ปรับสมดุลธาตุทั้ง 4 จำเป็นอย่างไรกับชีวิตคนเรา
ชีวิตมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย เกิดขึ้นมาได้ ก็เพราะขบวนการของกรรมนำเอาวิญญาณมาเกิด เมื่อมีการเกิดขึ้น ก็มีลมหายใจ ซึ่งก็คือธาตุลม ปกติธาตุลมทำหน้าที่ควบคุมธาตุไฟ มีลมที่ไหน ไฟลุกที่นั่น ส่วนไฟก็ควบคุมธาตุน้ำ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากถึงประมาณ 70 % ในร่างกาย น้ำในร่างกายทำหน้าที่อะไร เมื่อลมมีจิตวิญญาณควบคุม ลมคุมไฟ ไฟก็คุมน้ำ ไฟช่วยเผาผลาญทำให้น้ำออกไป กลายเป็นน้ำเหงื่อ น้ำลาย ของเสีย ขับถ่ายทิ้งไป แต่มันยังมีน้ำดี น้ำเลือด น้ำหนอง ที่ต้องเอาไว้ทำประโยชน์ มนุษย์จึงต้องมีธาตุดินคือเนื้อหนังห่อหุ้มไม่ให้น้ำส่วนนี้สลายไป ทั้งหมดรวมกันนี้ เรียกว่า ธาตุทั้ง 4
โดยปกติแล้วธรรมชาติของสรรพสิ่ง สรรพชีวิต ล้วนมีองค์ประกอบของธาตุ 4 เป็นตัวขับเคลื่อนทั้งนั้น ในแต่ละดิน แต่ละน้ำ แต่ละลม แต่ละไฟ ก็ยังมีองค์ประกอบของเซลล์ต่างๆ มากมายมหาศาล เป็นหมื่นเป็นล้านชีวิต องค์ประกอบเหล่านี้บางทีก็มีเสียบ้าง ดีบ้าง พร่องบ้าง สมบูรณ์บ้าง สมดุลบ้าง ขาดสมดุลบ้าง ด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น ได้รับผลกระทบจากฤดูกาลที่เปลี่ยนไป การกินอาหารที่ผิดส่วน การดำรงชีวิตแบบผิดจากธรรมชาติ ฯลฯ ซึ่งเมื่อร่างกายเสียสมดุลก็จะก่อให้เกิดการเจ็บป่วย หน้าที่ของการมีชีวิตจึงต้องรักษามันให้คงไว้ซึ่งความดีและสมดุล รักษาไว้ซึ่งความไม่พร่องและถูกต้อง
การที่เราเพียรพยายามรักษาสมดุลของธาตุ 4 จึงต้องเริ่มต้นจากมีสติในการใคร่ครวญ พิจารณา กลั่นกรอง และวิเคราะห์ พินิจ พิจารณาว่า เวลานี้ร่างกายเราขาดธาตุอะไร เราต้องการเสริมธาตุอะไร เพื่อให้ร่างกายครบสมบูรณ์องค์ประกอบ เวลานี้ร่างกายเรามากไปด้วยธาตุอะไร เกินไปด้วยธาตุอะไร ต้องใช้ธาตุอะไรมาทำลายมัน เพื่อให้คงไว้ซึ่งสมดุลของมัน
และนี่คือ 4 ทางลัดที่ไม่ลับ ปรับสมดุลธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ง่ายสุด และเวิร์คสุด ที่อยากให้คน Secret ลองทำกัน
1. รับประทานอาหารและปรับสมดุลอาหารตามฤดูกาล
ตามหลักการแพทย์แผนตะวันออกได้บอกเอาไว้ว่า อาหารสามารถจำแนกได้ 2 หมวด คือ อาหารที่กินแล้วให้ผลเป็นฤทธิ์เย็น (หยิน) และอีกประเภทหนึ่งคือ อาหารที่กินแล้วให้ผลเป็นฤทธิ์ร้อน (หยาง) โดยอาหารฤทธิ์เย็น จะเป็นอาหารที่กินแล้วทำให้ร่างกายเราเกิดความเย็น มีข้อสังเกตง่าย ๆ คือ กินแล้วรู้สึกชุ่มคอ ไม่หิวน้ำ ขณะที่อาหารฤทธิ์ร้อน จะเป็นอาหารที่กินแล้วทำให้เราเกิดความร้อน ซึ่งมีข้อสังเกตง่ายๆ อีกเช่นกันคือ กินแล้วรู้สึกเผ็ดร้อนหรือรู้สึกหิวน้ำ
แนวทางในการกินอาหารเพื่อปรับสมดุล จึงควรเลือกบริโภคพืชผักให้เหมาะสมตามสภาพดินฟ้าอากาศในแต่ละฤดูกาล กล่าวคือฤดูร้อน เลือกอาหารรสเย็น จืด หรือขม เพื่อช่วยระงับความร้อน แก้ร้อนใน ฤดูฝนก็ปรับไปกินอาหารที่มีรสเผ็ดร้อนจากเครื่องเทศ และมีกลิ่นหอมเพื่อทำให้ธาตุลมเป็นปกติ ส่วนฤดูหนาวควรเลือกอาหารที่ให้ความอบอุ่น และมีความชุ่มชื้นพอควร ซึ่งจะว่าไปคนไทยสมัยก่อน มีวิธีปรับเปลี่ยนการกินอาหารไปตามฤดูกาลอยู่แล้ว โดยยึดเอาสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศเป็นปัจจัยในการกำหนดพฤติกรรมการกิน คนโบราณจะไม่กินอะไรซ้ำๆ กันตลอดทั้งปี อีกทั้งยังเน้นไปที่การกินพืชผักผลไม้ จึงทำให้มีสุขภาพแข็งแรง
แต่พอโลกเชื่อมกันใกล้ขึ้น คนไทยก็รับเอาวิถีการกินแบบฝรั่งมา ทั้งๆ ที่สภาพอากาศบ้านเราแตกต่างกับเขามาก สมดุลในร่างกายจึงพร่อง รวน ทางแก้จึงง่าย ก็แค่กลับไปกินอย่างที่ปูย่าตายายเราเคยกินยังไงล่ะ
2. ไม่นอนดึกเกิน 22.00 น. – 23.00 น.
เพราะเป็นช่วงที่ธาตุไฟกำลังส่งผลต่อร่างกายหลายด้าน เช่น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยสลาย และก่อให้เกิดการสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยให้ธาตุไฟอยู่ในภาวะสมดุล การนอนดึกจะก่อให้ธาตุไฟกำเริบ หรือการกินอาหารมากหรือกินในตอนดึกก็จะทำให้ธาตุไฟกำเริบได้ง่าย ยิ่งถ้าเป็นคนนอนฝันบ่อย หรือนอนหลับไม่สนิท ยิ่งส่งผลให้ระยะยาว มีอารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย ร่างกายทรุดโทรมเร็ว แล้วถ้ามีภาวะนี้เรื้อรัง นานวันก็จะยิ่งส่งผลให้การทำงานของธาตุไฟทำงานผิดปกติมากขึ้น ผลข้างเคียงคือการย่อยอาหารก็จะผิดจากเดิม เช่น ย่อยไม่ดี ท้องอืด หรือท้องผูกบ่อย ซึ่งเป็นบ่อเกิดให้น้ำหนักขึ้น อ้วนง่าย
3. ออกกำลังกาย
เพื่อช่วยให้อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้เคลื่อนไหว กระตุ้นให้เกิดการขับเหงื่อ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการทำงานของธาตุดิน และส่งผลต่อระบบของธาตุลมที่เกี่ยวข้องกับการไหลเวียน การทำงานของระบบประสาท การถ่ายเทความร้อน การขับของเสียต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งยังป้องกันอาการท้องผูก การยึดติดของข้อต่อ และการเกาะกุมของไขมันหรือพังผืด แค่ลุกขึ้นมาขยับเนื้อตัว สร้างเสริมนิสัยชอบออกกำลังกายไว้กับตัว
4. ทำสมาธิ เจริญวิปัสนา
เพื่อตามรู้ และเท่าทันอารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์เครียด โกรธ หงุดหงิด การฝึกสมาธิหรือหมั่นเจริญวิปัสนาเป็นประจำจะช่วยลดระดับอารมณ์ไม่ให้วูบวาบ หรือถึงวูบวาบก็ทันที่จะดับมันได้
ทั้ง 4 ทางนี้ หากรู้จักปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เราก็จะมีภาวะสมดุลธาตุ มีร่างกายที่เปี่ยมด้วยสมรรถนะ สมรรถภาพ จนกว่าจะถึง… วันครบอายุขัยแห่งเซลล์ทั้งหลายในกาย
เรื่อง “Ghibli”
ที่มาภาพ : www.pexels.com