แคโรลีน เคซีย์ “ไม่มีอีกแล้ว… ช้างตัวใหญ่ที่อยู่ในห้อง”
ยังจำได้ไหม สิ่งที่คุณอยากทำมากที่สุดในวันครบรอบอายุ 17 ปีคืออะไร
สำหรับหญิงสาวชาวไอริชที่มีชื่อว่า แคโรลีน เคซีย์ (Caroline Casey) ผู้ชื่นชอบความเร็ว หลงใหลการผจญภัย และรักความอิสระเป็นชีวิตจิตใจ สิ่งที่เธอตั้งตารอมากที่สุดเมื่ออายุ 17 ปีคือ การไปสอบใบขับขี่เพื่อที่จะได้ขับรถแข่ง แต่แล้วเธอกลับได้รับของขวัญวันเกิดที่ไม่คาดหมายจากจักษุแพทย์ นั่นคือความจริงที่ว่า แคโรลีนมีความผิดปกติทางสายตามาแต่กำเนิด ซึ่งเรียกกันว่าโรคตาเผือก ทำให้เธอมองเห็นได้ไม่ชัด และจะเห็นภายในระยะที่จำกัดไม่เกินหนึ่งช่วงแขนเท่านั้น สิ่งนี้ทำให้แคโรลีนจัดเป็นคนตาบอดตามกฎหมายและไม่มีทางจะได้ขับรถแข่งอย่างที่เธอฝันไว้
ตลอด 17 ปีแคโรลีนไม่เคยรู้ความจริงเหล่านี้มาก่อน และเข้าใจว่าเธอมองเห็นแย่กว่าคนอื่นเพียงเล็กน้อย ด้วยพ่อแม่ไม่บอกความจริงเรื่องความพิการ และให้เธอเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ เธอไปโรงเรียนเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป วิ่งออกกำลังกายที่ถนนหน้าบ้านในยามเช้า แม้กระทั่งหัดเล่นเรือใบและเข้าใจการบังคับทิศทางจากสัมผัสของลมที่ใบหน้า
ตลอด 17 ปีแคโรลีนเชื่อว่าเธอสามารถทำทุกสิ่งที่เธอฝัน แม้กระทั่งเมื่อได้รู้ความจริงจากแพทย์แล้ว 11 ปีหลังจากนั้น แคโรลีนก็ยังคงลองทำงานแทบทุกอย่าง ตั้งแต่เป็นนักโบราณคดี หมอนวดกดจุด และคนสวน! เธอเข้าเรียนต่อในโรงเรียนธุรกิจชื่อดัง และทำงานเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทยักษ์ใหญ่ในอเมริกาด้วยวัยเพียง 28 ปี
ในช่วงนาทีทองของชีวิต แคโรลีนโหมทำงานอย่างหนักท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจอย่างสูง โดยไม่มีใครสงสัยในข้อจำกัดของตัวเธอ จนกระทั่งวันที่โลกของแคโรลีนมืดสนิทลง เธอรู้สึกเจ็บปวดที่ต้องสารภาพกับเพื่อนร่วมงานว่า เธอมองไม่เห็นและต้องการความช่วยเหลือ แม้แต่แพทย์ก็ยังแนะนำให้เธอเลิกล้มความพยายามที่จะสู้กับความพิการซึ่งเป็น “ข้อจำกัด” ในตัวเธอ
ในวันนั้น แม้แต่ก้อนหินบนทางเดินกลับบ้านที่แคโรลีนเตือนตัวเองให้ก้าวข้ามไปได้ทุกครั้ง เธอก็ยังพลาดสะดุดล้มลง เธอสูญเสียความเชื่อมั่นทั้งหมดที่พาเธอมาไกลถึงจุดนี้ แต่แล้วเธอก็ได้สติและนึกถึงหนังสือเล่มโปรด TRAVELS on my ELEPHANT เธอฉุกคิดได้ว่า ความฝันหนึ่งในวัยเด็กของเธอคือการเป็นในสิ่งที่แตกต่างอย่างเมาคลีลูกหมาป่า เธอจึงตัดสินใจไปเป็นควาญช้างที่อินเดีย
แคโรลีนได้เจอ “คานจิ” ช้างอินเดียสูงเจ็ดฟุตครึ่งและเดินทางไปทั่วอินเดียด้วยกันกว่า 1,000 กิโลเมตร และนำเงินที่ได้มามอบให้คนพิการ “คานจิ” เป็นจุดเริ่มต้นของความเชื่อมั่นและแรงบันดาลใจครั้งใหม่ของแคโรลีน และเป็นที่มาของชื่อองค์กรไม่หวังผลกำไรที่เธอริเริ่มตั้งขึ้น เพื่อรณรงค์ให้คนทั่วโลกมองคนพิการในมุมใหม่ ไม่ใช่เป็นคนที่น่าสงสาร มีปมด้อยเหมือนช้างตัวใหญ่ที่ยืนอยู่ในห้อง แต่ไม่มีคนกล้าพูดถึง (Elephant in the Room) อีกต่อไป และเป็นคนที่มีความเสมอภาคเช่นเดียวกับคนทั่วไปในสังคม
ณ เวลานี้ สิ่งที่แคโรลีน เคซีย์ ต้องการที่สุดคงไม่ใช่การมองเห็นที่ปกติ แต่เป็นวิสัยทัศน์ที่แตกต่างซึ่งมาจากความเชื่ออย่างที่เธอมีอยู่เต็มหัวใจ
สำหรับเธอแล้ว เท่านี้ก็เพียงพอที่จะพาเธอก้าวข้าม “ข้อจำกัด” และพบกับ “อิสระ” ที่เธอใฝ่ฝันอย่างแท้จริง
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง Barefoot
ภาพ Mallen Baker, TED Talks, Ashoka Ireland
บทความน่าสนใจ
ดนตรีบำบัดช้าง นักเปียโนอังกฤษบรรเลงเพลงกล่อมช้างตาบอดที่เมืองกาญฯ