สักกายทิฏฐิ

ที่จริงร่างกายนี้ไม่ใช่ของดี ธรรมะละ สักกายทิฏฐิ ของพระพุทธเจ้า

ที่จริงร่างกายนี้ไม่ใช่ของดี ธรรมะละ สักกายทิฏฐิ ของพระพุทธเจ้า

สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นที่เป็นเหตุให้ถือว่าเป็นเรา เช่น การหลงใหลในรูปลักษณ์ของตนเอง ดังเช่น เจ้าหญิงอภิรูปนันทา และเจ้าหญิงสุนทรีนันทาที่ทรงหลงใหลในความงามของพระองค์ พระพุทธเจ้าทรงแสดงอสุภกรรมฐานทำให้เจ้าหญิงทั้งสองทรงสามารถละสักกายทิฏฐิได้ และบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุด

ผู้ที่ละจากสักกายทิฏฐิได้นั้นคือพระโสดาบัน และพระอริยบุคคล พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สักกายทิฏฐิสูตรว่า “ผู้ที่จะละสักกายทิฏฐิได้คือผู้ที่เห็นขันธ์ 5 เป็นทุกข์” สอดคล้องกับกรณีของเจ้าหญิงทั้งสองพระองค์อยู่เหมือนกัน ขัตติยนารีในสมัยพุทธกาลมีหลายพระองค์ที่ทรงหลงในรูปโฉมอันงดงามของพระองค์เอง แต่พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ปราบพยศลงได้เช่นกัน และส่งเสริมให้พระนางทั้งหลายสำเร็จมรรคผลเป็นพระอรหันต์ อาทิเช่น พระนางเขมา พระมเหสีแห่งพระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น

ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ เภสกฬาวัน ซึ่งเป็นป่าที่มีนางยักษ์ชื่อว่า “เภสกฬา” อาศัยอยู่ เป็นเขตให้อภัยทานของกวาง อยู่ใกล้เมืองสุงสุมารคิระในภัคคชนบท นกุลคหบดีได้เดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยไม้เท้า เมื่อมาถึงเบื้องพระพักรตร์แล้วได้นั่งลงและกราบอภิวาทพระองค์อยู่ข้างหนึ่ง

นกุลคหบดีผู้นี้เป็นเศรษฐีเฒ่า ครองรักกับภรรยามานานเป็นสิบปี ไม่มีบุตรด้วยกัน แต่เมื่อได้พบพระพุทธเจ้าเป็นครั้งกลับเรียกพระองค์ว่า “ลูก” สร้างความแตกตื่นให้กับพระภิกษุ และประชาชนที่กำลังใส่บาตรพระองค์อยู่  พระพุทธเจ้าได้ตรัสเฉลยว่า นกุลคหบดี และภรรยาเคยเป็นบิดาและมารดาของพระองค์มาหลายร้อยชาติ จึงไม่แปลกที่ทั้งสองจะจดจำพระองค์ในฐานะลูก แต่ที่จริงในภพชาตินี้พระบิดาและพระมารดาที่แท้จริงคือ พระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางสิริมหามายา ผู้อธิษฐานเป็นพุทธบิดา และพุทธมารดา มาหลายพุทธันดร จะสังเกตได้ว่ามีหลายพระสูตรที่นกุลคหบดีจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่บ่อยครั้ง

นกุลคหบดีได้กล่าวกับพระพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ ข้าพเจ้าชราภาพมากแล้ว มีอาการกายกระสับกระส่าย และเจ็บป่วยอยู่เนือง ๆ อาการเหล่านี้จะหายได้หากข้าพเจ้าได้เห็นพระองค์พระเจ้าข้า ขอพระองค์โปรดสั่งสอนข้าพเจ้าด้วยธรรมอันเป็นประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าไปตลอดกาลนานด้วยเถิดพระเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ถูกต้องแล้ว ท่านคหบดี อันที่จริงแล้วกายย่อมกระสับกระส่ายเหมือนฟองไข่ ดูก่อนคหบดี คนที่ใช้ร่างกายนี้อยู่ ต้องรับรองโรคภัยต่าง ๆ นานา จะมีอะไรดีเล่า นอกจากคนเขลาเท่านั้นที่จะมองว่าเป็นของดี ดูก่อนคหบดี เพราะเหตุนี้ ท่านจงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเรามีกายกระสับกระส่ายอยู่ จิตของเราย่อมไม่กระสับกระส่าย ”

ด้วยความปลาบปลื้มในพระพุทธพจน์ ทำให้นกุลคหบดีปลื้มปีติ กราบอภิวาทพระพุทธเจ้าและลุกขึ้นจากไป พระสารีบุตรอยู่ในอารามพอดี นกุลคหบดีจึงเข้าไปหาพระเถระ

พระสารีบุตรกล่าวทักทายนกุลคหบดีว่า “ดูอินทรีย์ของท่านคหบดีผุดผ่อง สีหน้าผ่องใสเปล่งปลั่ง  ท่านคงได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์มาแน่นอน”

“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เพราะพระพุทธเจ้าทรงหลั่งอมฤตธรรมให้ข้าพเจ้าด้วยหนึ่งกถา” นกุลคหบดีกล่าวเฉลย

“ดูก่อนคหบดี อมฤตธรรมนั้นคือเรื่องอะไรหรือท่าน” จากนั้นนกุลคหบดีได้กล่าวธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงมาทั้งหลายแด่พระสารีบุตร

พระสารีบุตรได้ถามนกุลคหบดีว่า “ผู้ที่มีกายและจิตกระสับกระส่ายเป็นอย่างไร และผู้ที่กายกระสับกระส่าย แต่จิตไม่กระสับกระส่ายนั้นเป็นอย่างไร”

“ข้าพเจ้าไม่ได้ทูลถามพระพุทธองค์ให้กระจ่าง ไหน ๆ มาสู่สำนักของท่าน (พระสารีบุตร) แล้ว ขอท่านโปรดอธิบายให้ข้าพเจ้าแจ้งในความนี้ด้วยเถิด” จากนั้นพระสารีบุตรได้ขยายความในธรรมนี้ให้แจ้งว่า “ท่านคหบดี คนที่มีกายและจิตกระสับกระส่ายคือคนธรรมดาที่ไม่มีโอกาสได้พบพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมจากพระอริยะ ไม่ได้พบเจอสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมจากสัตบุรุษ พิจารณาเห็นโดยอัตตา คือพิจารณาเห็นว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ (ขันธ์ 5)  เป็นดำรงอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า “เราคือขันธ์ 5 และ ขันธ์ 5 คือเรา” เมื่อเขายึดมั่นดังนั้นแล้ว แต่ตามจริงแล้วขันธ์ 5 นั้นแปรผันไป (อนิจจัง) ความเศร้าโศก (โสกะ) ความคร่ำครวญ (ปริเทวะ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) และอุปายาส (ความคับแค้นใจ) จะเกิดขึ้น ท่านคหบดีผู้ที่มีกายและจิตกระสับกระส่ายเป็นเช่นนี้แล

“ ท่านคหบดี แล้วคนที่กายกระสับกระส่าย แต่จิตกลับไม่กระสับกระส่าย คือ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยที่ได้ฟังธรรม ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ไม่พิจารณาขันธ์ 5 ด้วยความยึดมั่นถือมั่น (อัตตา)  ไม่ดำรงอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นขันธ์ 5 และ ขันธ์ 5 เป็นเรา เมื่อพระอริยสาวกไม่ยึดมั่นในขันธ์ 5 แม้ว่าขันธ์ 5 จะแปรผัน (อนิจจัง) ความเศร้าโศก (โสกะ) ความคร่ำครวญ (ปริเทวะ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) และอุปายาส (ความคับแค้นใจ) จะไม่เกิดขึ้น ท่านคหบดีผู้ที่มีกายกระสับกระส่าย แต่จิตไม่กระสับกระส่ายเป็นเช่นนี้แล ” 

การขยายความของพระสารีบุตร แสดงให้เห็นวิธีการปลดล็อคตนเองจากสักกายทิฏฐิ หากเรายึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ การตกอยู่ในวงจรปฏิจจสมุปบาท โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาสเป็นห่วงโซ่ล่าง ๆ ของวงจรนี้ ที่จะนำพาไปสู่อวิชชา ความไม่รู้ที่จะทำให้จิตตกลงสู่วงจรแห่งปฏิจจสมุปบาท ทำให้ยิ่งพ้นจากสังสารวัฏได้ยากเย็นนัก

 

ที่มา

สักกายทิฏฐิ

นกุลปิตาสูตร

สักกายทิฏฐิสูตร 

ภาพ 

www.pexels.com


บทความน่าสนใจ 

เน่าหนอน ฟอนเฟะ พิจารณาความไม่งาม ตามแบบอสุภกรรมฐาน

อภิรูปนันทา บรรลุอรหันต์เพราะละจากความหลงใหลในความงาม

สุนทรีนันทา พระขนิษฐาแห่งพระพุทธเจ้า ผู้หลงใหลในความงามว่าเป็นสิ่งที่เที่ยง

บุพเพสันนิวาสเป็นอะไรที่มากกว่า..เรื่องของคู่ครอง

พระอนาคามี : พระอริยบุคคลผู้ไม่กลับมาเกิดอีกต่อไป

เป็น พระโสดาบัน เพราะถือศีล 5

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.