พบกับทางออกของปัญหา ด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้าผ่านเรื่องราวของคุณแม่ท่านหนึ่งที่มีลูกชาย เกรงกลัวต่อบาปขั้นรุนแรง ถึงขนาดเฝ้าครุ่นคิดถึงเรื่องนี้ตลอดเวลา
เธอจะหาวิธีช่วยลูกได้อย่างไร และตัวเธอเองจะคลายจากทุกข์ได้หรือไม่ โปรดติดตาม
ลูกชายของดิฉันเป็นเด็กขี้กลัวมาตั้งแต่เด็ก เขามักกลัวเรื่องบาปกรรม กลัวการตกนรก กลัวการทำผิด ไปจนถึงกลัวความคิดที่ไม่ดีของตัวเอง
หากว่าความกลัวเหล่านี้มีเพียงเล็กน้อย คนที่เป็นแม่คงไม่กังวลใจ แต่ลูกของดิฉันซึ่งปัจจุบันอายุ 12 ปี กลับคิดเรื่องเหล่านี้ตลอดเวลาแม้กระทั่งตอนเข้าห้องสอบ เช่น วันนี้ผมทำผิด ผมคงต้องตกนรก วันนี้ผมคิดไม่ดีกับอาจารย์ ผมจะทำยังไงดี หรือบางครั้งเขาก็มาร้องห่มร้องไห้สารภาพผิดกับดิฉันว่า เขาคิดฆ่าพ่อแม่ คิดฆ่าพระ ฆ่าเทพเจ้า ฯลฯ และสุดท้ายความคิดของเขาก็จะวกกลับมาที่การคิดโทษตัวเองทั้งวันทั้งคืน ลูกมาสารภาพบาปให้ดิฉันฟังทุกวัน ดิฉันจึงสอนเขาด้วยธรรมะที่ศึกษามากว่าค่อนชีวิต เช่น สอนให้เขาให้อภัยตัวเอง กลับมารักตัวเองให้เป็น และอยู่กับปัจจุบัน แต่ไม่ว่าจะพูดอย่างไรก็ไม่เป็นผล สุดท้ายดิฉันจึงพาเขาไปสารภาพบาปกับพระพุทธเจ้า ต่อหน้าพระพุทธรูป เพื่อให้ลูกลดความรู้สึกผิดบาปในใจ
แต่ผ่านไปนานวัน ลูกกลับมีอาการแปลก ๆ มากขึ้น ดิฉันจึงส่งลูกไปคุยกับจิตแพทย์ แพทย์วินิจฉัยว่า อาการของเขาเกิดจากความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนในสมอง ส่งผลให้มีความไฮเปอร์ที่แสดงออกมาด้วยอาการวิตกจริตและขี้กังวลมากกว่าคนปกติ ครั้งนั้นแพทย์สั่งยาให้ลูก แต่แม้จะกินยาแล้วก็ตาม อาการของลูกก็ไม่ดีขึ้นเลย ยังคงนึกถึงความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในอดีตซ้ำ ๆ แล้วนำมาตอกย้ำตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า จนดิฉันกลัวว่าลูกจะเป็นโรคประสาท
เมื่อมองไม่เห็นหนทางที่จะช่วยเหลือลูกได้ ดิฉันจึงตัดสินใจมาพบพระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ พร้อมกับลูกชาย ในวันนั้นดิฉันถามพระอาจารย์นวลจันทร์ว่า…
“พระอาจารย์คะ ลูกชายของโยมคิดตลอดเวลาเกี่ยวกับเรื่องความตาย การฆ่าคน ไปจนถึงเรื่องราวในอดีตที่เป็นเหตุการณ์เล็ก ๆ ที่เขาทำผิดไป และมีความรู้สึกว่าตัวเองทำผิดตลอดมา เป็นเวลาสามปีแล้ว บางทีเวลาเขาคิดอะไรไม่ดีกับใครก็อยากจะขอโทษหรือสารภาพผิด แต่พอขอโทษไปแล้ว ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจลูกชายของโยม ลูกของโยมควรปฏิบัติตัวอย่างไรดีคะ”
เมื่อไรที่มีการล่วงละเมิดทางใจ คือคิดไม่ดีกับใครที่ทำให้เกิดมโนทุจริต ก็ให้ขอโทษขอขมาในใจได้เลย เพราะบางสิ่งเราไม่สามารถทำข้างนอกได้
จริง ๆ ลูกของโยมไม่ธรรมดา แม้ทำผิดพลาดเพียงเล็กน้อยแต่เห็นเป็นโทษยิ่งใหญ่ แม้เพียงทางใจก็ไม่อยากทำ เพราะทำแล้วใจไม่สบาย ไม่เคลียร์ ต้องมีการกระทำคืนก่อน เช่น ขอโทษ ขอขมา มันถึงจะหายไป แบบนี้ไม่ใช่วิถีของปุถุชนชั้นหยาบที่ทำอะไรผิดก็ไม่แคร์…แบบนี้น่าอนุโมทนา ถือว่าสร้างเหตุมาดีไม่น่าห่วง ให้คุณแม่ถือว่าเป็นสัญญาเก่าของเขาติดมา เป็นหิริโอตตัปปะขั้นสูง เกรงกลัวและหวาดกลัวในการที่จะทำผิดทำบาป
ก่อนหน้านี้เคยมีเด็กอายุน่าจะราว 5 – 6 ขวบอยู่คนหนึ่ง ในยามปกติเขาเป็นเด็กเรียบร้อย แต่เวลานอนแล้วจะละเมอกลายเป็นคนละคน เขาละเมอขว้างปาสิ่งของและก้าวร้าว พ่อแม่ก็ตกใจนึกว่าผีเข้า แต่สืบไปสืบมาไม่ใช่ มันเป็นสัญญาเก่าในอดีตของเด็กคนนี้ที่มาปรากฏในตอนที่ไม่รู้สึกตัว ความจริงเมื่อเราสร้างเหตุอะไรเอาไว้มาก ๆ จนเคยชิน สิ่งเหล่านั้นก็จะติดมากลายเป็นสัญญา
ถ้าในปัจจุบันจิตยังตั้งมั่นไม่พอ เช่น ยังเป็นเด็ก สมาธิยังน้อย สังขารก็จะปรุงแต่งมากจนควบคุมไว้ไม่ได้ ทำให้ไม่สบายใจจนเกิดความกังวล เศร้าหมองในจิตใจ เราก็ต้องสอนให้เขาทำกรรมฐานให้จิตตั้งมั่นขึ้น จะได้ไม่โดนความคิดลากให้ไปจมอยู่กับมัน เมื่อเกิดสัญญาก็เห็นว่ามันโผล่ขึ้นมาเฉย ๆ เช่น เห็นคนมาไล่ฆ่า ไล่ยิ่ง หรืออยากไปฆ่าปาดคอใคร ก็ดูความคิดที่มันเกิดขึ้นแล้วดับไป เหมือนฟองสบู่ที่ลอยขึ้นมาแล้วก็แตก
อย่างลูกชายคุณโยม ขอให้ลองสอนเรื่องการรักษาศีล 5 และเสริมกรรมฐาน เช่น ให้ลองนั่งสมาธิหลับตา ดูลมหายใจที่เข้า – ออก ตั้งใจอยู่กับลมหายใจ ไม่นานหรอกเดี๋ยวความคิดก็ดับไป ทำเรื่อย ๆ ห้านาทีบ้าง นาน ๆ ทีก็ลองทำครึ่งชั่วโมงบ้าง หนึ่งชั่วโมงบ้าง
ถ้ามีโอกาส ให้ลูกได้บวชภาคฤดูร้อนสักครั้ง บางคนบวชแล้วชีวิตพลิกกลับเลย ด้วยอานุภาพของร่มกาสาวพัสตร์ อย่างลูกโยมมีร่องจิตมาทางนี้อยู่แล้ว ลองดูก็ไม่เสียหายอะไร
นอกจากนี้ลองฝึกให้เขาแผ่เมตตาให้กับตัวเอง เช่น แผ่เมตตาให้กับหัวใจ ปอด ตับ ม้าม…ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุขปราศจากความทุกข์ทั้งปวง และขอให้รู้ไว้เถอะว่า เมตตาภาวนามีอานุภาพยิ่งใหญ่มหาศาลเลยทีเดียว
“อันที่จริง สิ่งที่พระอาจารย์แนะนำมา โยมก็ลองให้ลูกปฏิบัติอยู่แล้วเจ้าค่ะ เวลามีทุกข์ก็จะให้เขานั่งสมาธิ แต่หลังออกจากสมาธิเขายิ่งคิดมาก โยมก็จะให้เขาสวดมนต์แผ่เมตตา และสิ่งเดียวที่เขาปฏิบัติเองมาตลอดคือ การรักษาศีลห้าอย่างเข้มข้น เขากลัวเรื่องพูดปด ฆ่าสัตว์ กลัวเรื่องไม่ดีทุกอย่าง แต่บางครั้งโยมก็อยากให้เขาคิดแต่พอดี ๆ เลิกเคร่งเครียดกับชีวิต จึงมักแนะนำเขาว่า ให้ปล่อยวางบ้าง เพราะความคิดเมื่อเกิดขึ้นมาก็จะดับไปเอง”
ช่วงที่เด็กกำลังโต โดยวัยเขาจะเป็นแบบนี้ อีกสัก 2 – 3 ปี อาการเหล่านี้จะหายไป ดับไป เปลี่ยนไป แล้วเขาก็จะดีขึ้น ตั้งมั่นขึ้น…ส่วนตอนนี้ก็ทำอย่างที่โยมว่าก็ดีที่สุดสำหรับลูกแล้ว…ถือว่าโยมเป็นครอบครัวตัวอย่างครอบครัวหนึ่งได้เลย
หลังจากสองแม่ลูกมีโอกาสพบกับพระอาจารย์ในครั้งนี้ ฝ่ายลูกซึ่งได้รับฟังคำสอนของพระอาจารย์พร้อม ๆ กันกับแม่ มีท่าทีสงบและผ่อนคลายมากขึ้น เพราะเข้าใจแล้วว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรไม่ให้ตัวเองเป็นทุกข์
ทว่าที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือ สภาพจิตใจของแม่ที่เริ่มโยนความกังวลใจทั้งหมดทิ้งไป และมั่นใจในวิธีการเยียวยาลูกมากขึ้นกว่าเดิม
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง ผั่นพั้น