พศิน อินทรวงค์

ตอบคำถาม เรื่อง ธรรมดับทุกข์ โดยคุณ พศิน อินทรวงค์

ตอบคำถาม เรื่อง ธรรม ดับทุกข์ โดยคุณ พศิน อินทรวงค์

หลายคนสงสัยว่าเราจะสามารถนำ ธรรม ดับทุกข์ ต่างๆ มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไรและเราจะพัฒนาตัวเองอย่างไรให้ก้าวหน้าในธรรม…เรื่องนี้คุณ พศิน อินทรวงค์ มีคำตอบให้แล้วค่ะ

 

ผู้อ่านถาม: เราจะมีวิธีจัดการกับความอิจฉาริษยา หรือการเปรียบเทียบได้อย่างไร?

คุณพศินตอบ: การคิดริษยา  การเปรียบเทียบ  หมดกำลังใจ  หดหู่  สิ้นหวัง  มีปมด้อย  ความคิดลบทั้งหมด  เกิดจากจิตไหลไปปรุงแต่ง  หนทางที่จะทำให้จิตหยุดการปรุงแต่ง  คือการทำวิปัสสนาครับ  ทางอื่นก็มีอยู่  เช่นหาอย่างอื่นทำ  หรือพยายามคิดบวก  หรือมีความรัก  พูดคุย  ปรับทุกข์  มีอยู่หลายทาง  แต่ทุกทางก็เป็นเพียงการแก้ที่ปลายเหตุ  เพราะทำได้แค่เบี่ยงเบนความคิด  แต่เดี๋ยวความคิดปรุงแต่งก็จะเข้ามาอีกเพราะการปรุงแต่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาในจิตที่ไม่ได้รับการฝึกฝน

 

ผู้อ่านถาม: ทำไมคนเราถึงคิดว่าความคิดของตนเองถูกต้องเสมอ?

คุุณพศินตอบ: เพราะคนเรามีอัตตาครับ  เมื่อมีอัตตาแล้ว  เราย่อมอยากดีกว่าเขา  เก่งกว่าเขา  วิเศษกว่าเขา  พระพุทธเจ้าท่านจึงให้ละอัตตา  การละอัตตาที่ได้ผลดีที่สุดก็คือการภาวนาจนเห็นการเกิดดับของสิ่งต่างๆ  ภาษาพระท่านเรียกว่า  เห็นการเกิดดับของรูปนาม  เมื่อเห็นการเกิดดับของรูปนามแล้ว  จิตจะเริ่มถอนอัตตาตัวตนลงเป็นลำดับๆ  ความคิดเข้าข้างตนเองก็จะน้อยลงเป็นลำดับเช่นกัน

 

ผู้อ่านถาม: เราจะแยก ความจริง ความเชื่อ และสิ่งที่คิดว่าจริงได้อย่างไร?

คุณพศินตอบ: ต้องศึกษา  หาองค์ความรู้ที่ถูกต้องครับ  ตราบใดที่เรายังไม่ศึกษา  เราก็จะเดาสุ่มไปเรื่อยๆ ว่าชีวิตคืออะไร  ชีวิตเป็นไปอย่างไร  และเราเกิดมาทำไม  คำถามพวกนี้จะวนเวียนไม่รู้จบ  ตราบที่เรายังไม่ศึกษาหนทางที่ถูกต้อง  เมื่อได้ศึกษาแล้ว  แม้ยังสงสัยอยู่  แต่ก็จะพอเห็นเค้าลางของความจริงที่น่าเชื่อถือ  ทำให้เกิดความศรัทธาน้อมใจปฏิบัติ  เมื่อปฏิบัติจนเห็นจริงด้วยตนเองแล้ว  เราจะแยกออกเองว่าอะไรคือความเชื่อ  อะไรคือความจริง  และแม้ยังไม่ลงมือปฏิบัติ  สิ่งที่ศึกษามาก็ยังคงเป็นเพียงความเชื่ออยู่นั่นเอง

 

ผู้อ่านถาม: การสืบต่อของจิต ภพภูมิ ถือว่าสิ่งที่คิดว่าเป็นจริงได้หรือไม่?

คุณพศินตอบ: พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าภพภูมิมีจริงครับ    ถ้าไม่เชื่อก็ต้องพิสูจน์ดูตามแนวทางของท่าน  เพราะเราคงไม่สามารถพาเทวดานางฟ้า  หรือเปรตในนรกมาออกรายการโทรทัศน์ได้ ครั้นเราจะรอไปเรื่อยๆ  จนทดลองตายด้วยตนเองก็จะเป็นสิ่งที่อันตรายมากไปหน่อย  ในการปฏิบัติธรรมนั้น  เคยมีคนถามพระพุทธเจ้าว่า  ถ้าภพภูมิไม่มีจริง  จะไม่กลายเป็นปฏิบัติธรรมไปฟรีๆ หรือ  พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า  การปฏิบัติธรรมนั้นมีประโยชน์หลายประการ  ทำแล้วมีสมาธิดีขึ้น  การงานดีขึ้น  ทุกข์น้อยลง  ถ้ายังต้องเวียนว่ายตายเกิดก็นำไปสู่ภพภูมิที่ดี  และมีโอกาสนิพพานด้วย  แม้ไม่สนใจเรื่องชาติหน้าก็ยังได้ประโยชน์เบื้องต้นจากที่กล่าวไปแล้ว  อย่ามัวเสียเวลาคิดว่า  ชาตินี้ชาติหน้ามีจริงรึเปล่า  ขอแค่เราชั่งใจดูว่า  ฝึกจิตแล้วมีประโยชน์ก็ลงมือทำเถอะครับ  ทำไปเรื่อยๆ  ถ้าคุณได้ฌาน  ได้ญาณแล้ว  คุณก็จะรู้ในสิ่งที่คุณสงสัยได้ด้วยตนเอง  ไม่ต้องไปถามใครอีก  เพราะปัญหาเช่นนี้เป็นปัญหาโลกแตก  คนเห็นเองก็บอกใครไม่ได้  คนที่ไม่เคยเห็น  ก็ย่อมสงสัยเป็นธรรมดา

 

ผู้อ่านถาม: วิธีนิพพานที่ว่าเป็นการไม่ยอมรับอารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นการปรุงแต่งรูปแบบจริงหรือไม่?

คุณพศินตอบ: ถ้ามีการไม่ยอมรับ  ปฏิเสธ  ก็คือการปรุงแต่งครับ  ถ้าไม่ปรุงแต่ง  ก็ต้องรู้อย่างเป็นกลาง

 

ผู้อ่านถาม: วิธีปฏิบัติธรรม อานาปานสติ สติ สมาธิ กับชีวิตการทำงานและภาระทางโลก ให้มีความเจริญทางธรรม ก้าวหน้าทางธรรมและทางโลก?

คุณพศินตอบ: เมื่อฝึกอานาปนสติแล้ว  ใจย่อมสงบเย็นขึ้น  ใจที่สงบเย็นและมีปัญญานี้  จะทางโลกก็ต้องใช้  จะทางธรรมก็ต้องใช้

 

ผู้อ่านถาม: บางครั้งหนูเคยอยากหาคำตอบให้ชีวิตแล้วลองนั่งสมาธิดูปรากฏว่าพอหลังตื่นขึ้นมา(ออกจากสมาธิ)มันมีแต่ความนิ่งไม่ได้(มันไม่ได้มีคำตอบชัดเจน)มีคตอบชัดเจน มีคำแนะนำอย่างไรคะ?

คุณพศินตอบ: สมาธิทำให้จิตสงบ  เมื่อสงบแล้ว  ก็ให้เริ่มเดินปัญญาต่อ  คือให้สังเกตการณ์เกิดดับ  เมื่อเห็นการเกิดดับ  จิตก็จะได้ศึกษาความจริงของไตรลักษณ์  ลองไปศึกษาเรื่องการทำวิปัสสนาดูนะครับ

 

ผู้อ่านถาม: หนูสงสัยมานานแล้วค่ะ ไม่รู้ว่าเป็นคำถามที่ควรถามไหมถ้าออกจากวัฏฎสงสารออกจากเกมส์ คือการฝึกวิปัสสนาดูจิตใจหนูแค่สงสัยว่าทำไม สิ่งมีชีวิตต้องเล่นเกมนี้ต้องเวียนว่ายอยากรู้จุดเริ่มต้น (ใช้คำว่า “เพราะคำว่าไม่รู้หรือเปล่าคะ?”)

คุณพศินตอบ: พระพุทธเจ้าท่านว่า  อวิชาคือสาเหตุที่ทำให้สัตว์โลกต้องเวียนว่ายตายเกิด  เมื่ออวิชาเปลี่ยนเป็นวิชาคือความรู้แจ้ง  ก็ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป  ทีนี้ถ้าเราจะสาวไปเรื่อยๆ ว่าทุกอย่างมาจากไหน  ก็คงไม่มีใครตอบได้  พระพุทธเจ้าจึงไม่ให้ไปใส่ใจกับเรื่องนี้นัก

 

ผู้อ่านถาม: จะเริ่มทำ-เริ่มฝึก อาณาปาณสติ ควรเริ่มต้นอย่างไรก่อน?

คุณพศินตอบ: เริ่มจากเรียนรู้คุณค่าที่แท้จริงก่อน  ว่ามีประโยชน์อย่างไร ทำไมจึงต้องฝึก  เพราะถ้าเราไม่เห็นประโยชน์อย่างแท้จริง  เราก็จะทำๆ เลิกๆ  สุดท้ายก็แทบไม่ได้อะไร

 

ผู้อ่านถาม: วิธีขจัดความขี้เกียจทำยังไงดีคะ?

คุณพศินตอบ: ก็ทำไปทั้งๆ ที่ขี้เกียจครับ  คนที่ทำอะไรๆ ได้ก็ไม่ได้หมายความว่า  เขาจะไม่มีความขี้เกียจ  เพียงแต่เขาใช้หลักการที่ว่ามา  คือทำไปทั้งๆ ที่ขี้เกียจ

 

ผู้อ่านถาม: เกิดความสงสัยในบางครั้งว่า “ทุกสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นเรื่องจริงหรือไม่”คุณผศินก้าวผ่านความคิดนั้นได้อย่างไร?

คุณพศินตอบ: บางเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัส  ถ้าเราศึกษาและทดลอง  เราก็รู้ได้เลยว่าจริง เช่นเรื่องของจิต  แต่บางเรื่องศึกษาไป  เราก็บอกไม่ได้ว่า มีจริงหรือไม่  ก็ต้องอาศัยศรัทราเอาในเบื้องต้น  เช่นเรื่องภพภูมิเป็นต้น  สิ่งที่ผมเขียน  หรือบรรยาย  ก็มาจากสองส่วน  ศึกษาบ้าง  ปฏิบัติเองบ้าง  ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ก็ไม่ใช่ความลับยิ่งใหญ่อะไร  ถ้าเปิดดูพระไตรปิฎกก็จะเห็น  หรือบางส่วนฝึกปฏิบัติเอาก็จะรู้ได้เองครับ

 

ผู้อ่านถาม: มนุษย์เกิดมาจำอดีตชาติไม่ได้ แต่เทวดาและสัตว์ในอบายภูมิ 4 เมื่อตายจากภพมนุษย์แล้ว จะจำได้ไหมว่าตนเองเคยเป็นคนมาก่อน?

คุณพศินตอบ: ก็คงมีทั้งที่จำได้และไม่ได้ครับ  อย่างในพระไตรปิฎก  ก็มีเทวดาที่จำได้ว่าตัวเองทำบุญอะไรมาจึงได้เป็นเทวดา  ส่วนที่จำไม่ได้ก็เช่นมนุษย์อย่างเราเป็นต้น

 

ผู้อ่านถาม: ในเรื่องการฝึกสติให้สตอง หยุดคิดถาวรไม่โกรธทำอย่างไรคะ เช้นถ้าไม่ชอบสามีดูคลิปโป๊ โคโยตี้ แม้จะเป็นเรื่องปกติของผู้ชายทำอย่างไรให้ปล่อยวาง และใจนิ่ง ไม่โกรธในทุกครั้งที่ต้องไปรับรู้คะ?

คุณพศินตอบ: ควบคุมความคิดไปทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ครับ  เพราะที่สุดแล้วความคิดคือกระบวนการปรุงแต่งของจิตที่เกิดขึ้นเป็นอัตโนมัต  แต่เราทำให้ความคิดปรุงแต่งน้อยลงได้ด้วยการทำสมาธิ  เมื่อความคิดปรุงแต่งน้อยลงระดับหนึ่ง  จะทำให้เราอยู่เหนือความคิดได้ง่ายขึ้น  ซึ่งการอยู่เหนือความคิดนี้  จะต้องใช้หลักของวิปัสสนา  สรุปว่า  ให้ลองไปฝึกวิปัสสนาดูนะครับ  เมื่อฝึกแล้ว  ก็ทำให้เป็นปกติ  แล้วจิตที่วิ่งขึ้นวิ่งลงของคุณจะเกิดสมดุลไปเอง  ไม่ใช่แค่เรื่องสามี  แต่เป็นทุกๆ เรื่องในชีวิตเลยครับ  แล้วความเบิกบานก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

ผู้อ่านถาม: ช่วยแนะนำว่าจะอยู่อย่างไรกับสื่อในยุคปัจจุบัน(Social Media)อดปรุงแต่งไม่ได้ บางครั้งเกิดคามอยาก ตามไปกับสิ่งที่เห็น?

คุณพศินตอบ: ใช้เท่าที่จำเป็น  และเอาเวลาไปฝึกจิตครับ

 

ผู้อ่านถาม: ขอวิธีการทำลายจิตปรุงแต่งง่ายๆเมื่อเวลจิตปรุงแต่งมันเกิดขึ้น?

คุณพศินตอบ: วิธีลดการปรุงแต่งคือ  ทำสมาธิ  เมื่อทำสมาธิแล้ว  การปรุงแต่งจะลดลงเองตามธรรมชาติ  แม้มีการปรุงแต่งเกิดขึ้น  ก็ใช้หลักวิปัสสนา  คือถอนตนเองมาเป็นผู้ดูการปรุงแต่ง  ทำอย่างนี้  การปรุงแต่งก็จะมีอิทธิพลเหนือเราน้อยลง

 

 ผู้อ่านถาม: เวลาปฏิบัติจะรู้ได้ไงว่าจิตเราอยู่ขั้นไหนแล้ว ได้ฌานหรือไม่ สิ่งที่เห็นเป็นนิมิตหรือจิตปรุงแต่งแล้วที่ทำไปถูกหรือไม่?

คุณพศินตอบ: ให้ไปศึกษาเรื่ององค์ฌานดูนะครับ    จะมีระบุว่าอาการในแต่ละฌานเป็นอย่างไร  สามารถเช็คดูตามนั้นได้เลย

 

ผู้อ่านถาม: เราจะรู้ได้ไงว่าสิ่งที่ปิ๊งออกมา เป็นปัญญา หรือจิตปรุงแต่งตามที่เราอยากให้เป็น?

คุณพศินตอบ: คล้ายๆ คนที่รู้ทางครับ  สมมุติผมถามว่า  ทางจะไปดอนเมืองไปทางไหน  ถ้าคุณมีความรู้จริง  คุณจะไม่คลุมเครือ  แต่ถ้าคุณปรุงแต่ง  คุณจะบอกผิดๆ ถูกๆ  ถ้ารู้สึกผิดๆ ถูกๆ  เหมือนคนไม่รู้บอกทางไปดอนเมืองให้เลิกเลยครับ  อย่างนี้คือการปรุงแต่งพันเปอร์เซ็นต์

 

ผู้อ่านถาม: ฉันทะ กับ ตัณหา ต่างกันอย่างไร (ยังไม่เข้าใจ) ฉันทะสร้างได้อย่างไร

คุณพศินตอบ: เด็กคนหนึ่งชอบทำกับข้าว  ตั้งใจทำทุกวัน  คิดสูตร  หาตำราอ่าน  นี่คือฉันทะในการทำกับข้าว  เด็กอีกคนอยากเป็นพ่อครัวใหญ่  อยากมีเงินมากๆจากการทำกับข้าว  วันๆ  เดินไปดูพ่อครัวดังๆ ว่าเขาได้เงินเท่าไหร่  ใช้รถอะไร  ทำกับข้าวอยู่ในโรงแรมหรูแค่ไหน  นี่คือตัณหาครับ

 

ผู้อ่านถาม: โยนิโสมนสิการ คือการคิด วิปัสสนา ไม่ให้คิด ต่างกันอย่างไร

คุณพศินตอบ: โยนิโสมนสิการ  คือการคิดใครครวญในชีวิต  ไม่ต้องภาวนาก็คิดได้  เหมาะกับยามที่จิตใจฟุ้งซ่าน  ส่วนวิปัสสนา  คือการสังเกตการณ์เกิดดับในยามที่ภาวนาอยู่  เหมาะกับเวลาที่จิตสงบแล้ว  สองอย่างนี้สำคัญทั้งคู่  จะขาดส่วนหนึ่งส่วนใดไปไม่ได้เลย

 

ผู้อ่านถาม: มีวิธีอย่างไรให้มีความเพียร ขยันทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอทุกวัน

คุณพศินตอบ: แรกๆ  ฝืนๆ ทำไปก่อน  ทำไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่ง    สมาธิจะให้ความสุข  เมื่อเกิดความสุขจากสมาธิ  ใจจะอยากทำไปเอง  แต่ช่วงแรก  ทุกคนต้องฝาความขี้เกียจของตัวเองไปก่อน

 

ผู้อ่านถาม: การทำสมาธิให้จิตนิ่งได้นาน ไม่คิดปรุงแต่งทำได้อย่างไร แนะนำด้วยค่ะ

คุณพศินตอบ: ก็ทำไปเรื่อยๆ ครับ  สมาธิก็เป็นทักษะ  เหมือนเราถามว่า  ทำอย่างไรจะขี่ม้าได้  เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน  ซึ่งแต่ละคนก็มีพรสวรรค์ในการขี่ม้าไม่เท่ากัน  แต่ถ้าตั้งใจเสียอย่าง  สุดท้ายก็จะสำเร็จแน่นอน

 

ผู้อ่านถาม: ทำไมผู้หญิงถึงสนใจในการปฏิบัติธรรมหรือเข้าวัดมากกว่าผู้ชาย

คุณพศินตอบ: เรื่องนี้ไม่จริงนะครับ  เป็นสิ่งที่คิดเอาเองทั้งสิ้นครับ

 

ผู้อ่านถาม: การทำบุญทำทานจำเป็นมั้ยคะถ้าเราไม่ได้มีเงินมากมาย

คุณพศินตอบ: ไม่จำเป็นครับ  การทำบุญทำได้หลายอย่างมาก  อย่างการภาวนานี่ก็ไม่ใช้เงินเลยแม้แต่บาทเดียว  แถมเป็นสิ่งที่ได้อานิสงค์มากที่สุดด้วย

 

ผู้อ่านถาม: ถ้าเราไม่สนใจคนอื่นเลยจะผิดมั้ยคะ

คณพศินตอบ: ผิดครับ  เราเกิดมาในสังคม  จำเป็นต้องสนใจคนอื่นด้วย  ไม่สนใจ  กับปล่อยวางเป็นคนละเรื่องกัน  ปล่อยวางคือทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว  จากนั้นก็ทำความเข้าใจ ยอมรับ  ผลที่เกิดขึ้น  อย่างนี้คือปล่อยวาง  ส่วนไม่สนใจคือปล่อยปะละเลย  อย่างนี้ไม่เป็นผลดีกับใครครับ

 

ผู้อ่านถาม: สงสัยว่ากว่าเราจะเกิดมาเป็นมนุษย์นั้นยากนักทำไมบางครั้งดูข่าวที่ว่าเด็กระลึกชาติได้ จำพ่อแม่เก่าบ้านเก่าได้ทำไมเหมือนเขาได้เกิดเป็นคนอีกง่ายคะ

คุณพศินตอบ: หนึ่ง  ยากไม่ได้แปลว่าไม่มี  คนได้เกิดเป็นมนุษย์อีก  นั้นมี  แต่เทียบกับประชากรโลก 6000 ล้าน  มันก็น้อยมาก

สอง  คนที่เป็นข่าว  อาจคิดไปเอง  หรือเป็นความจริงเราก็ไม่รู้ได้  แปลว่า  คนที่อ้างว่า  กลับมาเกิด  ก็ต้องมีทั้งคนที่โกหก  เข้าใจผิด  และคนที่พูดจริง

 

ผู้อ่านถาม: จุดเริ่มต้นต้องอ่านหนังสือเล่มใดก่อนคะ เพิ่งเริ่มศึกษาค่ะ

คุณพศินตอบ: อ่านหลักอานาปนสติก่อนก็ได้ครับ  หลักธรรมของศาสนาพุทธนั้นมีอยู่มาก  ถ้ารอให้เข้าใจหมด  จะเสียเวลาเนินนานไป  เอาเป็นว่า  เรารู้หลักภาวนาก่อน  ภาวนาไปเรื่อยๆ  หลักธรรมอื่นๆ ก็ศึกษาไปเรื่อยๆ  ปริญัติ  ปฏิบัติ ปฏิเวธจะได้ไปพร้อมกันเลย

 

ผู้อ่านถาม: โปรดอธิบายความหมายและหลักการของ “ปฏิจจสมุปบาท” และหลักของ “สติปัฏฐาน 4” ครับ

คุณพศินตอบ: ผมจะพูดแบบชาวบ้านๆ อย่างนี้นะครับ   หลักปฏิจจสมุปบาทนั้น  พูดง่ายๆ  ก็คือหลักที่แสดงให้เห็นว่าที่มาที่ไปของสิ่งต่างๆ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นเรานั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร  คล้ายๆ  เราถามย้อนกลับไปว่า  ทุเรียนลูกนี้มาจากไหน  แล้วนักวิชาเกษตรก็บอกว่า  ก่อนจะเป็นทุเรียน  มันต้องมีต้น  ก่อนมีต้น  ก็มีเมล็ด  ก่อนมีเมล็ด  มันต้องมีลูกทุเรียน คือแสดงให้เห็นว่า  “นี่มันคือวงกลม  แล้ววงกลมอันนี้แหละคือวงจรชีวิตของสิ่งที่เรียกว่า  ทุเรียน”ส่วนหลักวิปัสสนา  ก็เหมือนกับว่า  เราฟังนักวิชาเกษตรคนนี้พูดมาแล้วว่า  ทุเรียนเกิดขึ้นมาได้อย่างไร  เราก็พาร่างกายตนเอง  จิตใจตนเองไปเห็นสวนทุเรียนนี้เพื่อต้องการสัมผัสกับขั้นตอนต่างๆ ที่ทำให้ทุเรียนเกิดขึ้นด้วยตนเอง  พูดง่ายๆ ว่า  ปฏิจจสมุปบาทคือโครงสร้างใหญ่ของชีวิต   ส่วนวิปัสสนาคือกรรมวิธีที่ทำให้เราเห็นโครงสร้างใหญ่ของชีวิตที่พูดมา    ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง  นั่นคือ  การพาตัวเองเดินไปสวนทุเรียน  หรือ การฝึกทำวิปัสสนาซะนั่นเอง

 

**คำถามนี้เป็นส่วนหนึ่งจากกิจกรรม “ฝึกสติเพื่อชีวิตสตรอง” ที่จัดขึ้น ณ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชิ่ง จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 4 และ 11 มิถุนายน 2559 **

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

10 ข้อคิดเปลี่ยนชีวิตที่คับแคบให้กลายเป็นท้องฟ้ากว้างใหญ่ โดยคุณพศิน อินทรวงค์

มุมมองความรักในทางพุทธ ที่จะทำให้เจอรักแท้ โดย พศิน อินทรวงค์

สูตรแก้ ปัญหา ครอบจักรวาล! โดยคุณพศิน อินทรวงค์

วิธีค้นหาศักยภาพสูงสุดของการมีชีวิต มุมคิดจาก พศิน อินทรวงค์ (ชมคลิป)

10 วิธี เพิ่มความสุขให้ตนเองด้วยการกระทำเล็กๆ โดยคุณพศิน อินทรวงค์

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.