พนักงานที่เก่ง

ทำอย่างไรพนักงานใหม่จึงจะกลายเป็นพนักงานที่เก่ง

ทำอย่างไรพนักงานใหม่จึงจะกลายเป็น พนักงานที่เก่ง

พนักงานใหม่ในที่นี้หมายถึงนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นมนุษย์ทำงาน หรือมนุษย์เงินเดือนครั้งแรกในชีวิต ตอนที่เป็นนักศึกษาอาจมีความคิดว่า เราเรียนมาเยอะแยะขนาดนี้ การทำงานต้องจิ๊บ ๆ แน่นอน แต่หารู้ไม่ว่าโลกของคนวัยทำงานนั้นเป็นโลกแห่งความเป็นจริงที่เราอาจเจอทั้งดีและไม่ดีก็ได้ สิ่งที่ควรตระหนักคือ เราจะเป็น พนักงานที่เก่ง ได้อย่างไร

สิ่งที่น่าสนใจคือ คำแนะนำของคุณนัมอินซุก เจ้าของหนังสือเรื่อง “ความสำเร็จของผู้ชายบอกได้ตอนอายุ 20 s” หนังสือ How to ที่น่าอ่านเล่มหนึ่งสำหรับคุณผู้ชาย โดยเฉพาะนักศึกษาชายที่เพิ่งเรียนจบและกำลังจะมองหาออฟฟิศในอนาคต เพราะผู้เขียนจะเผยเคล็ดลับความสำเร็จ 54 ประการ ที่คนประสบความสำเร็จแล้วไม่เคยบอกใครให้เราได้รู้

“ต้องทำอย่างไรถึงจะเป็นพนักงานที่เก่ง ?” ตามจริงแล้วบริษัทวางกรอบในการมองคนที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานไว้ 2 อย่าง คือ (1) ทัศนคติ และ (2) การรับรู้ คุณนัมอินซุกแชร์เคล็ดลับเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านคำสอนของผู้มีประสบการณ์หลายท่านว่า

นักศึกษาจบใหม่ที่กำลังจะเป็นพนักงานใหม่ต้องจัดการสองสิ่งนี้ให้ดีคือ ทัศนคติ และ การรับรู้ ถ้าทำได้การทำงานในฐานะพนักงานใหม่ก็จะกลายเป็นพนักงานที่เก่งได้ไม่ยาก และสิ่งรองลงมาคือ การวางตัวกับสิ่งแวดล้อมของออฟฟิศ

ทำไมต้องเป็นต้องวัดกันที่ทัศนคติและการรับรู้ เพราะทัศนคติเป็นสิ่งที่เกิดจากความตั้งใจจริงและความรู้ของแต่ละคน ส่วนการรับรู้ เป็นสิ่งที่ทุกคนมีมาตั้งแต่เกิด แต่อาจมีการรับรู้ที่ไม่เท่าเทียมกัน ถ้าทัศนคติดีต่อให้ขาดการรับรู้ไปบ้างก็พอที่จะทดแทนกันได้

สำหรับคนที่มีการรับรู้ที่ไม่ดี อย่าได้ตกใจว่าจะกลายเป็นข้อเสียที่คอยขัดขวางการพัฒนาของตนเอง แต่ประสบการณ์จะทำให้การรับรู้ดีขึ้น เช่น การทำงานผิดพลาดเพราะไม่เคยทำมาก่อน ไม่เคย (รับ) รู้เลยว่าต้องทำแบบนี้ แต่เมื่อเจอครั้งที่สองก็พอจะแก้ไขปัญหาได้ เพราะเราเคยรับรู้มาแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่นักศึกษาจบใหม่จะไม่ทันเกม หรือแก้ไขปัญหาทัน มักต้องได้รับบาดเจ็บทางอารมณ์ไปไม่มากก็น้อย แต่ขอให้คิดว่ายิ่งเจ็บยิ่งได้เรียนรู้

 

พนักงานที่เก่ง
ภาพจาก www.pexels.com

 

คุณนัมอินซุกได้ยกประสบการณ์ของผู้ใหญ่ที่เธอรู้จักท่านหนึ่งให้ฟังว่า “ท่านเคยเป็นพนักงานใหม่ เข้ามาอย่างไม่รู้อะไร และท่านจำได้ดีถึงเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งที่คิดว่าตนเองเก่ง ด้วยความเก่งกาจของเขาทำให้เขาคิดว่า การที่เขาทำงานแค่ถ่ายเอกสาร หรือส่งแฟกซ์เป็นหน้าที่ที่ไร้สาระ เขาเลยไม่ชอบที่จะทำมัน และด้วยความหยิ่งในความเก่งของตนเองเลยทำให้เขาเข้ากับใครในทีมไม่ได้ สุดท้ายเขาก็ถูกเขี่ยออกไปจากออฟฟิศ ความจริงแล้วคนเก่งอย่างเขาน่าจะได้ขึ้นมาเป็นระดับหัวหน้าด้วยซ้ำ แต่คนที่ไม่เก่งกลับได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าเพราะเขาไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง และสามารถเข้ากับคนรอบข้างได้อย่างไม่มีปัญหา”

คุณนัมอินซุกทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งที่พนักงานใหม่ควรทำอย่างมากมีด้วยกัน 3 ข้อ แล้วคุณจะกลายเป็นพนักงานที่เก่ง ไม่เก่งธรรดานะ ยังเก่งในการเอาตัวรอดในการทำงานอีกด้วย

ข้อแรก “อย่ามาถึงออฟฟิศสาย” การตรงต่อเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คนวัยทำงานจะให้ความเชื่อถือกับคนที่ตรงต่อเวลามากที่สุด แม้จะมีอุปสรรค รถติด หรือที่พักอยู่ไกลจากที่ทำงานอย่างไร จะต้องจัดการให้ตัวคุณเองมาถึงออฟฟิศให้ทันเวลา อาจเป็นการนั่งรถไฟฟ้า หรือจัดสรรเวลาว่าจะต้องตื่นตอนกี่โมงถึงจะอาบน้ำแต่งตัวทันมาทำงาน เป็นต้น

ข้อที่สอง “ทักทายคนอื่นแม้จะไม่รู้จัก” ถ้าทักทายคนอื่นในออฟฟิศได้ก็ถือว่าสำเร็จไปแล้วครึ่งทาง เพราะช่องทางนี้จะทำให้คุณได้แต้มคะแนนจากคนรอบข้าง อย่างน้อยก็ทำให้คนในออฟฟิศรู้จักคุณ และถ้ามีปัญหาอะไรก็ไม่ยากเลยที่จะช่วยหาทางออก เพราะคุณอาจได้รู้จักพนักงานบางคนที่สามารถช่วยเหลือคุณได้

ข้อสุดท้าย “ทำปากให้หนัก” ความผิดพลาดของพนักงานใหม่ที่ทำให้ชีวิตการทำงานย่ำแย่คือ การเพ้อบ่นหรือวิจารณ์คนในออฟฟิศให้คนในออฟฟิศฟัง ความจริงใจอาจหาได้ยากในบริษัท ดังนั้นการสงบปากสงบคำ ไม่บ่นหรือวิจารณ์ให้คนอื่นฟัง อาจทำให้คุณปลอดภัย เพราะเราไม่แน่ใจว่าเรื่องที่เราบ่น เช่น บ่นการสั่งงานของเจ้านายให้รุ่นพี่ฟัง รุ่นพี่อาจนำไปเล่าต่อให้อีกกลุ่มฟัง ถ้าเรื่องนี้หลุดออกไปรู้ถึงเจ้านายล่ะก็ คุณแย่แน่ ๆ

 

ที่มา : ความสำเร็จของผู้ชายบอกได้ตอนอายุ 20 s โดย นัมอินซุก

ภาพ :  www.pexels.com


บทความน่าสนใจ

งานล้นมืออย่างไร ก็แบ่งเวลาได้ ไม่ไช่เรื่องยาก

วิธีการแก้ปัญหาการทำงานที่ดีที่สุดคือ การพาตัวเองไปอยู่ในงานนั้น

กำจัดความเหนื่อยล้ากับชีวิตที่บัดซบด้วยการพูดเชิงบวกกันเถอะ

วางแผนหลังเกษียณ ออมเงินอย่างไรให้มีเงินใช้ไม่ลำบากในบั้นปลาย 

จงเป็นคนที่ตื่นตั้งแต่เช้ามืด (ทำไม) ? แล้วจะเห็นความสำเร็จ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.