หลวงพ่ออลงกต ติกฺขปญฺโญ ผู้ปลูก “ต้นโพธิ์” แห่งวัดพระบาทน้ำพุ
หลายสิบปีก่อน นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย…อลงกต พลมุข มีโอกาสได้อ่านหนังสือ พุทธธรรม ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) และเกิดความประทับใจที่หนังสือให้ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนในขณะที่ความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยกลับไม่อาจตอบข้อสงสัยได้ว่า “ที่สุดแล้ว…เป้าหมายของชีวิตคืออะไร”
นักศึกษาหนุ่มจึงตัดสินใจเข้าอุปสมบท ณ วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกทรงเป็นองค์อุปัชฌาย์และได้รับฉายาว่า “ติกฺขปญฺโญ” แปลว่า “ผู้มีปัญญาหลักแหลม” ต่อมาในปี 2546 ท่านได้รับพระราชทานราชทินนามว่า “พระอุดมประชาทร”
นับเป็นสมณศักดิ์ซึ่งสอดคล้องกับกิจที่ท่านทำเพื่อมวลมนุษย์ผู้ไร้ที่พึ่งมาตลอดเวลาหลายสิบปี
“กิจ” ของสงฆ์ที่แปลกและเปลี่ยนไป
ในช่วงแรกที่บวช ภิกษุวัย 26 ปีได้ศึกษาธรรมวินัยและได้จาริกแสวงหาความสงบแห่งจิตไปยังพื้นที่ต่าง ๆ กระทั่งมาจำพรรษาอยู่เพียงรูปเดียวที่วัดถ้ำเขาเขียวในเขตวัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี ก่อนจะได้รับนิมนต์ให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในเวลาต่อมา
กิจของพระคุณเจ้าในเวลานั้นคือการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อสอนสมาธิแก่ลูกศิษย์ จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านเดินทางไปบิณฑบาตที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งและนับจากนั้น “กิจ” ของสมณะรูปนี้ก็แทบจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง…
“คนไข้เตียงหนึ่งพยายามยกมือขึ้นไหว้หลวงพ่อด้วยมืออันสั่นเทา เมื่อหลวงพ่อเดินเข้าไปหาพร้อมกับจับมือรับไหว้เท่านั้นเขาร้องไห้โฮออกมาเลย ร้องอย่างที่หลวงพ่อไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต ด้วยอารมณ์ที่ทั้งเสียใจและตื้นตันใจจนสุดประมาณ ไม่กี่นาทีให้หลัง เขาเริ่มบีบมือหลวงพ่อแน่นขึ้น ๆ ก่อนจะอ้าปาก หายใจถี่ ตาค้าง และขาดใจตายในที่สุด โดยที่มือของหลวงพ่อและเขายังกุมกันไว้แน่น”
วันนั้นท่านเดินทางกลับวัดด้วยจิตใจที่กระเจิดกระเจิง เมื่อได้ทราบว่าคนไข้ที่เพิ่งสิ้นใจคือผู้ป่วยโรคเอดส์ ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน จิตใจที่สับสนเพราะความตายบังเกิดขึ้นต่อหน้าก็เปลี่ยนเป็นปัญญาและความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ที่ล้มป่วยด้วยโรคร้ายและไร้ที่พึ่งพิงแทน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ โครงการธรรมรักษ์นิเวศน์ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้วัดพระบาทน้ำพุเป็นที่พึ่งสุดท้ายของผู้ป่วยโรคเอดส์
ช่วงแรกที่ก่อตั้ง ท่านต้องเผชิญเรื่องราวร้อยพันแง่มุม บางวันที่ออกบิณฑบาต ท่านถึงกับต้องอุ้มบาตรเปล่ากลับวัด เพราะถูกชาวบ้านต่อต้านว่า “หลวงพ่อรับคนเป็นเอดส์มาอยู่วัดทำไม” แต่พอผ่านเวลา 20 กว่าปี หลวงพ่อก็ได้ปลูกฝังให้สังคมลดอคติต่อผู้ป่วยและหันมาช่วยสนับสนุนวัดพระบาทน้ำพุมากขึ้น
การดูแลผู้ป่วยเอดส์เป็นกิจของสงฆ์ด้วยหรือคะ
คำถามนี้ดังมาตลอดยี่สิบปี…หลวงพ่ออยากให้เราลองคิดย้อนไปสมัยโบราณ สมัยพระพุทธเจ้าไม่มีกระทรวงสาธารณสุขหรอกมีแต่ปู่ชีวกโกมารภัจจ์ ทุกข์ทุกอย่างของสัตว์โลก ความเจ็บปวด ความตาย พระสงฆ์องค์เจ้าท่านมีความรู้ที่จะบำบัดได้รอบด้าน ตั้งแต่เกิด พระก็ตั้งชื่อ เจ็บป่วยก็ไปขอยาพระ บางทีก็ให้ท่านเป่าน้ำมนต์ให้พระท่านมีศาสตร์ในการช่วยชีวิตคน เพราะท่านเรียนรู้ธรรมชาติมากกว่าเรา พระสอนให้คนเป็นคนดี สอนให้ทำสิ่งดี ๆ ดำรงชีวิตอยู่อย่างเหมาะสม ขยันทำมาหากิน เอาธรรมชาติรอบตัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์พระสอนทั้งนั้น ชีวิตของพระเป็นชีวิตแบบบูรณาการ และช่วยบำบัดทุกข์ทั้งหลายของสัตว์โลกได้
แต่ถ้าถามว่ามันใช่หน้าที่ของพระไหมที่ต้องมาดูแลคนป่วย หลวงพ่อก็จะบอกว่ามันไม่ใช่โดยตรง และอันที่จริงคนป่วยเหล่านี้ก็ไม่มีใครอยากมาอยู่วัดหรอก แต่ในเมื่ออยู่บ้านไม่ได้ สุดท้ายมันก็ต้องหาที่ไป วัดพระบาทน้ำพุก็เป็นที่หนึ่งที่เขาเลือกจะมาบางคนถูกเอามาทิ้งไว้ที่หน้าวัดก็มี แสดงให้เห็นว่าคนที่มีหน้าที่จริง ๆ ยังบกพร่องใช่ไหมโรงพยาบาลมีไม่พอ หมอส่วนใหญ่ไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน ความบกพร่องเหล่านี้มันมีอยู่จริง สังคมเราจึงมีสิ่งที่ไม่ควรต้องมี เช่น บ้านพักคนชรา คนขอทาน เรากำลังพูดถึงสังคมที่มีความรับผิดชอบนะ แต่จริง ๆ แล้วไม่มี เพราะยังมีคนที่อดอยากหิวโหยคนเป็นเอดส์จึงต้องมาอยู่วัด
คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป
วัตถุประสงค์หลักของโครงการธรรมรักษ์ฯ คือมุ่งหวังให้สังคมมีเมตตาธรรมและมนุษยธรรมต่อผู้ป่วยเอดส์… วันนี้ถึงเป้าหมายนั้นแล้วหรือยังคะ
โรคเอดส์เป็นเรื่องของความป่วยไข้ที่ลุกลามไปเป็นอคติของสังคม คนเป็นเอดส์ถูกรังเกียจ ถูกมองว่ามีพฤติกรรมทางเพศไม่ดี สำส่อน สังคมเราไม่ให้อภัย ไม่ให้โอกาส ถึงได้มีคนทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าแต่ยังดีที่ยี่สิบปีที่ผ่านมา คนไทยเปลี่ยนไปเยอะ ทุกปีจะมีคนมาที่วัดประมาณสองแสนคน มาทำบุญ มาช่วย เพราะเขาข้ามผ่านอคติไปแล้ว
หลวงพ่ออยากฝากไว้ว่า ก่อนจะตัดสินใคร ให้ถามตัวเองว่า เราดีที่สุดแล้วหรือยัง ดีทุกอย่างแล้วหรือเปล่า ในโลกนี้ไม่มีใครดีที่สุดหรอก และจะบอกว่าใครเลวทุกอย่าง มันก็ไม่ใช่
คนเลวคนหนึ่งวันนี้ ถ้าพรุ่งนี้ทำดีเขาก็เปลี่ยนเป็นคนดีได้ ขณะเดียวกันคนดีในวันนี้ พรุ่งนี้มันก็เลวได้ นี่คือความไม่เที่ยงแท้ของมนุษย์
ความถูกผิดดีชั่วนั้นไม่มีอะไรแน่นอนจะมาตีกรอบตีเส้นไม่ได้หรอก ถ้าสังคมมีคนเลว เราต้องช่วยให้เขาเปลี่ยนเป็นคนดีอย่าเพิ่งไปมองว่าเป็นหน้าที่ของใคร ว่าเรื่องนั้นเป็นหน้าที่ของคนนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของคนนี้ เวลาเห็นขยะเกลื่อนอยู่ข้างทาง เรามักจะคิดก่อนเลยว่า ทำไมเทศบาลไม่มาเก็บขยะ แทนที่เราจะเก็บไปทิ้งเสียเองเพื่อให้สังคมสะอาด…คนส่วนใหญ่ก้าวข้ามเส้นนี้ไม่ได้
ถ้าเรามองที่ประโยชน์ของสาธารณะหรือสังคม เราจะพบบทบาทที่เหมาะสมของตัวเอง ถามว่าหลวงพ่อดูแลผู้ป่วยเอดส์มันแปลกไหม ไม่แปลกหรอกลูก…แค่มันถูกมองข้าม หลวงพ่อหาตัวเองเจอว่าเราอยู่ตรงนี้เราจะทำอะไรได้บ้าง ใครไม่เก็บ เราก็เก็บเพราะมันก็เป้าหมายเดียวกัน ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ หลวงพ่อว่าโลกมันจะน่าอยู่มากขึ้น
จากเดิมที่วัดดูแลเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้าย สังเกตว่าตอนนี้มีทั้งโรงเรียน บ้านเด็ก บ้านพักคนชรา
ในความเหน็ดเหนื่อยจากการทำกิจต่างๆ เคยมีความท้อใจปะปนมาบ้างไหมคะ
เรายินดีในสิ่งที่เราเป็นนะลูก ทุกเรื่องที่เกิดขึ้น โครงการต่าง ๆ ที่หลวงพ่อทำ มันดำเนินของมันไปตามเหตุตามปัจจัย เมื่อเราประเมินแล้วว่าเราทำดี แม้ไม่ได้คะแนนเต็ม 100 อาจจะได้แค่ 70 - 80 คะแนน ก็ถือว่าเราสอบผ่าน แต่ถ้าคนไปมองส่วนที่ยังบกพร่อง เขาก็มองว่าเราไม่ดี ตรงนี้เป็นธรรมดาของโลก ที่สุดก็ทำให้เรามีดวงตาเห็นธรรมว่า ตราบใดที่เราอยู่ในโลก มันไม่มีทางหนีพ้นหรอก คนสรรเสริญ คนนินทา โลกนี้มันก็เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่จะต้องเจอสิ่งที่ตรงข้าม เจอความขัดแย้งแตกต่าง และก่อให้เกิดความทุกข์
หากเราจะยืนหยัดอยู่ตรงนี้ ก็ต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแน่ ๆ จะไปบอกทุกคนว่าอย่ามาตำหนิติเตียนเราเลย ก็คงไม่ได้ จะไม่ให้ลิงมากินลูกโพธิ์ ก็คงไม่ได้จะไม่ให้งูมากินไข่นกพิราบที่ทำรังอยู่บนต้นโพธิ์ ก็คงไม่ได้ แต่สัตว์ทั้งหลายคงไม่ทำให้ต้นโพธิ์ล้มลง คงมีกิ่งหักกิ่งร่วงบ้างเป็นธรรมดา ดีที่ว่าต้นโพธิ์มีรากที่แข็งแกร่งและสามารถยืนหยัดได้ทุกฤดูกาล
แม้ในบางฤดู ต้นโพธิ์อาจไม่เหลือใบแม้สักใบ แต่ต้นโพธิ์ไม่เคยตาย…ไม่ตายจากศรัทธาที่เรามี
Secret Box
โดยสาระจริง ๆ ของชีวิต
มนุษย์อยู่กันด้วยความรัก
ภาษาพระคือความเมตตา
– หลวงพ่ออลงกต ติกฺขปญฺโญ –
เรื่อง อิสระพร บวรเกิด ภาพปก วรวุฒิ วิชาธร ภาพประกอบ วรวุฒิ วิชาธร, พีรพันธุ์ วิจิตรไกรวิน, รมิดา ธนานวพรรษ