ไม่มีใครสามารถชดใช้กรรมแทนกันได้ บทเรียนจาก พระเจ้าวิฑูฑภะ
ดังคำพูดหนึ่งที่ว่า “มนุษย์ต่างมีกรรมเป็นของตน” ท่าจะเป็นเรื่องจริง ไม่มีใครสามารถชดใช้กรรมแทนกันได้ แม้พระพุทธเจ้าจะทรงพยายามห้ามปรามวิบากกรรมของพระญาติแล้วก็ทรงไม่สำเร็จ ดังเรื่องราวของ พระเจ้าวิฑูฑภะ ที่จะเล่าต่อไปนี้
ครั้งพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ในกรุงสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงปรารถนาเกี่ยวดองเป็นพระญาติกับพระพุทธเจ้า จึงส่งทูตไปสู่ขอพระธิดาศากยวงศ์มาสถาปนาเป็นพระอัครมเหสี
ครั้งทูตเดินทางไปถึงกรุงกบิลพัสดุ์ซึ่งปกครองโดยพระเจ้ามหานามะ พระอนุชาแห่งพระเจ้าสุทโธทนะ ได้ส่งพระราชสาส์นขอเจ้าหญิงศากยวงศ์ไปอภิเษกสมรสกับพระเจ้าปเสนทิโกศล
เจ้าศากยวงศ์เห็นว่าสายโลหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศลไม่เสมอกับสายโลหิตศากยวงศ์ที่บริสุทธิ์ จึงลงมติว่าจะส่งพระธิดาของพระเจ้ามหานามะที่เกิดจากนางทาสี มีนามว่า “วาสภขัตติยา” ไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงดีพระทัย รักใคร่พระนางวาสภขัตติยาเป็นอย่างมาก มีพระดำริว่านับจากนี้ไปพระองค์ได้เป็นพระญาติกับพระผู้พระภาคเจ้า พระสาวกและพระสาวิกาที่เป็นเจ้าศากยวงศ์จะได้ไม่มองว่าพระองค์ทรงเป็นคนอื่นคนไกล
พระนางวาสภขัตติยาให้ประสูติพระโอรสที่มีผิวพรรณดั่งทองคำ พระนางตั้งพระนามพระโอรสว่า “วัลลภา” แต่ตรัสด้วยพระสุรเสียงอันเบามาก เพราะทรงเหน็ดเหนื่อยจากการให้ประสูติ อำมาตย์ได้ยินเฟี้ยนจึงถวายพระนามพระกุมารว่า “วิฑูฑภะ”
พระวิฑูฑภกุมารเจริญวัยเป็นหนุ่ม ไม่เคยเห็นพระญาติฝ่ายพระมารดามาเยี่ยมเยือน พระนางวาสภขัตติยาได้แต่ตรัสว่า กรุงกบิลพัสดุ์อยู่ไกลมาก เหล่าพระญาติจึงไม่สะดวกเสด็จมาเยี่ยม เจ้าชายหนุ่มดื้อดึงจะไปเยี่ยมพระญาติ พระนางวาสภขัตติยาจึงส่งพระราชสาส์นไปแจ้งเจ้าศากยวงศ์ให้ทราบว่า เจ้าชายวิฑูฑภะจะเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์
เมื่อเจ้าศากยวงศ์ได้พระราชสาส์น ทราบว่าเจ้าชายวิฑูฑภะ ผู้มีเชื้อสายนางทาสีจะทำให้กรุงกบิลพัสดุ์มัวหมอง จึงจัดแจงส่งเจ้าศากยวงศ์ที่มีพระชนมายุน้อยไปประทับที่ชนบท
เจ้าชายหนุ่มเสด็จมาถึงกรุงกบิลพัสดุ์พร้อมพลทหารจำนวนหนึ่ง เจ้าชายทรงแปลกพระทัยว่าพระญาติทั้งหลายต่างกระทำตนอย่างห่างเหิน แต่เจ้าชายก็ประทับอยู่ที่นี่นานถึง 3 วันแล้วจึงเสด็จกลับ พลทหารนายหนึ่งลืมของไว้จึงหวนกลับมากรุงกบิลพัสดุ์อีกครั้ง ปรากฏได้ยินนางทาสีคนหนึ่งพูดว่า “จนเอาแผ่นอาสนะที่เจ้าวิฑูฑภะ เชื้อนางทาสีไปทำร้ายทิ้งเสีย อย่าให้เป็นเสนียดต่อบ้านเมือง” นายทหารนายนั้นจึงรู้ภูมิหลังของพระนางวาสภขัตติยาและเจ้าชายวิฑูฑภะ
คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป >>>