ทำอย่างไรจึงจะ ไม่ยึดติดกับความคิด ธรรมะจากพระไพศาล วิสาโล
ความคิดกับความจริงอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ความคิดเกิดจากการรวบรวมข้อมูลต่างๆ จากประสบการณ์ มาวิเคราะห์ โดยมีความเห็นของเราเองเข้าไปเจือปนทั้งที่โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ตัวอย่างของการไม่ควรเชื่อความคิดของตัวเองมากจนเกินไปคือธรรมะจากพระไพศาล วิสาโล ที่ยกมาเรื่องนี้
“พ่อของวิทยาเป็นคนสูบบุหรี่จัดจนเป็นมะเร็งปอด ระหว่างที่พ่อเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล วิทยาขอร้องให้พ่อเลิกสูบบุหรี่ตามคำแนะนำของหมอ พ่ออิดออดแต่ก็ยอมตามในที่สุด เมื่อรักษาครบกำหนด พ่อกลับมาพักฟื้นที่อพาร์ตเมนต์ที่ลูกเช่าให้ แต่อาการก็ทรุดลงตามลำดับ
วันหนึ่งขณะมาเยี่ยมพ่อ วิทยาเห็นก้นบุหรี่หลายมวนตกอยู่บนพื้นระเบียง จึงต่อว่าพ่อ แต่พ่อปฏิเสธ เขาโมโหมากที่พ่อปากแข็ง จึงใช้คำรุนแรงกับพ่อ หลังจากนั้นไม่นานพ่อก็เสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อน หลังงานศพเสร็จสิ้น เขามาเก็บข้าวของของพ่อที่อพาร์ตเมนต์ แล้วก็ต้องแปลกใจเมื่อพบว่ายังมีก้นบุหรี่ที่เพิ่งทิ้งใหม่ๆ ตกอยู่ที่ระเบียง
ในที่สุดเขาจึงรู้ว่าก้นบุหรี่ที่เห็นในวันนั้นไม่ใช่ของพ่อ แต่เป็นของห้องข้างบนที่โยนลงมาและลมคงพัดปลิวมาตกที่ระเบียงห้องเขา เขารู้สึกผิดมากที่ไม่เชื่อพ่อ แถมกล่าวหาพ่อว่าดื้อดึงและปากแข็ง แต่สายไปแล้วที่จะไปขอขมาท่าน
วิทยาไม่เชื่อพ่อเพราะมั่นใจในความคิดของตนเอง เมื่อเห็นก้นบุหรี่ที่ระเบียงห้อง เขาก็สรุปทันทีว่าพ่อไม่ยอมเลิกบุหรี่ เขาไม่ยอมมองมุมอื่น ทั้งๆ ที่พ่อยืนกรานว่าไม่ได้สูบบุหรี่ ความเชื่อมั่นในความคิดของตนนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่มึนตึงกับพ่อ จนกลายเป็นตราบาปในใจ
ความคิดกับความจริงนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แม้ความคิดสามารถนำเราไปสู่ความจริง เช่นเดียวกับแผนที่ที่พอเราไปถึงจุดหมายปลายทาง แต่เราก็พบบ่อยมิใช่หรือว่าแผนที่ สามารถพาเราไปผิดทิศผิดทางได้ ในทำนองเดียวกันความคิดบางอย่างก็กลับพาเราเหินห่างจากความจริง ดังนั้นจึงไม่ควรหลงเชื่อความคิดเสียทีเดียวนัก ควรหัดทักท้วงความคิดบ้าง
ความทรงจำในสมองของเรามีทั้งความจริงและความคิดปรุงแต่งปะปนกัน ทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ยิ่งไปกว่านั้นความทรงจำของเราแปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา และง่ายที่คนอื่นจะมาต่อเติมหรือแทรกแซงได้ด้วย
ทั้งหมดชี้ว่า “ความจริง” ในสายตาหรือการรับรู้ของเรานั้นมักมีความคิดเจือปนหรือปรุงแต่งไม่มากก็น้อย ดังนั้นจึงไม่ตรงกับความจริง หากเป็นเรื่องที่ผู้สังเกตมีอติหรือความคิดล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้ว ก็จะเห็นความจริงคลาดเคลื่อนยิ่งไปกว่านี้ เช่นถ้าชอบใคร (ฉันทาคติ) ก็เห็นเขาดีไปหมด มองไม่เห็นด้านร้ายของเขาเลย หรือถ้าโกรธใคร (โทสาคติ) ก็เห็นแต่ด้านร้ายของเขา มองไม่เห็นความดีของเขาเลย
ด้วยเหตุที่เรามีข้อจำกัดในการรับรู้ จึงไม่ควรยึดติดถือมั่นว่าการรับรู้ของเราถูกต้อง ส่วนของคนอื่นนั้นผิด ในทำนองเดียวกันก็ไม่ควรด่วนสรุปหรือมั่นใจอะไรมากเกินไปนัก จริงอยู่เราคงทำอะไรไม่ได้เลย หากไม่มีข้อสรุปบางอย่างหรือเชื่อว่าบางอย่างเป็นความจริง แต่ระหว่างที่เราทำไปตามความคิดหรือความเชื่อนั้น ก็ควรเปิดใจรับรู้สิ่งที่แตกต่างไปจากความคิดและความเชื่อนั้นบ้าง
ในทางพุทธศาสนามีหลักธรรมข้อหนึ่งที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาปัญญาคือ “สัจจานุรักษ์” คือการพร้อมรับฟังความคิดความเห็นของผู้อื่นด้วยใจเป็นกลาง ไม่ด่วนตัดสินว่าเป็นเท็จ และไม่ยึดติดหรือยืนกรานว่าสิ่งที่ตนรู้หรือคิดเห็นเท่านั้นถูกต้องเป็นจริง
สัจจานุรักษ์หากใช้ควบคู่กับกาลามสูตรก็จะช่วยให้เราไม่ตกเป็นทาสของความคิด พร้อมเปิดใจกว้างเพื่อเข้าถึงความจริงให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะข้อที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ…เพราะการอนุมาน…เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจแล้ว…เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ รวมทั้งอย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
ถ้าเราไม่ด่วนสรุปหรือหลงเชื่อความคิดของตน แม้จะดูมีเหตุผลเพียงใด เราจะทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายกันน้อยลง แม้กระทั่งกับคนที่เรารักหรือรักเรา”
ที่มา :
ยิ้มได้แม้พ่ายแพ้ โดยพระไพศาล วิสาโล สำนักพิมพ์สารคดี
ภาพ :
บทความที่น่าสนใจ
ยิ่งเจริญ ก็ยิ่งเห็นแก่ตัว ธรรมะจากท่านพุทธทาสภิกขุ
รักเป็นไม่เป็นทุกข์ บทความธรรมะดีๆ จาก แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต