ผมมีแรงบันดาลใจอยากเป็นอาสาสมัครมาตั้งแต่สมัยที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งหลังจากที่ได้เข้าไปทำจริง ๆ ก็ส่งผลให้ผมได้เห็นโลกที่กว้างขึ้นกว่าสังคมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงสังคมเดียว ความสุขที่ไม่เคยหายไป
แต่ยังมีอีกหลายสังคมที่ผมยังไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้ กลายเป็นความอยากรู้อยากเห็น รวมทั้งอยากเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ได้สัมผัสชีวิตคน ทำให้รู้ว่าทุกที่ย่อมมีปัญหา หากแต่ปัญหาก็สามารถแก้ไขได้ด้วยความรัก ความเอื้ออาทร และความจริงใจ
ผ่านมาหลายปีจนถึงวันนี้ สิ่งหนึ่งที่ผมยังยึดมั่นอยู่เสมอก็คือการแบ่งเวลาส่วนหนึ่งให้การเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม ในขณะที่ยังคงทำงานในสายอาชีพที่อยู่ในวงโคจรธุรกิจแบบสุดโต่ง เพื่อบอกกับตัวเองว่าเงินไม่ใช่ความสุขทั้งหมด หากความสุขจากการให้นั้นต่างหากที่จีรัง การได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้าง ช่วยกล่อมเกลาจิตใจได้บางส่วน แม้จะไม่ทั้งหมด แต่ก็สร้างความรู้สึกดี ๆ กลับคืนมา ทำให้เรามองโลกเชิงบวก ไม่ได้มีมุมมองที่หวังแต่จะเอาประโยชน์อย่างเดียว และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ผมอยากเป็นคนเล็ก ๆ ที่จุดประกายให้คนอื่น ๆ ได้เห็นว่า ความดี ความรัก ความจริงใจต่างหากที่สังคมเราต้องการไม่ใช่เงิน
ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสอีกเสี้ยวหนึ่งของชีวิตเล็ก ๆ ในมุมที่น้อยคนนักจะได้เจอ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกับการเข้าไปสัมผัสชีวิตของผู้ป่วยเรื้อรังระยะสุดท้าย ถ้าไม่ใช่ญาติหรือเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ป่วยเรื้อรังระยะสุดท้ายที่เป็นเหล่าเด็กน้อยซึ่งชีวิตยังเปี่ยมไปด้วยความฝัน
ที่นั่น…ตึก สก 16 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผมได้รู้จักน้อง ๆ ที่น่ารักกลุ่มหนึ่งในโครงการดูแลผู้ป่วยเด็กเรื้อรังระยะสุดท้าย น้อง ๆ กลุ่มนี้ก็เหมือนกับเด็ก ๆ ทั่วไปที่ยังคงคุยสนุก หัวเราะเสียงดัง ชอบวาดภาพ ชอบทำกิจกรรม ชอบเล่น ชอบวิ่งไปวิ่งมา ชอบกินขนม ชอบของเล่น ชอบอะไรต่อมิอะไรอีกตั้งหลายอย่าง เพียงแต่ว่าน้อง ๆ กลุ่มนี้ป่วยเป็นโรคเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ผมอยากหยิบยกเรื่องราวบางอย่าง มุมมองในบางแง่มาเล่าสู่กันฟัง อย่างน้อยเพื่อคนที่ได้อ่านจะได้รู้สึกว่าความสุขของคนเรานั้นอยู่ไม่ไกลจากตัวเราเลย เพียงแต่ว่าเราเลือกที่จะเลือกความสุขเข้ามาใส่ตัวได้อย่างไรต่างหาก
น้องคนแรกที่ผมอยากเล่าให้ฟัง คือ น้องหนึ่ง (นามสมมุติ) เป็นเด็กวัยรุ่นที่ชอบวาดรูปและฟังเพลง น้องเขารู้ดีว่าตัวเองป่วยเป็นโรคอะไร และรู้ว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานนัก
หนึ่งเป็นเด็กต่างจังหวัดที่มีชีวิตเหมือนนิยาย หนึ่งเป็นลูกคนเดียวที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย คุณพ่อประสบอุบัติเหตุทำให้สายตามองไม่เห็น ส่วนคุณแม่ก็ถูกคนใจร้ายโกงเงินจนแทบไม่มีสตางค์มาดูแลรักษาลูก เป็นชีวิตที่แสนทุกข์ ทว่าไม่มีใครพร่ำบ่น หากยอมรับและเผชิญหน้าอย่างกล้าหาญ
วันแรกที่ผมได้เจอหนึ่ง ผมได้ทราบข่าวว่าเขาเคยเข้าห้องไอซียูนานถึง 11 วัน จนคุณแม่เริ่มถอดใจและพยายามทำใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกวินาทีชีวิตที่ผ่านไปได้บั่นทอนความรู้สึกของคนเป็นแม่ลงเรื่อย ๆ แต่ความไม่ท้อถอยของแม่ทำให้แม่สู้…สู้ด้วยความหวังว่าลูกจะมีชีวิตอยู่ โดยมีความสุขจากความหวังเป็นยาหวานประโลมใจ จนหนึ่งได้หวนกลับมาอยู่บนเตียงผู้ป่วยทั่วไปได้อีกครั้ง
จากวันนั้นจนวันนี้ ความเข้มแข็งของคนทั้งสองสอนให้ผมได้รู้ว่าไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าความสุขง่าย ๆ ใกล้ ๆ ตัวอีกแล้ว ความสุขจากพ่อแม่พี่น้อง ความสุขใกล้ตัวที่ไม่ต้องซื้อหา แต่เป็นความจริงใจที่คนรับสัมผัสได้ วันนี้หนึ่งออกจากโรงพยาบาลกลับไปอยู่ที่บ้าน โดยน่าจะยังมีสายล้างติดอยู่กับตัวด้วย เพราะต้องล้างไตทุกวัน ก่อนกลับหนึ่งโทรศัพท์มาหาผมด้วยน้ำเสียงสดชื่น บอกผมว่า มีความสุขจังที่ได้กลับบ้าน…ผมยิ้มแล้วตอบกลับไปว่า เห็นมั้ย…หนึ่งทำได้
อีกคนที่ผมอยากเล่าก็คือ น้องเอก (นามสมมุติ) ที่อยู่เตียงข้าง ๆ หนึ่ง อายุประมาณ 7 ขวบ ผมแอบชื่นชมความเข้มแข็งของน้องคนนี้มาก ๆ เพราะพี่พยาบาลเล่าให้ฟังว่า คุณพ่อคุณแม่ของเอกอยู่ไกลถึงสุราษฎร์ธานี เดือนหนึ่งถึงจะมีโอกาสมาเยี่ยมสักครั้ง ในสภาวะเช่นนี้กับโรคไตที่เขาเป็น เอกคงต้องการกำลังใจจากคนที่รักมากที่สุด แต่ในเมื่อเลือกไม่ได้ เอกจึงต้องนอนอยู่บนเตียงเพียงลำพังท่ามกลางเตียงอื่น ๆ ที่รายล้อมด้วยคนดูแล ผมเคยถามตัวเองเหมือนกันว่า ถ้าเป็นผม ผมจะยอมรับชะตากรรมนี้ได้หรือไม่ก็ไม่รู่ ้ เพราะผมยังไม่เคยได้สัมผัสช่วงเวลาเหล่านี้ แต่คิดว่ามันคงร้ายกาจพอดู นั่นสิ เราจะเข้มแข็งเหมือนน้องบ้างไหม ผมแอบมองน้องกินข้าวเงียบ ๆ คนเดียวอยู่เนือง ๆ บางครั้งก็มีแม่ ๆ หลายคนที่พยายามเข้ามาทักทาย พี่ ๆ พยาบาลก็เช่นกัน ถึงแม้ว่าทุกคนเหนื่อยกับภารกิจอันหนักอึ้งอยู่ข้างหน้า แต่ทุกคนไม่เคยลืมว่าเราต่างเป็นมนุษย์ที่มีหัวใจ
กระนั้นในความทุกข์ก็ยังคงมีแสงสว่างอยู่รำไร หลายครั้งที่ภาพความสุขที่ผมเห็นกลบเกลื่อนรอยเศร้าหมองลงไปได้บ้าง อาทิ ภาพแม่ ๆ แต่ละคนนำอาหารมาแบ่งปันกันรับประทาน ภาพแม่ ๆ ช่วยลูก ๆ (คนอื่น) เช็ดตัว พาเข้าห้องน้ำ ระหว่างที่คุณแม่ตัวจริงออกไปทำธุระ สังคมเล็ก ๆ ที่นี่เติบโตขึ้นจากการหล่อหลอมความทุกข์ แปรสภาพเป็นความเข้าใจในความเป็นไป จนกลายเป็นความแข็งแกร่ง ก่อนที่อีกไม่นานแม่ ๆ กลุ่มนี้อาจจะต้องสูญเสียลูกที่ตนรักไปก่อนวัยอันควร พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นพื้นที่แห่งการปรับเปลี่ยนจากความทุกข์เป็นความสุขได้อีกครั้ง
น้องเอกถามแม่น้องหนึ่งอย่างสุภาพทันทีที่เห็นแม่ของหนึ่งตักปลาดุกฟูกรอบน่ากินใส่จานข้าวของหนึ่ง “ยายครับ ผมขอปลาบ้างได้ไหมครับ” สิ้นคำ แม่ของหนึ่งกุลีกุจอจัดแจงให้อย่างเต็มที่ราวกับเอกเป็นลูกอีกคน นี่แหละโมงยามความสุขของคนให้และคนรับ และเป็นชั่วโมงความสุขของคนที่ได้เจอเรื่องดี ๆ กับช่วงเวลาดี ๆ ที่ถึงแม้จะสั้นก็ตาม แต่นั่นก็คือความสุขเช่นกันนี่นา
ก่อนจะจบเรื่องดี ๆ เรื่องนี้ ผมโทรศัพท์ไปหาคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ต่างจังหวัด แล้วพูดคุยทักทายไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ น้ำเสียงปลายสายยังคงไว้ซึ่งความเป็นห่วงเป็นใย ความเอื้ออาทร ความหวังดีโดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทนใด ๆ ดีจังที่เรายังมีความสุขที่ได้คุยกับคนที่เรารักถึงแม้ว่าจะอยู่ไกลกันก็ตาม
ความสุขของคนเราไม่ได้หนีหายไปไหนเลย…
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง ลิตเติ้ลรอย
บทความน่าสนใจ