ครูบัญชีอาสา หนี้สินท่วมตัว สามารถปลดหนี้ได้ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ครูบัญชีอาสา คุณขนิษฐา มะโนสมบัติ หรือ ครูรุ่ง อายุ 47 ปี ครูบัญชีดีเด่น รองชนะเลิศอันดับ 2 ประจำปี 2558 จากจังหวัดเชียงราย สามารถปลดหนี้สินที่มีมากมายให้หมดสิ้นได้ โดยการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการทำมาหาเลี้ยงชีพ และแก้ไขปัญหาในการดำเนินชีวิต
ครูรุ่งได้นำระบบบัญชีมาใช้เป็นเครื่องมือให้เข้าถึงแก่นแท้ของความพอเพียง และวิเคราะห์ข้อมูลทางบัญชีบริหารจัดการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ บนพื้นที่พักอาศัยจำนวน 53 ตารางวา ผลิตอาหารปลอดภัยที่มั่นคงในครัวเรือนและขยายผลเป็นแนวทางในการสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประสบความสำเร็จในอาชีพ มีเงินเป็นล้าน รายได้เดือนละหลายหมื่นบาท
ก่อนหน้านี้ครูรุ่งเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก 3 คน สามีทำงานอยู่ต่างประเทศและส่งเงินมาให้ใช้อย่างสุขสบายเดือนละหลายหมื่นบาทโดยไม่ยอมให้ภรรยาออกไปทำงาน ขอให้อยู่บ้านเลี้ยงลูกเท่านั้น แต่ครูรุ่งไม่ได้บริหารจัดการเงิน เวลาว่างตอนที่ลูกไปโรงเรียนเธอจะเข้าบ่อนเล่นการพนัน แถมยังใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หมดไปกับข้าวของและอาหารราคาแพง เงินจึงไม่พอใช้ และไม่มีเหลือเก็บ ทุกสิ้นเดือนต้องไปยืมเงินชาวบ้านหรือไม่ก็นำสร้อยทองไปจำนำ
ยิ่งไปกว่านั้น อาการติดการพนันก็เป็นหนักถึงขั้นลงไม้ลงมือกับลูกถ้าวันไหนเล่นเสีย หรือไล่ตะเพิดเวลาลูกมากวนใจ ช่วงนั้นครูรุ่งเครียดหนัก คิดมากจนป่วยทั้งกายและใจ ทำให้ต้องไปหาหมอทุกเดือน ซึ่งโรคทางกายต่าง ๆ ก็มาจากการที่กินอาหารไม่เป็นเวลาเพราะมัวแต่เล่นการพนัน และมีอาการป่วยทางจิตเป็นโรคเครียด มีอาการซึมเศร้า ทำร้ายลูกเป็นประจำ และต้องเข้ารับการรักษาตัวจากหมอจิตเวชนาน 3 ปี
จุดพลิกผันในชีวิตที่กำลังจะพังทลายของเธอคือ วันหนึ่งขณะที่กำลังรอพบหมอที่โรงพยาบาล ก็มีคนไข้คนหนึ่งมาทักว่าเธอเป็นคนบ้า ประกอบกับถูกชาวบ้านครหาว่าเป็นคนไร้ค่า เธอจึงเกิดลูกฮึดคิดอยากเอาชนะคำพูดเหล่านี้ ครูรุ่งจึงไปศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของ ครูบุญเป็ง จันต๊ะภา ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้มีภูมิรู้ด้านเกษตรพอเพียงและการทำเกษตรผสมผสาน นอกจากนั้นเธอยังเป็นอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี ของสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์เชียงรายอีกด้วย
จากการศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้ ทำให้ครูรุ่งได้เรียนรู้การนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและรู้จักการจดบันทึกบัญชี เพื่อนำมาวางแผนการใช้จ่ายเงินในครอบครัวและในการประกอบอาชีพ
หลังจากฝึกจดบันทึกบัญชีได้ 3 เดือน ครูรุ่งก็พบว่า รายจ่ายหลักของครอบครัวคือ ค่ากับข้าว จึงเกิดแรงบันดาลใจในการน้อมนำพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาพลิกชีวิต
ครูรุ่งลงมือสร้างพื้นที่การเกษตรในบริเวณบ้านของตัวเองที่มีเพียง 53 ตารางวา ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เป็ด หมู ปลา และกบ สร้างตลาดสดในบ้าน ทำให้ไม่ต้องออกไปจ่ายตลาด เพราะมีทุกอย่างที่ต้องการในบ้านแล้ว นอกจากนั้นยังผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองจากวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติ เช่น นำดิน แกลบ จากคอกหมูและเล้าไก่ มาทำปุ๋ย ทำให้ได้กินอาหารที่ปลอดภัย ไม่มีสารอันตรายกับร่างกาย แล้วยังสร้างบ่อกำจัดวัชพืชและเศษอาหารภายในบ้านอีกด้วย
ผลผลิตที่ได้นั้น ถึงแม้จะเก็บไว้กินเองแล้วก็ยังเหลือ ครูรุ่งจึงแบ่งปันให้คนในชุมชน ทำให้มีคนรู้จักมากขึ้นเพราะบอกกันปากต่อปาก จึงมีคนมาศึกษาดูงานมากมายจนต้องเปิดเป็น “ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง 53 ตารางวา แก้จน” และเป็นครัวเรือนหลังแรกที่เป็นต้นแบบของจังหวัดเชียงรายในการจัดการบริหารพื้นที่ของบ้านให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ศูนย์เรียนรู้ฯ ของครูรุ่ง เป็นแหล่งศึกษาดูงานขนาดย่อม ที่เปิดต้อนรับผู้ที่สนใจเรียนรู้วิถีการทำการเกษตรแบบพอเพียง และการทำบัญชีรับ-จ่าย ในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนอาชีพ เพื่อใช้วิเคราะห์วางแผน การใช้จ่ายเงินในครัวเรือนและในการประกอบอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ช่วยปลดหนี้ และมีเงินออม
ปัจจุบัน ครูรุ่งยังทำงานด้านการส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นหันมาร่วมกันอนุรักษ์ ปกป้องคุ้มครอง และฟื้นฟูการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย และครูรุ่งยังให้แง่คิดอีกว่า
“จากชีวิตล้มเหลวที่ไม่มีใครยอมรับ ขาดที่พึ่ง เราก็หันมามองตัวเอง เริ่มต้นทำทุกสิ่งที่ในหลวงสอน มาปรับใช้กับชีวิต ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ครอบครัวมีความมั่นคงทางอาหาร มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ มีรายได้และมีเงินเหลือเก็บออม เศรษฐกิจในครัวเรือนก็ดีขึ้น
“ถ้าคุณอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นในการประกอบอาชีพต่าง ๆ แต่หากไม่มีบัญชีมาเป็นตัวชี้นำ ชี้วัดแล้ว ก็หาความสำเร็จได้ยากมาก เพราะเราจะไม่รู้ที่มาที่ไป แต่สำหรับดิฉันได้รู้อย่างถ่องแท้แล้วว่า การทำบัญชีมีประโยชน์มากแค่ไหน
“สำคัญที่สุดคือ ครอบครัวได้แม่คนใหม่ที่มีคุณภาพ เป็นแบบอย่างให้กับลูก ๆ ได้ทุกเรื่อง ทั้งเรื่องการทำบัญชี และการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ฉะนั้น ถ้าทุกคนเข้าใจและนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ประเทศชาติจะมั่นคงและยั่งยืนแน่นอน”
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก ไทยรัฐ, เส้นทางเศรษฐี
บทความน่าสนใจ
เซ็ง แซ่ลี ตามรอยในหลวง ด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ รายได้กว่าเจ็ดหลัก
พอลร์ ผู้พิชิตไพร หนุ่มกะเหรี่ยงตาบอด สู้ชีวิตปลุกปั้นโรงงานเนยถั่วเพื่อเด็กด้อยโอกาส
รวยแล้วไม่ลืมกัน เศรษฐีอดีตดาราตกอับกลายเป็นคนเร่ร่อน เปิดบริษัทจ้างงานคนเร่ร่อน
ปู่เย็น ผู้เป็นต้นแบบของชีวิตพอเพียง
คนรุ่นใหม่กับไร่พอเพียง “ วรรณพรรณ ฟาร์ม ” จังหวัดขอนแก่น
พาชม “ไร่อธิศพัฒน์” แหล่งเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติ น้อมนำพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง