พุทธศาสนา คือ ศาสนาแห่งความสุข โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
ไม่ค่อยได้สังเกตกันว่า พระพุทธศาสนานี้เป็น ศาสนาแห่งความสุข ยิ่งบางทีไปเจอคำสอนบางเรื่องทำนองว่า นั่นก็ทุกข์ นี่ก็ทุกข์ ก็นึกว่าพุทธศาสนานี่เต็มไปด้วยเรื่องทุกข์
ไม่ต้องไปไหนไกล พอเจออริยสัจ 4 ขึ้นต้นข้อแรกก็ “ทุกข์” หรือพระดำรัสสรุปอริยสัจว่า ทั้งในกาลก่อนและบัดนี้ เราสอนแค่ทุกข์และนิโรธแห่งทุกข์ ก็อาจจะถึงกับบอกว่า พระพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาแห่งความทุกข์
แต่อันนี้ได้ตัดออกไปให้แล้ว อย่างที่พูดมาข้างต้นว่า อริยสัจนั้นพระพุทธเจ้าตรัสกิจต่ออริยสัจกำกับไว้ด้วย ถ้าใครทำกิจต่ออริยสัจผิดไป ก็พลาดแล้ว ไม่ได้รู้จักและไม่มีทางถึงพระพุทธศาสนา
แล้วกิจหรือหน้าที่ของเราต่อทุกข์นั้นคืออะไร ก็บอกแล้ว ท่องคำบาลีให้ติดลิ้นไว้เลยก็ได้ว่า “ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ปริญฺเญยฺยํ” บอกเป็นภาษาไทยง่าย ๆ ว่า ทุกข์นั้นท่านให้ปริญญา หรือว่า ทุกข์นั้นสำหรับรู้เข้าใจหรือรู้เท่าทันด้วยปัญญา คือ ทุกข์นั้นให้ใช้ปัญญารู้เข้าใจและแก้ไข อย่างที่ว่า ถ้าทุกข์มา ก็ส่งให้ปัญญาเอาไปจัดการ
ถ้าทำกิจ ทำหน้าที่ต่อมันถูกต้องแล้ว เรื่องทุกข์ก็จบ ก็ปิดรายการไป (ที่จริงจะปิดรายการได้แน่ ก็พร้อมกับจบมรรค)
คราวนี้ก็ถึงทีมาเรื่องสุขบ้างละ
ถ้าจะให้เห็นได้ง่ายก็ดูที่พุทธประวัติ ทุกคนรู้ว่าก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา คือบำเพ็ญตบะทรมานร่างกายต่าง ๆ ตามนิยมของยุคสมัย ครั้นแล้ว ทรงมองเห็นว่าเป็นการปฏิบัติที่ผิด จึงได้ทรงละเลิกทุกรกิริยา หันมาทรงดำเนินในทางสายกลาง อันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา จนได้ตรัสรู้ นี่คือ เรามักรู้หรือเรียนกันมาอย่างนี้
อันนั้นเป็นทำนองคำสรุป ทีนี้เราเข้าไปดูพุทธประวัติ เป็นต้นว่า พระองค์เอง ก่อนตรัสรู้ ทรงดำริว่าความสุขจะลุถึงด้วยความสุขไม่ได้ แต่ความสุขนั้นจะต้องลุถึงด้วยความทุกข์ จึงได้เสด็จออกผนวชไปศึกษาในอาศรมของสองดาบส หลังจากนั้นทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาด้วยความเพียรอย่างแรงกล้า ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ก็ไม่เป็นผลอะไร ได้ทรงตระหนักว่า จะลุถึงคุณวิเศษด้วยทุกรกิริยาหาได้ไม่
ตรงนี้สำคัญมาก คือทรงเล่าต่อไปถึงพระดำริว่า “ทางแห่งโพธิจะพึงมีเป็นอย่างอื่น” แล้วทรงระลึกได้ถึงเหตุการณ์แต่ครั้งทรงพระเยาว์ เมื่อประทับอยู่เงียบสงัดพระองค์เดียว ณ ใต้ร่มเงาต้นหว้าอันสงบเย็นสบาย ได้ทรงเข้าถึงปฐมฌาน อันมีปีติและความสุขเป็นจุดเด่น และสว่างพระทัยว่านั่นคือทาง ดังที่ตรัสกับพระองค์เองว่า “นี่แหละ คือทางแห่งโพธิ” (เอเสว มคฺโค โพธิยา)
เมื่อทรงระลึกขึ้นได้และชัดพระทัยดังนั้นแล้ว ยังทรงถามพระองค์เองอีกว่า เรากลัวไหม ต่อความสุขที่ปลอดกามปราศอกุศลธรรมนั้น ทำนองตรวจสอบว่าเป็นความสุขที่จะมีพิษภัยอะไรไหม ก็ทรงมีคำตอบเป็นทำนองความมั่นพระทัยว่าเรามิได้กลัว
นี่แหละจึงได้ทรงละเลิกทุกรกิริยา แล้วดำเนินในมรรคาแห่งความสุขอย่างนั้น ซึ่งเราสรุปด้วยคำว่ามัชฌิมาปฏิปทาใส่ลงไป แล้วก็ได้ตรัสรู้
จุดต่างที่จะต้องเน้นไว้ คือ ลัทธิมากมายในชมพูทวีปถือว่า “สุขจะลุถึงด้วยสุขไม่ได้ จะลุถึงสุขต้องด้วยทุกข์” จึงบำเพ็ญตบะ ทำทุกรกิริยา แต่พุทธศาสนาบอกว่า “สุขลุถึงได้ด้วยสุข” จึงเลิกทำทุกรกิริยาไม่ให้บำเพ็ญตบะ ซึ่งเป็นอัตตกิลมถานุโยค ไม่ให้มัวทรมานตนให้ลำบากเสียเวลาเปล่า
แต่ต้องพูดให้ชัดอีกหน่อยว่า ความสุขที่ว่านี้มีลักษณะที่พูดให้เต็มความว่า “สุขที่ปลอดกาม ปราศอกุศลธรรม” ตรงนี้สำคัญ คือไม่ใช่แค่กามสุข แต่เป็นความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม ไม่ขึ้นต่อกาม เป็นอิสระจากกาม ก็เริ่มด้วยฉันทะขึ้นไปนั่นแหละ
แล้วในการปฏิบัติที่ถูกต้องนี้ ข้อที่สำคัญก็คือ มีปัญญาที่ทำให้จิตใจเป็นอิสระ ถึงแม้ความสุขอย่างประเสริฐที่ดีเลิศนั้น จะเกิดจะมีอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่มาครอบงำจิตใจ เช่น ไม่อาจทำให้ติดเพลินหลงมัวเมาเหลิงลำพองสยบตัวตกอยู่ใต้ความประมาท เป็นต้น
ทำไมพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมา จึงเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อย่างที่ว่าแผ่นดินไหว ตื่นกันไปตลอดถึงพรหมโลกชั้นสูงสุด ก็เพราะเป็นแนวคิดและวิถีชีวิตอย่างใหม่ อันให้ลุถึงสุขด้วยสุขนี่แหละ
ความสุขที่เป็นจุดหมาย ซึ่งใช้คำเรียกว่าเป็นบรมสุขนั้น มากับปัญญาที่รู้แจ้งทำจิตใจให้เป็นอิสระ ที่แม้แต่ความสุขอย่างสูงก็ครอบงำไม่ได้ และความสุขนั้นก็เป็นอิสระ สุขแท้สุขจริงไม่มีพิษไม่เป็นภัย ไม่ต้องหาไม่ต้องพึ่งพาไม่ขึ้นต่ออะไร มีประจำอยู่กับตัว จะอยู่ไหนไปไหนเมื่อใด ก็สดใสเบิกบานเป็นสุขทุกเวลา
สำหรับคนทั้งหลายที่ยังไม่ได้ลุถึงสุขสูงสุดนั้น ก็ไม่เป็นไร เมื่อรู้เข้าใจหลักแล้ว ก็มาพัฒนาความสุขกันต่อไป
ที่มา หนังสือ “ความสุขทุกแง่มุม” โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
บทความน่าสนใจ
พุทธศาสนาคืออะไร ทำไมเราต้องปฏิบัติตนตามหลักพุทธศาสนา
10 เรื่องที่คุณ (อาจ) ไม่รู้เกี่ยวกับ พระพุทธศาสนา
หลักแห่งดุลยภาพในทางพระพุทธศาสนา
องค์ประกอบของ ชีวิตมนุษย์ ตามหลักพระพุทธศาสนา
Dhamma Daily : กฎแรงดึงดูดในพระพุทธศาสนาทำงานอย่างไร
Dhamma Daily : พระพุทธศาสนาพูดถึงเรื่อง “ฤกษ์ยาม” ไว้อย่างไร