Dhamma Daily : ทำอย่างไรให้ จิตว่างในขณะทำงาน
เรื่องว่าด้วยการทำให้ จิตว่างในขณะทำงาน เข้าใจว่า จิตว่างเป็นสภาวะหนึ่งของพระนิพพาน เป็นสภาวะหนึ่งของการเห็นธรรม และทำให้บรรลุธรรมได้
ปัญหาธรรมข้อนี้นับว่าเป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนิชนทั้งหลาย และเป็นโอกาสดีที่ พระโพธินันทะ มาแสดงธรรมที่สำนักพิมพ์อมรินทร์พอดี ซีเคร็ตจึงขอความกรุณาจากท่าน เป็นพระอาจารย์ผู้ตอบปัญหาธรรมในข้อนี้ เพื่อความสุขทางธรรมแด่ชนทั้งหลาย
คำถาม ทราบว่า จิตว่างเป็นเรื่องดีต่อการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงความพ้นทุกข์ จึงอยากทราบว่า เราจะทำอย่างไรให้จิตของเราว่างได้ในขณะที่กำลังทำงาน เพราะการทำงาน จิตมักจดจ่อกับงาน และมีอารมณ์ที่แปรปรวน เพราะงานและคนร่วมงานเสมอ
ตอบ ปฏิบัติเพื่อการงานในชีวิตประจำวัน ขอเพียงปฏิบัติในหลักของไตรสิกขา อธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา พระพุทธองค์ทรงอุปมาว่าเหมือนโคแม่ลูกอ่อนเล็มหญ้าแล้วชำเลืองมองดูลูกน้อย
อธิศีล อธิจิต และ อธิปัญญา สามารถปฏิบัติได้ในเรื่องของการงาน การงานกับการปฏิบัติก็เป็นสิ่งเดียวกัน วิธีการก็คือ โคแม่ลูกอ่อนเล็มหญ้า แล้วชำเลืองมองดูลูกน้อย แม่โคเล็มหญ้าไป เหลียวมองดูลูกไป เราทำการงานในชีวิตประจำวันก็มองดูจิตไปด้วย ใจของเราคือธรรมะ หรือสัจจะ
เราสามารถปฏิบัติได้ในทุกการงานที่เราทำอยู่ ถ้าเรารู้จักวิธีที่จะพัฒนา ทุกครั้งที่เรามองดูใจ ความคิดมันก็จะหายไป ใจมันจึงว่าง
ถ้าเราทำการงานในชีวิตประจำวันด้วยพื้นฐานของใจที่ว่าง คือจิตที่ไม่ถูกอารมณ์ครอบครอง ย่อมเป็นการกระทำที่สัมมา (สัมมา แปลว่า สมบูรณ์) ในอริยมรรคมีองค์ 8 คิดก็สัมมา (สัมมาทิฏฐิ) พูดก็สัมมา (สัมมาวาจา) ทำอะไรก็สัมมาหมด ตั้งสติสมาธิ (สัมมาสมาธิ) ก็สัมมาหมด
ทำเช่นนี้ได้ เราก็จะไม่มีตัวตนเป็นเครื่องธรรมเราปฏิบัติอยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกอีกต่อไป เราทำได้น้อยเพียง 10 % 50 % หรือมาก 80 % 100 % มันก็คือผลของการปฏิบัติสมณะทั้ง 4 คือ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และ อรหันต์
ที่มา : นิตยสารซีเคร็ต
บทความน่าสนใจ
ฝึกฝนให้เป็นคนช่าง สังเกต โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
หัวใจของ การปฏิบัติธรรม โดย พระอาจารย์ชานนท์ ชยนนฺโท
“ขอเวลานอกให้ชีวิต” การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การหนีปัญหา โดย ปิยสีโลภิกขุ
การพัฒนาจิต 2 วิธี ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน บทความธรรมะจากพระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ
หากกลัวความทุกข์ จงข่มจิตให้อย่ากลัวความทุกข์ คำแนะนำจากแม่ชีศันสนีย์