“ฉันคือ มาลาลา ยูซาฟไซ” สาวน้อยผู้หาญกล้าท้าทายกลุ่มตาลีบัน
มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) คือเด็กสาววัย 15 ปีชาวปากีสถานที่ถูกกลุ่มตาลีบันจ่อยิงสังหารเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ปี ค.ศ. 2012 เนื่องจากความพยายามในการรณรงค์ด้านสิทธิการศึกษาของเด็กผู้หญิงในประเทศของเธอ
ในวันเกิดเหตุ ขณะที่มาลาลากำลังนั่งรถโรงเรียนกลับบ้านพร้อมกับเพื่อน ๆ ตามปกติ มือปืนคนหนึ่งก็บุกขึ้นมาบนรถและตะโกนถามว่า “ใครคือมาลาลา…มาลาลาอยู่ไหน ถ้าไม่บอกจะยิงทุกคนที่อยู่บนรถ”
อันที่จริงการหาตัวมาลาลาบนรถที่มีพื้นที่จำกัดเป็นเรื่องง่ายดายมาก เพราะเธอเป็นคนเดียวที่ไม่สวมผ้าคลุมหน้า และทันทีที่มาลาลาพูดว่า “ฉันคือมาลาลา” มือปืนก็กราดกระสุนใส่เธอทันที
กระสุนพุ่งเข้าสู่ร่างกายของมาลาลาทางด้านซ้ายของศีรษะ ทะลุผ่านลำคอ และสุดท้ายพลังการทำลายล้างก็สิ้นสุดลงที่บริเวณไหล่ แม้บาดแผลจะสาหัสมาก แต่ทว่ามาลาลาก็ไม่ได้ตายอย่างที่ผู้ลอบสังหารใจโหดต้องการ
หนึ่งเดือนต่อมา คณะแพทย์ผู้ทำการรักษาเปิดเผยว่า มาลาลาสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว คณะแพทย์มีความหวังว่าเธอจะไม่ได้รับอันตรายจนร่างกายเกิดความเสียหายถาวรใด ๆ ข่าวนี้ทำให้คนทั่วโลกที่สวดมนต์อธิษฐานเอาใจช่วยให้มาลาลาหายป่วยรู้สึกสบายใจขึ้น เพราะเด็กสาวคนนี้ไม่ได้เป็นเพียงเหยื่อที่น่าสงสารเท่านั้น แต่ยังเป็นความหวังอันยิ่งใหญ่ของประเทศของเธอเอง และเป็นความหวังของคนทั้งโลก
มาลาลาเกิดและเติบโตในหุบเขาสวัต เมืองมิงโกรา แคว้นไคเบอร์ ปัคห์ตุนควา ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของปากีสถานเพียงแค่ 247 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ทว่าภูมิประเทศที่งดงามแห่งนี้กลับกลายเป็นเขตที่ตกอยู่ใต้อำนาจทางทหารของกลุ่มตาลีบันตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 2008
ทันทีที่กลุ่มตาลีบันเข้ามาควบคุมหุบเขาสวัต หัวหน้ากลุ่มได้ออกกฎที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงหลายอย่าง เช่น ห้ามเด็กผู้หญิงเรียนหนังสือ ห้ามผู้หญิงออกไปทำงาน แม้แต่จะออกจากบ้านเพื่อไปตลาดก็ไม่ได้ โรงเรียนหลายแห่งถูกปิดถูกทำลาย ส่วนคนที่ต่อต้านก็มักถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม
พ่อของมาลาลาเป็นนักการศึกษาที่กล้าหาญ เขาเป็นกวี เป็นเจ้าของโรงเรียน เป็นครู และเป็นผู้นำการประท้วงการปกครองที่ไร้เหตุผลของตาลีบันอยู่บ่อยครั้ง มาลาลาซึ่งเป็นลูกสาวคนโตได้รับอิทธิพลจากผู้เป็นพ่อ เธอจึงเป็นเด็กที่มีจิตใจรักความยุติธรรม และมีความกล้าหาญยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง
ในวัย 11 – 12 ปี มาลาลาได้ใช้นามแฝงเขียนเว็บบล็อกรายงานสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเธอผ่านเว็บไซต์ของบีบีซี สำนักข่าวชื่อดังของอังกฤษ นักข่าวตัวน้อยผู้นี้ทำให้คนภายนอกรับรู้ถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตของผู้คนในหุบเขาสวัต ความหวงแหนแผ่นดินเกิดของคนที่นั่น และความอยากเรียนหนังสือของเธอ
“หลายครั้งที่ฉันจินตนาการถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหากฉันถูกจับ แต่ถึงแม้ว่าพวกเขาจะบุกมาฆ่าฉัน ฉันก็จะบอกเขาอยู่นั่นเองว่าสิ่งที่เขาทำน่ะผิด เพราะการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเรา”
หลายสิบปีที่ผ่านมา มีเด็กผู้หญิงในเขตสงครามในปากีสถานและอัฟกานิสถานจำนวนมากต้องเสี่ยงชีวิตเพียงเพื่อจะเรียนหนังสือ…คงไม่ผิดหากจะบอกว่า แท้จริงแล้วพวกเธอเหล่านั้นคือมาลาลา
อันที่จริงมาลาลาไม่ได้เรียกร้องเพื่อตัวเธอเองเท่านั้น แต่เพื่อ “มาลาลา” คนอื่น ๆ ด้วย และแม้ว่าปัญหาการกีดกันทางเพศจะไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไขได้ในเร็ววัน แต่ถ้าคนทั้งโลกช่วยกัน เราก็จะมี “มาลาลา” อีกนับร้อยนับพันที่ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง…
หากแต่เป็นความหวังของโลกอนาคต
***ในปี ค.ศ. 2014 มาลาลาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลที่อายุน้อยที่สุด ด้วยวัย 17 ปี
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง Violet
ภาพ feminisminindia.com, unitedtalent.com, Pinterest
บทความน่าสนใจ
หนูน้อยกตัญญูสู้ชีวิต ตัวเองป่วยเป็นมะเร็ง ต้องคอยดูแลตายายเพียงลำพัง
หนูน้อยส่งจดหมายถึงพ่อบนสวรรค์ ไปรษณีย์อังกฤษตอบจดหมายกลับมาอย่างน่ารัก