เมธาวี อ่างทอง

“อายุไม่สำคัญ” ถ้ากล้าเดินตามความฝัน – เมธาวี อ่างทอง ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ Black Sugar

“อายุไม่สำคัญ” ถ้ากล้าเดินตามความฝัน – เมธาวี อ่างทอง ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ Black Sugar

ถ้าใครท่องโลกออนไลน์คงเคยได้เห็นภาพของหญิงไทยร่างเล็กผมสีดอกเลา ท่าทางทะมัดทะแมง เดินยิ้มเคียงข้างนางแบบต่างชาติบนรันเวย์ในฐานะ “ดีไซเนอร์”

เธอคนนี้คือ คุณเม - เมธาวี อ่างทอง เจ้าของแบรนด์ Black Sugar ผู้พาคอลเล็คชั่นเสื้อผ้าสุดเปรี้ยวจี๊ดของตัวเองไปอวดโฉมบนรันเวย์ MQ Vienna Fashion Week 2016 ตอนอายุ 59 ปี

เส้นทางสู่ความฝันของเธอไม่ได้มาโดยง่าย และ “อายุ” ไม่ได้จำกัดความฝันของเธอแม้แต่น้อย หากใครลังเลที่จะเริ่มต้นทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ขอให้อ่านบทสัมภาษณ์นี้ แล้วความฝันและความกล้าในใจคุณจะลุกโชนขึ้นอีกครั้ง

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีด้วยที่แบรนด์ Black Sugar ของคุณเมที่ได้ไปแสดงในงาน MQ Vienna Fashion Week 2016

ขอบคุณค่ะที่ให้โอกาสได้ถ่ายทอดประสบการณ์ ที่จริงไม่ค่อยได้พูดเรื่องนี้กับใครเท่าไหร่ พอกลับมาจากโชว์ก็เงียบไปเพราะ Black Sugar เป็นแบรนด์น้องใหม่ที่ไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้น แต่ที่เป็นกระแสข่าวขึ้นมาเนื่องจากทางสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ที่ดิฉันเป็นศิษย์เก่ารุ่นที่ 3 เรียนจบมาเมื่อหลายปีก่อน นำข่าวนี้ลงในเฟซบุ๊กของสถาบัน จึงทำให้หลายคนเริ่มรู้จักดิฉันและแบรนด์ Black Sugar มากขึ้นสิ่งหนึ่งที่สื่อและหลายคนสนใจคุณเมคือประเด็นเรื่อง “อายุ”

ทราบว่าก้าวมาเป็นดีไซเนอร์เต็มตัวเมื่ออายุ 57 ปี          

ใช่ค่ะ จริง ๆ ดิฉันทำเสื้อผ้ามานานแล้ว แต่เป็นการทำธุรกิจเสื้อผ้าเด็กเพื่อส่งออกมาโดยตลอด จะมีบ้างที่ได้ออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นใส่เอง หรือไม่ก็ไปทำแฟชั่นโชว์เพื่องานการกุศลจากการชักชวนของสมาคมหรือองค์กรต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบมาก เพราะเราจะสนุกกับการได้ออกแบบเสื้อผู้หญิงและเสื้อผ้าเด็กที่จะต้องทำเป็นคอลเล็คชั่นเพื่อการโชว์ ทำให้ได้ปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ที่อัดแน่นอยู่ แต่ก็ไม่ได้ทำเป็นแบรนด์อย่างจริงจัง จนวันหนึ่งมีเหตุให้ได้ทำเต็มตัว จึงลงมือทำอย่างไม่ลังเล

คุณเมใฝ่ฝันอยากเป็นดีไซเนอร์ตั้งแต่เด็กหรือเปล่าคะ

ดิฉันเป็นเด็กบ้านนอก ไม่รู้จักคำว่า “ดีไซเนอร์” เลยด้วยซ้ำ ลองนึกดูว่า เมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้วคำนี้คงยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก อีกทั้งดิฉันเรียนหนังสืออยู่ต่างจังหวัดจึงห่างไกลเรื่องพวกนี้มาก รู้แต่ว่าตอนเด็กชอบวาดการ์ตูนมาก ชอบวาดตัวการ์ตูนผู้หญิง วาดชุดเสื้อผ้า แล้วตัดออกมาเล่นเหมือนกับตุ๊กตากระดาษที่เขาขายกัน แต่เราไม่มีเงินซื้อจึงต้องวาดเอง แล้วตัดเก็บไว้เต็มกระป๋อง จะใส่ชุดแบบนั้นแบบนี้ฉันมีหมด ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองวาดรูปเก่งนะ เพราะเพื่อน ๆ ก็มาจ้างให้วาดรูปเสมอ

ชอบวาดรูปขนาดนี้ ครอบครัวสนับสนุนไหมคะ

ไม่เลยค่ะ ไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำไปว่าเราชอบวาดรูป ต้องเล่าก่อนว่าดิฉันเกิดมาในครอบครัวที่ยากจนและแตกแยก คุณแม่มีครอบครัวใหม่ ดังนั้นจึงมีปัญหาบางอย่างที่ทำให้ดิฉันถูกส่งไปอยู่กับคุณลุงที่ต่างจังหวัดและเรียนหนังสืออยู่ที่นั่น คุณลุงก็ทำไร่ทำนาของท่านไป เลี้ยงดูกันไปตามประสาบ้านนอกไม่ได้ใส่ใจดูแลหรือสังเกตเห็นว่าเราทำอะไรวัน ๆ เราก็วาดแต่รูปตุ๊กตาเล่น

ดิฉันเรียนที่ต่างจังหวัดถึง ป.4 คุณแม่ก็ให้พี่สาวไปรับกลับกรุงเทพฯ ตอนแรกดีใจและตื่นเต้นมากที่จะได้กลับมาอยู่กับพี่น้องและคาดหวังว่าจะได้มาเรียนต่อที่นี่ แต่พอมาแล้วมันไม่ได้เป็นอย่างที่ฝัน เพราะกลายเป็นว่าต้องมาช่วยคุณแม่ดูแลน้อง ๆ เพราะท่านมีลูกหลายคน ดิฉันต้องหยุดเรียนไปเลยนับแต่นั้น ทั้งที่ใฝ่ฝันมาตลอดว่าอยากเรียนต่อสูง ๆ

พอโตขึ้นมาหน่อยก็ช่วยแม่หาเงินโดยไปทำงานที่บริษัทยาแห่งหนึ่งในแผนกพับซองยาแก้ไข้เด็ก ผลงานของดิฉันแตกต่างจากเพื่อนคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด เพราะมีความประณีต สวยงาม และที่สำคัญเราทำงานได้เร็วและเรียบร้อยกว่าคนอื่น เถ้าแก่ก็ชอบดิฉันจึงได้อภิสิทธิ์มากกว่าคนอื่น คือได้ไปนั่งทำงานในห้องแอร์ เพื่อไม่ให้ผงยาปลิวลม

ระหว่างนั้นดิฉันไม่เคยหยุดหาทางที่จะเรียนต่อ พอเริ่มเก็บเงินได้จึงไปลงเรียนภาคค่ำ และจำได้เสมอว่าเสื้อผ้าสำหรับใส่ไปเรียนมีเพียงแค่ชุดเดียวคือ เสื้อเชิ้ตขาวและกระโปรงสีดำที่ซีดจนแดงและเงาขึ้นที่ตะเข็บจากการรีดใส่ชุดเดียวจนจบ มศ.3 พอมีวุฒิการศึกษาก็ได้เปลี่ยนงานที่ดีขึ้น คือได้เป็นครูโรงเรียนอนุบาล ระหว่างนั้นก็ไปเรียนพาณิชย์ภาคค่ำไปด้วยจนจบ ปวช.ด้านบัญชี และจบมาอย่างโง่ ๆ เพราะไม่ชอบเลย (หัวเราะ)

ทำไมเวลานั้นจึงไม่เลือกเรียนด้านศิลปะล่ะคะ

ที่จริงในใจฝันอยากเรียนศิลปะที่เพาะช่างมาก แต่ติดที่ว่าเพาะช่างไม่เปิดหลักสูตรภาคค่ำจึงต้องตัดใจ เพราะไปเรียนเวลาปกติไม่ได้อยู่แล้ว มีอีกที่ที่มีเรียนภาคค่ำคือไทยวิจิตรศิลป แต่ตัวเราก็ไม่พร้อมด้านการเงินที่จะเรียนศิลปะ เพราะต้องซื้ออุปกรณ์การเรียนอยู่เสมอ ดังนั้นความฝันนั้นก็ยังคงอยู่แค่ในความฝันต่อไป

พอเรียนจบได้วุฒิ ปวช. ดิฉันพยายามขวนขวายไปสอบ ก.พ. ต้องสอบอยู่หลายครั้งกว่าจะสอบติด เมื่อเรียกตัวเข้าก็ต้องเลือกสถานที่บรรจุ ตอนนั้นใกล้กรุงเทพฯที่สุดก็คือจังหวัดสุพรรณบุรี จึงได้บรรจุในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการด้านการเงิน วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี แต่การไปสุพรรณในสมัยนั้นใช้เวลานานมาก ไม่เหมือนสมัยนี้เพราะรถประจำทางต้องวิ่งอ้อมไปอ่างทองก่อนเข้าสุพรรณฯ

ระหว่างสอบ ก.พ.และรอเรียกตัวอยู่นั้นดิฉันก็เรียน ปวส.ภาคค่ำไปด้วย พอต้องไปทำงานที่สุพรรณฯทำให้มีปัญหาเรื่องการเรียน เพราะเข้าเรียนได้แค่บางวันและเสาร์ - อาทิตย์ แต่อาจารย์ท่านเห็นใจว่าเป็นเทอมสุดท้ายจึงอนุโลมเรื่องเวลาเข้าเรียน สุดท้ายก็เรียนจบได้วุฒิ ปวส.ด้านการเงินการธนาคาร ระหว่างทำงานราชการก็คิดเสมอว่าจะต้องหาโอกาสเรียนต่อให้จบปริญญาตรีให้ได้ เพื่อที่จะได้ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

ดูเหมือนว่าเส้นทางชีวิตจะเดินไปเป็นข้าราชการอย่างเต็มตัวแล้ว

เมื่อได้ทำงานราชการก็มุ่งมั่นที่จะทำงานให้ดีที่สุด แต่ในใจยังคงรักงานศิลปะ ชอบออกแบบเสื้อผ้า ชอบเย็บปักถักร้อย บางทีก็ไปซื้อผ้ามาเย็บเสื้อกระโปรงแบบง่าย ๆ ใส่เองโดยเย็บมือนี่แหละ จนวันหนึ่งได้มาเห็นจักรเย็บผ้าคอมพิวเตอร์ ดิฉันตื่นเต้นและอยากได้มาก แต่ต้องกัดฟันซื้อ เพราะจักรตัวหนึ่งราคาเป็นหมื่น ในขณะที่ดิฉันทำงานได้เงินเดือนเพียง 1,700 บาทเท่านั้น

พอได้จักรแล้วก็ได้ไปเรียนเย็บของเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามที่บริษัทจักรสอนให้ฟรี พอดีกับช่วงนั้นเพื่อนเปิดบริษัทส่งออกเสื้อผ้าเด็กและทำโรงงานเสื้อผ้าเด็กด้วย ดิฉันเคยช่วยเขาออกแบบชุดเด็ก ตอนนั้นทำให้เขาฟรี เพราะสนุกที่ได้ทำ เมื่อเขาเปิดตลาดส่งออกตะวันออกกลางซึ่งรุ่งเรืองมากในยุคนั้นจึงขอเพื่อนว่า อยากจะฝากถุงมือจับความร้อนส่งออกบ้างได้ไหมเพราะเย็บเป็นแล้ว (หัวเราะ) แต่เพื่อนกลับบอกว่า เป็นไม่ได้หรอกที่จะเย็บสินค้าส่งออกด้วยจักรคอมพิวเตอร์เพียงตัวเดียว พอคุยไปคุยมาเขาก็ชวนมาทำธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าเด็กส่งออกด้วยกัน เพราะหุ้นส่วนเก่าของเขาเพิ่งขอเลิกทำไป

ดิฉันตกลงทันที คิดแค่ว่า “เป็นไงเป็นกัน” จากนั้นก็วิ่งทำงานสองที่ วันธรรมดาทำงานราชการ พอสี่โมงเย็นวันศุกร์ก็นั่งรถกลับกรุงเทพฯ เพื่อมาทำงานเสื้อผ้าเด็กตั้งแต่คืนวันศุกร์ยาวไปจนถึงเย็นวันอาทิตย์ พอเช้าวันจันทร์ก็นั่งรถกลับสุพรรณฯตั้งแต่ตีสี่ ตอนทำใหม่ ๆ ยังออกแบบไม่เป็นลูกค้าก็ช่วยหิ้วแบบมาให้ เราก็พลิกแพลงให้ได้แบบใหม่ ๆ ออกมา อะไรมาก็ขายได้ขายดีไปหมด จากที่มีจักรอุตสาหกรรมแค่สามตัว ต่อมาก็เพิ่มเป็นห้าตัว สิบตัวและยี่สิบตัว

ตอนหลังงานชักเยอะ บ้านเพื่อนที่ทำเป็นโรงงานพื้นที่ไม่พอ จึงซื้อที่ดินข้างบ้านสร้างเป็นโรงงาน ดิฉันวิ่งงานสองที่อยู่หลายเดือนจนสภาพร่างกายเริ่มไม่ไหว จึงคิดว่าต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง สุดท้ายก็เลือกลาออกจากงานราชการ

เวลานั้นน่าจะเป็นการตัดสินใจที่ลำบากมาก

ตอนนั้นคิดหนักมาก เพราะกว่าจะสอบเข้าได้ต้องสอบตั้งหลายครั้ง ที่สำคัญคือที่บ้านไม่เคยมีใครทำงานราชการเลยการที่ได้เป็นข้าราชการถือว่าเป็นเกียรติและที่สำคัญคือมีสวัสดิการที่ดีและมั่นคงให้ตัวเราและครอบครัว เมื่อแม่เจ็บป่วยก็เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ดังนั้นแม่จึงไม่อยากให้ลาออก แต่ดิฉันก็คิดไตร่ตรองแล้วว่าต้องเลือกสักทาง ถ้ายังคงฝืนทำทั้งสองอย่างพร้อมกันคงไม่ได้ดีสักทางแน่

พอลาออกมาก็ลุยงานด้านเสื้อผ้าเด็กเต็มตัว เริ่มตั้งแต่การปูผ้าบนโต๊ะตัด การใช้เครื่องตัดผ้า การออกแบบ การสร้างแพตเทิร์น เรียนรู้และทำเป็นทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยรวมแล้วดิฉันดูแลด้านการออกแบบและผลิตเป็นหลัก แต่เมื่อธุรกิจขยายใหญ่ขึ้น การบริหารงาน เงิน และบริหารคนเป็นเรื่องสำคัญมาก เวลานั้นสามีซึ่งทำงานธนาคารจึงต้องลาออกช่วยอีกแรงทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้ดีตลอดหลายปีความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่วันหนึ่งก็มาก้าวพลาดช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540

เนื่องจากสามีไปลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เพราะก่อนหน้านั้นเราแตกไลน์ไปทำธุรกิจสร้างทาวน์เฮ้าส์ขายและได้รับการตอบรับดี ทำมาเท่าไหร่ขายได้หมดจึงทำให้เราฮึกเหิม ไปจับที่ดินไว้หลายแห่ง แต่พอเจอฟองสบู่แตกก็หมุนเงินไม่ทัน พอดีกับช่วงที่ดิฉันมีปัญหากับหุ้นส่วนที่ทำโรงงานตัดเสื้อผ้าเด็กด้วยกันจึงต้องปิดโรงงาน และปล่อยให้ธนาคารยึดทุกอย่างไปหมด จากที่เคยอยู่บ้านหลังใหญ่ในหมู่บ้านปัญญา เคยขับรถเบนซ์ ทุกอย่างต้องขายหมดเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ธนาคารและต้องย้ายออกมาเช่าตึกแถวอยู่

ตอนนั้นเสียใจมากนะ ปัญหาทุกอย่างถาโถมเข้ามาในชีวิต และที่ทำให้เจ็บปวดใจมากที่สุดคือ พอบอกกับลูกชายซึ่งเวลานั้นอยู่ ป.3 แล้วว่าต้องย้ายออกจากบ้านหลังนี้ ลูกร้องไห้และพูดว่า “ไม่ว่ายังไง ๆ ก็จะไม่ไปจากบ้านนี้” เพราะคำพูดของลูกทำให้เราตันอยู่ในอก แต่ไม่อยากร้องไห้ให้ลูกเห็น เพราะจะยิ่งทำร้ายจิตใจลูก จึงต้องทำเป็นเหมือนว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตร้ายแรงอะไร เดี๋ยวเราก็ไปอยู่บ้านใหม่ ไปสร้างบ้านใหม่ได้ เวลานั้นดิฉันได้แต่เก็บความทุกข์ไว้ในใจ ไม่แสดงออกให้ใครเห็น แต่พอเข้าห้องน้ำไปอาบน้ำเท่านั้นแหละ บ่อน้ำตาแตกแล้วปล่อยให้น้ำตาไหลไปกับสายน้ำอยู่อย่างนั้นอยู่นานสองนานพอออกจากห้องน้ำมาก็ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เวลานั้นจัดการกับความทุกข์อย่างไรคะ

ช่วงแรกก็คิดวนเวียนในหัวว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต ทำไมเราถึงต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ ชีวิตเริ่มจากศูนย์แล้วก้าวขึ้นมามีพร้อมทุกอย่าง แต่เพียงไม่นานทุกอย่างกลับไปเริ่มต้นที่ศูนย์อีก แต่ดิฉันเสียใจไม่นานนะ แล้วก็ฮึดสู้ขึ้นมาใหม่ เพราะคิดว่าเมื่อก่อนเคยจนมาก่อนแต่เราก็อยู่มาได้ทุกอย่างที่เคยมี ดิฉันและสามีช่วยกันสร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง พอล้มก็แค่ไม่ได้อยู่บ้านหลังใหญ่ ไม่ได้ขับรถหรูเหมือนเดิมก็ไม่เห็นเป็นอะไร เพราะเราเคยอยู่บ้านเล็ก ๆซอมซ่อมาแล้ว ดิฉันจึงไม่ยอมจมอยู่กับความทุกข์นาน และให้กำลังใจตัวเองและสามีว่า สักวันหนึ่งเราจะต้องยืนขึ้นมาได้ใหม่ต้องมีสักวันแน่นอน

เวลานั้นดิฉันเริ่มต้นจากศูนย์อีกครั้งต้องออกมาเช่าตึกแถวสองห้องสำหรับเป็นที่อยู่และเป็นที่ทำงาน เริ่มต้นตั้งจักรใหม่หาพนักงานใหม่ แต่ยังโชคดีที่มีพนักงานจากโรงงานเดิมตามมาอยู่ด้วยหลายคน ทั้ง ๆ ที่เวลานั้นเราล้มลุกคลุกคลาน แต่พวกเขาก็เต็มใจมาร่วมต่อสู้ฝ่าฟันไปกับเรา ดิฉันจึงเริ่มทำแบรนด์เสื้อผ้าเด็กของเราขึ้นมาใหม่และรับงานจากลูกค้าเก่าที่เข้าใจและเชื่อถือในฝีมือของเรา ซึ่งตามมาสั่งซื้อสินค้าอีกหลายราย จึงขยายงานได้เร็ว จากตึกแถวสองห้องก็ขยายเป็นสี่ห้อง ค่าเช่าก็เพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว ดิฉันและสามีจึงต้องลองหาลู่ทางที่จะประหยัดค่าเช่าตรงนี้ให้ได้

อาจเป็นความโชคดีในของเรามีที่ดินเหลืออยู่ 1 แปลง ที่เราติดป้ายประกาศขายแต่ก็ขายไม่ได้สักที จึงปรึกษากับสามีว่าเราจะลองฮึดสู้กันอีกสักครั้งโดยไปกู้ธนาคารเพื่อนำเงินมาสร้างตึกของตัวเองดีกว่าไม่ต้องสร้างสวยงาม ใช้วัสดุไม่แพง แต่เน้นโครงสร้างที่แข็งแรง ค่อย ๆ ทำไป เงินรายได้เกือบทั้งหมดก็ทุ่มให้กับการสร้างตึกนี้ซึ่งต้องขอบคุณวิกฤติที่ทำให้เราได้มีโอกาสขอบคุณหุ้นส่วนที่ผลักเราให้แยกตัวออกมาจนเรามีอาคารพาณิชย์เป็นของตัวเอง 6 คูหา 6 ชั้นที่เป็นทั้งที่ทำงานและที่อยู่อาศัยจนถึงทุกวันนี้

ที่ผ่านมาคุณเมเรียนรู้ด้านการออกแบบจากที่ไหนคะ

เรียนรู้จากประสบการณ์ทำงานและฝึกฝนจากความชอบมาโดยตลอดค่ะ แต่ที่มาเรียนจริงจังเพราะความจำเป็นบีบบังคับเนื่องจากมีปัญหากับดีไซเนอร์จบใหม่ที่จ้างมาทำงาน (หัวเราะ) เธอเป็นคนที่มั่นใจในตัวเองมากทั้ง ๆ ที่เพิ่งจบมาแบบสด ๆ ร้อน ๆ ยังไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานเลย แต่แตะต้องไม่ได้ วันหนึ่งหุ้นส่วนมาถามเราว่า “แน่ใจนะว่าถ้าไม่มีเขา คุณจะทำงานออกแบบได้” ดิฉันตอบทันทีว่า “มั่นใจ ให้เขาออกได้เลย”จากนั้นไม่ถึงสัปดาห์ดิฉันก็ไปเรียนออกแบบที่โรงเรียนแดงดีไซน์ทันที

หลังจากเรียนออกแบบจบ ก็มีเหตุให้เจอช่างแพตเทิร์นเจ้าปัญหาที่แตะไม่ได้ คือเมื่องานออกมาไม่สวยและต้องการให้แก้ไขเขาจะเริ่มมีปัญหา ชอบถามเราอย่างประชดประชันว่า “ต้องทำยังไง” เพราะรู้ว่าเราไม่มีความรู้เรื่องแพตเทิร์น รู้แค่ว่าไม่สวยและต้องแก้ให้สวย ซึ่งเขาไม่พอใจ สุดท้ายเขาก็บอกว่า “คุณเม สิ้นเดือนนี้เดี๊ยนจะลาออก” ดิฉันควันออกหูเลย จึงบอกเขาว่า “ไม่ต้องรอสิ้นเดือนหรอกค่ะ เดี๊ยนอนุญาตให้คุณออกวันนี้เลย” คราวนี้เดือดร้อนอีกแล้ว (หัวเราะ) ดิฉันจึงรีบไปเรียนแพตเทิร์นที่โรงเรียนสอนตัดเสื้อระพี ซึ่งตอนนั้นกำลังดังจากกระแสการตัดชุดให้นางงามจักรวาล (ปุ๋ย - ภรณ์ทิพย์นาคหิรัญกนก)

เรียนแพตเทิร์นตอนแรกก็รู้สึกว่ายากมากจนแทบไม่อยากเรียน เพราะต้องบวกลบคูณหารตัวเลข และค่อนข้างมีความซับซ้อนแต่พอคิดถึงคำว่า “เดี๊ยนจะลาออก” ของช่างแพตเทิร์นทำให้เรามีแรงฮึดสู้ขึ้นมา และให้กำลังใจตัวเองว่าไม่เกินความสามารถที่เราจะเรียนรู้ สุดท้ายเราก็เรียนจบจนได้

ต่อมาก็คิดว่าความรู้ที่เรียนมายังตอบโจทย์ตัวเองไม่ครบ จึงได้ไปเรียนด้านแพตเทิร์นเพิ่มเติมอีกที่โรงเรียนสอนตัดเสื้อชั้นสูงปกรณ์ ซึ่งทำให้ได้ทักษะการทำแพตเทิร์นที่ก้าวไปอีกระดับหนึ่ง พอได้เรียนครบทั้งออกแบบและแพตเทิร์นแล้ว จึงรู้ว่าคนที่จะเป็นดีไซเนอร์ควรมีความรู้ทั้งการออกแบบและการสร้างแพตเทิร์น เพราะจะทำให้งานที่เราออกแบบมามีความสมบูรณ์ได้อย่างที่ต้องการ เพราะถ้าออกแบบได้แต่ไม่มีความรู้ด้านการสร้างแพตเทิร์นเลย เราก็จะคุยกับช่างยาก งานที่ออกมาอาจไม่ได้ตามที่ใจเราอยากให้เป็น

ได้มาเรียน Fashion Design ที่สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ตอนไหนคะ

เรียนเมื่อปี 2543 ค่ะ ตอนนั้นดิฉันอายุ 43 ปีแล้ว ก่อนหน้านั้นได้ข่าวว่าที่นี่เปิดสอน Fashion Design ก็สนใจ แต่พอรู้ว่าการเรียนการสอนเป็นภาษาอิตาลีก็คิดว่าตัวเองคงไม่ไหว เพราะนักเรียนรุ่นแรกทุกคนต้องไปเรียนรู้ด้านภาษาอิตาลีที่จุฬาฯก่อน ดิฉันเป็นคนมีปมด้อยเรื่องภาษาจึงไม่กล้าไปสมัครเรียน

จนกระทั่งปี 2543 ทางสถาบันฯเปิดรับนักเรียนรุ่นที่ 3 และเรียนเป็นภาษาอังกฤษ ดิฉันคิดว่าตัวเองน่าจะเรียนได้ ถึงไม่เก่งภาษาอังกฤษ แต่ก็ยังดีกว่าภาษาอิตาลี และการเรียนน่าจะเป็นภาษาทางศิลปะ คงพอจะสื่อสารกันได้ไม่ยาก จึงโทร.เข้าไปสอบถามข้อมูล พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ว่าเราพอมีประสบการณ์จากการทำงานด้านเสื้อผ้ามานานเขาก็เห็นด้วยว่าน่าจะเรียนได้ แต่พอบอกไปว่าไม่เก่งภาษาอังกฤษเท่านั้นแหละ เขากลับตอบมาว่า “เป็นไปไม่ได้ที่จะเรียนเพราะสอนเป็นภาษาอังกฤษ” เจอประโยคนี้เข้าไป วันรุ่งขึ้นดิฉันเข้าไปสมัครเรียนเลยทันที (หัวเราะ)

พอมาเรียนจริงก็ฟังครูรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่อย่างที่บอกว่าภาษาทางศิลปะมันสื่อสารกันได้ไม่ยาก ถ้าเจอคำสั่งยาว ๆหรือยาก น้อง ๆ ในห้องเรียนก็ช่วยแปลให้ฟัง สุดท้ายก็เรียนจบมาได้ตอนปี 2545 ขนาดฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ดิฉันยังได้เป็นนักเรียนดีเด่น (หัวเราะ) ได้รับโล่เรียนดีจากหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร ผู้ก่อตั้งสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ด้วย

อายุเป็นอุปสรรคต่อการเรียนไหมคะเพราะหลายคนพูดกันว่า “แก่แล้วไม่เรียนแล้ว”

ไม่เลยค่ะ ดิฉันไม่เคยเอาความแก่มาเป็นข้ออ้างในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่เคยมีความคิดว่า “แก่แล้วจะเรียนไปทำไม” สำหรับดิฉันถึงแก่ก็อยากเรียนไม่หยุดหย่อน

อายุ 60 แล้วก็ยังอยากเรียนหลายสิ่งหลายอย่างเมื่อก่อนไม่มีเงินเรียน ดิฉันก็ไปเรียนฝึกอาชีพฟรีที่สวนลุมพินี วันเสาร์ - อาทิตย์ ที่นี่มีเปิดสอนวาดรูป สกรีนผ้า สานตะกร้าใจเราอยากเรียนไปหมด บางอย่างเรียนได้บางอย่างชอบแต่เรียนไม่ได้เพราะต้องซื้ออุปกรณ์การเรียนเอง ดิฉันไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ก็ได้แต่ไปยืนดูแล้วแอบจดจำด้วยสายตาและมีหลาย ๆ อย่างที่จำมาใช้กับงานจริงได้ถึงทุกวันนี้ ดังนั้นเราคิดว่าอายุไม่เป็นอุปสรรคในการเรียน ขนาดปริญญาตรียังเพิ่งมาเรียนตอนอายุ 48 เลย (หัวเราะ)

ทำไมจึงตัดสินใจเรียนปริญญาตรีตอนอายุ 48 ปีคะ

หลังจากจบ ปวส. เมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว ในใจยังอยากเรียนต่อปริญญาตรีเสมอแต่ไม่มีโอกาส เพราะทำงานหนักมาตลอดจนกระทั่งปี 2548 คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดหลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี สำหรับผู้ที่จบ ปวส.ด้านศิลปะ ด้านการออกแบบ หรือผู้มีประสบการณ์ ดิฉันไม่ได้มีวุฒิด้านศิลปะ แต่เอาประสบการณ์ไปสมัครและผ่านการสอบคัดเลือก จึงได้เรียนต่อปริญญาตรี สาขาวิชาการออกแบบเครื่องแต่งกาย

พอเปิดเทอมมาในห้องก็มีแต่เด็ก ๆ อายุไล่เลี่ยกับลูกเราเป็นส่วนใหญ่ มีรุ่นผู้ใหญ่บ้างไม่กี่คน ดิฉันก็เลยมีเพื่อนเป็นเด็กและเป็นเพื่อนกับแม่เด็ก และเด็ก ๆ ก็กลายเป็นเพื่อนลูกเราไปด้วย เวลาเรียนในห้องเด็ก ๆ ก็ช่วยเหลือดูแลว่า “พี่เม ทำแบบนี้แบบนั้นนะ” เขาเรียกเราว่า “พี่” ทั้งที่เราเป็น “ป้า” เขาได้แล้ว (หัวเราะ)

หลังจากจบปริญญาตรีก็ยังไม่หยุดนะคะ พออายุ 53 ก็ไปเรียนปริญญาโทหลักสูตรเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสิ่งทอและการจัดการสินค้าแฟชั่นของภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพราะอยากเรียนรู้เรื่องการตลาดและการสร้างแบรนด์ แต่ในหลักสูตรตอนปี 1 ต้องเรียนรู้เรื่องผ้า เรื่องเส้นใยเรื่องเคมี เรื่องสีย้อมต่าง ๆ นานาของสายวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงเป็นปัญหาอย่างรุนแรงกับการสอบ ที่แก่ป่านนี้ต้องมานั่งท่องตารางธาตุซึ่งไม่เคยเห็นไม่เคยรู้มาก่อนมันจำยากมาก (หัวเราะ) วิทยาศาสตร์ว่าหนักแล้ว มาเจอที่หนักกว่านั้นคือวิชาภาษาอังกฤษ ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมามานาน กว่าจะสอบผ่านก็ต้องลงเรียนไปสามเทอม

ก่อนจบดิฉันทำรายงานการค้นคว้าอิสระเรื่อง “พฤติกรรมผู้บริโภคสินค้าแฟชั่นสีขาว - ดำ” เนื่องจากชื่นชอบใส่เสื้อผ้าสีขาว - ดำเป็นการส่วนตัว จึงสนใจทำวิจัยเรื่องนี้ และได้ผลสรุปว่า เสื้อผ้าสีขาว - ดำเป็นสีที่ผู้บริโภคตอบรับและได้รับความนิยมในทุกยุคทุกสมัย สามารถใช้ได้ในหลายโอกาส จากผลของการทำวิจัยนี้ทำให้มีความคิดที่จะทำเสื้อผ้าสีขาว – ดำดูบ้าง

นี่คือจุดเริ่มต้นของการทำแบรนด์ Black Sugar หรือเปล่าคะ

ใช่ค่ะ แต่ยังไม่ได้ทำในทันที เพราะหลังจบปริญญาโทเราก็ยังทำเสื้อผ้าเด็กพอเอาเรื่องนี้ไปปรึกษากับสามี เขาก็ไม่เห็นด้วยและยังไม่ยอมให้ทำ (หัวเราะ) คือเมื่อก่อนเขามุ่งมั่นในกิจการเสื้อผ้าเด็กส่งออกอย่างเดียว เพราะยอดขายก็ดีมาตลอดจะมีทำเสื้อผ้าผู้ใหญ่บ้างในบางโอกาส ซึ่งส่วนมากเป็นแฟชั่นโชว์เพื่อการกุศล เมื่อรับปากรับงานมาก็เป็นอันว่าต้องมีปัญหากับสามีเป็นประจำ เพราะไปเบียดเบียนการทำงานประจำ แย่งช่าง แย่งคนงานมาทำงานโชว์เพื่อสนองความอยากของตัวเอง

ยิ่งไปกว่านั้นการทำโชว์แต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายเยอะมาก เพราะถ้าดิฉันรับทำแล้วก็จะทำแบบเกินร้อย ไม่ได้อะไรกลับมาได้แค่คำชม เพราะตอนนั้นเราไม่มีแบรนด์เสื้อผ้าขาย จบงานโชว์แต่ละครั้งสามีมักจะถามว่าเมื่อไหร่จะเลิกเล่นสักที เพราะมันเสียทั้งเงินเสียทั้งเวลากับการมัวเล่นสนุกไร้สาระ (หัวเราะ)

แต่ดิฉันบอกเขาเสมอว่า “ถ้าฉันไม่ใช่คนที่ชอบเล่นสนุกไร้สาระ เราก็คงไม่มีวันนี้” เพราะความคิดสร้างสรรค์ มันเกิดขึ้นพร้อมกับความสนุกที่ไร้สาระในการทำโชว์นี่แหละ ถ้าดิฉันเป็นคนไม่มีความคิดสร้างสรรค์ก็คงล้มหายตายจากไปจากกิจการนี้แล้วเหมือนหลาย ๆ โรงงานเสื้อผ้าเด็กที่ทำรุ่น ๆเดียวกับเราก็เลิกกิจการไปนานแล้ว เขาบอกว่าอยากให้ดิฉันมีความสุข ไม่ต้องเหนื่อย เพราะทำแฟชั่นโชว์ทีไรเห็นเหนื่อยทุกที ดิฉันจึงตอบไปว่าถ้าอยากให้มีความสุขก็ห้ามบ่นเรื่องการทำแฟชั่นโชว์ เพราะความสุขทางใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดิฉันขอทำเรื่องนี้เถอะ

จนกระทั่งช่วงต้นปี 2557 คงเป็นจุดเริ่มต้นของการเอาความไร้สาระมาทำให้มีสาระได้สักที อันเนื่องมาจากงานเสื้อผ้าเด็กเริ่มมีปัญหา ลูกค้าต่างชาติติดเงิน ซึ่งน่าจะเป็นผลจากปัญหาทางการเมืองของหลายประเทศ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในแถบนั้นไม่ว่าจะเป็นยูเครน รัสเซีย ตะวันออกกลางส่งผลให้ลูกค้าไม่มีเงินจ่าย เราก็ไม่ส่งของทั้ง ๆ ที่ผลิตเสร็จแล้วรอเตรียมส่ง และยังคงต้องผลิตสินค้าสต็อกเพื่อเลี้ยงพนักงานแต่ปัญหายิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ขาดทุนสะสม งานน้อยลง ไม่มี OT ให้พนักงานทำ จึงเริ่มทยอยลาออกกันไป เหลือแต่คนที่พร้อมจะสู้กับเราจริง ๆ ประมาณครึ่งหนึ่ง

ตอนนั้นดิฉันยื่นคำขาดกับสามีเลยว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่แล้ว เพราะทางเดิมที่เราเดินมันตัน ไปต่อไม่ได้ ดิฉันจะทำเสื้อผ้าผู้ใหญ่สีขาว – ดำในสไตล์ที่ชอบใส่แล้วไปเสนอห้างดู แต่สามีก็คัดค้านเพราะกลัวว่าทำแค่สีขาว – ดำจะขายไม่ได้ใครจะมาใส่เสื้อผ้าแค่สีขาว - สีดำ ดิฉันตอบไปว่า “ฉันนี่ไง” เขาก็เถียงว่า “แล้วจะมีคนชอบแบบเธอสักกี่คน” แต่ดิฉันก็ยืนยันหนักแน่นว่า “ต้องลอง ไม่ลองไม่รู้” (เสียงเข้ม)แล้วก็ทำออกมาพร้อมกันสองแบรนด์คือBlack Sugar และ botanique โดยเปิดตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2557

ช่วงที่ทำ Black Sugar มีคนทักเหมือนกันว่าจะทำเฉพาะเสื้อผ้าขาว - ดำจริง ๆ เหรอเพราะแบรนด์ใหญ่เคยทำ เขาก็เปลี่ยนแนวกันไปแล้วนะ ซึ่งก็ถูกของเขา แต่ดิฉันยังยืนยันว่าอยากลอง พอทำคอลเล็คชั่นแรกออกมาทั้ง 2 แบรนด์ ก็ถึงนาทีระทึก เพราะเป็นครั้งแรกที่เราไปเสนอสินค้าเพื่อขอพื้นที่ขายในห้างสรรพสินค้า ห้างแรกที่ไปเสนอสินค้าคืออิเซตัน

ดิฉันไม่มีประสบการณ์ในการนำสินค้าไปเสนอห้าง ไม่มีโปรไฟล์ใด ๆ ไปเสนอมีเพียงเสื้อตัวอย่างที่ทำขึ้นมาเป็นคอลเล็คชั่นเล็ก ๆ เมื่อคนที่พนักงานห้างเรียกว่า“นายญี่ปุ่น” เข้ามาดูสินค้า เขาชอบเสื้อผ้าแบรนด์ botanique มากกว่า จึงให้พื้นขายซึ่งมันผิดกับการคาดเดาของเรา เพราะในใจคิดไปว่า Black Sugar น่าจะได้รับความสนใจ แต่เมื่อ botanique ทำยอดให้เขาได้ ต่อมาทางห้างจึงเสนอพื้นที่ให้เอาBlack Sugar เข้าไปขายด้วย

จากนั้นเพื่อนมีร้านอยู่ที่ MBK เขาอยากเปลี่ยนแปลงร้าน จึงรับเป็นตัวแทนจำหน่ายให้เราทั้งแบรนด์ botanique และ Black Sugar ทำให้เราได้เพิ่มช่องทางขายเพิ่มขึ้นอีก เพราะลูกค้าที่ MBK ส่วนมากเป็นลูกค้าต่างชาติตอบรับเป็นอย่างดีจนปัจจุบันมีจำหน่ายอยู่ในห้างสรรพสินค้า 6 แห่ง คือที่ MBK Hall ชั้น 6, อิเซตัน, เทอร์มินอล 21, โตคิว (ศรีนครินทร์), ยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ค และเซ็นทรัลเวสเกต

คุณเมนำเสื้อผ้าแบรนด์ Black Sugar ไปแสดงที่งาน MQ Vienna FashionWeek 2016 ได้อย่างไรคะ

เมื่อต้นปี 2559 ดิฉันนำเสื้อผ้าแบรนด์ Black Sugar ไปออกบู๊ธแสดงผลงานในงาน BIFF & BILL ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนัง ผู้จัดงาน MQ Vienna Fashion Week ประเทศออสเตรีย เดินทางมาดูงาน และคัดเลือกดีไซเนอร์ไทยไปร่วมงานที่จะจัดขึ้นช่วงปลายปี ซึ่ง Black Sugar เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับเชิญให้ไปร่วมงาน

แม้ว่า MQ Vienna Fashion Week ไม่ได้เป็นงานใหญ่โตอะไรมากมาย แต่ดิฉันก็ภูมิใจที่มีโอกาสได้นำผลงานไปแสดงอวดสายตาชาวต่างชาติให้เขาเห็นศักยภาพของดีไซเนอร์ไทย ตอนแรกไม่เคยรู้จักงานนี้มาก่อนจึงลองเสิร์ชข้อมูลดู และเห็นว่าเป็นงานที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงพระสิริโฉมด้วยฉลองพระองค์ชุดไทยบนรันเวย์ MQ Vienna Fashion Week 2013 ก็ทำให้ยิ่งรู้สึกภูมิใจที่ได้ไปงานนี้

ครั้งนั้นเราไปกันทั้งครอบครัว ไปช่วยกันดูแลตั้งแต่การฟิตติ้งชุดให้นางแบบ ไปยืนรีดผ้าเองเป็นครึ่งวัน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับเรา ปัญหาที่ทำให้ทำงานไม่คล่องตัวคือเรื่องภาษานี่แหละซึ่งทำให้รู้สึกอึดอัดอยู่บ้าง แต่ทางสถานกงศุลไทยของกรุงเวียนนาให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ช่วยหาล่ามมาให้ ทำให้งานออกมาอย่างราบรื่น

การแสดงแฟชั่นโชว์ก็ได้ผลตอบรับดีมาก ดิฉันได้ยินเสียงปรบมือรัว ๆ จนถึงตอนเดินกลับเข้าไปหลังเวทีและมีชาวต่างชาติมาขอถ่ายรูปด้วยเยอะ ดิฉันดีใจที่มีคนชอบและชื่นชมผลงาน และภูมิใจว่าเสื้อผ้าแบรนด์เล็ก ๆ ที่ถือว่ายังเป็นน้องใหม่ได้มาอวดโฉมให้ชาวต่างชาติได้เห็น

การมาถึงจุดนี้ได้ มีหลักในการใช้ชีวิตและการทำงานอย่างไรบ้างคะ     

คิดว่าเป็นความมุมานะและความรับผิดชอบค่ะ เพราะไม่ว่าจะทำอะไร งานเล็กหรือใหญ่ ดิฉันจะทุ่มเททำอย่างสุดกำลังความสามารถ และงานที่ทำเสร็จแล้วแต่ยังไม่ดีพอก็จะไม่ปล่อยผ่าน บางงานทำเสื้อลูกค้าเสร็จเรียบร้อย ลูกค้ามาลองแล้วชอบมาก แต่ดิฉันกลับสังเกตเห็นจุดบกพร่องเล็ก ๆ แม้ลูกค้าไม่เห็น แต่เราเห็นก็จะไม่ปล่อยผ่านไป เรื่องนี้ก็สร้างความมั่นใจให้ลูกค้า

คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จสูงสุดหรือยังคะ

ยังไม่กล้าพูดว่าตัวเองประสบความสำเร็จมากมายอะไรนะคะ เพราะคิดว่างานของตัวเองไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร แต่ถามว่าพอใจไหม ก็พอใจมากแล้วกับสิ่งที่ทำ ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และถือเป็นความภูมิใจเล็ก ๆ ของคนทำงานออกแบบที่มีคนชื่นชมและชื่นชอบผลงานของเรา

ความสำเร็จนี้จะเรียกว่ามาจากพรสวรรค์หรือพรแสวงดีคะ

ทั้งสองอย่างค่ะ คือดิฉันเชื่อว่าทุกคนย่อมมีพรสวรรค์ด้านในด้านหนึ่ง เมื่อเรารู้เราก็เอาพรสวรรค์ที่มีไปหาพรแสวงเพิ่มเติมพรสวรรค์ที่มีอยู่เดิมก็จะเด่นชัดและแข็งแกร่งมากขึ้น เพราะเมื่อมองย้อนกลับไปอดีต ดิฉันคงมีพรสวรรค์ในการวาดรูป แต่ถ้าดิฉันไม่ได้เป็นคนที่ไขว่คว้าหาพรแสวงมาเพิ่มเติม หนทางชีวิตก็ไม่น่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ว่าตัวเองมีพรสวรรค์ในด้านใด ก็ต้องใช้พรแสวงมาช่วยเสริมเติมให้พรสวรรค์ที่มีอยู่ในตัวได้เปล่งประกายออกมา และใช้ประโยชน์จากพรสวรรค์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองให้มากที่สุดด้วย

นอกจากธุรกิจเสื้อผ้า คุณเมยังทำสินค้าอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ดูเหมือนไฟสร้างสรรค์ในตัวเธอจะยังคงลุกโชนอยู่เสมอ เรื่องราวของดีไซเนอร์วัย 60 ปีคนนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า “อายุเป็นเพียงตัวเลข” จริง ๆ 

Secret BOX

“อายุ” ไม่ใช่ข้ออ้างในการหยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ – เมธาวี อ่างทอง


ที่มา: นิตยสาร SECRET

เรื่อง: เชิญพร คงมา ภาพ: สรยุทธ พุ่มภักดี สไตลิสต์: ณัฏฐิตา เกษตระชนม์ ผู้ช่วยสไตลิสต์: ชลิตา รักธรรมนูญ


บทความน่าสนใจ

ชีวิตวัยเด็กที่ไม่เคยยอมแพ้ ของ ตุ๊กตา อุบลวรรณ บุญรอด

ความสุขหลังคราบน้ำตา ชีวิตของ หนูเล็ก ภัทรวดี ปิ่นทอง

รักแท้ไม่แพ้โชคชะตา ตี้  สมเจตน์ เจริญวัฒน์อนันต์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.