คาถาที่วิทวัสสวดเพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจในละครเรื่อง แก้วขนเหล็ก คือ คาถาศักดิ์สิทธิ์บทนี้นี่เอง
แก้วขนเหล็ก นวนิยายสยองขวัญผลงานของตรี อภิรุม หรือที่หลายคนต่างขนานนามนิยายเรื่องนี้ว่า แดร็กคิวลาเมืองไทย สะท้อนเรื่องบาป-บุญ และภพ-ชาติ การเปลี่ยนจากมนุษย์ไปสู่อมนุษย์ของเมฆินทร์ที่เกิดมาจากพลังความแค้นที่มีต่อพ่อและคนรัก กับการกลับมาเกิดใหม่ของบุญชื่น หญิงที่เมฆินทร์รัก และเสือเที่ยง ที่กลับชาติมาเกิดเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อ วิทวัส
วิทวัสได้ทดลองคาถานี้หลังจากสอนหนังสือเสร็จ ผลปรากฏว่า วิญญาณร้ายที่สิงอยู่ในห้องเรียนกลับปรากฏตัวขึ้นแล้วเข้าจู่โจมทำร้ายเขา วิทวัสได้ใช้แก้วขนเหล็กชี้ไปยังกลุ่มวิญญาณร้าย แล้วมันก็สลายไปด้วยอานุภาพของแร่ธาตุศักดิ์สิทธิ์นี้
สำหรับความรู้จากละครเรื่องนี้ที่ซีเคร็ตอยากบอกต่อคือที่มาของคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่วิทวัสสวดนั้น มิใช่คาถาธรรมดา ๆ เลย แต่เป็นคาถาที่แต่งขึ้นจากเหตุการณ์พระเถระในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชปราบยักษ์ ซึ่งมีปรากฏในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา
สะมุทา ภูตุงคังกา นาเคนทะนาคี ทุนนิมิตตะโรคี ปิศาจจะ ภูตะกาลี สุกะระภุชง สีหะ สะทาสุชัยยา ฉัฏฐาระสะ ชัยยะกัง ชัยยะมัคะลัง ฉะยัง มารัสสะ จะ ปาปิมะโต ปะราชะโย สุปัณณะคนา นันทิ วัฑฒโน สุมิตา วิรุฬหา ปูเรนตุ นโม กายาสุมัง จิตติสุมัง จุปัททวา ฯ
นี้คือคาถาที่วิทวัสได้มาจากพระอาจารย์ แล้วได้ลองสวด ตอนแรกก็สงสัยอยู่ว่าเป็นคาถาอะไร พอสืบไปจึงทราบว่า เป็นการนำคำในคาถาบทหนึ่งซึ่งเป็นคาถาสำหรับขับไล่ภูตผีปีศาจจริง ๆ มาร้อยเรียงใหม่ ซึ่งคาถานี้มีชื่อว่า “จุลชัยยะมงคลคาถา” หรือ “จุลละชัยปรกรณ์” นิยมเรียกว่า “ชัยน้อย”
สารานุกรมเสรีกล่าวถึงที่มาของคาถาบทนี้ไว้ว่า เป็นคัมภีร์ภาษาบาลีผสมภาษาลาว มีลักษณะเป็นบทสวดที่นิยมสวดกันในแว่นแคว้น 2 ฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันยังใช้สวดกันอยู่ในกลุ่มวัดป่าสายพระอาจารย์เสาร์ กันตะสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระคาถานี้พรรณนาถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้า เหนือหมู่มารทั้งปวง ทั้งล่วงพ้นอำนาจของพรหม มาร เทวดา ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 และสรรพสัตว์ อีกทั้งความชั่วร้ายทั้งร้าย เชื่อกันว่า เป็นบทสวดที่มีอานุภาพมาก สามารถขจัดปัดเป่าเรื่องเลวร้าย และภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง ทั้งแก่ตัวผู้สวดสาธยาย และบ้านเมืองของผู้สวดสาธยายนั้น
พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ แห่งวัด วัดไตรสิกขาทลามลตาราม จังหวัดสกลนคร กล่าวถึงที่มาของคาถาบทนี้ว่า พระมหาเทพหลวง แห่งนครหลวงพระบาง แต่งคาถาบทนี้จากคัมภีร์สมันตปาสาทิกา โดยรจนาเป็นภาษาบาลีผสมกับภาษาพื้นเมือง แต่ไม่ปรากฏว่าระบุถึงปีที่รจนาแต่อย่างใด
คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่าน >>> ตำนานพระโสณะปราบยักษ์ที่สุวรรณภูมิ และบทสวดมนต์ จุลชัยยะมงคลคาถา พร้อมคำแปล