจารย์ “ร่วมสมัย” มีเรื่องราว มีลีลาที่คนวัยนี้เข้าถึงได้

เมื่อเปิดจริง ช่วง 2-3 ปีแรก Age group ที่มาใช้บริการเรามากที่สุดกลับเป็นคนอายุ 40 ปีขึ้นไปและเข้ามาเป็นคน ๆ ระยะต่อมา Age group อยู่ที่ 30-40 ปี และนัดมากันเป็นกลุ่มเป็นก้อนจากที่ทำงานเดียวกันบ้าง กลุ่มเพื่อนกันบ้าง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังเหนียวแน่นกับที่นี่ ที่สำคัญ คนกลุ่มนี้เป็น active citizen ที่จะไปทำอะไรให้กับครอบครัวเขา ทำให้องค์กร ชุมชน ผลได้จึงประเมินค่าไม่ได้

ขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ก็สำคัญ เพราะอนาคตพุทธศาสนาต้องฝากไว้กับกลุ่มนี้ ซึ่ง Co ธรรมะ space ที่จัดทำขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่ และตอนนี้เราจึง target ไปที่คนใหม่ ๆ และทำงานเชิงรุกมากขึ้น ได้แก่ กลุ่มแรกที่เราให้ความสำคัญมากคือ พระที่ตั้งใจบวชจริง บวชมาแล้ว 5-10 พรรษา กลุ่มต่อมาคือ คนทำงานรุ่นใหม่ เราตั้งใจทุ่มเทเพื่อให้เขาพบเส้นทางธรรมของตัวเอง นอกจากนี้ เรามีเป้าหมายสนับสนุนองค์กรศาสนา และบริการงานธรรมถึงที่ทำงาน เพราะปัจจุบันที่ทำงานหลายแห่งมีชมรมพุทธศาสนา และมีกลุ่มพนักงานที่แสวงหาเส้นทางการปฏิบัติธรรมมากขึ้น

 

ความรู้สึกต้องการคลุกคลีกับผู้สนใจงานธรรม

จากการทำงานตลอดช่วง 9 ปี ผมรู้สึกว่า คนไทยจำนวนหนึ่งมีความโหยหาในการประกอบกุศลกรรมมากขึ้น คนที่ต้องการเนื้อหาที่หนักและเอาจริงเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญเป็นคนหนุ่มสาวมากขึ้น มากันเป็นกลุ่ม ซึ่งผมสังเกตจากผู้ร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นใน 5 แนวทางของสวนโมกข์ พบว่า

แนวแรก บุญประเพณี ยิ่งเราใส่ content ที่ดี เราไม่จำกัดแค่ทาน แต่เรามีเรื่องศีล สมาธิ ภาวนาด้วย ในวันพระใหญ่ หรือตักบาตรเดือนเกิด คนร่วมกิจกรรมเยอะมาก บางครั้งเป็นพันคน

แนวที่สอง ค้นหาธรรมะเชิงลึก เราไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ทั้งที่เคยเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกของเรา คนสนใจกลุ่มละ 20-30 คนเท่านั้น นี้เป็นแนวที่จะต้องมุ่งพัฒนาต่อ

แนวที่สาม Edutainment แบบเพลิน ๆ ก็ไม่ถือว่าเยอะ มีคนร่วมกิจกรรมแค่หลักร้อย แต่มีความหมายมาก เพราะช่องนี้ที่เราจะได้คนใหม่ ๆ เข้ามาสู่ธรรมะอย่างมีพลังอย่างไม่คาดคิด

แนวที่สี่ ปฏิบัติธรรมแบบเอาจริงเอาจังเลย มีผู้ร่วมกิจกรรมหลายร้อยคน ซึ่งเกิดการขยายตัวส่งต่อสู่แนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนาที่ถือเป็นเครือข่ายขบวนธรรมสำคัญ

แนวที่ห้า ภาวนาของคนเมือง ก็แค่เรือนร้อย แต่ก็มีความสำคัญมากต่อวิถีชีวิตคนเมืองทุกวันนี้

นอกจากนี้ เวลาอาจารย์ที่แสดงธรรมได้คมมาก จะมีคนมาฟังเป็นพันคน หรือเวลาเปิดรับสมัครอะไร เปิดรับสมัครแค่ 1 นาทีเต็ม สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า งานศาสนายังมีผู้ต้องการ

บทเรียนของเราคือ เราต้องมีเนื้อหาดี รูปแบบ และช่องทางที่เหมาะสม จึงจะประสบความสำเร็จ

 

 

สวนโมกข์กรุงเทพ

0

เนื้อหาดีคือจุดเด่นของงานธรรมของท่านอาจารย์พุทธทาส

ธรรมะเป็นอกาลิโก มีความเป็นสากล แต่ธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาส มีจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากท่านปอกเปลือกประเพณีและพิธีกรรมทิ้ง เอาแต่เนื้อธรรม ทำให้ธรรมะของท่าน touch คนรุ่นใหม่ได้ ทำให้เราเข้าถึงหัวใจหรือแก่นพุทธศาสนาได้เร็ว หากเราสนใจก็สามารถค้นคว้าหาอ่านได้ทุกเรื่องอย่างเป็นระบบ จึงไม่ยากเลยสำหรับคนที่ผ่านการศึกษามา มีพื้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง หรือผ่านความเป็นจริงของชีวิตและสังคมมาพอสมควร

“ทุกอย่างเกิดจากเหตุ ทุกอย่างล้วนเกี่ยวเนื่องกัน ไม่มีอะไรอยู่อย่างโดดๆ”

ท่านไขว่า การทำงานของจิตมีเหตุอย่างไร ทำไมจิตเราเอง เราถึงเอาไม่อยู่ แล้วจะฝึกจิตอย่างไรให้เราเอาอยู่ได้ ซึ่งเรื่องพวกนี้ลึกมาก ถ้าสอนเป็นบาลี ฟังกันไม่รู้เรื่อง แต่ท่านถอดมาเป็นภาษาคน ภาษาธรรมดา ทำให้เราเกิดความรู้สึก “อ๋อออออออ อันนี้เองที่ทำให้เราวิตก อันนี้เองที่ทำให้เราเครียด” สิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้คำสอนของท่านอาจารย์ได้รับการประกาศจาก UNESCO ให้ท่านเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลก เพราะท่านสามารถเอาธรรมะในพุทธศาสนามาอธิบายใหม่ให้คนเข้าใจในภาษาปัจจุบัน

ผมเคยเอาหนังสือธรรมะของท่านให้เด็กคนหนึ่งอ่าน เด็กถึงกับอุทานว่า “นี่เขียนปีไหนเนี่ย … โอ้โห …“ปี 2495” ทำไมถึงจ๊าบนัก … นั่นเป็นเพราะท่านเข้าใจธรรมะอย่างแตกฉานและลึกซึ้งถึงแก่นจนทำให้อธิบายเรื่องยากด้วยภาษาที่ทำให้เด็กอ่านรู้เรื่องด้วยภาษาที่เข้าถึงได้ เหมือนที่ไอน์สไตน์เคยบอกว่า “If you can’t explain it simply, you don’t understand it well enough”

 

แลหน้า: ทิศทางการเผยแผ่งานธรรมระยะต่อไป

จากวิสัยทัศน์ท่านอาจารย์พุทธทาสที่เคยตั้งคำถามไว้ว่า “เมื่อไหร่โพธิปัญญาจึงจะแสวงหาสหายภาพกับคอมพิวเตอร์ได้” พวกเราคิดว่า วันนี้เป็นวันที่โอกาสที่จะทำให้ “คอมพิวเตอร์กับการเรียนรู้ที่แท้จริงมาเจอกัน” ซึ่งทีมงานกำลังพยายามเชื่อมสิ่งเหล่านี้เพื่อก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง โดยเราตั้งใจจะทำ Platform เพื่อรวบรวมคำสอน หนังสือ ตำราว่าด้วยพุทธศาสนา และนานากิจกรรมคล้ายๆ เวลาไปเที่ยวต้องเข้า Traveloka หาที่นอนก็ Agoda แต่ถ้าว่าด้วยธรรมะ ต้องเข้า  ซึ่งเป็น Platform ใหม่ที่เรากำลังก่อจากฐาน เพื่อเป็นพระเจดีย์ธรรมของคนยุคหน้า

ตอนนี้เราเริ่มจากคำสอนของท่านอาจารย์ที่เป็น text และเป็นเสียง ซึ่งมีจำนวนมากพอสมควร และต่อยอดด้วยงานของท่านอาจารย์สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดญาณเวศกวัน ซึ่งมีงานหนังสือ งานเสียง เป็นจำนวนมากเช่นกัน นอกจากนี้ ในช่วงที่จัดงานพุทธชยันตี เราเคยรวบรวมเสียงธรรมของครูบาอาจารย์ที่สำคัญอีกหลายรูป มี เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ท่านอาจารย์ปัญญานันทะ ท่านอาจารย์ชา ท่านไพศาล วิสาโล ซึ่งล้วนเป็น content ที่มีค่าและอกาลิโกทั้งสิ้น

นี่คือทัศนะของคุณหมอบัญชา พงษ์พานิช แม่ทัพใหญ่ของสวนโมกข์กรุงเทพกับวิถีการขับเคลื่อนงานธรรมเพื่อนำธรรมะกลับสู่ใจคนด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลายและมีพลวัตยิ่ง

 

สวนโมกข์กรุงเทพ

 

เรื่อง :นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช

เรียบเรียง : กองบรรณาธิการซีเคร็ตออนไลน์

ภาพ : สรยุทธ พุ่มภักดี


บทความน่าสนใจ

ธรรมะที่เป็นสุข และถูกต้อง เป็นอย่างไร โดยท่านพุทธทาสภิกขุ

โลกนี้มีแต่ คนบ้า บ้าบอกันไปหมด แล้วใครคือคนที่ไม่บ้า ในมุมมองของท่านพุทธทาสภิกขุ

ท่านพุทธทาสภิกขุสอนเรื่องครอบครัวในแง่มุมที่คิดไม่ถึงสำหรับ คนเกลียดวัด

ท่านพุทธทาสภิกขุระงับ โรคหัวใจวาย และน้ำท่วมปอดด้วยธรรมโอสถของพระพุทธเจ้า

ทำไมพุทธทาสภิกขุถึงปฏิเสธนรก-สวรรค์และการเวียนว่ายตายเกิด

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.