พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙

พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ ผู้ทรงนำสิ่งที่รักมาช่วยพัฒนาประเทศ

พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ ผู้ทรงนำสิ่งที่รักมาช่วยพัฒนาประเทศ – ภาพที่เราเห็นกันจนคุ้นตาเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎร หรือเสด็จไปยังที่ใดก็ตาม พระองค์จะสะพายกล้องไว้ที่พระศอตลอดเวลา ซึ่งการถ่ายภาพเป็นสิ่งที่พระองค์รัก และที่สำคัญพระองค์ทรงนำสิ่งที่รักมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเริ่มการถ่ายภาพตั้งแต่พระชนมายุ 8 พรรษา สมเด็จพระราชชนนีทรงซื้อกล้องถ่ายภาพพระราชทานให้ พระองค์ทรงศึกษาวิธีการถ่ายภาพด้วยพระองค์เอง และทรงถามจากผู้รู้ ซึ่งในอดีตอุปกรณ์การถ่ายภาพไม่ทันสมัย ยังไม่มีกล้องที่สามารถถ่ายภาพแบบอัตโนมัติได้ แต่พระองค์ก็ทรงศึกษาจนสามารถใช้กล้องได้อย่างชำนาญ

ช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงพระยศเป็นพระอนุชา ทรงทำหน้าที่เสมือนช่างภาพส่วนพระองค์ในขณะตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลกำลังทรงงานอีกด้วย

ครั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระองค์โปรดการถ่ายภาพสิ่งต่างๆ เป็นประจำ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์ปรากฏบนปกนิตยสารต่างๆ เสมอ เช่น วารสารแสตนดาร์ดของพระ    วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสด้วยพระอารมณ์ขันแก่คนใกล้ชิดว่า

“ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ฉันก็ยังมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์แสตนดาร์ด ได้เงินเดือน เดือนละ 100 บาท ตั้งหลายปีมาแล้ว จนบัดนี้ก็เห็นเขายังไม่ขึ้นเงินเดือนให้สักที เขาก็คงถวายไว้เดือนละ 100 บาท อยู่เรื่อยมา”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในบทนำหนังสือ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า

“ข้าพเจ้าได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถ่ายภาพ และเห็นภาพฝีพระหัตถ์ในสมุดเก็บภาพถ่าย ซึ่งจะทรงจัดภาพโดยมีหมายเลขประจำภาพ ในตอนแรกจะทรงทำด้วยพระองค์เอง ภายหลังจึงทรงสอนให้มหาดเล็กทำถวาย ภาพในสมุดมีหลายอย่าง เช่น ภาพลูกๆ ตั้งแต่แรกเกิดจนโตขึ้นเป็นระยะๆ ตัวข้าพเจ้าเองมีรับสั่งว่า ถ่ายภาพได้ยากมาก เพราะว่าซุกซน อยู่ไม่สุข นอกจากนั้นยังมีภาพสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระราชพิธี ภาพรามเกียรติ์ที่ระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภาพทิวทัศน์ หรือสิ่งที่ทรงพบเห็นในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในที่ต่างๆ มีทั้งภาพสถานที่ ภาพราษฎรที่มาเฝ้า ภาพธรรมชาติที่งดงาม”

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

ยิ้มรับเสด็จ

1.ภาพแนวจิตรศิลป์ คือ ภาพที่เน้นศิลปะการถ่ายภาพเป็นสำคัญ เป็นภาพที่สะท้อนความประทับใจของผู้ถ่ายภาพต่อสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า ซึ่งพระองค์ทรงถ่ายภาพแนวจิตรศิลป์ไว้มาก มีทั้งภาพบุคคล ภาพแนวเทียบนามธรรม และภาพความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งภาพบุคคลที่พระองค์ถ่าย เช่น ภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินาถในพระอิริยาบถต่างๆ หรือภาพของพสกนิกรที่ทรงพบระหว่างทาง เช่น ภาพที่ชื่อว่า ยิ้มรับเสด็จ เป็นภาพครึ่งตัวของชายชราหนวดเคราขาว โพกผ้าสีขาวบนศีรษะ สวมเสื้อเชิ้ตสีชมพูเปิดอก ฉากหลังสีดำสนิทเป็นสีตัดกันที่ทำให้ภาพชายชราโดดเด่นคมชัด ผิวเนื้อดำเป็นมันสะท้อนแสงเงาทำให้มีมิติที่ลึก ภาพจึงดูมีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รอยยิ้มใต้หนวด พร้อมทั้งดวงตาสุกใสเป็นประกายยิ้มรับกับรอยยิ้มที่ริมฝีปาก แสดงให้เห็นอาการดีใจ ความรู้สึกปิตียินดีที่ได้เฝ้ารับเสด็จ ขณะเดียวกันจะมองเห็นความอ่อนน้อม และความจงรักภักดีอย่างที่สุด

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์

2.ภาพแสดงพระราชปณิธานในการพัฒนาประเทศ คือ ภาพที่พระองค์ทรงบันทึกเรื่องราวต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบพระราชดำริในการพัฒนาด้านการเกษตร การคมนาคม การชลประทาน ฯลฯ อีกทั้งทรงถ่ายภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อศึกษาดูว่า โครงการไหนมีความเจริญก้าวหน้า หรือยังล้าหลังเพียงใด

การถ่ายภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีหลายครั้งที่เป็นภาพถ่ายแบบฉับพลัน ถ่ายได้ครั้งเดียว เช่น ภาพที่ทรงถ่ายในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ และทรงเยี่ยมราษฎรทั่วราชอาณาจักร ซึ่งการถ่ายภาพของพระองค์แม้จะเป็นการถ่ายภาพแบบฉับพลัน แต่ด้วยพระปรีชาสามารถ ทำให้ภาพเหล่านี้มีความชัดเจนและงดงาม หรือแม้จะเป็นภาพที่ทรงถ่ายเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ก็เป็นภาพที่มีการจัดองค์ประกอบทางศิลปะอย่างสมบูรณ์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงถ่ายภาพเพื่อบันทึกความจำ และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ของพสกนิกรไทย ดังพระราชดำรัสว่า

 “ศิลปะ เป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาประเทศได้อีกทางหนึ่ง”

 

เรื่อง: อุรัชษฎา ขุนขำ ภาพ:http://oknation.nationtv.tv, fotoinfomag.com

ขอบคุณข้อมูลจาก:

หนังสืออัครศิลปินแห่งแผ่นดินสยาม เรียบเรียงโดย ศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์

หนังสือในหลวงของปวงไทย เขียนโดย โชติ ศรีสุวรรณ

Secret Magazine (Thailand)

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.