จงรักใน ” ชะตาชีวิต ” แม้ชะตาจะขีดให้ไม่เป็นอย่างใจ บทความจาก นายแพทย์ชวโรจน์ เกียรติกำพล
หากยังจำกันได้ ไม่กี่ปีก่อน ผู้คนหลายประเทศทั่วโลกทำกิจกรรมอย่างหนึ่ง คือการที่บุคคลที่รับคำท้ามานั้นต้องยกถังที่ใส่น้ำและน้ำแข็งที่เย็นเฉียบราดรดลงบนตัวเองให้เปียกจนชุ่มทั้งตัว ชะตาชีวิต
กิจกรรมนี้มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Ice Bucket Challenge” เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อหาเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS - Amyotrophic Lateral Sclerosis) ซึ่งผมมารู้ภายหลังว่ากิจกรรมนี้แฝงความหมายโดยนัยว่า อยากให้เราลองรู้สึกถึงความรู้สึกที่ไร้ความรู้สึก ชา หรือเจ็บปวดแบบผู้ป่วย ALS ดูบ้าง (ไม่ใช่ราดน้ำแข็งเพื่อเอาความเย็นสนุก ๆ อย่างเดียว)
เมื่อเล่าถึงโรคนี้ หนึ่งในผู้ป่วยที่จะลืมไม่ได้และมักได้รับการกล่าวถึงอยู่เสมอนั่นก็คือ สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง เขาเป็นนักฟิสิกส์ - คณิตศาสตร์อัจฉริยะ เขาได้ศึกษาวิจัยและค้นพบทฤษฎีต่าง ๆ ไว้มากมายส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการพยายามอธิบายความเป็นไปในเอกภพ หลุมดำ เป็นต้น เขาได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ลูคาเซียนซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับที่ เซอร์ไอแซค นิวตัน ได้รับ แต่สิ่งที่ทำให้เขาได้รับความสนใจมากกว่านั้นคือ เขาสามารถสร้างผลงานต่าง ๆ ที่น่าทึ่งได้อย่างไรในขณะที่เจ็บป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) จนตัวเองกลายเป็นคนพิการ
กว่าที่ฮอว์กิ้งจะประสบความสำเร็จ เขาผ่านการต่อสู้และอดทนทั้งกายและใจอย่างมาก เขามีมุมมองที่สร้างสรรค์และมุ่งมั่นในชีวิต เขาเคยเล่ามุมมองที่น่าสนใจในการรับมือความพิการไว้ว่า
“ผมเชื่อว่าคนพิการควรจะมุ่งมั่นกับสิ่งที่ความพิการไม่เป็นอุปสรรคมากกว่า และไม่คอยเสียใจกับสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้”
แนวคิดของสตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง ทำให้ผมนึกถึงวลีในภาษาละตินวลีหนึ่งคือ amor fati – จงรักในชะตาชีวิต การรักในชะตาชีวิตนั้นสื่อความหมายถึง การยอมรับ นั่นเอง เพราะในชีวิตคนคนหนึ่งนั้น การที่จะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาได้ ต้นทางของวิธีการก็คือการยอมรับและเข้าใจอุปสรรคนั่นเอง
ครั้งหนึ่งผมได้รักษาผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งซึ่งอายุเพียงยี่สิบต้น ๆ เท่านั้น เธอทำงานเป็นเลขาฯ ของบริษัทข้ามชาติใหญ่โต และได้รับความไว้วางใจและเอ็นดูจากหัวหน้าชาวต่างชาติมาก แต่ใครจะคาดคิดว่าเธอจะเจ็บป่วยและต้องเข้านอนโรงพยาบาลแบบฉุกเฉิน เนื่องจากหลอดเลือดแดงในสมองโป่งพองเป็นกระเปาะและแตก ทำให้มีเลือดคั่งในสมอง อันที่จริงผมเพิ่งมาทราบภายหลังว่าเธอมีอาการปวดศีรษะเรื้อรังมานานแล้ว แต่เธอคิดว่าตัวเองเป็นโรคไมเกรนจึงได้แต่ซื้อยามารับประทานเอง ไม่ได้ตรวจเช็กเพิ่มเติม
วันแรก ๆ ที่ผมไปตรวจ เธอได้แต่นอนร้องไห้เพราะไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามเดิม เธอพูดไม่ชัดและรับประทานอาหารเองไม่ได้เพราะสำลัก จนต้องให้อาหารทางสายยาง ระหว่างตรวจต้องปลอบใจและให้ยาคลายเครียดเป็นบางครั้ง ผมบอกว่าเธอจะดีขึ้นแน่นอน แต่ต้องใช้เวลานานสักหน่อย ขอให้อดทนไว้
หลายวันผ่านไปสิ่งที่ผมสังเกตเห็นขณะมาตรวจคือเธอเริ่มยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งนี้คงเป็นเพราะกำลังใจมากมายจากครอบครัวและเพื่อนร่วมงานที่รักเธอด้วย หลังจากนั้นเธอก็เริ่มลุกขึ้นสู้อีกครั้ง โดยกินยาที่ให้อย่างสม่ำเสมอ เข้าคอร์สฝึกกายภาพบำบัดเพื่อฝึกความแข็งแรงและการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ฝึกการพูดและการกลืนเป็นลำดับ ภายในเวลาเพียงหนึ่งเดือนก็สามารถเดินเองได้โดยใช้อุปกรณ์ค้ำยันช่วยเหลือ และกลับบ้านได้ในที่สุด
ใครจะเชื่อ ผมเจอเธออีกครั้งหลังจากนอนโรงพยาบาลประมาณสองเดือน เธอถือถุงใส่มะม่วงที่ปลูกเองมาฝาก นี่คือเหตุการณ์ที่ทำให้ผมรู้ถึงประโยชน์ของการยอมรับ หรือการรักในชะตาชีวิตจริง ๆ
ทั้งสตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง และผู้ป่วยของผมรายนี้ต่างเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การยอมรับ และ รักในชะตาชีวิต หรือที่ตรงกับภาษาละตินที่ว่า amor fati จะเป็นต้นทางและนำพาเราไปสู่การแก้ไขปัญหา และอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิตได้จริง ๆ เพราะเราจะไม่เสียเวลาไปกับการเศร้าเสียใจ และเป็นทุกข์ทรมานมากนัก
เมื่อเข้าใจเช่นนี้ เวลาทั้งหมดที่มีอยู่จึงเป็นไปเพื่อการเยียวยาและแก้ไขปัญหาและอุปสรรคนั่นเอง
ที่มา นิตยสาร Secret