พรวรินทร์ นุตราวงศ์

พรวรินทร์ นุตราวงศ์ เธอคือพยาบาลผู้รักษาใจด้วยการกอด

พรวรินทร์ นุตราวงศ์ เธอคือพยาบาลผู้รักษาใจด้วยการกอด

พรวรินทร์ นุตราวงศ์ พยาบาลอาวุโสผู้มีอ้อมกอดวิเศษไม่ต่างจากยาที่สามารถเยียวยาจิตใจของผู้ป่วยได้ เธอพบวิธีกอดอันมหัศจรรย์นี้ได้อย่างไร

 

จุดเริ่มต้นของการมอบกอดให้ผู้ป่วย 

“ เริ่มจากลองกับตนเองก่อน คือตอนนั้นสามีป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คิดอยู่อย่างเดียวว่า ไม่นานเขาคงจากเราไป จึงอยากให้เขาตายในอ้อมกอดของเรา เพราะในตอนนั้น เมื่อ 13 ปีที่แล้ว ยารักษามะเร็งยังไม่เจริญเหมือนตอนนี้ คุณหมอจะรักษาโดยวิธีการปลูกถ่ายไขกระดูกแต่ต้องให้ยาเคมีครบ 8 ครั้งก่อน   แต่ปรากฏว่าพี่เขาทนไม่ไหว จึงต้องยุติลงก่อน ทุกคนรอบข้างมีแต่บอกกับเราว่า “ พี่แอ้… ต้องสู้นะพี่ อีก 4 ครั้งเอง เผื่อจะสำเร็จ”  มีแต่คำว่า “เผื่อ” เป็นคำที่ชวนให้เราหวัง แต่เมื่อสามีไม่ไหวก็ต้องเปลี่ยนมารักษาด้วยการกินยาแทน

“ ทุกครั้งที่พูดถึงโรงพยาบาลหรือคุณหมอ สามีจะตัวสั่นมาก เราได้แต่บอกและกอดเขาไว้ว่า “อย่ากลัวนะพี่ แอ้ไม่พาพี่ไปโรงพยาบาลแล้วนะ แอ้จะซื้อยามาให้พี่กิน แล้วพี่จะได้หาย”  ตอนนั้นสามีกำลังมีตำแหน่งการงานที่มั่นคง ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ แต่เมื่อเขามาป่วยเป็นมะเร็ง จากผู้ชายที่เคยเป็นผู้นำครอบครัว ตอนนี้ไม่ต่างจากคนที่หมดอาลัยตายอยาก เขาเครียดและซึมเศร้ามากจนไม่อยากจะทำอะไร กินข้าวก็กินคำเดียว และนั่งเหม่อตลอดเวลาจนเราต้องเตือน ”

 

ใจสื่อใจจนกลายเป็นกำลังใจ 

“ กำลังใจของเรามาจากการที่ได้กอดเขา เหมือนเป็นการดึงใจของเขามาหาเรา แล้วเราก็ส่งใจของเราไปให้เขา ขณะที่กอดเราจะบอกเขาว่า “พี่ต้องอยู่กับแอ้นะ” เหมือนเราพยายามดึงเขาไว้ด้วยการพูดแบบนี้ เหมือนใจสื่อถึงกัน ปรากฏว่าสามีอยู่ได้ จาก 1 เดือน เป็น 2 เดือน แล้วกลายเป็น 1 ปี … 2 ปี สามียังอยู่เคียงข้างเรา ทำให้เราเริ่มมีกำลังใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

“ อาการของสามีนอกจากป่วยเป็นมะเร็งแล้ว ยังมีอาการซึมเศร้าซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการแบบนี้ เราต้องเข้าใจเขาให้มาก ๆ เขาอาจพูดหรือถามเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ถ้าเรารำคาญเขา เขาจะยิ่งรู้สึกแย่ ลงไปอีก ความเข้าใจเป็นสิ่งที่ช่วยได้ แล้วเราจะได้เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของเขา ”

 

พรวรินทร์ นุตราวงศ์

 

กลายเป็นคนที่เข้าใจผู้ป่วยมากที่สุด

“ เราเคยเป็นผู้ที่ต้องบอกข่าวร้ายแก่ครอบครัวของผู้ป่วย เราบอกเขาไปตรง ๆ เราคิดว่าเราทำแค่นี้ เพราะว่าเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องแจ้ง เราไม่เคยทราบเลยว่าหลังจากนี้ไป ครอบครัวของผู้ป่วยจะทุกข์อย่างไร ไปนั่งร้องไห้กันอย่างไร ตอนคุณหมอบอกกับเราว่าสามีป่วยเป็นมะเร็ง  ใจของเราวูบไม่ต่างจากคนตกลงมาจากตึก 10 ชั้น

“ ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าการบอกข่าวร้ายนี้สำคัญมาก ต้องค่อย ๆ บอก หรือค่อย ๆ ให้เขาตกลงมาทีละชั้น ไม่ใช่ตกลงมาทีเดียว 10 ชั้นเหมือนเรา การที่คุณหมอบอกความจริงกับเราตรง ๆ  คงคิดว่าเราเป็นพยาบาล บอกอย่างไรเราคงรับได้ แต่พยาบาลก็คือคนเหมือนกัน การรับข่าวร้าย มันเป็นอะไรที่วูบไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้ต่อมาเวลาเราจะบอกข่าวร้ายใคร จะค่อย ๆ บอก ค่อย ๆ ประเมินก่อน ให้เขารู้ทีละนิด ๆ จากประสบการณ์ ถ้าเราค่อย ๆ บอก เขาจะเริ่มรู้เอง บางรายพูดขึ้นมาเองเลยว่า

“ ไม่รู้ว่าจะเป็นมะเร็งหรือเปล่า ”

แล้วเราจะถามเขากลับว่า “ ถ้าเป็นล่ะ”

เขาก็จะตอบว่า “ ถ้าเป็นก็รักษากันไป อย่างไรคนเราก็ต้องตายกันทุกคน ”

ตอนนั้นเราจึงกล้าที่จะบอกเขาว่าคุณเป็นมะเร็ง และเราต้องสังเกตผู้ป่วยด้วย บางรายพูดออกมาเองเลย  “ ถ้าฉันเป็นนะ ฉันคงแย่แน่ๆ ”  กรณีแบบนี้เราจะยังไม่บอก แสดงว่าเขายังรับไม่ได้ เพราะถ้าบอกไปจะเป็นการซ้ำเดิมเขาเปล่า ๆ

“ ด้วยประสบการณ์ที่สามีเป็นมะเร็ง ทำให้สามารถปลอบและกล้าที่จะบอกคนไข้ได้ว่า “ พี่ผ่านมาแล้ว ” เหมือนเขามีเราเป็นเพื่อนเพิ่มขึ้นอีกคน เราจะพูดกับเขาว่า “ถ้าคุณสู้พี่สู้ด้วย แล้วเราสู้ไปด้วยกัน”  ทำให้เขารู้สึกว่ายังมีคนที่เข้าใจและเห็นใจเขา เหมือนมีพยาบาลเป็นญาติอยู่ในครอบครัวอีกหนึ่งคน เขาก็สบายใจขึ้น มีอะไรเขาก็จะปรึกษาเรา ”

 

คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป >>>

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.