เก่งจริงนะตัวแค่นี้ เด็กประถมเขียนแอป หาเงินช่วยมูลนิธิทางการศึกษา
ย้อนไปในปี 2011 โทมัส ซัวเรส (Thomas Suarez) เด็กชายวัย 12 ปีซึ่งหลงใหลคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก สามารถสร้างแอปพลิเคชันสำหรับ Apple Store ได้สำเร็จ เด็กประถมเขียนแอป
ผลงานแอปพลิเคชันของโทมัสคือ Earth Fortune เป็นแอปดูดวง ที่จะแสดงโลกสีต่าง ๆ ขึ้นกับดวงของแต่ละคน และแอป BustinJieber เป็นเกมตีตัวตุ่นรูป จัสติน บีเบอร์ ซึ่งเป็นแอปที่เขาชอบมากและสร้างชื่อให้เขาเป็นอย่างมาก ไอเดียสร้างแอปนี้มาจากการที่เพื่อน ๆ ในโรงเรียนไม่ค่อยชอบ จัสติน บีเบอร์ กันสักเท่าไหร่ เขาจึงปิ๊งไอเดียเขียนเกมนี้ขึ้นมา
โทมัสเริ่มเขียนโปรแกรมและปล่อยออกมาในปี 2010 โทมัสบอกว่า ทุกวันนี้เด็กๆ ชอบเล่นเกมกันอยู่แล้ว แต่น้อยคนจะรู้วิธีการสร้างโปรแกรมได้เอง ถ้าอยากเล่นฟุตบอลก็แค่เข้าทีมฟุตบอล หรืออยากเล่นดนตรีก็ลงเรียนดนตรีที่สนใจ แต่ถ้าอยากเขียนโปรแกรม เราจะหาวิธีการเขียนโปรแกรมได้จากไหน โทมัสจึงเรียนรู้การเขียนโปรแกรมโดยเริ่มจากการฝึกเขียนโปรแกรมหลาย ๆ ภาษาไปพร้อมกัน เพื่อจะได้เข้าใจพื้นฐานการเขียนโปรแกรมให้ได้มากที่สุด เช่น ภาษา Python, ภาษา C, ภาษา JAVA ฯลฯ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โทมัสเริ่มสร้างแอปขึ้นมาจนได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก
หลังจากโทมัสพัฒนาแอปสำเร็จ เขาก็ไปขอเงินพ่อและแม่ไปจ่ายเงินค่าธรรมเนียมให้แอปเปิลปีละ 99 เหรียญสหรัฐ แล้วปล่อยแอปพลิเคชันแรกของเขาให้สาวกแอปเปิลได้ดาวน์โหลด หลังจากนั้นก็มีแอปอื่นตามมาอีกมากมาย ภายใต้ชื่อบริษัท CarrotCorp ที่โทมัสเป็นทั้งผู้ก่อตั้ง, CEO และ CTO เขาจึงกลายเป็นดาวเด่นในโรงเรียนที่ทุกคนให้ความสนใจ
ต่อมา โทมัส ได้ก่อตั้งชมรมการสร้างแอปขึ้นในโรงเรียน ทุกคนสามารถเข้าร่วมและเรียนรู้วิธีการสร้างแอปได้อย่างเสรี ถึงแม้จะไม่มีพื้นฐานเลย เพื่อช่วยกันพัฒนาแอปพลิเคชันร่วมกัน มีหลายแอปที่เกิดจากการรวบรวมความเห็นจากครูในโรงเรียน แล้วนำไปพัฒนาต่อยอด จากนั้นขายในราคาแอปละ 99 เซนต์ หรือประมาณ 31 บาท เพื่อนำเงินไปมอบให้กับมูลนิธิทางการศึกษาในท้องถิ่น
เมื่อ 8 ปีที่แล้ว โทมัสเป็นข่าวดังเมื่อเขาขึ้นเวที TED แสดงวิสัยทัศน์ที่ล้ำเกินอายุในฐานะนักพัฒนาแอปพลิเคชั่นรุ่นจิ๋ว มียอดคนดูคลิปการพูดของเขาเกือบสิบล้านคนทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือ เคร็ก แฮทคอฟฟ์ (Craig Hatkoff) ผู้ร่วมก่อตั้งเทศกาลฟรีทริเบคา ซึ่งประทับใจในตัวโทมัสและมองเห็นแววรุ่งของเด็กประถมคนนี้ จึงมอบเครื่องพิมพ์สามมิติให้โทมัส เขาเรียนรู้เจ้าอุปกรณ์นี้อยู่สี่สัปดาห์ก็สามารถใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว
ปัจจุบันโทมัสถือสิทธิบัตรเกี่ยวกับวิธีพิมพ์สามมิติแบบใหม่เร็วกว่าเดิมถึง 10 เท่า ที่เรียกว่า ORB 3D และอาจเป็นการปฏิวัติเล็ก ๆ ในวงการพิมพ์สามมิติ นอกจากนั้นเขายังเข้าสู่วงการ AR (augmented reality) และ VR (virtual reality) ด้วยการก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพชื่อ Teleportal
จากเด็กน้อยในวันนั้น เขาเติบโตเป็นหนุ่มเต็มตัวแล้วในวันนี้ โทมัสมีความฝันอีกอย่างที่ตั้งใจไว้คือ เขาอยากกลับไปสอนให้เด็ก ๆ เขียนโค้ดพัฒนาแอป เพราะเขารู้สึกดีมาก ๆ เวลาเห็นเด็ก ๆ ตื่นเต้นตอนที่เขียนแอปออกมาได้
ภาพ zimbio.com blendedandonlinelearning.org
บทความน่าสนใจ
อันวารา เด็กหญิงผู้ ต่อต้านการใช้แรงงาน และการค้าเด็กในอินเดีย