จูฬสุภัททา สตรีผู้ทำให้ครอบครัวของสามีกลายเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ

จูฬสุภัททา สตรีผู้ทำให้ครอบครัวของสามีกลายเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ

จูฬสุภัททา เป็นแบบอย่างที่น่าชื่นชมของสตรีผู้ยึดมั่นในพระพุทธศาสนา นางเป็นธิดาของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก่อนที่จะออกเรือน นางมีหน้าที่ดูแลเรื่องอาหารและวัตถุทานตามคำขอของบิดา สำหรับจัดเตรียมไวhถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย แต่เมื่อนางไปอยู่ในครอบครัวฝ่ายสามี หน้าที่นี้จึงตกมาเป็นของนางสุมนาเทวี ซึ่งทำให้นางสำเร็จธรรมเป็นสกทาคามี

สิ่งที่นางจูฬภัททาทำไว้ในพระพุทธศาสนา คงหนีไม่พ้นการที่นางทำให้ครอบครัวสามีหันมานับถือพระพุทธศาสนา โดยเรื่องมีอยู่ว่า อุคคเศรษฐี เป็นสหายเก่าแก่ของอนาถบิณฑิกเศรษฐีมาตั้งแต่สมัยยังหนุ่ม ๆ ทั้งสองเคยทำสัญญาต่อกันว่า หากฝ่ายใดมีลูกสาวและอีกฝ่ายมีลูกชายจะให้แต่งงานกัน เมื่อต่างฝ่ายต่างแยกย้ายไปช่วยกิจการครอบครัวของตน เมื่อบิดาได้สิ้นบุญลง จากบุตรเศรษฐีก็กลายเป็นเศรษฐี วันหนึ่งอุคคเศรษฐีเดินทางมาทำการค้าขายที่กรุงสาวัตถี จำได้ว่าอนาถบิณฑิตเศรษฐีพำนักอยู่ที่เมืองนี้จึงแวะเข้าไปเยี่ยมเยือน

เมื่ออุคคเศรษฐีมาถึงเรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้ว อนาถบิณฑิกเศรษฐีให้นางจูฬสุภัททาออกมาดูแลสหายเก่าของพ่อ อุคคเศรษฐีสังเกตกิริยามารยาทของนางจูฬสุภัททาแล้วก็ชื่นชอบ จึงได้ทวงสัญญาที่เคยให้กันไว้ อนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าควรจะยกธิดาแต่งงานไปกับลูกชายของอุคคเศรษฐีหรือไม่ เพราะพวกเขาไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ธิดาของท่านเศรษฐีสามารถแต่งงานกับบุตรชายของอุคคเศรษฐีได้ไม่มีปัญหา” เมื่อทราบดังนั้นแล้วอนาถบิณฑิตเศรษฐีก็สบายใจ ทั้งสองครอบครัวได้ทำการปรึกษาหารือเพื่อตระเตรียมพิธีมงคลสมรส ก่อนถึงวันงานอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้สอนให้ธิดาเป็นลูกสะใภ้และภรรยาที่ดี หลังจากนั้นอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวก ก่อนนางจูฬสุภัททาจะไปสู่ครอบครัวของสามี

เมื่อนางจูฬสุภัททาไปอยู่ในเรือนของสามี อุคคเศรษฐีได้จัดเลี้ยงนิครนถ์ เขาบอกให้ลูกสะใภ้ออกมาไหว้นิครนถ์ นางจูฬสุภัททาตกใจที่ตนต้องไหว้ชีเปลือก นางก็ไม่ยอมออกมาทำการสักการะนักบวชนุ่งลมห่มฟ้าเหล่านั้น เพราะนางมองว่านักบวชเหล่านี้เป็นผู้ไม่มีความละอาย ทำให้อุคคเศรษฐีเกิดความไม่พอใจอย่างมาก เศรษฐีได้ถามลูกสะใภ้ว่า “ทำไมเจ้าไม่ทำความเคารพต่อนักบวชที่เราเคารพ แล้วนักบวชที่เจ้าจะเคารพพึงเป็นเช่นไหน”

นางจูฬสุภัททาตอบว่า “นักบวชที่เราจะเคารพท่านต้องเป็นผู้มีกาย ใจ และสายตาที่สำรวม พูดพอประมาณ การกระทำทั้งทางกาย วาจา และใจสะอาดหมดจด เป็นผู้ไม่มีมลทินดุจสีของเปลือกสังข์และไข่มุก เพราะท่านบริบูรณ์ไปด้วยธรรม ท่านเป็นผู้อยู่ตรงกลางระหว่างลาภ เสื่อมลาภ ยศ เลื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข และ ทุกข์  (เป็นผู้ไม่กระทบต่อโลกธรรม 8)”

แม่สามีได้ยินดังนั้นก็กล่าวต่อลูกสะใภ้ว่า “เจ้าช่วยทำให้พวกเราได้รู้จักนักบวชที่เจ้าเคารพได้หรือไม่” 

“ได้ค่ะท่านแม่ วันพรุ่งนี้พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระสาวกจะมารับมหาทานที่บ้านของเรา” 

นางจูฬสุภัททาได้ตั้งอธิษฐานอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสาวก ให้มารับทานที่เรือนของครอบครัวฝ่ายสามีในวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับทราบด้วยพระญาณ ตอนนั้นอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้เข้าฟังธรรมของพระบรมศาสดา แล้วได้เข้าไปนิมนต์ให้พระพุทธองค์และพระสาวกมาฉันภัตตาหารที่เรือนของตน แต่พระองค์กลับตรัสว่า “ช้าไปแล้วท่านเศรษฐี วันพรุ่งนี้ธิดาของท่านได้นิมนต์เราและพระสาวกของเราไว้แล้ว” อนาถบิณฑิกเศรษฐีถึงกับตะลึงเพราะธิดาของตนไปอยู่ครอบครัวของสามีแล้ว ทั้งยังอยู่ห่างไกลจากที่นี่มาก พระพุทธองค์ตรัสว่า “สำหรับเราแล้วแม้เราจะอยู่ไกล แต่ก็เหมือนอยู่ใกล้” 

ท้าวสักกะเทวราช (พระอินทร์) ทราบว่านางจูฬสุภัททาได้นิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวกไว้ แต่เรือนของครอบครัวสามีอยู่ห่างไกลจากพระเชตวันนัก จึงมีคำสั่งให้วิษณุกรรมเทพบุตรเป็นผู้เนรมิตเรือนยอด (น่าจะเป็นพาหนะชนิดหนึ่ง หรือเทียบได้กับบุษบกลอยฟ้า) ถวาย เพื่อให้พระพุทธองค์กับพระสาวกใช้เดินทางไปยังเรือนของอุคคเศรษฐี

พอถึงวันรุ่งขึ้น วิษณุกรรมเทพบุตรได้เนรมิตเรือนยอดขึ้นมาตามจำนวนพระสาวก และเดินทางมุ่งไปยังเรือนของอุคคเศรษฐี เมื่อครอบครัวฝ่ายสามีได้เห็นพระพุทธเจ้าและบรรดาพระสาวกก็บังเกิดความเลื่อมใส ได้จัดตกแต่งเรือนด้วยดอกไม้อย่างสวยงาม และได้ถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวก พวกเขาเกิดความสุขใจ จึงนิมนต์มารับมหาทานแบบนี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วัน  ระหว่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้ามารับมหาทานที่นี่ได้ทรงแสดงธรรมโปรดครอบครัวสามีของนางจูฬสุภัททา และชาวบ้านที่อยากเข้ามาร่วมทำบุญด้วย ทำให้มีหลายคนหันมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก

 

ที่มา : อรรถกถา คาถาธรรมบท เรื่องนางจูฬสุภัททา 

ภาพ : www.pexels.com


บทความน่าสนใจ

เมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีได้พบพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก

อนาถบิณฑิกเศรษฐี บุรุษผู้มีแต่ให้

พญาช้างปาลิเลยกะ ผู้ปรนนิบัติพระพุทธเจ้าจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต  

อย่าดูหมิ่นว่าเป็นการทำบุญที่เล็กน้อย

โจรลักทรัพย์ในพระเชตวันได้เป็นพระโสดาบัน

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.