“เธอ” เกิดในนามความเจริญเสรี
โลกของเธอมีเสียงดอกไม้บาน
แต่หัวใจของเธอได้ยินเสียงร่ำเรียกขาน
ณ อีกซีกโลกไม่เคยมีดอกไม้บาน…
มีเพียงเสียงแห่งความทุกข์ทรมานที่เธอไม่อาจทนฟังอย่างดูดาย
ขอมอบบทกวีนี้แด่ ฟาราห์ นอช (Farah Nosh) ช่างภาพสารคดีที่มีดีทั้งชั้นเชิงการถ่ายภาพและวิธีการเลือกนําเสนอข้อมูล
แม้จะถือสัญชาติแคนาดา แต่นอชมีเชื้อสายอิรักด้วยเช่นกัน นอชเรียนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาภูมิศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย จากนั้นเธอศึกษาต่อด้านการถ่ายภาพจากสถาบัน Western Academy of Photography นอชได้รับรางวัลภาพสื่อดีเด่นหลายรางวัลด้วยกัน ผลงานการันตีความสามารถอันมีอยู่มากมาย ทําให้นอชมีโอกาสได้ทํางานที่มั่นคงและมีอนาคตที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ
แต่ท่ามกลางบรรยากาศของความสําเร็จ คล้ายกับว่านอชได้ยินเสียงที่ไม่น่าปรารถนาดังมาจากดินแดนแสนไกล…เสียงคาร์บอมบ์ที่อิรัก…เสียงระเบิดพลีชีพที่เลบานอน…เสียงกองกําลังไม่ทราบฝ่ายถล่มฉนวนกาซา…เสียงปืนกลที่ทําเอาอัฟกานิสถานระส่ำระสาย
ช่างภาพฝีมือดีอย่างนอชจะนิ่งดูดายได้อย่างไร
สามเดือนหลังจากจบการศึกษา นอชแบกกระเป๋าเดินทางตรงไปยังใจกลางกรุงแบกแดด ด้วยหวังว่าแสงแฟลชจากกล้องคู่ใจของเธอจะช่วยให้จิตใจของผู้คนที่มืดบอดเพราะสงครามสว่างขึ้นมาบ้าง
ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการนําโดยนายซัดดัม ฮุสเซ็น ผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ปกครองที่โหดร้าย รุนแรง และไร้เหตุผลที่สุด นอชเป็นหนึ่งในบรรดาช่างภาพเพียงไม่กี่คนที่ทํางานอยู่ที่นั่นในฐานะช่างภาพอิสระชาวตะวันตกเป็นเวลานานเกือบหนึ่งปี แม้จะเก็บภาพได้เพียงพอแล้ว แต่ทว่านอชก็ยังเดินทางกลับไปที่นั่นบ่อยครั้ง
ตราบใดที่ยังไม่มีความสุขสงบ ตราบนั้นภารกิจของช่างภาพลูกครึ่งอิรัก-แคนาดาคนนี้ก็ยังไม่จบสิ้น
จริง ๆ แล้วนอชไม่เคยพบญาติพี่น้องชาวอิรักของเธอมาก่อน กระทั่งเกิดการสู้รบระหว่างอิรักและกองทัพอเมริกาในปี 2003 นอชจึงตัดสินใจทิ้งงานหนังสือพิมพ์ที่กําลังไปได้สวยเพื่อไปทํางานภายใต้การคุมเข้มของทางการอิรัก เธอใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวในบ้านหลังเล็กทางตะวันตกของกรุงแบกแดด เพื่อเก็บภาพผู้บาดเจ็บจากการสู้รบโจมตี ฝุ่นควันและสะเก็ดระเบิดที่เกิดจากการห้ำหั่นทําลายล้าง
ไม่เพียงเท่านั้น ช่างภาพสาวคนนี้ยังเข้าไปทํางานในดินแดนที่มีปัญหาสู้รบแทบทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นเลบานอน เขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และซีเรีย
ทั้งนี้ทั้งนั้น ที่นอชต้องทํางานเสี่ยงชีวิตในดินแดนอันตรายเหล่านี้ ก็เพื่อต้องการตีแผ่ความโหดร้ายของสงครามให้ผู้คนในทุกมุมโลกได้เห็น ได้รับรู้ และได้เข้าใจ
ภาพถ่ายของนอชได้รับความสนใจจากสังคมโลกเป็นอย่างมาก หลายต่อหลายภาพได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสารระดับโลกอย่าง TIME, The New York Times และ American Photo
ภาพที่นอชถ่ายสื่อลึกถึงอารมณ์ความรู้สึก บอกเล่าเรื่องราวแทนถ้อยคํานับร้อยนับพัน นัยน์ตาของชาวอิรัก ชาวเลบานอน ชาวอัฟกานิสถานแต่ละคนที่เธอบันทึกภาพมานั้น แม้จะมีสีสันแตกต่าง บ้างเป็นสีฟ้าน้ำทะเล บ้างเป็นสีดํา บ้างเป็นสีน้ำตาล แต่ทว่านัยน์ตาแต่ละคู่สามารถสื่ออารมณ์ที่บาดเจ็บจากสงครามได้บาดลึกไม่แพ้กัน
ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ในยามที่เจ็บปวดรวดร้าว ดวงตาไม่ว่าสีใดก็สื่อความรันทดท้อออกมาได้ร้าวลึกไม่ต่างกัน
อาจจะเป็นภาพใดภาพหนึ่งหรือทุก ๆ ภาพของช่างภาพผู้ทุ่มเทเพื่อเพื่อนมนุษย์อย่างฟาราห์ นอช ที่บอกแก่ผู้คนบนโลกเช่นนี้
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง Isaraporn_B
ภาพ www.farahnosh.com, Obakki Foundation, UBC Graduate School of Journalism – University of British Columbia, @farahnoshphotographs
บทความน่าสนใจ
ท่านติช นัท ฮันห์ ชีวิตเพื่อสันติภาพ
จากทาสกามไอเอส และคุณหมอเยียวยาเหยื่อถูกข่มขืน สู่ รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ