ความยึดมั่นใน สีลัพพตุปาทาน …ถ้าเธอตาย ฉันจะตายตาม – หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
สีลัพพตุปาทาน คือ การยึดในพิธีรีตองในอะไร ๆ ต่าง ๆ รวมทั้งลัทธิที่เราได้รับไว้ มันก็เป็นอุปาทานขึ้นมาในจิตใจปล่อยไม่ได้ วางไม่ได้ ต้องไปกันตลอดไป อย่างนี้ก็เพราะว่าสอนให้เป็นอย่างนั้น สอนให้ยึดให้ติดไว้
เช่น สอนว่าต้องยอมตายด้วยกัน อย่างนี้มันก็ไม่ถูก ทำไมจะต้องตายด้วยกัน? คนหนึ่งตาย อีกคนไม่ตาย ยังอยู่ช่วยอะไรได้ แต่ถ้าตายหมดแล้วมันจะได้อะไรขึ้นมา เหมือนชายหนุ่มหญิงสาวรักกัน เขาเรียกว่ารักเป็นบ้าเป็นบอ รักด้วยความหลง ความมัวเมานั่นเอง
บอกว่า “ถ้าเธอตาย ฉันก็จะตายตามเธอไป” ตามไปไหน? ตายแล้วตามไปไหน? ไปป่าช้านะซิ แล้วก็ไปเผา…จะไปพบกัน กระดูกมันก็เป็นขี้เถ้าจะไปพบกันได้อย่างไร? นั่นเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดความคิดในทางที่ผิด
อยู่ด้วยปัญญา บูชาธรรม
เมื่อคนหนึ่งตายไป เราก็จะตายด้วยทำไม เราควรจะอยู่ด้วยปัญญาต่อไป เพราะยังมีชีวิตอยู่ก็ทำอะไรได้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นต่อไป แก่ครอบครัวต่อไป ถ้าเราตายมันจะได้อะไร สัปเหร่อก็ได้งานเพิ่มขึ้นอีกศพหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ได้ประเสริฐอะไร อย่าไปบูชาอุดมการณ์อย่างนั้น บางทีก็ว่า “เขามีอุดมการณ์ เขาเป็นคนบูชาความรัก” มันไม่ถูก ไปชมก็ไม่ถูกต้องอะไร บูชาอะไร? บูชาความรัก บูชากิเลส มันได้เรื่องอะไร เราต้องบูชาธรรมะ ถ้าบูชาธรรมะมันฉลาดขึ้น มันมีปัญญาขึ้น ไม่ไปหลงใหลมัวเมาในสิ่งเหล่านั้น รู้จักปลง รู้จักวางลงไป แม้คนที่เรารักตายจากเราไป มันก็ธรรมดา เราเกิดมาไม่พร้อมกัน แล้วจะตายพร้อมกันได้อย่างไร คนหนึ่งเกิดก่อน ถึงแม้ว่าเกิดวันเดียวกัน แต่เวลาไม่พร้อมกัน ไม่ได้ออกมาพร้อมกัน แล้วจะมาตายพร้อมกันได้อย่างไร เป็นความคิดที่ไม่เข้าเรื่อง
หรือว่าคนหนึ่งตายไปแล้ว “อ๊ะ!ฉันอยู่ไม่ได้แล้ว ฉันจะต้องตายตามไปด้วย” อย่างนี้มันไม่ได้เรื่องอะไร เป็นความทุกข์เปล่า ๆ ทำให้ใจกังวล อยู่ไม่ได้อะไรอย่างนี้ นี่เป็นความโง่ของคนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะ ไม่เข้าวัดเข้าวาแล้ว ถ้าพูดให้เลิกให้ละก็บอกว่า “ฉันเลิกไม่ได้” ทำไมมันเลิกไม่ได้ไปจับอะไรไว้ละ บอกว่า “ให้วางเสีย” ก็บอกว่าวางไม่ได้ ก็ไม่อ้ามือออกแล้วมันจะวางได้อย่างไร เมื่อจับเอาไว้อย่างนี้ เหมือนกับคนที่ไปกอดเสาไว้ บอกว่ากอดไว้…ปล่อยไม่ได้ แล้วกอดอยู่อย่างนี้ มือสานกันอยู่อย่างนี้ เมื่อเอาออกมันก็หลุดไปเท่านั้นเอง มันง่ายนิดเดียว แต่นี่ไม่ยอมปล่อย มันเกาะไว้ ใช้ “มือ” เกาะนี่มันหลุดได้ แต่ใช้ “ใจ” เกาะนี่มันหลุดยาก
ความยึดมั่นในสัจจะ
ทีนี้ชอบเกาะชอบติดในสิ่งเหล่านั้น แล้วไปเที่ยวผูกมัด ไปสัญญา แล้วบางทีก็ลามปามไปถึงว่า…เรามันต้องมีสัจจะรักษาสัจจะ รักษาคำมั่นสัญญากันไว้ เมื่อเธอตายฉันก็ต้องตายตามสัญญา…ไอ้นี่ไม่ใช่สัญญา สัญญาที่ไม่เข้าเรื่อง เป็นสัจจะที่ไม่ถูกต้อง สัจจะนั้นต้องเป็นประโยชน์ด้วย ต้องดีด้วย
สัจจะ อัตเถ จะ ธัมเม จะ อะหุ สันโต ปะติฎฐิตา…พระพุทธเจ้าตรัสว่า…สัตบุรุษย่อมตั้งอยู่ในความสัตย์ที่เป็นธรรมเป็นประโยชน์ เป็นอรรถเป็นธรรม คำว่า “เป็นอรรถ” หมายความว่า เป็นประโยชน์ “เป็นธรรม” หมายความว่า ถูกต้อง เป็นประโยชน์ด้วยและถูกต้องด้วย ถ้าเป็นประโยชน์แต่ไม่ถูกต้อง มันก็ยังใช้ไม่ได้ เป็นสัญญาที่ใช้ไม่ได้ สัญญาอย่างนั้นมันไม่ได้เรื่อง เราอย่าไปสัญญาประเภทที่ไม่ได้เรื่องเข้า มันก็จะเกิดความเสียหายแก่ชีวิตแก่การงาน สูญเสียอะไรตั้งหลายสิ่งหลายประการ จึงไม่ควรจะถือประเภทอย่างนั้น แต่ควรนึกว่า…เขาก็จากเราไปแล้ว ช่างเขาเถอะ เราอยู่ทำความดีต่อไป… หรือพูดตามแบบชาวบ้านว่า อยู่เพื่อทำความดีอุทิศให้แก่เขาต่อไป ทำบุญให้เขา ควรคิดว่าเราควรจะทำอะไรต่อไป ที่จะเป็นประโยชน์กับคน ๆ นั้น หรือกับสังคม หรือกับคนที่เราเกี่ยวข้อง อย่างนี้จะดีกว่า ไม่ไปเที่ยวสัญญาลม ๆ แล้ง ๆ ไม่เข้าเรื่อง
อุปาทาน : ความยึดมั่นที่เจือปนกิเลส
คนสมัยใหม่คือคนที่ไม่มีการศึกษาด้านธรรมะ ไปบูชาสัจจะประเภทเจือปนด้วยกิเลส ไม่เป็นประโยชน์ด้วยแล้วก็ไม่เป็นธรรมด้วย ไม่เรียกว่าเป็นสัจจะอะไร เพราะฉะนั้นเราต้องสอนลูกสอนหลานให้เข้าใจเรื่องอย่างนี้ไว้ เราควรจะทำอะไรที่มันเป็นประโยชน์ต่อไปดีกว่า พูดให้เขาเข้าใจอย่างนั้นก็จะช่วยให้เกิดความคิดถึงในทางที่ถูกที่ชอบ แต่บางทีมันก็ยาก เพราะมัน “ฝังหัว” นี่แหละเรียกว่าอุปาทาน มันลึกตกร่องลึก ถ้าเป็นเหวก็เรียกว่าลึกลงไป ชันด้วยคือปีนไม่ไหว ถ้าหากว่ามันเอียง ๆ นิดหน่อยอย่างนี้พอปีนได้ แต่ถ้ามันชันมากตกลงร่องลึกที่ชันแล้วก็ปีนขึ้นไม่ไหว ก็จมอยู่ในร่องลึกนั่นแหละ คนที่มีความคิดความเห็นประเภทที่ยึดมั่นติดมั่น เขาเรียกว่าตกร่องลึก ไม่สามารถจะถอนตัวออกมาได้ พระพุทธเจ้าท่านติว่าเป็นหลักตอรกโลก เป็นหลักตอคือตอไม้ที่มันเหลือ ๆ อยู่นี่ มันรก มันไม่ได้เรื่องอะไร เดี๋ยวนี้ต้องเอาแทรกเตอร์รุนจึงจะเอาตอเหล่านั้นออกได้ มันเป็นตอที่ไม่ได้เรื่องไม่เจริญเติบโต ไม่แตกกิ่งก้าน ไม่แตกใบ ไม่แตกดอกแตกผล เป็นต้นที่กีดขวางเสียเปล่า ๆ
ที่มา : หนังสือ ความยึดมั่นถือมั่น ธรรมะเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจ ของ พระพรหมมังคลาจารย์ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ