วิศุทธิ์

เรียนรู้ชีวิตผ่าน การ์ตูนของ….วิศุทธิ์ พรนิมิตร

เรียนรู้ชีวิตผ่านการ์ตูนของ…. วิศุทธิ์ พรนิมิตร

เรียนรู้ชีวิตผ่านการ์ตูนของ….วิศุทธิ์ พรนิมิตร

สำหรับคนทั่วไป การวาดภาพอาจเป็นเพียงงานอดิเรกเพื่อผ่อนคลายแต่สำหรับผู้ชายคนนี้ การวาดภาพคือการบันทึกเรื่องราวต่างๆด้วยความรู้สึกและการเรียนรู้ตัวตนผ่านลายเส้น

เมื่อพูดถึงนักวาดการ์ตูนชื่อดังแห่งยุคคงไม่มีใครไม่รู้จัก ตั้ม - วิศุทธิ์ พรนิมิตรผู้วาดการ์ตูนที่มีลายเส้นเป็นเอกลักษณ์และได้รับความนิยมแพร่หลายอย่าง “น้องมะม่วง”แต่ไม่มีความสำเร็จใดที่ไม่ต้องใช้ความพยายาม  คุณตั้มเล่าเรื่องราวบนเส้นทางนักวาดการ์ตูนที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบว่า

“ผมชอบอ่านการ์ตูนมาตั้งแต่เด็กจากนั้นก็เริ่มวาดตาม แต่วาดเท่าไรก็ไม่เหมือนเขา เลยเปลี่ยนมาวาดการ์ตูนที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะวาดเกี่ยวกับเรื่องราวในชีวิตประจำวัน คล้ายกับการเขียนบันทึก แต่ผมคิดว่าการบันทึกเป็นเรื่องราวด้วยการวาดภาพจะทำให้เราจดจำความรู้สึกขณะนั้นได้ดีกว่า”

“นักวาดการ์ตูนในดวงใจของผมในวัยเด็กคือ AdachiMitsuru ผลงานของเขาแตกต่างจากนักวาดการ์ตูนทั่วไปที่มักจะให้ตัวละครแต่ละตัวต่อสู้แข่งขันแย่งชิงกันเพื่อเป็นที่ 1 แต่การ์ตูนของAdachi จะสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงที่ว่า คนเราไม่จำเป็นต้องชนะเสมอไป อาจมีผิดพลั้ง พลาดหวังบ้าง แต่ก็ยังมีความสุขได้เสมอ เพราะฉะนั้นการ์ตูนของผมจึงเป็นการ์ตูนที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตในแง่มุมต่างๆเหมือนงานของนักวาดท่านนี้เช่นกัน

“จากนั้นผมก็เข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่คณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ก็เรียนไม่เก่ง ทำให้ต้องเรียนซ้ำชั้นถึง 2 ปี ซึ่งช่วงที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยนี้ ผมก็เริ่มเขียนการ์ตูนแบบจริงจังแล้ว”

“ผลงานแรกของผมปรากฏอยู่ในนิตยสาร Katch ของพี่บอย โกสิยพงษ์เนื่องจากผมเป็นแฟนเพลงของพี่เขาอยู่แล้วแต่คิดว่าหากไปด้านดนตรีคงไม่รุ่งเท่าไรพอพี่เขามาออกนิตยสารที่มีการ์ตูนด้วยผมจึงลองส่งผลงานเข้าไปและได้ตีพิมพ์ดังที่หวังไว้”

“หลังจากนั้นประมาณ 1 ปี ผมก็ได้รับการติดต่อให้วาดการ์ตูนให้กับนิตยสาร a dayซึ่งปัจจุบันก็ยังวาดให้อยู่อย่างต่อเนื่อง”  จากนักวาดที่วาดภาพให้นิตยสารกลายมาเป็นนักวาดที่มีผลงานเป็นรูปเล่มของตัวเองภายใต้ชื่อ Hesheit ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2542 โดยสุดสัปดาห์สำนักพิมพ์ ”

คลิกเลข 2 เพื่ออ่านหน้าถัดไป 

“ตัวการ์ตูนในเรื่องนี้มีลักษณะเป็นลายเส้นที่ดูยุ่งเหยิง เพราะขณะที่วาด ผมอายุได้ 23 ปี เป็นช่วงที่เกิดคำถามต่างๆมากมายในชีวิตว่าเหตุใดสิ่งต่าง ๆ จึงไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวังไว้ ทำให้เราเลือกที่จะสร้างสิ่งที่เราต้องการผ่านการ์ตูน เช่น คนนิสัยดีที่เข้าใจเราทุกอย่าง บางครั้งก็เป็นการระบายความรู้สึกโกรธ หรือไม่พอใจผ่านเรื่องราวในการ์ตูน เช่น เมื่อรู้สึกไม่พอใจเราก็ให้ตัวการ์ตูนที่เราวาดต่อยกัน จากนั้นในช่องถัดไป คนที่ถูกต่อยก็จะต้องโกรธทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งบานปลาย”

“การวาดเช่นนี้ นอกจากจะทำให้ผมได้ระบายอารมณ์ขุ่นมัวในชีวิตจริงแล้ว ยังทำให้ผมเรียนรู้ว่า บางอารมณ์ความรู้สึกก็ไม่จำเป็นต่อชีวิตเราเลย เช่น อารมณ์โกรธ หรือความต้องการสิ่งต่าง ๆ เหมือนคนอื่น จนท้ายที่สุด ลายเส้นของผมก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไป ดูสบายตาขึ้น และไม่สลับซับซ้อนเหมือนก่อนเพราะเราเรียนรู้ที่จะตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปจากชีวิต สุดท้ายกลายมาเป็นตัวการ์ตูนเด็กผู้หญิงที่ได้รับความนิยมอย่างมะม่วง”

นอกจากจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเมืองไทยแล้ว มะม่วงยังโด่งดังไกลไปถึงประเทศญี่ปุ่น โดยคุณตั้มเล่าว่า “หลังจากเรียนจบ ผมก็ยึดอาชีพนักวาดการ์ตูนเรื่อยมา โดยภายในระยะเวลา5 ปีผมมีผลงานหนังสือมากกว่า 10 เล่ม แต่แม่ของผมก็ยังไม่วายมองว่าอาชีพนักวาดการ์ตูนนั้นไม่ยั่งยืน เธอจึงพยายามบังคับให้ผมเรียนต่อ ซึ่งผมเลือกที่จะไปเรียนภาษาที่ประเทศญี่ปุ่น โดยให้เหตุผลว่าต้องการไปเรียนภาษา เพราะเรียนศิลปะทีไรก็ตกทุกทีจนเกิดคำถามว่า แท้จริงแล้วศิลปะคืออะไรทำไมอาจารย์ถึงบอกว่าเราไม่เก่ง ทั้งที่งานของเราก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ

“นอกเหนือจากการไปเรียนภาษา ผมยังได้เอาผลงานไปเผยแพร่ตามนิทรรศการต่าง ๆ ด้วย ซึ่งผลตอบรับที่ได้ก็ดีเกินคาดผมได้รับการติดต่อจากนักเขียนชื่อดังอย่างYoshimoto Banana ให้วาดภาพลงบนปกหนังสือ จากนั้นตัวการ์ตูนมะม่วงก็ได้รับความนิยมเรื่อยมา จนมีนิตยสารหลายฉบับติดต่อให้ผมวาดให้”

เรื่องราวของผู้ชายคนนี้เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า ความสำเร็จเป็นของผู้ที่มีความมุมานะ ยืนหยัดทำในสิ่งที่รักและไม่ยอมแพ้ต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่น 

เรื่องโดย : อิศรา  ราชตราชู

ภาพจาก : สรยุทธ พุ่มภักดี, mywarisa.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

เที่ยวเขาใหญ่ ไป พิพิธภัณฑ์ศิลปะ

Kamijn Store จากสัตว์เลี้ยงแสนรักสู่คาแร็คเตอร์สุดสร้างสรรค์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.