วิธีเลิกผัดวันประกันพรุ่ง

วิธีเลิกผัดวันประกันพรุ่งแบบง่าย ๆ เพียงรู้เท่าทัน 7 ข้ออ้างอันตราย

วิธีเลิกผัดวันประกันพรุ่ง แบบง่าย ๆ เพียงรู้เท่าทัน 7 ข้ออ้างอันตราย

หลายคนต้องเผชิญกับปัญหานี้ ชอบอ้างด้วยเหตุผลต่างๆ นานา แต่ทว่าการทำแบบนี้เท่ากับว่าเส้นทางแห่งความสำเร็จถูกผลักออกไปไกลยิ่งขึ้น จนเรารู้สึกว่า “ช่างเถิด” หรือ “ปล่อยไปเถิด” จนกระทั่งเลิกคิดที่จะไปถึงความสำเร็จที่ใฝ่ฝันไว้ วันนี้ซีเคร็ตมี วิธีเลิกผัดวันประกันพรุ่ง โดยเพียงแค่รู้เท่าทัน 7 ข้ออ้างอันตรายเหล่านี้เป็นพอ

ต้นตอสาเหตุของ “อุปนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง” มาจากความคิดที่ทำให้เราจำกัดความสามารถของตนเอง เมื่อขาดการป้องกันไม่ให้ความคิดพวกนี้เกิดขึ้น มันจึงทำให้เราสร้าง “ข้ออ้าง” ว่าทำไม่ได้ ผลสุดท้ายคือเราไม่ประสบความสำเร็จในการทำงาน อย่างไรก็ตาม เมื่อเราท้าทายข้ออ้างเหล่านี้ จะทำให้เราเห็นว่าสาเหตุที่แท้จริงมาจากความกลัวที่ซ่อนอยู่ในใจของเราต่างหาก

มี 7 ข้ออ้างที่มักพบเห็นได้บ่อยในกลุ่มคนทำงาน เช่น พนักงานออฟฟิศ เมื่อเราเข้าใจถึงสาเหตุของข้ออ้างเหล่านี้ แสดงว่าเราเข้าใกล้วิธีการเอาชนะการผัดวันประกันพรุ่งไปอีกหนึ่งขั้น

มาทำความรู้จักกับ 7 ข้ออ้างอันตรายที่จะผลักเส้นทางสู่ความสำเร็จออกไปจากเรากันดีกว่า

 

ข้ออ้างที่ 1 งานนี้ไม่สำคัญ

เคยคิดไหมว่างานนี้ไม่สำคัญ ไม่ใช่งานที่ต้องเร่งรีบทำทันที งานนี้จึงถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ ถ้าอยากเลิกพฤติกรรมแบบนี้ เราควรคิดว่าทุกงานสำคัญเท่ากัน  แต่สำหรับงานที่ไม่ด่วน เราต้องหาเวลาที่เหมาะสมเพื่อจัดการ หรือสรรหาเวลานอกเพื่อให้งานนี้ไม่คาราคาซัง

ลองจินตนาการดูว่า ถ้างานที่ไม่สำคัญมีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีพฤติกรรมชอบเลื่อนงาน กลายเป็นกองงานยักษ์ได้เหมือนกัน ดังนั้นทางออกของปัญหานี้คือ ลงมือทำทันทีอย่างมีชั้นเชิง โดยการวางแผนให้งานลำเลียงออกไปจากเราให้เร็วที่สุด

 

ข้ออ้างที่ 2 งานนี้ต้องทำก่อน

เหมือนจะไม่ต่างจากข้ออ้างแรกนัก “งานนี้ต้องทำก่อน” (งานแทรก) เพราะสำคัญ เป็นงานเร่งด่วนที่หัวหน้าต้องการให้ทำตอนนี้ ซึ่งพบเจอได้บ่อยในงานสายบริษัท สิ่งที่เราควรกระทำก่อนคือการวางแผนรับมือเพื่อให้งานแทรก (งานนี้ต้องทำก่อน) กับงานหลักสำเร็จไปพร้อมกันได้

งานหลักที่เราทำมาจนเชี่ยวชาญแล้ว เราอาจมีความชำนาญ ส่วนงานเร่งด่วนอาจเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการทำ เราใช้ความถนัดและประสบการณ์ที่มีใช้ให้เป็นประโยชน์ เราค่อยๆ ทำงานหลักในช่วงเวลาที่พอจะหาได้ทำไปทีละหน่อย ๆ หรือนอกเวลางานบ้างด้วยความเชื่อมั่นในฝีมือของตนเองว่าสามารถจัดการได้ไม่ยากเลย

 

ข้ออ้างที่ 3 งานนี้ต้องขอศึกษาหาข้อมูล (เสียเวลา) 

ถึงจะดูเป็นข้ออ้างที่สมเหตุสมผล (แต่แอบอันตรายนะจ๊ะ) ถ้าได้รับมอบหมายงานที่แปลกใหม่ เกินความสามารถ ไม่ใช่งานที่ถนัด จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่าต้องเสียเวลาไปกับการหาข้อมูลมากมายขนาดไหน สุดท้ายก็ต้องอ้างว่า “งานนี้ต้องขอศึกษาหาข้อมูล (ซึ่งทำให้เสียเวลา)” วิธีจัดการกับความคิดนี้คือไม่กลัวที่จะเหนื่อยในการหาข้อมูล เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพการทำงานเพิ่มอีกแขนง

 

 

ข้ออ้างที่ 4 ฉันมีภาระงานมากมายเหลือเกิน

เชื่อว่าหลายคนชอบอ้างด้วยประโยคนี้ “ฉันมีภาระงานมากกมายเหลือเกิน” เพราะมีงานหลัก งานแทรก และงานมอบหมายที่เกินหน้าที่มากมายจนกองเป็นภูเขาเหล่ากา เป็นว่าทุกวันนี้มีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบหนักอยู่แล้ว ทำไปก็อดรู้สึกว่างานไม่เสร็จเสียที

ความคิดนี้มักเกิดขึ้นกับคนที่มีความรับผิดชอบสูง คิดว่าเราต้องทำทุกอย่างเอง ข้ออ้างที่ว่า “ฉันมีภาระงานมากมายเหลือเกิน” สิ่งที่ช่วยได้คือการไตร่ตรองว่างานไหนสำคัญที่สุด งานไหนรอได้ และกระจายไปยังคนอื่นที่พอช่วยได้ แล้วจะพบว่าที่จริงแล้วเราจัดการงานนี้ได้ไม่ยากเลย แถมยังสามารถจัดการงานได้ทีละอย่างเลยเสียด้วย

 

ข้ออ้างที่ 5 ตอนนี้ไม่มีเวลา

ข้ออ้างสุดคลาสสิคระดับมาสเตอร์พีซ เป็นข้ออ้างที่สมเหตุสมผลอีกข้ออ้างหนึ่ง เพราะบางครั้งเรากำลังยุ่งอยู่กับงานหนึ่ง แล้วได้รับมอบหมายงานอีกชิ้นหนึ่งเข้ามา ก็จะตั้งรับด้วยข้ออ้างนี้ทันที หรือบางครั้งอาจเป็นการเลื่อนงานใดงานหนึ่งออกไปเพราะยังไม่มีเวลาทำ การอ้างว่า “ตอนนี้ไม่มีเวลา” เท่ากับว่าเราเลือกที่จะเลื่อนมันออกไป มีความเป็นไปได้สูงว่าโอกาสที่เราจะได้ลงมือทำอาจจะไม่มีเลยก็เป็นได้

 

ข้ออ้างที่ 6 ฉันลืมทำ

การผัดวันประกันพรุ่งในหลายๆ ครั้งมักเกิดจากการลืมทำ ด้วยมีภาระงานที่ต้องจดจำมากมาย อาจส่งผลให้หลงลืมได้ ถ้าการลืมงานเกิดขึ้นกับเราบ่อยครั้งจนผิดสังเกต อาจเป็นสัญญาเตือนแล้วว่าภายใต้จิตใจลึก ๆ เราไม่อยากทำงานชิ้นนี้อย่างจริงจัง สาเหตุที่ไม่อยากทำมาจากความกลัว หากทำงานออกมาไม่สำเร็จ กลัวความยากลำบาก ไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองว่าจะทำได้ สิ่งที่ช่วยได้คือสร้างความเชื่อมั่นให้ตนเอง

 

ข้ออ้างที่ 7 ฉันไม่อยากทำ

เป็นอีกข้ออ้างที่ใช้กันบ่อยในกลุ่มคนที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานที่ไม่ถนัด เคล็ดลับที่ช่วยได้คือ สังเกตและพิจารณาหาสาเหตุว่าทำไมเราไม่อยากทำงานนี้ ลองมองงานชิ้นนี้โดยรวม แล้วหาจุดที่ไม่อยากทำให้เจอ เช่น ได้รับมอบหมายให้ประสานงานกับอีกแผนกซึ่งเราไม่ชอบคนในแผนกนั้น ถ้าเป็นแบบนี้เราต้องปรับทรรศนะแล้วแยกแยะว่างานส่วนงาน เรื่องส่วนตัวคือเรื่องส่วนตัวไม่ควรเอาเข้ามาปะปนกัน หรือได้งานที่เกินความสามารถ เช่น ติดตามหน่วยงานราชการ เมื่อเราไม่เคยทำ ควรปรึกษาเพื่อนหรือผู้ที่มีประสบการณ์แทน เผื่อเขาจะแนะนำได้

 

ในบรรดาข้ออ้างอันตรายต่อความสำเร็จทั้ง 7 นี้อาจตรงกับประสบการณ์จริงของใครหลายคน เมื่อเราทราบแล้วว่าข้ออ้างเกิดขึ้นจากความกลัว เราควรขจัดความกลัวนั้นเพื่อให้เราสามารถเดินไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จในหน้าที่การงาน และเราจะไม่เป็นคนผัดวันประกันพรุ่งอีกต่อไป

 

ที่มา : ชนะเพราะหาเวลา ล้มเหลวเพราะหาข้ออ้าง เขียนโดย เอส.เจ. สก็อตต์ แปลโดย ชโลทร โพยมยล

ภาพ : https://pixabay.com


บทความน่าสนใจ

ผู้มีความเพียรเท่านั้นถึงจะประสบความสำเร็จ คำสอนของหลวงปู่สิม พุทธาจาโร

ปัจจัยสู่ความสำเร็จ เพราะชีวิตข้างหน้าต้องดีกว่าตอนนี้

ความสำเร็จของนักธุรกิจคืออะไร ในทรรศนะของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

พุทธชัยมงคลคาถา กับเส้นทางสู่ความสำเร็จของ ดร. ธนากร ศรีชาพันธุ์

ทำธุรกิจ ยิ่งให้ยิ่งได้ ความสำเร็จอยู่ใกล้แค่เอื้อม

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.