วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อ ความตาย โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
มนุษย์ปุถุชนนึกถึง ความตาย อย่างไม่ถูกต้องอย่างไร และในทางพระศาสนาสอนหรือแนะนำให้ปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างไร
มนุษย์ปุถุชนนึกถึงความตายอย่างไม่ถูกต้องคือมีความหวาดหวั่นพรั่นกลัว มีความสลดหดหู่ท้อแท้ หรือจะขยายให้พิสดารต่อไปอีก ก็สัมพันธ์กับบุคคลที่ตายนั้นที่ตนระลึกถึง ถ้าหากระลึกถึงความตายของบุคคลที่ตนเองเกลียดชังหรือไม่พอใจบุคคลที่เป็นศัตรู มนุษย์ปุถุชนก็จะมีความดีใจ แต่ถ้าหากว่าบุคคลที่ตายนั้นไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง เป็นบุคคลทั่ว ๆ ไป ก็จะระลึกถึงด้วยความเฉย หรือว่าถ้าจะระลึกถึงตัวความตายนั้น ก็จะมีความหวาดหวั่นพรั่นใจหวาดเสียว หรือมีความสลดหดหู่ท้อแท้ รวมความว่า จิตมนุษย์ปุถุชนไม่สามารถตั้งอยู่ในความดีความงามที่แท้จริงได้ แต่เอนเอียงไปในด้านต่าง ๆ ถึงแม้ถ้าไม่เกี่ยวกับบุคคลอื่น นึกถึงความตายของตนเอง ก็จะมีความหวาดกลัว ความหดหู่ท้อแท้ ดังได้กล่าวมาแล้ว
ระลึกถึงความตายจิตไม่ประมาท
ส่วนในทางพระศาสนานั้น ท่านสอนให้ระลึกถึงความตายเพื่อเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนใจตนเอง ว่าความตายนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต มันจะต้องเกิดมีขึ้น เป็นเรื่องสืบต่อไปจากความเกิด ในเมื่อมันเป็นเรื่องธรรมดาก็ไม่ต้องไปกลัว แต่มีข้อที่น่าพิจารณาว่า ความตายนั้นซึ่งเป็นของแน่นอน แต่จะมาถึงเมื่อไรไม่แน่ ชีวิตของคนเราอาจจะสั้นหรืออาจจะยาวไม่มีเครื่องกำหนดให้มองเห็นได้ชัดเจน เพราะฉะนั้น จึงควรใช้เป็นเครื่องเร่งเร้าตนเองให้มีความไม่ประมาท กล่าวคือ ชีวิตนี้มีกิจหน้าที่อะไร ก็ควรเร่งรัดจัดทำ ชีวิตของตนจะมีค่าและความดีงามอย่างไร ก็ควรเร่งขวนขวายประกอบกรรมที่จะให้เป็นอย่างนั้น ให้ชีวิตของตนมีคุณค่า ให้อยู่อย่างมีประโยชน์ และตายไปก็มีคุณค่าเหลือทิ้งไว้ เป็นประโยชน์แก่คนอื่นภายหลังด้วย อันนี้เป็นคำสอนทางพระศาสนา สำหรับให้ระลึกถึงความตาย
พิจารณาความตายเพื่อให้รู้ความเป็นจริงของชีวิต
ส่วนในอีกขั้นหนึ่งซึ่งเป็นขั้นสูงขึ้นไป ท่านก็สอนให้พิจารณาถึงความตายนั้น ในฐานะเป็นคติธรรมดาดังได้กล่าวแล้ว แต่ความหมายของคติธรรมดา คือให้รู้ความเป็นจริงของชีวิต ว่ามีการเริ่มต้นและสิ้นสุด เพื่อจิตใจจะได้ไม่ถูกครอบงำบีบคั้น ด้วยความทุกข์จากความพลัดพราก จากการที่นึกถึงความตายของตนเอง เป็นต้น คือรู้เท่าทันความเป็นไปของธรรมดา แล้วก็มีจิตใจสบายดำรงอยู่ในปกติได้เสมอ รำลึกถึงความตายด้วยความไม่หวาดหวั่น และเป็นอยู่ด้วยปัญญา คือกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความรู้และเข้าใจธรรมดานั้น หมายความว่า อยู่ด้วยความรู้เหตุผล อะไรเป็นสิ่งควรทำก็กระทำไป อะไรเป็นสิ่งที่เป็นปัญหา ควรแก้ไข ก็กระทำไปตามเหตุปัจจัย อันนี้ก็เป็นคำสอนขั้นสูงขึ้นไปในทางพระศาสนา
0
ขั้นตอนการปฏิบัติของมนุษย์ต่อเรื่องความตาย
สรุปว่าท่าทีการปฏิบัติของมนุษย์ต่อเรื่องความตายนี้ แสดงถึงความเจริญงอกงามแห่งจิตใจของมนุษย์เป็น 3 ขั้นด้วยกันคือ
ขั้นที่ 1 มนุษย์ปุถุชนทั่วไป ท่านว่าเป็นปุถุชนที่ยังมิได้สดับ คือยังไม่มีการศึกษา ก็จะระลึกนึกถึงความตายด้วยความหวาดหวั่นพรั่นกลัว เศร้าหดหู่ท้อแท้ ระย่อท้อถอย
ขั้นที่ 2 สูงขึ้นไป เป็นอริยสาวกผู้มีการศึกษา ได้สดับแล้ว ก็ระลึกถึงความตายโดยเป็นอนุสติ สำหรับตักเตือนใจไม่ให้ประมาท เร่งขวนขวายปฏิบัติ ประกอบหน้าที่ คุณงามความดีให้ชีวิตมีประโยชน์ มีคุณค่า
ขั้นที่ 3 คือให้รู้เท่าทันความตาย ซึ่งมีคติเนื่องอยู่ในธรรมดา จะได้มีชีวิตที่ปราศจากความทุกข์ ไม่ถูกบีบคั้นด้วยความรู้สึกหวาดหวั่นพรั่นกลัวต่อความพลัดพรากเป็นต้น มีใจปลอดโปร่งโล่งสบาย และเป็นอยู่ด้วยปัญญาที่กระทำการไปตามเหตุผล ด้วยความรู้เท่าทันเหตุปัจจัย
เรื่องท่าทีปฏิบัติเช่นนี้ มิใช่เฉพาะต่อความตายเท่านั้น แม้ในเรื่องทั่ว ๆ ไป มนุษย์ก็จะปฏิบัติด้วยท่าที 3 ประการเหล่านี้ แต่ข้อสังเกตที่น่าจะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ ในประการที่ 2 ซึ่งในที่นี้กล่าวถึงคำสอนในทางพระศาสนา ว่าให้มนุษย์ขวนขวายเร่งกระทำการต่าง ๆ โดยนำเอาการระลึกถึงความตายนั้นมาเป็นเครื่องเร่งเร้า
มนุษย์ทั่วไป ในการดำเนินชีวิตประจำวันนั้น ก็อาศัยสิ่งต่าง ๆ เป็นเครื่องเร่งเร้าตัวเองในการกระทำต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ว่าเครื่องเร่งเร้าของมนุษย์นั้นมิใช่เป็นเรื่องคุณธรรมหรืออนุสติ อย่างเช่นในทางพระพุทธศาสนาสอนไว้ หรือมีบ้างก็ปนกันไปกับเครื่องเร้าอย่างอื่น
เครื่องเร้าอย่างอื่นที่มีอยู่มาก เป็นไปโดยปกติธรรมดานี้มีอะไร เครื่องเร่งเร้าโดยทั่วไปนั้นก็ได้แก่สิ่งบีบคั้น คือความทุกข์และกิเลสที่อยู่ภายในจิตใจ คือมนุษย์นั้น ที่จะกระทำการต่าง ๆ มีความพยายามอะไรโดยมากนั้น ต้องมีเครื่องเร่งเร้าขึ้นมา แต่เครื่องเร่งเร้านั้นคือ เครื่องบีบคั้นนั้นเอง คือมนุษย์ถูกบีบคั้นก็ดิ้นรนขวนขวายทำการต่าง ๆ โดยมากไม่สามารถกระทำการต่าง ๆ เพียงด้วยความรู้ความเข้าใจ ด้วยปัญญารู้เหตุรู้ผลเท่านั้น แต่ต้องอาศัยสิ่งบีบคั้นเข้ามาเช่น มีความกลัว หรือมีปัญหาเข้ามาเร่งรัดตนเอง โดยเฉพาะก็คือเรื่องกิเลสภายในจิตใจ กิเลสก็คือความโลภ ความอยากได้ ก็เป็นเครื่องเร่งเร้าบีบคั้นในใจให้กระทำการต่าง ๆ หรือเพราะโทสะ ความโกรธ ความชิงชัง ความต้องการทำลาย ความขัดเคือง ความขัดแย้งอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นเหตุเร่งเร้าบีบคั้นในใจ ให้กระทำการเพียรพยายามดิ้นรนขวนขวาย และโมหะ แสดงออกมาในรูปของความกลัว ความหวาดระแวงเป็นต้น ก็เป็นเครื่องบีบคั้น ทำให้ดิ้นรนขวนขวายทำการต่าง ๆ
ที่มา : เมื่อธรรมดามาถึง รู้ให้ทัน และทำให้ถูกต้อง โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ภาพ : www.pexels.com
บทความน่าสนใจ
คนไข้ลาว เงินหมด คิดกลับไปตาย บ้านเกิด หมอไทย ช่วยกันลงขันยื้อชีวิตไว้ได้
บทเรียนจาก พลทหาร เดนตาย ลาซาร์ ปองตีเซลลี
สัจธรรมชีวิต ให้คิดถึงความตาย…จากใบโพธิ์ที่ปลิดปลิว
หนูน้อยกตัญญู สู้ชีวิต ตัวเองป่วยเป็นมะเร็ง ต้องคอยดูแลตายายเพียงลำพัง
ความตาย และ ผี ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างที่คิด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี