คุกจำลอง

“คุกจำลอง” เมื่อคนดีๆ เปลี่ยนเป็นปีศาจร้ายในชั่วข้ามคืน

คุณคิดว่าตัวเองจะสามารถทำร้ายคนอื่นอย่างเลือดเย็นได้หรือไม่

ปี 1971 ดร.ฟิลิป ซิมบาร์โด (Philip Zimbardo) อาจารย์หนุ่มดาวรุ่งแห่งภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ต้องการเสาะหาว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการทำทารุณกรรมในเรือนจำ เขาและทีมงานจึงได้ดัดแปลงพื้นที่ชั้นล่างของตึกคณะจิตวิทยาให้เป็นห้องขัง

คุกจำลอง

อาสาสมัครที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 24 คนมีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน คือ เป็นนักศึกษาเพศชาย ผิวขาว มาจากครอบครัวฐานะปานกลาง สุขภาพแข็งแรง และมีประวัติขาวสะอาด หลังการคัดเลือก ดร.ซิมบาร์โดได้ให้อาสาสมัครโยนเหรียญเพื่อแบ่งกลุ่มเป็นผู้คุมกับนักโทษ

เช้าวันอาทิตย์ที่เงียบสงบถูกทำลายลงด้วยเสียงไซเรนที่ดังจนแสบแก้วหู ตำรวจจากโรงพักเมืองแพโลแอลโต รัฐแคลิฟอร์เนีย บุกเข้าจับตัวเด็กหนุ่มที่เป็นนักโทษถึงบ้านพัก ตำรวจแต่ละนายแสดงได้สมบทบาท มีการสั่งให้เด็กหนุ่มแยกขา แนบหน้าติดกับรถเพื่อค้นอาวุธและใส่กุญแจมือ หลังจากนั้นจึงนำตัวไปฝากขังที่โรงพัก พวกเขาถูกแจ้งข้อหา พิมพ์ลายนิ้วมือ และอื่น ๆ ก่อนที่จะถูกปิดตาและย้ายไปอยู่ที่ “คุกจำลอง”

คุกจำลอง

ดร.ซิมบาร์โดมีที่ปรึกษาที่เคยใช้ชีวิตหลังลูกกรงมานานกว่า 17 ปีคอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพจิตใจของนักโทษ และแนะนำวิธีลัดที่จะทำให้อาสาสมัครรู้สึกว่าพวกเขาเป็นนักโทษจริง ๆ เช่น ให้สวมหมวกคลุมผมที่ทำจากถุงน่องไนลอน ให้ใส่โซ่ตรวนขนาดใหญ่ที่ข้อเท้าขวาตลอดเวลา และเรียกนักโทษด้วยหมายเลข ฯลฯ

ส่วนผู้คุมได้รับคำสั่งว่า สามารถทำอะไรก็ได้ในขอบเขตของกฎหมายเพื่อรักษาระเบียบ ผู้คุมจะสวมชุดฟอร์มสีกากี ห้อยนกหวีดที่คอ มีกระบองเป็นอาวุธ และสวมแว่นตาดำ

คุกจำลอง

สถานการณ์ในคุกจำลองทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นลำดับ เมื่อนักโทษก่อการประท้วงในวันที่สอง ฝ่ายผู้คุ้มก็นำมาตรการการให้รางวัลและการลงโทษมาใช้ กล่าวคือ ถ้านักโทษเชื่อฟังก็จะได้รับการดูแลตามปกติ แต่ถ้าไม่เชื่อฟังก็จะถูกริบที่นอนและผ้าห่ม ต้องนอนกับพื้นเย็น ๆ ให้อดอาหาร ไม่ได้รับอนุญาตให้ไปเข้าห้องน้ำ หรือไม่ให้นำกระโถนไปเททิ้ง จนไปถึงการทำตามคำสั่งที่กดขี่เยี่ยงทาส เช่น สั่งให้ล้างโถชักโครกด้วยมือเปล่า สั่งให้วิดพื้นตามใจชอบ ฯลฯ

เพียงไม่ถึง 36 ชั่วโมง อาสาสมัครคนหนึ่งก็ประสาทเสียจนต้องออกจากการทดลอง เมื่อถึงวันที่สี่ ดร.ซิมบาร์โดเชิญบาทหลวงรูปหนึ่งมาพูดคุยกับนักโทษทีละคนเพื่อประเมินความสมจริง

นักโทษส่วนใหญ่แนะนำตัวด้วยหมายเลข และเมื่อบาทหลวงถามว่า ““ลูกเอ๋ย ลูกจะทำอะไรเมื่อออกจากที่นี่”” ทุกคนมีสีหน้างุนงงและบอกว่า ทางเดียวที่พวกเขาจะออกไปได้คือต้องให้ทนายช่วยเหลือ ในขณะที่บาทหลวงก็รับปากคำขอร้องทุกข้อประหนึ่งว่ากำลังพูดกับนักโทษจริง ๆ

ดร.ซิมบาร์โดสรุปว่า ถึงตอนนี้ทุกคนไม่ได้ “”เล่นตามบท”อีกต่อไป” แต่ได้ยอมรับอัตลักษณ์ใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว แม้แต่ตัวเขาเองที่เล่นบท “”พัศดี”” ก็ไม่ได้รับการยกเว้น

ดร.ซิมบาร์โดตัดสินใจยุติการทดลองในวันที่หก จากเดิมที่วางไว้สองอาทิตย์ ด้วยเหตุผลสำคัญสองข้อ ข้อแรก ดร.ซิมบาร์โดและทีมงานรู้ว่า ฝ่ายผู้คุมกลั่นแกล้งนักโทษในยามวิกาลเพราะคิดว่าไม่มีใครเห็น (พวกเขาคิดว่ากล้องวิดีโอปิดอยู่) และข้อสอง เพราะคริสทินา แมสแลช แฟนสาว ยื่นคำขาดว่า ““ต้องเลิกเดี๋ยวนี้”” หลังจากที่เธอได้เห็นสภาพบอบช้ำของนักโทษจากวิดีโอ

ดร.ซิมบาร์โดตั้งข้อสังเกตว่า มีคนได้ดูวิดีโอดังกล่าวราว 50 คน แต่คริสทินาเป็นคนเดียวที่ขอให้หยุดการทดลอง หรือจะเป็นเพราะว่าลึก ๆ แล้วมนุษย์รู้สึกชอบใจเมื่อได้เห็นคนอื่นทุกข์ทรมาน

แม้ว่าการทดลองครั้งนี้จะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือ แต่ ดร.ซิมบาร์โดก็ใช้เวลาค้นคว้ากว่า 35 ปี จนสามารถเขียนออกมาเป็นทฤษฎี “”ลูซิเฟอร์*เอฟเฟ็คท์”” (The Lucifer Effect) ที่บอกว่า ใคร ๆ ก็เปลี่ยนเป็นปีศาจร้ายได้ในชั่วข้ามคืน ถ้าหากได้รับการกระตุ้นจากสภาพแวดล้อมมากพอ

และถ้าผลงานชิ้นนี้จะมีข้อดีอยู่บ้าง ดร.ซิมบาร์โดอยากให้มนุษย์ระวังตัวให้ดี…อย่าหลงระเริงในอำนาจของตนจนทำร้ายคนอื่นโดยไม่รู้ตัว

(คุกจำลอง)

* ลูซิเฟอร์ (Lucifer) เป็นเทวดาซึ่งเป็นลูกรักของพระเจ้า แต่ด้วยความอิจฉาเพราะคิดว่าพระเจ้าทรงรักมนุษย์มากกว่า จู่ ๆ ลูซิเฟอร์ก็ลุกขึ้นมาก่อม็อบต่อต้านพระเจ้า จนถูกสาปให้ลงมาอยู่ในเมืองนรกแทน

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  Violet

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.