พระไพศาล วิสาโล

พระไพศาล วิสาโล กับการจาริกสู่ความสุขอันประเสริฐ

พระไพศาล วิสาโล กับการจาริกสู่ความสุขอันประเสริฐ

เมื่อครั้งยังหนุ่ม ( พระไพศาล วิสาโล ) ผู้ชายร่างเล็กคนหนึ่งได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราเรียนไปเพื่ออะไร” และคำถามนั้นก็ได้นำไปสู่การค้นหาอีกหลากหลายคำตอบให้กับชีวิต

ท่ามกลางช่วงเวลาแห่งความสับสนของวัยแสวงหา ชายหนุ่มได้ตัดสินใจสละชื่อ ไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์ เอาไว้เบื้องหลัง และก้าวเข้าสู่เส้นทางธรรม กระทั่งได้พบกับคำตอบที่ค้นหามานาน

ในเพศบรรพชิต พระไพศาล วิสาโล ได้กลายเป็นหนึ่งในพระนักพัฒนาที่มุ่งมั่นเผยแผ่หลักธรรมทางพุทธศาสนา รวมทั้งแฝงแนวคิดเรื่องการปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติกับพุทธศาสนิกชนรุ่นแล้วรุ่นเล่า ด้วยการจัดอบรมคอร์สภาวนา “สันติวิธี” กับ “การเผชิญความตายอย่างสงบ” ให้แก่อุบาสกและอุบาสิกา ไปจนถึงตอบปัญหา “ปุจฉา – วิสัชนา” ให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเฟซบุ๊ก

จวบจนวันนี้ พระไพศาลยังคงจาริกบรรยายธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน ผ่านการเดินทาง ผ่านงานเขียนจำนวนมากมาย และผ่านการสนทนาธรรมอีกหลายวาระ เพื่อโปรดผู้ที่ยังแสวงหาความสงบสุขให้กับชีวิต รวมถึงในครั้งนี้…

 

จากที่ผ่านมา ประเด็นที่คนเข้าถามพระอาจารย์ทางเฟซบุ๊กมากที่สุดคือเรื่องอะไรครับ

ประเด็นแรกเป็นเรื่องความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนกับเพื่อน ลูกกับพ่อแม่ หรือพ่อแม่กับลูก ส่วนประเด็นที่สอง คือ ความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องบุญ – บาป เช่น ทำหมันสัตว์บาปไหม กำจัดปลวกในบ้านบาปไหม เลี้ยงสัตว์บาปไหม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องในชีวิตประจำวันที่ใกล้ตัว

 

พระอาจารย์คิดว่าประเด็นเหล่านี้สะท้อนอะไรบ้างครับ

สะท้อนว่าเดี๋ยวนี้ผู้คนมีปัญหาด้านความสัมพันธ์มาก สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้คนในยุคนี้มีความเป็นปัจเจกสูง ชีวิตของคนในเมืองส่งเสริมความเป็นปัจเจกมาก คือตราบเท่าที่คุณมีเงิน คุณก็สามารถอยู่คนเดียวหรือสนุกสนานคนเดียวได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใครเหมือนคนในชนบท คุณสามารถแสวงหาความบันเทิงโดยดูโทรทัศน์หรือเปิดดีวีดีดูคนเดียวได้ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ความบันเทิงเป็นสิ่งที่ต้องเสพร่วมกัน เช่น การดูลิเก การดำเนินชีวิตของชุมชนก็เป็นอย่างนั้น คือไม่สามารถแยกขาดจากผู้อื่นได้ เช่น จะทำนาก็ต้องพึ่งพาเพื่อนบ้านมาช่วยกันปักดำ เกี่ยวข้าว จะสร้างบ้านก็ต้องไหว้วานกันมาช่วยปลูก นี่คือชีวิตของชาวบ้านสมัยก่อน แต่พอมาเป็นสังคมเมือง เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาใครมาช่วยเลยก็ได้ แค่ไปจ้างเขามาก็เรียบร้อย ถ้าหิวข้าวก็แค่เดินเข้าร้านสะดวกซื้อไปหาของมากิน หรือไม่ก็ไปที่ร้านอาหารเลย

แม้กระทั่งการใช้ชีวิตในครอบครัวก็เป็นแบบต่างคนต่างอยู่ คือกินข้าวไม่พร้อมหน้า ดูโทรทัศน์คนละเครื่อง นอนคนละห้อง ต่างคนต่างฟังเพลง เวลาติดต่อกัน บางทีก็ไม่ได้พูดคุยกันโดยตรง แต่ต้องคุยผ่านโทรศัพท์ทั้งๆ ที่อยู่บ้านเดียวกัน เพราะฉะนั้นคนก็จะเกิดความเหงา ความอ้างว้าง ที่สำคัญก็คือ เดี๋ยวนี้คนคิดถึงตัวเองมากขึ้น นึกถึงคนอื่นน้อยลงแม้กระทั่งคนใกล้ชิด จึงมีปัญหาความสัมพันธ์กับผู้คนง่ายขึ้น

 

ปัญหานี้ดูจะเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมเมืองมาตลอดเลยนะครับ

มันเป็นปัญหา ถ้าความเป็นปัจเจกนั้นนำไปสู่ความเห็นแก่ตัว การตัดตัวเองออกจากสังคม ไม่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ไม่รู้สึกว่ามีความรับผิดชอบที่ต้องดูแลหรือช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ความเห็นแก่ตัวเช่นนี้จะนำไปสู่ความทุกข์ได้ง่าย ตรงกันข้าม ถ้าความเป็นปัจเจกช่วยให้เรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเอง เป็นมิตรกับตัวเอง หรือกระตุ้นให้หมั่นฝึกฝนพัฒนาจิตใจเพื่อลดละขัดเกลากิเลส นั่นเป็นสิ่งที่ดีและเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะเมื่อความเห็นแก่ตัวลดลงจนกระทั่งไม่มีความยึดติดในตัวตนหลงเหลือ เมตตากรุณาก็จะเกิด ทำให้ออกไปช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอรหันต์รุ่นแรกที่มี 60 รูปว่า “จงจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งปวง” ดังนั้นการปลีกวิเวกจึงถือเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ตน ฝึกฝนตน เพื่อที่จะออกไปช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น

หากหัวใจของศาสนาคือการรักคนอื่นอย่างที่พระอาจารย์เคยเขียนเอาไว้ การบวชเรียนทำให้พระอาจารย์ได้เรียนรู้เรื่องความรักอย่างไรบ้างครับ

การรักคนอื่นในทางพุทธศาสนานั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุหลักๆ คือ การคลายความยึดติดถือมั่นในตัวตนส่งผลให้ความเห็นแก่ตัวลดลง จิตใจจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา ใจที่มีเมตตากรุณานั้น ทำให้สามารถรักคนอื่นได้โดยบริสุทธิ์ใจ ปราศจากความอยากครอบครองหรือเอามาสนองตัวตน เรียกว่าเป็น จิตที่ไร้เขตแดน อาตมาคิดว่า ความรักแบบนี้ต่างจากความรักของฆราวาสหรือของปุถุชนทั่วไป เพราะรักของฆราวาสนั้นเป็นความรักที่ยึดมั่นถือมั่นว่าต้องเป็นของเรา เช่น ถ้าแต่งงานกับใคร คนนั้นก็ต้องเป็นของฉัน ทั้งๆ ที่เขาไม่มีทางเป็นของเราได้ ความรักแบบที่มี “ตัวกู-ของกูเป็นศูนย์กลาง” เป็นความรู้สึกที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า “สิเนหะ” หรือเสน่หา ไม่ใช่ความเมตตาหรือกรุณา การได้มาศึกษาและบวชในพุทธศาสนาทำให้อาตมาเรียนรู้เรื่องนี้ ได้เห็นความแตกต่างระหว่างความรักทั้งสองอย่างนี้

แต่การที่ปุถุชนจะมีความรู้สึกผูกพันหรือมีความยึดมั่นในตัวกูของกูถือเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นสิเนหะที่มีเฉพาะกับเพศตรงข้าม หรือสิเนหะของแม่ที่มีต่อลูก ล้วนเป็นความรักที่มาพร้อมกับความคาดหวังที่ยึดโยงกับตัวตนทั้งสิ้น เช่น คาดหวังว่าลูกจะต้องเชื่อฟังพ่อแม่ หรือว่าลูกจะต้องเรียนเก่ง เรียนในคณะที่แม่ชอบ ปุถุชนมักมีความรู้สึกแบบนี้ เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ความรักของเราเป็นความรักที่ขยายวงกว้าง หมายถึงไม่ว่าเราจะรักเพื่อนหรือว่ารักพ่อแม่ก็ตาม ก็ขอให้เป็นความรักที่ไม่ใช่เพื่อปรนเปรอตัวเอง แต่เป็นรักด้วยความเมตตากรุณา มีความปรารถนาดีต่อเขาโดยไม่ได้มุ่งประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก

 

ถึงวันนี้ พระอาจารย์ยังหวั่นใจว่าจะมีมาตุคามมากล้ำกรายการบวชของพระอาจารย์บ้างไหมครับ

ทุกวันนี้ก็ยังมีความหวั่นใจอยู่นะ เพียงแต่ว่ามีน้อยลง สมัยที่บวชใหม่ๆ หรือแม้แต่ตอนที่บวชได้หลายปีแล้วก็ตาม บางทียังรู้สึกว่าการที่เราจะอยู่ในเพศบรรพชิตไปจนตายนี่เป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องที่ไม่อยากจะคิดถึงเลยด้วยซ้ำ เพราะรู้สึกว่าชีวิตคงแห้งแล้งมาก บางทีรู้สึกเหมือนติดคุกด้วยซ้ำ แต่หลังจากบวชมาเป็นสิบปี อาตมาก็พบว่าเราสามารถอยู่ในเพศนี้ได้ไปเรื่อยๆ จนตลอดชีวิต เพราะความสุขที่ตัวเองเคยแสวงหาในวัยหนุ่มและรู้สึกหวั่นไหวกับมัน ตอนนี้รู้สึกว่ามันมีเสน่ห์น้อยลง ฉะนั้น ถึงแม้จะไม่ได้เสพความสุขที่เป็นกามสุขอย่างหยาบๆ แต่อาตมาก็ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรเลย เพราะเราได้พบกับความสุขที่ประณีตและประเสริฐกว่าแล้ว ดังนั้น หากเราจะอยู่ในเพศนี้ไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้รู้สึกเหมือนติดคุกอะไรเลย และสามารถจะอยู่ได้อย่างมีความสุข

 

การฝึกใจให้มีเมตตาต่อสัตว์ โดยเฉพาะที่สร้างความรำคาญให้กับเรามากๆ นี่เป็นเรื่องยากไหมครับ

บางครั้งก็ยาก เพราะเป็นการทวนกระแสกิเลส แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ง่าย เพราะเราทุกคนต่างก็มีความเมตตากรุณาในจิตใจอยู่แล้ว อย่าว่าแต่คนเลย แม้แต่สัตว์ก็ยังมีความเมตตากรุณาต่อกัน มองในแง่นี้การมีเมตตาไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในมนุษย์ทุกคน อยู่ที่ตัวเราเองว่าจะให้เมตตากรุณาในใจเราเบ่งบานหรือเปล่า และที่จริง ยิ่งเรามีเมตตากรุณามากเท่าไร เราก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้น ถ้าเราปรารถนาความสุข ก็เพียงแค่มีเมตตากรุณาต่อผู้อื่นให้มากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าเราใจแคบ เห็นแก่ตัว เราก็จะกลายเป็นคนที่ทุกข์ง่ายและสุขยาก

 

เหมือนคำกล่าวที่ว่า ยิ่งให้ก็ยิ่งสุขใช่ไหมครับ

ใช่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ให้ความสุขย่อมได้รับความสุข” เราจึงพบว่าคนที่มีจิตอาสาจะมีความสุขมากกว่าคนที่คิดถึงแต่ตัวเอง เพราะถ้าคิดถึงแต่ตัวเอง เวลาทำอะไรก็จะถามว่า ทำแล้วฉันจะได้อะไร คนเหล่านี้จะมีความสุขยาก แม้ว่าเขาจะมีเงิน มีทอง มีทรัพย์สมบัติปรนเปรอก็ตาม แต่ความสุขที่เกิดขึ้นเป็นความสุขชั่วครั้งชั่วคราว เพราะเป็นความสุขที่เกิดจากการเสพ การบริโภค ไม่ใช่ความสุขที่เกิดจากการทำความดี ซึ่งยั่งยืนกว่า

จะเห็นได้ว่า มีคนจำนวนไม่น้อยมีเงินเป็นร้อยล้าน แต่ไม่มีความสุข เพราะเขาคิดถึงแต่ตัวเอง จึงไม่ได้รู้จักความสุขที่ประณีตที่ประเสริฐ ซึ่งก็คือความสุขจากการให้ จากการทำความดี จากการที่จิตใจสงบและรู้จักพอ อาตมาคิดว่า ถ้าคนเราพบความสุขแบบนี้ แรงจูงใจที่จะโกง คอร์รัปชั่น หรือตักตวงเอาเปรียบเพื่อประโยชน์ส่วนตัวจะน้อยลงไป ปัญหาคือว่า เรารู้จักความสุขที่ประเสริฐกันหรือเปล่า

ความสุขนั้นมีหลายระดับ หลายประเภท ความสุขที่เกิดจากวัตถุถือเป็นความสุขขั้นต้น เป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืนและต้องแลกมาซึ่งความทุกข์ คือทุกข์ตั้งแต่รู้สึกอยากจะได้ ทำให้ต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อจะได้มา พอได้มาแล้วก็ต้องรักษาเอาไว้ตรงกันข้าม ความสุขใจนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทันที แถมยังไม่มีใครขโมยไปได้ ก็เลยไม่ต้องห่วงหรือวิตกกังวลว่าจะมีใครมาแย่งไป จะเห็นได้ว่าแท้จริงแล้ว ความสุขอยู่ไม่ไกลเลย ตราบเท่าที่ใจเรามีสติ รู้จักพอ และรู้จักปล่อยวาง

 

หลังจากอบรมเรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบมานานถึงวันนี้พระอาจารย์มองความตายอย่างไรครับ

สำหรับเรื่องความตายนั้น ถ้าหากมองไม่ถูกก็จะเกิดความกลัว และทำให้หดหู่ แต่ถ้ามองเป็น ความตายจะคอยเตือนเราไม่ให้ประมาท ถึงอย่างไรเราก็ต้องตาย ฉะนั้นในขณะที่ยังมีสุขภาพดี ยังมีกำลังวังชา เราก็ต้องเร่งรีบทำความดี สร้างบุญ สร้างกุศล ทำหน้าที่ที่รับผิดชอบให้ดี ขณะเดียวกันก็ฝึกใจให้ปล่อยวาง เพื่อว่าเมื่อเราต้องพลัดพรากจากโลกนี้ไปเราจะไม่เสียใจ เพราะได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าแล้ว ขณะเดียวกันก็ไม่รู้สึกทุรนทุรายที่จะต้องพรากจากทุกสิ่ง แต่ถ้าวางใจไม่เป็น เราก็จะคิดแต่ว่าพรุ่งนี้ฉันอาจจะต้องตายแล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้ฉันขอเสพสุขเต็มที่ ความคิดแบบนี้เป็นการบั่นทอนตัวเอง คนที่คิดแบบนี้ พอถึงเวลาตายไม่เห็นตายสงบเลยสักคน เพราะเขาไม่ได้เตรียมตัวที่จะรับมือกับความตาย เนื่องจากมัวแต่เสพสุข ในขณะที่ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้ทำ ส่วนความสุขหรือทรัพย์สมบัติที่มีก็เอาไปไม่ได้

มีภาษิตของพระโพธิสัตว์ว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยทำความชั่วในที่ไหนๆเลย ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่หวั่นเกรงความตายที่จะมาถึง” คนเราถ้าไม่มัวแต่เสพสุข หากพยายามทำความดี เวลาที่ความตายมาถึง เราก็จะไม่กลัว ถ้าเราระลึกถึงความไม่เที่ยงของชีวิตอยู่เสมอ เราก็จะเห็นคุณค่าของทุกอย่างที่มีอยู่ตอนนี้ เมื่อเรารู้ว่าพรุ่งนี้อาจไม่ได้ลืมตาดูโลก วันแต่ละวันจะกลายเป็นวันที่มีค่า มีความหมาย เราจะไม่ท้อ ไม่เซ็ง จะไม่รู้สึกว่าอยู่ไปวันๆ แต่จะใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างมีค่าและมีประโยชน์สูงสุด

 

จริงไหมครับที่มรณานุสติจะช่วยลดความกำหนัดได้

ความกำหนัดในที่นี้ไม่ใช่ความกำหนัดในทางเพศอย่างเดียว แต่หมายถึงความติดใจในสิ่งต่างๆ ที่ให้ความพึงพอใจ ไม่ว่ารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เรียกอีกอย่างว่า “ราคะ” แต่เมื่อใดก็ตามที่เราระลึกว่าสักวันหนึ่งเราจะต้องตาย ก็จะตระหนักว่าความสุขที่มีในวันนี้หรือสิ่งที่เราดิ้นรนแสวงหามา ล้วนแต่เป็นของชั่วคราว และจะอยู่กับเราเพียงชั่วคราว เมื่อนั้นเราจะเห็นว่าทรัพย์สมบัติทั้งหลาย รวมทั้งความสุขหรือกามสุขที่เราแสวงหามา ล้วนแต่ไม่เที่ยง จึงไม่ควรที่เราจะทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อสิ่งนี้ เพราะตายแล้วก็เอาไปไม่ได้

สาเหตุที่คนส่วนใหญ่แสวงหาความสุขเป็นบ้าเป็นหลัง ก็เพราะลืมไปว่าเขาจะต้องตาย การระลึกถึงความตายอยู่เสมอทำให้เราปล่อยวางได้ง่าย ขณะเดียวกันก็จะได้คิดว่า แทนที่เราจะมัวเสพสุข ปรนเปรอตนเองด้วยวัตถุสิ่งเสพ ทำไมเราไม่ทำความดี สร้างกุศล เพราะสิ่งเหล่านี้นอกจากให้ความสุขใจแก่เราแล้ว ยังช่วยให้เราพบกับความตายอย่างสงบได้ และถ้าหากโลกหน้ามีจริง บุญกุศลที่ทำไว้ก็สามารถจะอำนวยประโยชน์ให้กับเราในภพหน้าได้

 

แล้วตัวพระอาจารย์เองวางแผนรับมือกับความตายไว้อย่างไรบ้างครับ

อาตมาเจริญมรณานุสติอยู่เป็นประจำ คือระลึกอยู่เสมอว่าความตายจะมาถึงเมื่อไรก็ได้ทั้งนั้น จึงพยายามใช้เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันเพื่อเตือนใจเรื่องนี้ เช่น เวลาเดินทาง อาตมาเป็นคนเดินทางบ่อยมาก ก็จะเตือนตนเองว่า นี่อาจเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของเราก็ได้ จากนั้นก็จะถามตัวเองต่อไปว่า หากมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น จะวางใจอย่างไร ถือเป็นการซักซ้อมในใจ จะได้รับมือได้ทันเวลาเกิดเหตุปุบปับขึ้นมา เวลาอ่านหนังสือพิมพ์หรือดูข่าวโทรทัศน์ก็เตือนใจตัวเองว่า อุบัติเหตุ หรือภัยพิบัติอาจเกิดขึ้นกับตัวเองก็ได้ไม่วันใดวันหนึ่ง จึงต้องฝึกใจเตรียมใจให้พร้อมตลอดเวลา

อีกอย่างหนึ่งที่อาตมาพยายามฝึกเป็นประจำก็คือ การเรียนรู้ที่จะอยู่กับทุกขเวทนาโดยไม่เป็นทุกข์ เพราะก่อนตายเรามักจะต้องเจอทุกขเวทนาอันแรงกล้า ถ้าไม่เตรียมใจไว้ก็จะทุรนทุรายและอาจทำให้ตายไม่สงบ วิธีหนึ่งที่ช่วยให้อยู่กับทุกขเวทนาได้คือการเจริญสติ มีสติ รู้เวทนา โดยไม่ปล่อยให้เวทนาครอบงำใจ นอกจากการเจริญสติในชีวิตประจำวันแล้ว อาตมายังฝึกสติในสถานการณ์ที่ไม่สะดวกสบาย เช่น เดินธรรมยาตราซึ่งต้องเดินกลางแดด การเดินเท้าเปล่าโดยไม่มีอะไร คลุมศีรษะเป็นการฝึกสติที่ดีมาก คือ ทำอย่างไรแม้กายร้อน กายปวด แต่ใจไม่ร้อน ใจไม่ปวด อาตมาสนใจที่ท่านอาจารย์พุทธทาสสอนเรื่อง “ตายก่อนตาย” จึงพยายามฝึกปล่อยวางตัวตนอยู่เสมอ โดยอาศัยเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันเป็นโอกาสฝึกฝนเรื่องนี้ เช่น เวลามีอะไรมากระทบกายก็ดี กระทบใจก็ดี ของหาย ถูกต่อว่า งานล้มเหลว ก็ถือว่าเป็นการฝึกปล่อยวางตัวตนโดยมีสติ รู้ทัน เพื่อปิดช่องไม่ให้ปรุงแต่งตัวตนขึ้นมา

ซึ่งช่วยให้จิตใจโปร่งโล่งมาก เพราะถ้าเผลอ ไม่มีสติเมื่อใด จิตก็จะปรุงแต่งตัวตนขึ้นมารับแรงกระทบ เกิดเป็นผู้ทุกข์ ผู้สูญเสีย ผู้เจ็บปวดขึ้นมา ที่ผ่านมาก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็ทำได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ สำหรับเรื่องการงานและทรัพย์สมบัตินั้น อาตมาก็ฝึกปล่อยวางเช่นกัน ถือเป็นการเตรียมรับมือกับความตายอีกส่วนหนึ่ง เพราะถ้าจะตาย ก็อยากจะตายโดยไม่มีห่วงกังวลใดๆ ถ้าเป็นฆราวาสก็ต้องมีรายละเอียดมากหน่อย เช่น ต้องทำพินัยกรรม แต่พระไม่มีปัญหาเรื่องนี้ เพราะถ้าตายเมื่อไร ทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็ตกเป็นของสงฆ์โดยอัตโนมัติ จึงไม่ต้องเสียเวลาในการทำพินัยกรรม แค่ปล่อยวางได้ก็พอแล้ว

 

ขอเรียนถามถึงเรื่องครอบครัวบ้างนะครับ ตอนนี้พระอาจารย์มีการติดต่อกับครอบครัวญาติพี่น้องมากน้อยแค่ไหนครับ

ตอนนี้โยมพ่อและโยมแม่เสียชีวิตหมดแล้ว คงเหลือแต่พี่สาวกับพี่ชาย อาตมายังติดต่อกับพี่สาว พี่ชาย และญาติพี่น้องอยู่บ้าง ทุกปีเราจะมาพบกันเพื่อทำบุญให้โยมพ่อ โยมแม่ และญาติผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตไป นอกจากนั้นญาติพี่น้องก็ยังมาทอดผ้าป่าที่วัดอาตมาปีละครั้ง พี่สาวคนโตก็มาปฏิบัติธรรมที่วัดปีละครั้งสองครั้ง เวลาไปกรุงเทพฯ อาตมาก็ได้เจอญาติพี่น้องอยู่เป็นครั้งคราว จึงพูดได้ว่ายังมีการติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ

 

โยมพ่อและโยมแม่มีอิทธิพลต่อแนวคิดของพระอาจารย์ในแง่มุมใดบ้างครับ

ตอนเด็กๆ อาตมาใกล้ชิดกับโยมแม่ จึงได้รับอิทธิพลจากโยมแม่มาหลายอย่าง ที่สำคัญก็ได้แก่ การเห็นคุณค่าของความประหยัดการเก็บหอมรอมริบ รู้จักพึ่งตนเอง และรู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน หรือลำบากวันนี้เพื่อสบายวันหน้า โยมแม่ไม่ได้สอนด้วยคำพูดเท่านั้น แต่ทำให้ดู และยังฝึกให้ลูกๆ ทำด้วย โยมแม่จึงไม่ได้มีอิทธิพลแค่แนวคิด แต่ส่งผลถึงวิถีชีวิตหรือนิสัยของลูกๆ ด้วย โยมแม่เป็นคนที่ซื้อของเท่าที่จำเป็น อะไรที่ทำได้ก็ทำเอง เช่น ทำกับข้าว ตัดเสื้อ แม้อาตมาจะไม่ได้ทักษะเหล่านี้มา แต่ก็กลายเป็นคนที่อยู่ง่ายตั้งแต่เล็ก ไม่มีนิสัยจับจ่ายใช้เงินหรือช็อปปิ้ง (ยกเว้นหนังสือ) อาตมามารู้ตอนโตว่าโยมแม่ได้บ่มเพาะให้อาตมามีภูมิต้านทานต่อลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งแพร่ระบาดมากทุกวันนี้ โยมแม่เป็นแม่บ้านธรรมดา ไม่มีรายได้ประจำ แต่สามารถเก็บเงินจนมีเงินก้อนซื้อบ้านให้เราอยู่เป็นหลักแหล่งได้ เป็นตัวอย่างที่สอนให้ลูกๆ เห็นชัดว่า เราควรยอมลำบากเสียแต่วันนี้จะได้สบายในวันหน้า แล้วในที่สุดลูกๆ ก็สบายจริงๆ ด้วย

สำหรับโยมพ่อนั้น เป็นคนใฝ่รู้และเข้มงวดกับลูกๆ ในเรื่องการเรียน โดยเฉพาะเวลาใกล้สอบ ลูกๆ ต้องตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือจริงจัง จะไปเที่ยวเล่นไม่ได้ อาตมาก็เลยได้วินัยในเรื่องนี้มา ทำให้การเรียนหนังสือไม่ใช่เรื่องยาก โยมพ่อเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง แม้อายุ 40 กว่าแล้ว ก็ยังไปสมัครเรียนวิชาเขียนจดหมายโต้ตอบเป็นภาษาอังกฤษ โดยพาอาตมาไปเรียนด้วย ทั้งๆ ที่ตอนนั้นอาตมาเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว และความรู้ด้านภาษาอังกฤษก็พอตัว แต่โยมพ่อก็ยังอยากให้ตัวเองและลูกมีวิชาความรู้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีเรื่องหนึ่งที่อาตมาได้รับอิทธิพลจากโยมพ่อและโยมแม่มากโดยที่ท่านไม่รู้ตัวและไม่ได้ตั้งใจ นั่นคือความรู้สึกไม่มั่นใจในชีวิตครอบครัว เพราะเห็นว่าชีวิตครอบครัวนั้นเต็มไปด้วยทุกข์และมักจะนำไปสู่การทำร้ายกันได้ง่ายๆ การที่คนเราจะมีความสุขในชีวิตครอบครัวไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เมื่อถามตัวเอง ก็ไม่แน่ใจว่าตนเองมีความสามารถที่จะทำให้ชีวิตครอบครัวมีความสุขได้หรือไม่ ความไม่แน่ใจในชีวิตครอบครัวมีส่วนไม่น้อยที่ทำให้อาตมาบวชพระได้นานจนทุกวันนี้

 

หลังจากบวชเรียนมาหลายปี พระอาจารย์รู้สึกว่าตัวเองเป็นอิสระจากความทุกข์แล้วหรือยังครับ

อาตมายังไม่ถึงกับหลุดพ้น ยังคงเป็นปุถุชน เพียงแต่ว่ามีสติรู้เท่าทันกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ รู้ว่าจะจัดการกับทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นกับกายและใจได้อย่างไร แล้วยังเห็นชัดว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเรามันไม่เที่ยง มาแล้วก็ไป เพราะฉะนั้น ถึงแม้ตอนนี้อาตมายังไม่สามารถหลุดจากความทุกข์ได้ แต่ก็มีความพร้อมมากขึ้นในการอยู่กับมันโดยที่ใจไม่ทุกข์ ศิลปะในการอยู่กับความทุกข์ อาตมารู้สึกว่าตัวเองมีความชำนาญมากขึ้น แม้ว่าจะพลั้งเผลอบ้างเป็นบางครั้ง ดังนั้น ถึงแม้ตอนนี้จะยังไม่ถึงขั้นพ้นทุกข์ แต่ก็รู้ว่าจะอยู่กับทุกข์โดยไม่ให้ทุกข์ได้อย่างไร

 

เราควรจะต้องทำอย่างไรครับ

ต้องมีสติ แล้วก็ยอมรับมัน คืออย่าไปผลักไส ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์หรืออกุศลจิต เมื่อใดก็ตามที่เราผลักไส ไม่ยอมรับมัน เราก็จะยิ่งทุกข์ แต่ถ้าปล่อยให้คงอยู่ แล้วดูมันไปเรื่อยๆ โดยไม่เห็นว่าความทุกข์เป็นศัตรูที่จะต้องผลักไส ไม่ได้จงเกลียดจงชังมัน จะอยู่ก็อยู่ไป ความทุกข์ก็จะอยู่เป็นที่เป็นทางโดยที่ไม่สามารถจะครอบครองหรือมีอิทธิพลต่อจิตใจเรา ดังนั้น ถึงแม้เราจะทุกข์กาย แต่ไม่ทุกข์ใจ

ในสมัยพุทธกาลก็มีพระอรหันต์จำนวนไม่น้อยที่บรรลุธรรมเพราะว่าท่านมีความทุกข์มาก แล้วเมื่อสืบสาวลงไปจะพบว่า ความทุกข์นั้นเกิดจากความยึดติดถือมั่น เกิดจากความหลง เกิดจากอวิชชาที่ไปยึดว่า สิ่งทั้งหลายนั้นเที่ยง มีตัว มีตน เมื่อเราได้พบความทุกข์ แล้วเรารู้จักทุกข์อย่างแท้จริง เราก็จะเกิดปัญญาว่า ที่ทุกข์ก็เพราะความยึดมั่นถือมั่น เมื่อไม่มีอะไรที่จะยึดมั่นถือมั่น จิตใจก็จะเป็นอิสระหลุดพ้นจากความทุกข์ได้

 

จากที่เคยถามตัวเองว่า “เราเรียนไปทำไม” ตอนนี้พระอาจารย์ได้คำตอบแล้วหรือยังครับ

ตอนที่ถามนั้นอาตมาอายุ 14 แล้วก็ได้คำตอบว่า เราเรียนก็เพื่อความรู้ ไม่ใช่เพื่อคะแนน จนกระทั่งอีกสองสามปีต่อมาถึงรู้ว่าเราเรียนก็เพื่อช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือประเทศชาติด้วย แต่เมื่อมาถึงตอนนี้ อาตมาคิดว่าคำตอบนี้คงไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับเรื่องการเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ว่ารวมถึงการดำเนินชีวิตด้วย คือต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน เพื่อขัดเกลากิเลสให้น้อยลง และเพื่อเกื้อกูลผู้อื่นให้มากขึ้น ซึ่งพุทธศาสนาแยกไม่ออกเลยนะ ระหว่างประโยชน์ตนกับประโยชน์ท่าน พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เมื่อรักษาตนก็ชื่อว่ารักษาผู้อื่น เมื่อรักษาผู้อื่นก็ชื่อว่ารักษาตนด้วย” พระพุทธเจ้าทรงเน้นว่า ผู้ที่เป็นบัณฑิตต้องบรรลุทั้งประโยชน์ตนและบำเพ็ญประโยชน์ท่าน นั่นคือขัดเกลากิเลส ให้มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง มีจิตอิสระ ขณะเดียวกันก็มีเมตตากรุณามากขึ้น เพื่อออกไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ทั้งสองอย่างเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินไปคู่กัน

 

ภารกิจหรือเป้าหมายต่อไปที่พระอาจารย์ตั้งใจว่าจะทำคืออะไรครับ

จนถึงตอนนี้อาตมาได้ทำเรื่องอบรมมาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นอบรมเรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบ เรื่องกรรมฐาน หรือเรื่องการเจริญสติทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามทำให้คนมีภูมิต้านทานในการเผชิญกับความทุกข์ และสามารถนำประโยชน์ที่ได้ไปเผื่อแผ่ให้กับผู้อื่น เพื่อให้สังคมมีความทุกข์น้อยลงที่อาตมาพยายามทำทุกวันนี้ พูดอีกแง่หนึ่งก็คือ พยายามทำให้มิติด้านจิตวิญญาณ รวมทั้งคุณธรรมและความสุขอันประณีตเผยแพร่ออกไปสู่สังคม สู่จิตสำนึกของผู้คน แทนที่จะถูกครอบงำด้วยบริโภคนิยมหรือวัตถุนิยม เพราะสองสิ่งนี้มีแต่จะทำให้ผู้คนมีความทุกข์ แล้วก็นำไปสู่การแก่งแย่งแข่งขันทำลายกัน เอาเปรียบและเบียดเบียนกัน อาตมาเชื่อว่า ถ้าเราสามารถเสริมสร้างมิติทั้งสามด้านนี้ให้แพร่กระจายไปสู่สังคมได้ ผู้คนจะมีความสุขและมีเมตตากรุณาต่อกันมากขึ้น

หลากหลายมุมของพระไพศาล วิสาโล

  1. ด.ช.ไพศาลเป็นบุตรชายคนที่ 4 จากพี่น้องทั้งหมด 5 คน ของครอบครัววงศ์วรวิสิทธิ์
  2. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือสถาบันที่ประสิทธิ์ประสาทวิชา และสร้างแนวคิดในการอุทิศตัวให้กับมวลชนแก่นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์คนนี้อย่างมากมาย
  3. ปัจจุบันพระไพศาล วิสาโล เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ แต่ส่วนใหญ่ท่านจะพำนักอยู่ที่วัดป่ามหาวัน อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยจะจำพรรษาสลับกัน
  4. นอกเหนือจากใช้นามจริงว่า พระไพศาล วิสาโล แล้ว พระอาจารย์ยังใช้นามปากกาว่า “ภาวัน” ในงานเขียนบางชิ้นด้วย
  5. ผู้ที่สนใจสามารถติดตามพระอาจารย์ไพศาลทางเฟซบุ๊ก ได้ที่ www.facebook.com/visalo

 

Secret BOX

คนเราอยู่อย่างไรก็ตายอย่างนั้น

ถ้าเรารู้จักวิธีที่จะตาย เราก็จะรู้วิธีที่จะอยู่

พระไพศาล วิสาโล


บทความน่าสนใจ

“อานุภาพแห่งความดี” นึกถึงเรื่องดีในยามใกล้ตาย บทความธรรมะ จาก พระไพศาล วิสาโล

ความตายเป็นเรื่องไม่ไกลตัว พระไพศาล วิสาโล

“ธรรม” ที่พึ่งพิงของชีวิต บทความให้แง่คิด จาก พระไพศาล วิสาโล

สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ “ความกลัว ” บทความน่าคิดจาก พระไพศาล วิสาโล

อยู่กับทุกข์ให้เป็น ก็ไม่เป็นทุกข์ บทความให้กำลังใจจาก พระไพศาล วิสาโล

จงปล่อยวาง ทั้งโลกนี้และโลกหน้า ธรรมะสอนใจ จากพระไพศาล วิสาโล

คนเราเข้าวัดเพื่ออะไร? เรื่องน่าคิดจากพระไพศาล วิสาโล

ไม่ยึดติดกับความคิด ธรรมะจากพระไพศาล วิสาโล

เสียได้เสียไป ใจไม่ทุกข์ บทความให้กำลังใจจากพระไพศาล วิสาโล

ความสุข ในชีวิต ที่คุณมองข้าม “พรุ่งนี้อาจไม่มีเขา” บทความดีๆ จากพระไพศาล

ยิ่งทำบุญมาก ก็ยิ่งรวยมากจริงไหม? พระไพศาล มีคำตอบ

ในวิกฤตมีโอกาส ความตายก็เช่นกัน บทความธรรมะจาก พระไพศาล วิสาโล

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.