10 เรื่องจริงของคนบันดาลใจ
10 เรื่องจริงของคนบันดาลใจ บุคคลเหล่านี้ล้วนผ่านอุปสรรคต่งๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอย่างหนักหน่วง แต่พวกเขาก็มีกำลังใจที่เขม้แข็ง มีวิธีรับมือกับทุกๆอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาจนกลับมามีชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง
“กำลังใจ” จากผู้ชายที่ไม่เคยท้อแท้ คริสโตเฟอร์ เบญจกุล
“สู้ ๆ นะ” คือคำพูดติดปากของ คริส - คริสโตเฟอร์ เบญจกุล ที่ให้กำลังใจตัวเองและผู้อื่นเสมอ17 ปีที่แล้ว คริสโตเฟอร์ เบญจกุลนักแสดงหนุ่มลูกครึ่งน้ำใจงาม ประสบอุบัติเหตุอาการสาหัสระหว่างลงไปช่วยเหลือคนบนถนนเขาต้องผ่าตัดสมองถึง 8 ครั้ง และผ่าตัดขาอีกหลายครั้ง จากคนที่ใช้ชีวิตปกติ กลายมาเป็นผู้ป่วยที่นอนอยู่แต่บนเตียง
“ผมจำได้ว่า ตอนนั้นทรมานมาก ต้องนอนอยู่บนเตียง พูดไม่ได้ ทำได้แค่พยักหน้ากับส่ายหน้าเท่านั้น เวลาหิวน้ำก็ได้แต่ทำเสียงแอ๊ะ ๆ ให้คุณแม่ได้ยิน ท่านก็จะเข้ามาถามว่าอยากดื่มน้ำเหรอ แล้วก็ใช้หลอดดูดน้ำมาป้อนผมทีละนิด เป็นเวลาที่ลำบากกายและใจที่สุดแค่จะบอกว่ารักแม่ คิดถึงแม่ ยังทำไม่ได้เลย”
ยามเจ็บป่วย คริสได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ด้วยทรงพระกรุณโปรดเกล้าฯรับเขาเป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์ ซึ่งถือเป็นกำลังใจอันยิ่งใหญ่ในชีวิตนอกเหนือจากกำลังใจจากครอบครัวและประชาชนทั่วไป “ผมได้เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระราชินีช่วงที่รักษาตัว พระองค์ท่านทรงลูบหัวผมและตรัสว่า ‘หายไว ๆ นะคะ’ ผมตื้นตันใจมากและตั้งใจแน่วแน่ว่าทุกปีที่มาเข้าเฝ้าฯพระองค์ท่าน ผมต้องอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ และผมก็ภูมิใจที่ทำได้ จากปีแรกที่นั่งวีลแชร์ ปีที่สองก็เดินด้วยวอล์คเกอร์สี่ขา ปีต่อมาใช้เพียงไม้เท้าสามขา จากนั้นก็เป็นไม้เท้าขาเดียวจนปีที่ห้าผมก็สามารถเดินเองได้”
แม้ต้องผ่านความเจ็บปวดทางกายและจิตใจมาหลายต่อหลายครั้ง แต่คริสไม่เคยยอมแพ้ และลุกขึ้นสู้ด้วยตัวเองเสมอ “ผมสะกดคำว่า ‘ท้อแท้’ ไม่เป็น ที่ผ่านมาผมสู้มาตลอด
ปัจจุบันคริสเป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APCD) ทำหน้าที่ดูแลร้านขนมปัง 60 Plus Bakery and Cafè byYamazaki and APCD ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่ายเพื่อส่งเสริมการทำงานของผู้พิการ เช่น ผู้ที่เป็นออทิสติก ผู้บกพร่องทางการได้ยิน ร้านแห่งนี้อยู่ติดกับบ้านราชวิถี ตรงข้ามโรงพยาบาลรามาธิบดี
วันนี้เขาได้ส่งต่อ “กำลังใจ” อันยิ่งใหญ่ที่มีเต็มเปี่ยมในหัวใจให้คนรอบตัว“ผมจะเข้ามาที่ร้านตั้งแต่เช้า มาช่วยฝ่ายขายต้อนรับลูกค้า และให้กำลังใจน้อง ๆในร้าน ถ้าเห็นเขาซึมหรือเหนื่อย ผมจะถามว่า ‘เหนื่อยไหม สู้แล้วกันนะ แค่นี้จิ๊บ ๆ เองเดี๋ยวก็หาย’ เขาจะได้มีกำลังใจทำงานต่อ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่มีวันใดที่ชายคนนี้ย่อท้อ เพราะเขามีชีวิตอยู่ได้ด้วย “กำลังใจ”ที่มีให้กับตัวเองและผู้อื่นเสมอมา
สร้างสุขด้วยหัวใจอาสา อรนุช เลิศกุลดิลก ผู้ก่อตั้งโครงการ For Oldy
คุณนุช - อรนุช เลิศกุลดิลก เติบโตในครอบครัวที่สมบูรณ์ ภาพความสุขในวัยเด็กที่เติบโตมากับอากงและอาม่ายังฝังแน่นในความทรงจำ มีคุณพ่อ คุณแม่ และน้อง ๆ อีก 11 คนให้กำลังใจซึ่งกันและกันแต่สิ่งที่เธออยากเห็นมากกว่านั้นคือสังคมที่ดีจึงทุ่มเทให้กับงานภาคสังคมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา
คุณนุชทำงานด้านสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านเด็กและสตรีในองค์กรนานาชาติเธอทุ่มเททำงานอย่างหนัก แล้ววันหนึ่งก็ได้เผชิญบทเรียนครั้งสำคัญในชีวิต “ตอนนั้นเป็นวันจันทร์ คุยกับพ่อว่าพ่ออยากไปเที่ยวบางปูใช่ไหม รอก่อนนะเดี๋ยวทำงานเสร็จ วันเสาร์เราไปเที่ยวกันแต่แล้ววันพฤหัสบดีคุณพ่อก็เสีย เรากลับมาถามตัวเองว่า ทำไมฉันบ้างานอย่างนี้ ฉันทำทุกอย่างเพื่อคนอื่น แต่กับพ่อแม่ตัวเองทำไมต้องรอทำงานเสร็จก่อนจึงจะมาดูแลท่านจึงตัดสินใจลาออกทันทีเพื่อกลับมาดูแลแม่ให้เต็มที่”
ระหว่างดูแลคุณแม่ คุณนุชเห็นถึงความสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุ จึงศึกษาข้อมูลและร่วมโครงการต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยต่องานด้านการดูแลผู้สูงวัย โดยมีคุณแม่เป็นกำลังใจสำคัญคอยเคียงข้าง จนพบว่าคนชราในหลายประเทศสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสง่างามและเตรียมความพร้อมก่อนวัยโรยรามาถึง ขณะที่สังคมผู้สูงวัยของไทยยังต้องการความช่วยเหลือ จึงก่อตั้งโครงการ“For Oldy” สร้างกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุและครอบครัว ส่งเสริมการรวมกลุ่มผู้สูงวัยให้ดูแลซึ่งกันและกัน
คุณแม่และน้อง ๆ เห็นความมุ่งมั่นของคุณนุช จึงจัดหาที่ดินย่านรามอินทรา เพื่อใช้สร้างศูนย์ตามความฝัน ขณะที่ศูนย์เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เธอกลับต้องพบกับความสูญเสียอีกครั้ง เมื่อคุณแม่เสียชีวิตหลังการผ่าตัดหลอดเลือด “ตอนนั้นถอดใจเลย เพราะแรงบันดาลใจหมดไปแล้ว ที่ดินที่เคยมาดูทุกวันและวางแผนว่าจะปลูกผักตรงไหน เข็นรถให้แม่ไปปลูกผักตรงไหน ก็ไม่ได้มาอีกเลยเรานั่งสิ้นหวังบนเก้าอี้ มองไปนอกหน้าต่างไม่อยากคุยกับใครเป็นเดือน ๆ สุดท้ายตัดสินใจออกไปหาผู้สูงอายุที่เราเคยคลุกคลีด้วย ปรากฏว่าพวกเขารอคอย และคงมีแต่เราที่เห็นความสำคัญของพวกเขา จึงกลับมารวบรวมเงินที่เหลืออยู่มาปรับปรุงที่ดินและก่อสร้างเป็นศูนย์แห่งนี้ขึ้นมาจนถึงวันนี้”
แม้ต้องพบกับปัญหาและอุปสรรคหลายครั้ง แต่เธอยังคงหวังให้ศูนย์เล็ก ๆแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนสังคมให้มีแต่การแบ่งปัน
“แท็กซี่อุ้มบุญ” ผู้ทำดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนสุวรรณฉัตร พรหมชาติ
“พระสงฆ์ สามเณร แม่ชี นิมนต์นั่งฟรีครับ”
“ผู้พิการ อัมพฤกษ์ อัมพาต อุ้มฟรีคนพิการ คนตาบอด นั่งฟรีครับ”
สติ๊กเกอร์ข้อความที่ติดรอบรถแท็กซี่สีเขียวเหลืองของ สุวรรณฉัตร พรหมชาติหรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อของ แท็กซี่อุ้มบุญมีที่มาจากประสบการณ์ชีวิตที่เขา “ได้รับ”ความช่วยเหลือจากผู้อื่นในขณะประสบวิกฤติชีวิตหลายครั้ง จนเกิดเป็นแรงผลักดันอันยิ่งใหญ่ให้เขาอุทิศชีวิตเพื่อ “ตอบแทน” สังคม
ย้อนไปในวัยเด็ก ชีวิตของสุวรรณฉัตรลำบากมากจนต้องบวชเป็นสามเณร เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะแบ่งเบาภาระของแม่ได้ระหว่างนั้นเขาออกตามหาพ่อที่ไม่เคยพบกัน
“ผมออกตามหาพ่อขณะที่ยังเป็นสามเณรตอนนั้นเดินตามหาไปตามที่ต่าง ๆ จนได้พบคุณลุงขับรถตู้คนหนึ่ง ท่านพาผมไปส่งยังที่หมายโดยไม่เก็บค่ารถ ทั้งยังถวายปัจจัยให้ด้วย 100 บาท ผมประทับใจว่าท่านเป็นพุทธบริษัทที่ดี และตั้งใจว่าต่อไปจะทำอย่างที่คุณลุงท่านนี้เคยทำให้ได้ จึงเป็นที่มาของการนิมนต์พระสงฆ์ สามเณร แม่ชี นั่งรถฟรี”
เมื่อได้เข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ สุวรรณฉัตรแสวงหางานสุจริตทุกอย่างเท่าที่ทำได้ แต่ครั้งหนึ่งกลับถูกนายจ้างโกงเงินเดือนและทำร้ายร่างกาย ในที่สุดจึงหันมาทำอาชีพอิสระคือขับแท็กซี่ และนับแต่วันแรกที่ทำอาชีพนี้เขาก็ตั้งใจทำความดีมาโดยตลอด
“ผมเริ่มขับแท็กซี่เมื่ออายุ 18 ปีตอนแรกต้องขับรถเช่า จึงไม่ได้ติดสติ๊กเกอร์ข้อความที่รถเหมือนตอนนี้ พอลงไปนิมนต์พระท่านมานั่งรถ ท่านเดินหนี คิดว่าเป็นมิจฉาชีพก็มี แต่ผมก็ทำแบบนี้มาตลอดส่วนการรับส่งผู้ป่วย แรก ๆ จะเป็นการบอกปากต่อปาก ถ้าไปเจอผู้ป่วยตามโรงพยาบาลก็อุ้มมานั่งฟรีเลย ตัวใหญ่แค่ไหนก็อุ้มให้ถ่ายหนัก ถ่ายเบา ผมไม่เคยรังเกียจ ผมถือว่าช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นญาติ ไม่จำเป็นต้องได้รับผลประโยชน์หรือผลตอบแทนใด ๆ ต่อมาเมื่อผมซื้อรถของตัวเอง จึงติดเบอร์โทรศัพท์ไว้ที่รถ ซึ่งมีคนโทร.มานัดคิวรับส่งตลอดทุกวัน”
ตลอด 21 ปีที่ผ่านมานี้ สุวรรณฉัตรช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่ได้หวังชื่อเสียง เงินทองหรือผลตอบแทนอื่นใด เพราะสิ่งที่ได้รับกลับมายิ่งใหญ่กว่านั้น นั่นคือความสุข
“บางคนบอกว่า ต้องรวยก่อนค่อยช่วยเหลือคนอื่น แต่ผมไม่ต้องรอวันนั้นเพราะผมทำอยู่ทุกวันอยู่แล้ว ผมมีเพียงแค่พละกำลังก็สามารถแบ่งปันให้สังคมได้ ถ้ามัวคิดแต่เรื่องเงิน ชาตินี้คงทำไม่ได้หรอก การได้ช่วยเหลือคนอื่นทำให้ผมมีความสุขและรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า เหนื่อยกายแค่ไหนเดี๋ยวก็หาย ถ้าพรุ่งนี้ผมตายก็ไม่เสียดายชีวิตแล้ว”
สุรรณฉัตร มุ่งมั่นที่จะช่วยสังคมไปจนกว่าตัวเองจะหมดแรง และเชื่อได้ว่าความดีที่เขาได้ทำมาตลอดจะยังคงอยู่ในใจของผู้รับทุกคนเสมอ
ส่องแสงธรรมถึงเรือนจำแก๊งธรรมะขาโจ๋
ปี 2555 นิตยสาร ซีเคร็ต ได้รับจดหมายจาก น้องซีน - ภูรดา แสงวิทยานนท์ เด็กหญิงวัย 9 ปี เธอเขียนด้วยลายมือน่าเอ็นดูขอสมัครเป็นสมาชิกอุปถัมภ์เพื่อส่ง ซีเคร็ต ไปยังโรงพยาบาลและเรือนจำต่าง ๆ ในนาม “แก๊งธรรมะขาโจ๋” ซึ่งมีสมาชิกเป็นกลุ่มเด็ก ๆ อายุ 9 – 11 ปีโดยมีเหตุผลว่า “พวกหนูอยากให้ทุกคนมีความสุข”
และได้รับจดหมายอีกครั้ง คราวนี้เป็นจดหมายจาก น้องม่อน - พลัฎฐ์ อินทรพรอุดม เด็กชายวัย 11 ปี ตัวแทนจากแก๊งเดียวกัน เล่าว่า ปีนี้สามารถเก็บออมและรวบรวมเงินจนสมัครสมาชิกอุปถัมภ์ให้แก่เรือนจำได้ครบ 173 แห่งทั่วประเทศ ทั้งส่งไปยังห้องสมุดและโรงพยาบาลที่ต้องการอีก29 แห่งด้วย
ผู้อยู่เบื้องหลังความตั้งใจของเด็ก ๆไม่ใช่คนอื่นไกล คือคุณพ่อคุณแม่ที่หวังปลูกฝังธรรมะให้แก่บุตรหลานตั้งแต่ยังเด็กจึงชักชวนกันทำกิจกรรมหลากหลายที่ส่งเสริมศักยภาพสำหรับเด็กและครอบครัวโดยอาศัยธรรมะเป็นพื้นฐาน การเผยแผ่ธรรมะของแก๊งธรรมะขาโจ๋คือหนึ่งในกิจกรรมที่เสมือนกุศโลบายให้เด็ก ๆ ได้ใกล้ชิดธรรมะและรู้จักแบ่งปันมากขึ้น
“เมื่อก่อนน้องม่อนเป็นเด็กที่เชื่อมั่นในตัวเองมาก ไม่ฟังใคร จึงบอกเขาว่า ถ้าเชื่อตัวเองจริง ๆ ก็ต้องทำความสำเร็จให้ปรากฏถ้ายังไม่อยากเชื่อพ่อแม่ ก็ต้องเชื่อใครสักคนที่เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ น้องม่อนก็ถามว่าใคร มีด้วยเหรอ แม่ก็บอกว่ามีสิไม่รู้จักใช่ไหม พระพุทธเจ้าไง”
แม่นิด – กนิษฐา แสงเงิน คุณแม่น้องม่อน เล่าต่อว่า ด้วยความอยากรู้ว่าพระพุทธเจ้าคือใคร น้องม่อนจึงอ่านนิทานชาดก พุทธประวัติ จนรู้จักนรก - สวรรค์บาปกรรม และฟังซีดีหลวงพ่อจรัญเป็นประจำ จากเด็กดื้อของคุณแม่และคุณครู น้องม่อนค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นเด็กที่เชื่อฟังมากขึ้น
ต้นแบบการปลูกฝังธรรมะในใจลูกของบรรดาผู้ปกครองก็คือ แม่แอม - ธนันรดาธนานาถ คุณแม่ของน้องซีนผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มนี้เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า ตนเองศึกษาธรรมะมานานจนค้นพบว่า การเป็นที่หนึ่งอย่างที่เคยยึดถือไม่ใช่เส้นทางสู่ความสำเร็จเสมอไป แต่ธรรมะต่างหากคือแนวทางสู่ความสำเร็จโดยไม่ต้องเหนื่อย ได้ผล และมีความสุข
ทางด้านคุณยายซึ่งอ่าน ซีเคร็ต เป็นประจำประทับใจข้อความหนึ่งจากจดหมายที่เขียนถึง ซีเคร็ต ว่า “ถ้าผมออกไปจากคุก ผมตั้งใจเปลี่ยนแปลงตัวเองจะกลับตัวเป็นคนดี รักษาศีล 5” คุณยายจึงเกิดแรงบันดาลใจเรื่องการสมัครสมาชิกอุปถัมภ์และสอนน้องซีนว่า เพราะสังคมมีด้านมืด แทนที่จะมานั่งกลัว หาวิธีป้องกันตัวมาสร้างความสว่างให้เกิดขึ้นด้วยธรรมะดีกว่าเริ่มจากสมัครสมาชิกอุปถัมภ์ให้เรือนจำ โดยทำตามกำลัง ไม่เบียดเบียนตนเองและคนอื่น
น้องซีนชักชวนเพื่อน ๆ เก็บออมค่าขนมและรายได้พิเศษอื่น ๆ เพื่อรวบรวมเป็นค่าสมาชิกอุปถัมภ์ น้องซีนบริจาคเงินที่ได้จากการเป็นเทรนเนอร์อายุน้อย สอนโยคะ Sky Fly สำหรับเด็ก เก็บทุกบาททุกสตางค์เพื่อสมัครสมาชิกอุปถัมภ์ ขณะที่ผู้ปกครองของเด็ก ๆ คนอื่นร่วมสนับสนุนทั้งกำลังกายและทุนทรัพย์ เป็นธุระจัดแจงและบอกต่อกัลยาณมิตร อีกทั้งจัดจำหน่ายซีดีธรรมะและหนังสือสวดมนต์เพื่อสมทบทุนจนสำเร็จตามเป้าหมาย
“พวกเรามีแรงบันดาลใจอีกอย่างหนึ่งคือ มีครอบครัวหนึ่งที่พวกเรารู้จักตั้งแต่ลูกสาวอายุ 2 ขวบ พวกเขาตั้งใจเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากที่ไม่เคยสวดมนต์เลย ก็หันมาสวดมนต์ มีชีวิตอยู่บนความรัก ความเมตตาไม่เบียดเบียนกันและกัน พาลูกไปเที่ยวธรรมชาติทุกอาทิตย์ คุณพ่อผูกพันและสนิทกับลูกสาวมาก แต่ปรากฏว่า เมื่อลูกสาวอายุได้ 4 ขวบ คุณพ่อต้องโทษจำคุก ตำรวจจับพ่อไปต่อหน้าต่อตาลูก เด็กก็นิ่งไปเลย
“คุณพ่อไม่ยอมพบลูก และให้คุณแม่บอกลูกว่าไปบวช แม่แอมก็บอกว่า ไม่ได้นะแบบนี้คือไม่ใช่อยู่กับความจริง ควรอธิบายในแบบที่เด็กรับได้บนพื้นฐานความจริง ต้องเผชิญกับมันอย่างเข้าใจ เราอธิบายว่าคุณพ่อมาทำงานที่นี่ มีหัวหน้าซึ่งหมายถึงผู้คุมเป็นคนดุมาก ให้เขารู้ว่าคุณพ่อไม่ได้หายไปไหนถ้าคิดถึงกันเมื่อไหร่ก็มาหากันได้ สุดท้ายคุณพ่อก็ยอมให้เราพาลูกไปหาเขาในเรือนจำ
“เมื่อได้เข้าไปเห็นข้างใน แม่แอมสะเทือนใจมาก เห็นเด็กน้อยร้องไห้กระจองอแงมาเยี่ยมพ่อแม่ตัวเอง คุยกันผ่านกระจกที่กั้นระหว่างพ่อลูก เรือนจำมันกว้างใหญ่และมีผู้ต้องขังมากจริง ๆ สิ่งที่พวกเขาเจอเป็นผลมาจากสิ่งที่ทำไปด้วยความไม่รู้ หรือรู้แต่ขาดสติ แต่เราเชื่อว่า ทุกคนที่เกิดมามีความเป็นพุทธะ มีจิตที่เป็นจิตประภัสสรอยู่ แต่อาจถูกครอบงำด้วยอวิชชาต่าง ๆเราจึงตั้งเป้าหมายว่าจะต้องให้ธรรมะไปถึงคนในเรือนจำทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกคนอ่านหนังสือธรรมะด้วยจิตพุทธะดวงนี้ แล้วให้อภัยตนเองได้เริ่มต้นใหม่”
แม่แอมทิ้งท้ายต่อว่า “ทั้งเด็ก ๆ และพ่อแม่ได้เรียนรู้ร่วมกันว่า เรามีธรรมะ ดี เก่งและมีความสุขได้ แต่ไม่ใช่เพื่อตัวเอง เพราะถ้าเก่งเพื่อให้ตัวเองอยู่เหนือผู้อื่นคือกิเลสที่เป็นพลังลบ แต่ถ้าอยากเห็นคนอื่น ๆ ได้รู้และเข้าใจเหมือนเราด้วย คือพลังที่ยิ่งใหญ่มาก”
พวกเขาเชื่อว่าธรรมะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตไปในทางที่ดีได้ ยิ่งเผยแผ่ธรรมะมากเท่าไหร่ ยิ่งจุดแสงสว่างให้แก่สังคมมากเท่านั้น
คลิกเลข 2 เพื่ออ่านหน้าถัดไป
สมฤติ นัคปัล “เสียง” แห่งความหวังของผู้พิการทางการได้ยิน
ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีผู้พิการทางการได้ยินมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกหรือประมาณ 18 ล้านคน แต่ผู้พิการเหล่านี้กลับถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับการดูแลและสนับสนุนเท่าที่ควร สมฤติ นัคปัล จึงอาสาเป็นผู้มอบโอกาสให้แก่คนเหล่านี้ด้วยหัวใจ
สมฤติเติบโตมาพร้อมกับพี่ ๆ ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เธอจึงต้องเรียนภาษามือเพื่อสื่อสารกันความใกล้ชิดทำให้เธอรู้ว่าผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินต้องดำเนินชีวิตอย่างยากลำบากโดยเฉพาะวิธีสื่อสารที่สามารถทำได้เพียง 2ทางเท่านั้น คือ ภาษามือ และการเขียนขณะที่ประเทศอินเดียมีผู้พิการเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้รับการศึกษา จึงไม่สามารถอ่านเขียนเพื่อสื่อสารกับผู้อื่นได้
เมื่อสมฤติอายุได้ 16 ปี เธอตัดสินใจใช้ทักษะภาษามือของเธอให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมด้วยการเป็นอาสาสมัครในสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศอินเดีย (NationalAssociation of Deaf) และเป็นล่ามภาษามือให้แก่รายการข่าวทางช่อง Doordarshan
วันหนึ่งเธอได้พบกับศิลปินรุ่นพี่ที่เรียนจบปริญญาโททางด้านศิลปะ เขาเป็นผู้พิการทางการได้ยินที่มีพรสวรรค์ แต่กลับต้องมาทำงานแบกหามเพราะมีปัญหาด้านการสื่อสารกับผู้อื่น สมฤติจึงหาทางสร้างอาชีพให้คนเหล่านี้ โดยพยายามให้พวกเขาได้ใช้ศักยภาพที่ตนเองมีอย่างเต็มที่ และริเริ่มก่อตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีชื่อว่า Atulyakala ขึ้นในปีค.ศ. 2013 เพื่อมอบโอกาสให้ผู้พิการทางการได้ยินได้สร้างผลงานศิลปะ เช่น ภาพวาดกระเป๋าผ้า แก้วน้ำ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆแล้วจำหน่ายทางเว็บไซต์ atulyakalaindia.com โดยลูกค้าสามารถติดต่องานกับศิลปินได้โดยตรง ปัจจุบัน Atulyakala มีสาขาอยู่ในต่างประเทศ ทั้งเดนมาร์กและโปรตุเกส
ความฝันสูงสุดของหญิงสาวผู้นี้มิใช่เพื่อตนเอง แต่เธอหวังให้คนทั่วโลกปฏิบัติต่อผู้พิการทางการได้ยินอย่างเท่าเทียม และไม่ทำให้พวกเขารู้สึกราวกับว่าตนเองเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยที่แปลกแยกจากสังคม
ด้วยแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ นฤมล แก้วสัมฤทธิ์ ครูอาสาจากแดนไกล บ้านกรูโบ
เธอคือ “ครูอาสาสมัคร” คนหนึ่งที่ยังคงหยัดยืนและทุ่มเททำหน้าที่แม่พิมพ์ของชาติมานานร่วม 20 ปี ณ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านกรูโบ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โรงเรียนซึ่งได้ชื่อว่า “ไกลที่สุด” บนผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันออก
ขณะที่สอนอยู่ที่แม่สอด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯมาที่พื้นที่บ้านกรูโบ พระองค์ตรัสถามตำรวจตระเวนชายแดนว่าเด็ก ๆ ที่หมู่บ้านแห่งนี้ไปเรียนหนังสือที่ไหน ตชด.ตอบว่าเด็ก ๆ บ้านกรูโบไปเรียนหนังสือที่บ้านแม่จันทะต้องเดิน 12 กิโลเมตร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ตั้งศูนย์การเรียนในหมู่บ้านแห่งนี้ เมื่อประกาศรับสมัครครูอาสา ครูก็มาสมัครทันที เพราะรู้ว่าน้อยคนจะตัดสินใจมาเปิดดูแผนที่จะเห็นว่าเป็นโรงเรียนที่ไกลที่สุดของอำเภออุ้มผาง
แต่เดินทางวันแรกเราก็แย่มาก ต้องเดินจากหม่องกั๊วะไปโรงเรียน 23 กิโลเมตรตอนนั้นยังไม่มีทางรถ จำได้ว่าเป็นเดือนพฤษภาคม อากาศร้อนมาก ใบไผ่ร่วงเต็มพื้นครูทั้งหิวน้ำทั้งเหนื่อย เหนื่อยมาก เพราะเราไม่เคยเดินไกลขนาดนี้มาก่อนเลยในชีวิตไม่เคยลำบากขนาดนี้ อยู่ที่บ้านม้งเดินอย่างมากแค่ 3 ชั่วโมง แต่นี่เดินตั้งแต่เช้ายันหกโมงเย็น จนยกขาไม่ขึ้นก็ยังไม่ถึง
ครูร้องไห้นั่งลงกับดิน นอนลงกับดินร้องไห้คร่ำครวญอยู่หลายรอบ เพราะว่าเหนื่อยมาก แต่ไม่เคยถามตัวเองว่าฉันมาทำอะไรที่นี่ ได้แต่ร้องไห้ด้วยความเหนื่อย
พอไปถึงหมู่บ้านตอนหกโมงเย็นชาวบ้านเห็นเราก็แปลกใจ เพราะเราเป็นครูผู้หญิงคนแรก เขาเคยเห็นแต่ครู ตชด.ผู้ชายเขาจะเข้ามาทักทาย แต่เราไม่อยากทำอะไรเลย เพราะยังรู้สึกเหนื่อย เช้าวันรุ่งขึ้นนั่งส้วมไม่ได้ งอขาไม่ได้มันเจ็บมาก ต้องนอนยกขาพาดขึ้นให้สูงจะได้ไม่ปวด
ถ้าเป็นเรื่องการกินการอยู่ ครูเป็นคนกินง่ายอยู่ง่าย กินมาม่า กินพืชผักได้หมดแต่เรื่องเดินเป็นเรื่องสาหัสสากรรจ์มากที่สุดโรงเรียนหยุดทุกวันที่ 1 - 7 พอถึงสิ้นเดือนวันที่ 28 - 30 ครูก็ลงมาประชุม มาจัดของที่จะใช้ทำอาหารกลางวันให้นักเรียน ประชุมเสร็จก็ต้องขึ้นไปโรงเรียน ถ้าเราเดินทุกวันละครึ่งชั่วโมงร่างกายเราก็จะอยู่ตัว
ไม่ถอดใจ ครูเป็นคนที่ร้องไห้แล้วมีพลังฮึดสู้ บางทีก็ร้องไห้รำพึงรำพัน บ่นกับตัวเองว่าเหนื่อยจะตายอยู่แล้ว ทำไมถึงไม่ถึงสักที แต่พอร้องไห้เสร็จแล้วก็ไปได้ต่อ บางทีเห็นเด็ก ๆ รอเรา เขาดีใจที่เห็นเรากลับมาความรู้สึกตรงนั้นมันมีค่าจนทำให้เราลืมความเหนื่อย
การทำงานอาสา สำหรับครูมันมีค่ามากมาย ได้รับความรักจากชาวบ้านอย่างจริงใจ ตอนที่เราป่วยหนัก เขามาส่งขึ้นรถร้องไห้ กลัวครูต้องกลับไปอีก พอกลับไปก็ดีใจร้องไห้พอบอกจะกินข้าวก็ไปหาปูหาปลา หาอะไรมาให้ หาหยูกหายามาอบให้ทุกวัน เหมือนครูเป็นหนึ่งในครอบครัวของพวกเขา
โรงเรียนอื่น ๆ อาจสามารถส่งนักเรียนไปเมืองนอกได้ แต่ครูเจี๊ยบห่างไกลทุรกันดาร ขาดแคลนงบประมาณ แต่ครูยังสู้ทำเท่าที่เราทำได้ในพื้นที่ขาดแคลนนี่ละเมื่อก่อนครูเคยคิดนะว่าขาดแคลนจะทำอย่างไร ทำไมหน่วยงานไม่ช่วยเลย กระทั่งเห็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า
“เมื่อจะทำงาน อย่าหยิบยกเอาความขาดแคลนเป็นข้ออ้าง จงทำงานท่ามกลางความขาดแคลนให้บรรลุผล จงทำด้วยความตั้งใจและซื่อสัตย์” ตั้งแต่นั้นก็ไม่เคยนึกเหมือนก่อน เลยทำเท่าที่มี ดิ้นรนจนคนก็เห็นความดีและให้ความช่วยเหลือ
ครูเจี๊ยบมองว่า อาชีพครูเป็นอาชีพ ที่ต้องฝึกคนไม่ใช่แค่สอนความรู้ แต่เป็นการฝึก ฝึกนิสัย ฝึกใจคอให้เด็กเป็นคนดี ไม่ใช่แค่สอนให้รู้แล้วก็จบถ้ารู้แล้วไปโกงเขา รู้แล้วเห็นแก่ตัว มันไม่มีประโยชน์ ไม่ต้องรู้ดีกว่า
สิ่งที่ทำให้ครูอยู่ที่นี่ได้นานหลายปีเพราะครูเจี๊ยบมีเป้าหมาย ถ้าเราทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ แล้วทิ้งไป มันก็เหมือนกับการปั้นหม้อ ปั้นไหเพียงครึ่งเดียว ไม่ได้ประโยชน์อะไร พอเด็กเราจบ ป.6 ครูก็ต้องดูแลเด็กต่อจนถึงปริญญาตรีซึ่งไม่ง่ายนะ แต่ครูก็จะทำในสิ่งที่ยาก
เมื่อเขาเรียนจบเราก็เหมือนปั้นหม้อได้ใบหนึ่ง เขาทำประโยชน์ได้มากได้น้อยขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง แม้เป้าหมายอยู่ไกลแค่ไหน หากมีพลังใจก็ไปถึง
นทีป์ ฅนปากศิลป์ ผู้รังสรรค์ผลงานศิลปะด้วย “ปาก”
นทีป์ ฅนปากศิลป์ หรือ นายวิเชียร ดิษฐี อดีตสตั๊นท์แมนที่เคยทำเงินได้ถึงวันละ 3,000 บาท กลับต้องกลายเป็นผู้ป่วยอัมพาตที่ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการวาดภาพด้วยปาก
ก่อนที่นทีป์จะก้าวเข้าสู่การเป็นสตั๊นท์แมน เขาหาเลี้ยงชีพด้วยการขับรถส่งน้ำแข็งตามคอนโดมิเนียมของโมเดลลิ่งต่าง ๆจนกระทั่งวันหนึ่งนักแสดงประกอบมีจำนวนไม่พอ โมเดลลิ่งจึงติดต่อให้เขาไปเล่นเป็นนักแสดงประกอบด้วยเห็นว่าหน่วยก้านดีต่อมาหลังจากที่เขาฝึกปรือทักษะการแสดงผาดโผนและทักษะอื่น ๆ เขาก็กลายเป็นสตั๊นท์แมนมากฝีมือที่ได้รับค่าตอบแทนค่อนข้างสูง
แต่แล้วชีวิตของเขาก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล ด้วยการประสบอุบัติเหตุจากการฝึกซ้อมเพื่อแสดงโชว์อุลตร้าแมนที่อิมแพ็คเมืองทองธานีในช่วงปี 2544 ด้วยความเหนื่อยล้าทำให้นทีป์พลาดท่าเสียหลักขณะซ้อม เขาล้มศีรษะกระแทกพื้น เป็นผลให้กระดูกคอหักและเป็นอัมพาต เมื่อรู้ความจริงว่าตนจะไม่สามารถกลับมาเดินได้ เขาถึงกับคิดฆ่าตัวตายเพราะไม่สามารถรับสภาพของตนเองได้
เขาได้ลูกชายทั้งสองคนที่เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ให้แก่ผู้เป็นพ่อ ทำให้เขาหยุดคิดที่จะฆ่าตัวตายและค้นหาวิธีสร้างรายได้เพื่อนำมาเป็นทุนการศึกษาของลูก ๆ หลังจากนั้นไม่นาน เขามีโอกาสได้ดูเทปบันทึกรายการหนึ่งซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ อาจารย์เอกชัย วรรณแก้ว ผู้พิการแขนที่ใช้เท้าวาดภาพ เขาจึงเกิดแรงบันดาลใจทดลองวาดภาพโดยใช้อวัยวะที่ยังสามารถใช้งานได้ตามปกตินั่นคือ “ปาก”
นทีป์เริ่มต้นจากการฝึกเขียนตัวอักษรก่อน จากนั้นจึงหัดวาดรูปอย่างง่าย ๆ เขาใช้เวลาฝึกอยู่ 6 เดือนจึงสามารถวาดรูปด้วยปากได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้น สำหรับนทีป์แล้ว ศิลปะมิได้เป็นเพียงงานอดิเรก แต่เป็นอาชีพที่ทำให้เขามีเงินมาจุนเจือครอบครัวโดยการขายภาพวาดและเสื้อปักลายที่เขาวาดและออกแบบด้วยตนเองนอกจากนั้นศิลปะยังเป็นเสมือนสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของเขาไม่ให้ฟุ้งซ่าน ทั้งยังทำให้เขามีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เขารัก
ถ้าหากคุณคือคนที่มีทุกอย่างสมบูรณ์พร้อม แต่กลับรู้สึกท้อถอยและหมดกำลังใจในการดำเนินชีวิต ศิลปินผู้นี้คงเป็น กระจกที่สะท้อนให้คุณเห็นถึงศักยภาพที่คุณมีได้ไม่มากก็น้อยทีเดียว
พลอย – สโรชา กิตติสิริพันธุ์ นักเขียนผู้ใช้ “ใจ” มองโลก
การอยู่ในโลกที่มองไม่เห็นอาจทำให้ใครๆ หวาดกลัว แต่สำหรับ พลอย หญิงสาวคนหนึ่งที่ต้องอยู่ในโลกเช่นนั้นกลับไม่คิดโทษโชคชะตา หรือจมกับความเศร้า เพราะทุกอย่างที่เป็น ทำให้เธอเรียนรู้และเข้าใจ คุณค่า และแง่งามของชีวิตได้ชัดเจน
“พลอย จำไม่ได้ว่าเคยมองเห็น ในความทรงจำมีแต่เสียง และประสาทสัมผัสส่วนอื่นที่ไม่ใช่ดวงตา” พลอย-สโรชา กิตติ-สิริพันธุ์ ผู้เขียนหนังสือ จนกว่าเด็กปิดตาจะโต และบรรณาธิการฝึกหัดของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เล่าย้อนถึงความทรงจำวัยเด็กให้ฟัง
แม้ดวงตามองไม่เห็นจากโรคมะเร็งจอประสาทตา แต่อุปสรรคทางกายไม่อาจขัดขวางการเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองของเด็กหญิงตัวน้อย พลอย เริ่มเรียนในโรงเรียนเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กที่มองไม่เห็น เพื่อให้ใช้ชีวิตประจำวันด้วยตัวเองได้ ส่วนครอบครัวมอบความรักความเข้าใจ และส่งเสริมให้เธอได้เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิต เฉกเช่นเด็กในวัยเดียวกัน สุดท้าย พลอยก็ได้เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ซึ่งถือเป็นการออกเผชิญโลกกว้างครั้งใหญ่ของเธอ
“พอต้องย้ายมาเรียนในโรงเรียนปกติ พลอยต้องปรับตัวเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นสื่อการเรียน วิธีการเรียนการสอน การใช้ชีวิตแต่ครอบครัว เพื่อน และคุณครูที่โรงเรียนนี้ และที่โรงเรียนเก่าก็ช่วยเหลือเสมอ ตอนแรกพลอยรู้สึกกดดัน แต่ในความกดดันนั้น ก็มีความสนุกและตื่นเต้นปนอยู่ เพราะได้เจอสิ่งแวดล้อมใหม่ เพื่อนใหม่ สังคมใหม่แต่ละวิชาที่เรียนก็น่าสนใจ ทุกอย่างคือความแปลกใหม่ที่พลอยอยากเรียนรู้”
เมื่อเรียนชั้น ม.ปลาย พลอย มีเป้าหมายชัดเจนว่าอยากเรียนต่อด้านใด จึงหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต จนได้ทราบข่าวการเปิดสอบของ คณะอักษรศาสตร์ สาขาภาษาและวรรณคดีไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสี่ปีต่อมาเธอก็สำเร็จการศึกษาโดยได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
“พลอยสนใจการแต่งกลอน มาตั้งแต่อยู่ประถม เพราะสนุกกับเสียงที่คล้องจองกัน และเป็นงานที่ทำได้ด้วยตัวเองเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะคิดและเขียนเองได้ พอทราบข่าวว่าที่นี่เปิดสอบ และมีทุนการศึกษาให้ 4 ปี จึงเริ่มศึกษากำหนดการและทำตามเกณฑ์ต่าง ๆ ให้พร้อม ทั้งการสอบภาษาอังกฤษ การประกวดผลงานเพื่อให้ได้เกียรติบัตร และฝึกทำข้อสอบย้อนหลัง แต่ไม่ค่อยได้บอกใคร เพราะกลัวพลาด (หัวเราะ) ตอนนั้นพลอยคอยลุ้นทุกช่วง ทั้งเครียด ทั้งสนุก สุดท้ายก็สอบติด นับเป็นความสำเร็จจากความพยายามที่มีมาตลอด พอได้เข้ามาเรียนก็ชอบทุกวิชาจริง ๆ”
การเรียนวิชาบรรณาธิการศึกษาในเทอม 2 ของชั้นปีที่ 3 ถือเป็นจุดเริ่มต้นสู่เส้นทาง การเป็นนักเขียนของเธอ อาจารย์มกุฏ อรฤดี ครูผู้สอนรายวิชานี้ มอบหมายให้นิสิตเขียนบันทึกทุกวันตลอดภาคการศึกษา แม้เธอจะไม่เคยเขียนบันทึกมาก่อนแต่เมื่อต้องทำเป็นการบ้านก็ตั้งใจทำอย่างดีที่สุด
“เมื่อครูบอกให้เขียนทุกวัน พลอยก็เขียนทุกวันไม่มีเขียนล่วงหน้าหรือเก็บไว้ 3 - 4 วันค่อยมาเขียน เพราะถึงครูไม่รู้ แต่ตัวเรารู้ว่าทำอะไรอยู่ เรื่องที่บันทึก พลอยพยายามหยิบยกเรื่องใกล้ตัว ของแต่ละวันมาเขียน พร้อมบันทึกส่วนที่เป็นความคิดของตัวเองลงไปด้วย ซึ่งตรงนี้ทำให้พลอยเริ่มสังเกตเห็น ความคิดของตัวเอง ที่เปลี่ยนไปทุกวัน บางวันดี บางวันอาจสับสน หรือสงสัยสิ่งที่ตัวเองเคยเชื่อ กระบวนการนี้เกิดขึ้นทุกวัน แต่ตอนที่ไม่เขียนบันทึก เราก็ไม่เคยสังเกตเห็นเลย
“เมื่อได้กลับมาย้อนอ่านอีกครั้ง ก็เหมือนเป็นการทบทวนตัวเอง เข้าไปกอดตัวเองในวันที่เคยเศร้า แล้วมองตัวเองว่าวันนี้เราดีขึ้นนะ วันนี้เราผ่านจุดนั้นมาได้แล้ว ทำให้เราได้รู้จักตัวเองในวันก่อน ๆ และทำให้เรามีกำลังใจในการใช้ชีวิตในวันต่อ ๆ ไป พลอยคิดว่านี่คือ ประโยชน์อย่างหนึ่งของการเขียนบันทึกค่ะ”
ภายหลัง “บันทึกประจำวัน” การบ้านที่เธอเคยเขียนอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาเกือบสองปีได้กลายมาเป็น “หนังสือ” เล่มแรกในชีวิต นอกจากเนื้อความที่เธอเขียนแล้ว ภาพประกอบในเล่มยังเป็นฝีมือของเธอทั้งหมด เมื่อหนังสือเล่มนี้ถึงมือผู้อ่านพลอยก็ได้รับกำลังใจมากมาย ทั้งยังได้รับรางวัลชมเชยประเภทหนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่นอายุ 12 - 18 ปี (สารคดี) ในการประกวดหนังสือดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2559 อีกด้วย
วันนี้พลอยยังคงตั้งใจฝึกเขียนหนังสือต่อไปเรื่อย ๆ โดยหวังไว้ว่าจะได้ทำหนังสือที่ดี และมีประโยชน์ให้ผู้อ่านได้ติดตามผลงานต่อไป
ความคิดและเรื่องราว ที่พลอยเล่าให้ฟังพร้อมรอยยิ้ม บอกกับเราเป็นนัยว่า แม้เธอต้อง “ปิดตา” แต่เธอกลับสามารถใช้ “ใจ”มองเห็นโลกได้อย่างชัดเจน
คลิกเลข 3 เพื่ออ่านหน้าถัดไป
เฉลิมพล ศักดิ์คำ ผู้ชุบชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วย โรคสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงิน รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บ เป็นสิ่งที่ไม่พึงปารถนาอย่างที่สุดของมนุษย์ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดโรคภัยบางชนิดขึ้นมากับตัวโดยไม่ตั้งใจ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การรักษา
เฉลิมพล ศักดิ์คำ นอกจากเป็นนายกเทศมนตรีเมืองท่าช้าง จังหวัดจันทบุรี คนเมืองจันท์ยังรู้จักเขาดีในนาม “ป๋าเหลิม” หรือ “หมอเหลิม” ผู้ริเริ่มเปิดรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินด้วยตำรับยาสมุนไพร โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด แต่กว่าจะได้รับการกล่าวขานจนเป็นที่รู้จัก และถึงจุดที่ได้เป็น ‘ผู้มอบชีวิตใหม่’ ให้ผู้คนมากมาย
การเปิดรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินฟรี มีที่มาอย่างไรคะ
สมัยที่เป็นช่างซ่อมรถ ผมไปทอดกฐินที่อุบลราชธานี พอดีเพื่อนผมที่ไปด้วยกันเป็นโรคสะเก็ดเงิน กลางคืนก็ไปเที่ยวกันตามประสาวัยรุ่น ระหว่างทางไปเจอปู่คนหนึ่งนั่งอยู่ในกระท่อม เราก็เดินเข้าไปทักทายและนั่งคุยกันพักใหญ่
คุยไปคุยมาปู่แกเห็นเพื่อนเป็นโรคนี้ก็ถามว่า “ไอ้หนู เอ็งอยากหายไหม” เพื่อนก็รีบตอบว่า “อยากหายครับ” ปู่ก็บอกว่าให้ไปหาสมุนไพรตามที่แกบอกมาทา เช้าวันรุ่งขึ้นเราก็ไปหาซื้อ แล้วกลับเอาไปให้แกดูว่าแบบนี้ใช่ไหม ปู่แกก็เอาสมุนไพรหลายชนิดที่ซื้อมาใส่ขวดผสมเหล้าขาวให้เสร็จ เพื่อนเอาไปทาก็หาย ผมก็คอยจำสูตรว่ามีอะไรบ้าง
ต่อมา เพื่อนแฟนมาเยี่ยมที่บ้าน เห็นเขาเป็นโรคเชื้อราเหรียญบาท ผมร่วงเป็นหย่อมๆ จึงลองผสมยาให้เขาใช้ ปรากฏว่าก็ดีขึ้นเหมือนกัน เวลาเจอใครเป็นโรคนี้ผมก็เรียกมาคุยแล้วรักษาให้หมด ส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ตัวหรือเจอด้วยตัวเอง กลายเป็นว่าผมเริ่มรักษาคนป่วยโรคนี้มาตั้งแต่อายุ 20 ปี แต่ไม่ได้บอกใครว่ารักษาได้ เพียงเราเห็นหรือเจอก็จะบอกว่ามียารักษานะ จะช่วยรักษาให้ บางคนก็มา บางคนก็ไม่มา
เริ่มแรกผมช่วยรักษาที่บ้านตัวเองมาเรื่อย ๆ ใครที่รักษาแล้วดีขึ้นก็แนะนำบอกต่อกันมา แต่ไม่เยอะขนาดนี้ หลังจากเป็นนายกเทศมนตรี ขณะแจกเบี้ยยังชีพก็เห็นคนแก่ในชุมชนเป็นแผลพุพองที่ไม่หาย คัน นั่งเกาอยู่อย่างนั้น เราก็เอายาไปทาให้เขา เพราะยานี้ช่วยรักษาโรคเชื้อราบนผิวหนังได้หมด พอเขาดีขึ้นก็ติดใจมารักษากันต่อเนื่อง จึงบอกต่อๆ กันไป
หลายคนเห็นภาพคนป่วยมากๆ แล้วรู้สึกหดหู่ จิตตก เคยมีความรู้สึกแบบนั้นไหมคะ
ไม่ มี ผมไม่เคยรู้สึกอะไรแบบนั้น ไม่ท้อ ไม่เหนื่อย เพราะผมเลือดนักสู้ ไม่มีท้อ ไม่มีถอย สู้ยิบตาตลอด ถึงจะไม่ใช่เรื่องของตัวเองผมก็ไม่ยอมแพ้ ช่วยเขาเราก็ได้บุญ อันไหนผมช่วยเขาได้ ผมก็จะช่วย
ผู้ป่วยที่มารักษา ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นค่ายา ค่ารักษา ค่ากิน ค่าอยู่ ทุกอย่างฟรีหมด เวลากลับแถมเงินให้กลับบ้านด้วย เพราะคนที่ไม่มี ก็ไม่มีจริง ๆ บางรายไม่มีแม้กระทั่งค่ารถมา ผมก็โอนให้ ซึ่งก็โดนหลอกบ่อย คือโอนเงินค่ารถให้แล้วก็หายไปเลย แต่ก็ให้ต่อไปเพราะเราอยากช่วย อยากให้เขาหาย
งานในหน้าที่ก็มาก ทำไมจึงคิดช่วยคนอื่นด้วยคะ แถมยังใช้เงินส่วนตัวอีก
ก็อยากช่วย เราแบ่งเวลารักษาเฉพาะวันพฤหัส แต่วันเสาร์อาทิตย์ ก็มีคนมาให้รักษาตลอด เพราะเขาไม่รู้รายละเอียดว่าต้องมาวันไหน เขามาไกล จากพะเยา ลำปาง สุรินทร์อย่างนี้ จะปล่อยให้กลับไปเปล่าๆ ผมก็ทำใจไม่ได้ เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาก็ 5 ราย ผมไม่ได้ไปไหนเลย อยู่รักษาเขา
ชีวิตผมเริ่มจากเสื่อผืนหมอนใบเหมือนคนจีน เคยไม่มีอะไรเลย อยู่คนเดียว เดินต๊อกๆ ของานทำ ขอคนอื่นอาศัย มีเงินก็กิน เที่ยว เล่นการพนันทุกอย่างครบหมดตั้งแต่เด็ก ประสบการณ์เราเยอะ แต่เป็นคนชอบช่วยเหลือคนมาตลอด ชอบช่วยเพื่อนฝูง ไม่เคยเอาเปรียบ เสียเปรียบก็ไม่เคยว่า
ตอนนี้สถานะของผมเรียกว่า อยู่ในระดับที่เกื้อกูลคนอื่นได้ ก็มีกำลังมากพอที่จะช่วยคนอื่นได้ ผมคิดว่าเป็นอานิสงส์ที่ทำให้ชีวิตผมดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ข้อสำคัญคือสบายใจมาก ผมเชื่อเรื่องบุญบาป เคยเกเรทำบาปมาเยอะ กินเหล้า เล่นการพนันหลายอย่าง ทุกวันนี้จึงต้องทำบุญ
รู้สึกอย่างไรบ้างคะ เมื่อเห็นผู้ป่วยหายดี
ผมมีความสุข ได้เห็นเขายิ้ม เห็นญาติพี่น้องของเขายิ้ม ในวันที่ได้กลับบ้านด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ไม่เหมือนวันแรกที่เข้ามารักษา หลายครอบครัวร้องไห้กันหมด แต่พอวันกลับ ยิ้มมีความสุขทุกคน
วันกลับพวกเขามักมากราบผมทุกคน เพราะรู้สึกว่าเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ แต่ผมห้ามไว้ ห้ามกราบเด็ดขาดเพราะผมไม่ชอบ แค่เขาหายดีผมก็มีความสุข ไม่ต้องการให้เขากราบ ไม่ต้องการอะไร แค่ได้เห็นแม่เขายิ้ม แฟนเขายิ้ม ลูกเขายิ้ม พี่น้องเขายิ้มผมก็มีความสุขแล้ว
ผมภูมิใจอีกอย่างหนึ่งคือ คนรอบข้างก็หันมาช่วยเหลือกันหมด ทั้งครอบครัว ลูกน้อง ผู้ป่วยที่รักษาแล้วหายดีหลายคน ก็กลับมาช่วยคนอื่นต่อ จากผู้ป่วยกลายเป็นผู้เยี่ยม และกลายเป็นจิตอาสากลับมาช่วยผู้อื่น
การได้ช่วยเหลือผู้คน นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่รับรู้ได้เพียงผู้กระทำเท่านั้น
ชีวิตใหม่ ของอดีตนักยกน้ำหนักแชมป์โลกพิการ – สมศักดิ์ ค้าขึ้น
อดีตนักยกน้ำหนักแชมป์โลกพิการผู้ไม่เคยยอมแพ้แก่ชะตาชีวิต กว่าที่ชีวิตของเขาจะเป็นตัวอย่างให้หลายๆ คนได้เห็นอย่างทุกวันนี้ เขาต้องผ่านร้อนผ่านหนาวชนิดเอาชีวิตเข้าแลกมาแล้ว
ความลำบากทางบ้านทำให้ผมตัดสินใจเรียนแค่ม.3 แล้วออกจากบ้านมาหางานทำในกรุงเทพฯเพราะไม่อยากเป็นภาระของพ่อแม่ พอเข้ากรุงเทพฯ ผมไปอาศัยอยู่กับลุงซึ่งทำงานอยู่ที่โรงงานรถยนต์ซาร์ฟ ผมโชคดีได้งานทำที่นั่นด้วยมีหน้าที่เป็นคนหล่อไฟเบอร์ทำกันชนและสปอยเลอร์ผมภูมิใจมากที่หาเงินเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องขอเงินพ่อแม่
พอมีเงิน ผมก็ส่งตัวเองเรียนกศน.ยังไม่ทันเรียนจบ ก็กลับไปหางานทำที่กรุงเทพฯอีกครั้ง คราวนี้ได้งานเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านอาหารแถวๆรัชดาฯ ก่อนไปทำงานทุกเย็น ผมจะนั่งรถตู้ไปสนามกีฬาแห่งชาติเพื่อเข้ายิมออกกำลังกายและฝึกเพาะกาย จนใครๆ ต่างบอกว่าผมมีกล้ามสวย แล้ววันนึงก็มีแมวมองมาชวนผมเข้าวงการบันเทิง ตอนนั้นผมได้เล่นหนัง เป็นตัวประกอบ เป็นสตั้นแมน และมีงานเดินแบบโชว์ตัวบ่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นชุดว่ายน้ำเพราะหุ่นเฟิร์มมาก จนผมสามารถขอขึ้นค่าตัวจากครั้งละ 500 บาทมาเป็น 3,000-4,000 บาท
“อยากเท่ห์” ต้นเหตุแห่งความซวย
ตั้งแต่เด็ก หนังที่ผมชอบที่สุดคือเรื่องผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ ในเรื่องพระเอกขี่มอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์และมีนางเอกซ้อนท้าย ผมรู้สึกว่ามันเท่ห์มาก ผมจึงฝันว่า วันหนึ่งถ้ามีเงินผมต้องซื้อให้ได้สักคัน แล้วผมก็ได้เป็นเจ้าของมันจริงๆ “เจ้ารถบิ๊กไบค์ 4 สูบ” ตั้งแต่ได้รถมา ผมก็หัดขี่และเข้ากลุ่มกับเพื่อนๆ ที่ใช้รถบิ๊กไบค์เหมือนๆ กัน วันนั้นพวกเรานัดกันออกทริปไปเที่ยวสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ผมยอมรับว่าตื่นเต้นมากแต่ไม่รู้หรอกว่านั่นคือ ทริป แรกและทริปสุดท้ายที่ผมต้องจดจำไปจนวันตาย
หลังจากแวะจอดเที่ยวที่น้ำตกเอราวัณแล้ว พวกเราขี่รถมุ่งหน้าต่อไปยังอำเภอสังขละบุรี แม้ผมจะเร่งความเร็วที่ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เพื่อนๆ ก็ขี่แซงหน้าผมไปหมด เพราะรถของพวกเขามีเครื่องยนต์ใหญ่กว่าผมทั้งนั้น เมื่อเห็นตัวเองอยู่รั้งท้าย จึงพยายามเร่งความเร็วแบบไม่คิดชีวิตจนไม่ทันสังเกตเห็นโค้งหักศอกที่อยู่ข้างหน้า พอเข้าโค้ง ผมตัดสินใจแตะเบรก กระทันหันเป็นเหตุให้รถเสียหลักพลิกคว่ำอย่างรุนแรง ผมกับรถกระเด็นไปกันคนละทิศละทาง ผมเห็นตัวเองลอยหมุนคว้างสูงขึ้นไปในอากาศช่วงขณะนั้น พอตกลงมาขาทั้งสองข้างก็ไปฟาดเข้ากับหลักกิโลเมตรอย่างแรง มีรถนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านมา เขาลงมาดูอาการผม และบอกว่าเป็นหมอจากนั้นเขาก็เริ่มปฐมพยายาบาลและโทรแจ้งหน่วยกู้ภัยมูลนิธิปอเต็กตึ๊งให้มารับ
เมื่อไปถึงโรงพยาบาล หมอบอกว่าในตัวผมเหลือเลือดอยู่แค่ 9 เปอร์เซนต์เท่านั้น หมอจึงให้คนโทรบอกทางบ้านเพื่อให้รีบมาดูใจ เพราะอาการเป็นตายเท่ากัน หัวใจผมหยุดเต้น แต่ก็เหมือนมีปาฏิหาริย์ที่หัวใจผมกลับมาเต้นอีกครั้งเมื่อแม่มาถึงในวันนั้น
หมอพยายามต่อเส้นเลือดที่ขาทั้งสองข้างและรอดูอาการอยู่ 5 วัน ปรากฏว่าขาขวาสามารถต่อได้ แต่ขาซ้ายเน่าและติดเชื้อมาก หมอจึงแนะนำให้ตัดขาด้วยเหตุผลว่าไม่อย่างนั้นผมอาจไม่รอด ตอนนั้นผมไม่ได้คิดอะไรมากจึงยอมให้หมอทำทุกอย่าง ตอนแรกหมอพยายามตัดขาผมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ทว่ามันติดเชื้อเยอะจนหมอต้องพาผมเข้าห้องผ่าตัดแทบทุกวันเพื่อตัดส่วนที่เน่าออกไปเรื่อยๆ จนถึงโคนขา นับเป็นช่วงเวลาที่ผมเจ็บปวดทรมานมากจนร้องไห้ทุกวัน
ชีวิตจมทุกข์
ผมรักษาตัวที่โรงพยาบาลประมาณ 4-5 เดือนด้วยจิตใจห่อเหี่ยวและท้อแท้มาก ผมคิดวิธีฆ่าตัวตายในหัวมากมาย ทั้งผูกคอตาย เดินไปให้รถชนตาย และในที่สุดก็เลือกวิธีกินยาตาย เพราะได้ยานอนหลับจากเพื่อนๆตอนอยู่ที่โรงพยาบาลมาหลายสิบเม็ด ผมอัดยาเข้าปากทีเดียว 50-60 เม็ด พร้อมเปิดเพลงกล่อมตัวเองและนอนรอความตายโดยไม่มีใครรู้
ผ่านไปเกือบสองวัน แม่เปิดประตูเข้ามาดูเพราะแปลกใจว่าทำไมผมนอนไม่ตื่น แม่ให้คนช่วยเรียกรถพยาบาลพาผมไปส่งที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด หมอล้างท้องและบอกว่าถ้ามาช้ากว่านี้คงไม่รอดแน่ เมื่อฟื้นขึ้นมา นอกจากแสงไฟสีขาวและสายระโยงระยางเต็มปาก ผมเห็น “แม่” ยืนอยู่ข้างๆ คำถามแรกที่ออกจากปากผมคือ ผมยังไม่ตายอีกหรือ แม่ถามผมกลับว่า ทำไมถึงคิดแบบนี้ ทำให้น้ำตาผมไหลออกมาทันที ผมร้องไห้เสียใจและบอกแม่ว่าผมไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้ว ผมไม่อยากเป็นภาระแม่ แม่ปลอบผมและพูดว่า ขอให้แม่ตายก่อนได้ไหม นั่นเป็นคำพูดกระแทกใจที่ทำให้ผมได้สติ
รักบริสุทธิ์ของแม่และอานุภาพแห่งใจ
แม่คอยดูแลผมเป็นอย่างดี กำลังใจจากแม่ทำให้ผมมีแรงใจและตั้งใจว่าต่อไปนี้ผมจะลุกขึ้นสู้ แม่พาผมไปทำขาเทียมที่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า พอได้ขาเทียมมา ผมก็ฝืนฝึกเดินด้วยตัวเอง ถึงแม้มันจะเจ็บ ผมก็หัดจนเดินได้โดยใช้เวลาเพียงแค่ 2-3 เดือน แล้วผมก็เข้ากรุงเทพฯทันทีเพื่อหางานทำ งานอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นภาระของแม่ และผมก็ได้งานเป็นโอเปอเรเตอร์คอยรับโทรศัพท์ที่อพาร์ตเม้นต์แห่งหนึ่งย่านอินทามระ
ระหว่างทำงาน ผมได้คุยกับเพื่อนเก่า เขาแนะนำให้ผมกลับไปเล่นเพาะกายและลองเข้าแข่งกีฬาคนพิการ ผมเห็นดีด้วยจึงเริ่มหันมายกน้ำหนักฝึกกล้ามเนื้อแบบ พาวเวอร์ลิฟติ้งโดยขออนุญาตเจ้าของอพาร์ตเม้นท์ ไปฝึกที่สนามกีฬาหัวหมากทุกวันโดยเล่าให้เขาฟังว่าผมจะไปเป็นนักกีฬา เขาก็อนุญาต ผมคัดเลือกได้เป็นนักกีฬาตัวแทนกรุงเทพฯไปแข่งที่จังหวัดเชียงใหม่ และก็ได้รางวัลเหรียญทองมาครองสมใจ
เกิดใหม่ด้วยหัวใจแกร่ง
รางวัลเหรียญทองทำให้หัวใจผมพองฟูมีแรงฮึดสู้อีกครั้ง ผมลืมความทุกข์ที่มีทั้งหมดด้วยใจที่เปี่ยมไปด้วยพลังและความหวัง ผมกลับไปซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อมอย่างหนัก เพราะเห็นศักยภาพตัวเองแล้วว่า เรายังสามารถทำอะไรได้อีกเยอะ ถ้ามัวติดว่าตัวเองเป็นคนพิการ
มากกว่าความดังคือพลังใจ
หลังคว้าตำแหน่งแชมป์โลกประกอบกับอายุที่เพิ่มขึ้น ผมรู้สึกเริ่มอิ่มตัวกับกีฬายกน้ำหนัก จึงคิดว่าเราน่าจะมาเอาดีทางด้านกีฬาเพาะกาย ในที่สุดผมก็เลือกยึดทางนี้เป็นอาชีพ ผมอยากบอกว่าเมื่อก่อนผมเคยอายที่ตัวเองพิการเลย จึงใส่กางเกงขายาวไปไหนมาไหนตลอด แต่พอคว้าแชมป์โลกมาได้ก็ทำให้ผมมั่นใจและไม่แคร์ที่จะตัดขากางเกงขายาวทิ้ง โชว์ให้เห็นขาเหล็ก และไม่เคยอายอีกเลย จึงทำให้หลายๆ คนทึ่งที่เห็นผมเป็นอย่างนี้
อยากฝากถึงคนที่กำลังท้อแท้ว่า ชีวิตคนเราต้องผ่านช่วงชีวิตที่ดี เลว หรือร้อน หนาวกันมาทั้งนั้น ความผิดพลาดในชีวิตสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่สิ่งที่จะทำให้เราผ่านอุปสรรคทุกอย่างไปได้นั่นคือ ใจ ต้องพยายามทำใจให้เข้มแข็งและให้เวลากับมัน เวลาเป็นสิ่งสำคัญที่อาจเปลี่ยนแปลงจากเรื่องร้ายให้กลายเป็นดี ดังนั้นอย่าเพิ่งรีบตัดสินใจทำอะไรลงไปเพราะโชคอาจเข้ามาหาเราเมื่อไหร่ก็เป็นได้ พยายามคิดในแง่บวก มองคนที่มีชีวิตด้อยกว่าเราเอามาเป็นกำลังใจว่าเรายังดีกว่าเขา
เพียงเท่านี้ผมก็เชื่อว่าจะช่วยให้เขาสามารถผ่านพ้นอุปสรรคที่ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องหนักหนาในชีวิตไปได้อย่างที่ผมเคยผ่านมาแล้ว
ข้อมูลจาก : นิตยสารSecret
ภาพจาก : วรวุฒิ วิชาธร, สรยุทธ พุ่มภักดี, ดวงพร ใบพลูทอง
บทความที่น่าสนใจ
ดำรง พุฒตาล กับหลักการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
พรปีใหม่ จาก 4 พระอาจารย์แด่ทุกท่าน เป็นของขวัญสำหรับการเริ่มต้นปี
พรปีใหม่ จาก พระอาจารย์มานพ อุปสโม มอบให้แด่ทุกท่าน
กำลังใจคือยาขนานเอก บทความกำลังใจจาก แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต