โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง-นอนไม่หลับ-เครียด

การเยียวยาจิตใจ : โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD)

การเยียวยาจิตใจ : โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD)

หลังการเกิดเหตุร้ายแรงต่างๆ อย่างที่เพิ่งเกิดเหตุการณ์โรงงานระเบิดขึ้น นอกเหนือไปจากความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบ้าน ทรัพย์สิน และร่างกาย ของผู้ประสบเหตุหรือผู้เคราะห์ร้ายแล้ว จิตใจก็ถือว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ได้รับผลกระทบไปไม่น้อยกว่ากัน ซึ่งหากว่าคนผู้นั้นเผชิญกับเหตุการณ์โดยตรงหรือเห็นเหตุการณ์ที่น่าหวาดหวั่นด้วยตัวเอง ก็อาจจะทำให้เก็บเอาไปฝันร้าย เห็นภาพหลอน นอนไม่หลับ เครียดง่าย เพราะรู้สึกกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นอีกครั้ง จนอาจส่งผลกระทบต่อการใช้การทำงาน การใช้ชีวิต และการเข้าสังคม

เครียด-ความกลัว-นอนไม่หลับ

สิ่งที่ว่ามานี้เป็นอาการของโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง หรือ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) มักจะแสดงอาการหลังจากผ่านเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ แต่ในบางกรณีก็อาจจะแสดงอาการหลังจากผ่านเวลาไปนานหลายเดือนจนถึงเป็นปี

สาเหตุของโรคนี้ยังไม่แน่ชัดเท่าไหร่นัก แต่อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกันเช่นเดียวกับภาวะทางจิตใจอื่น ๆ ทั้งปัจจัยทางร่างกายและสภาวะเหตุการณ์ในชีวิต ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันอย่างการตกงาน การสอบไม่ผ่าน หรือการหย่าร้าง แต่อาจเป็นเหตุการณ์ที่ตึงเครียด น่ากลัว หรือกระทบกระเทือนจิตใจอย่างมาก

ความเครียด-ความวิตกกังวล

สำหรับการเยียวยาจิตใจหรือการรักษาโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง ในเบื้องต้นผู้ที่ประสบเหตุการณ์ร้ายแรง ต้องเรียนรู้วิธีรับมือและจัดการกับความเครียดด้วยตนเอง พูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ที่มีประสบการณ์คล้ายกัน พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์

ถ้าเป็นเด็กก็ต้องจัดสิ่งแวดล้อมให้สงบ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางจิตใจ ผู้ปกครองต้องรับฟังและสอนวิธีคลายเครียดเบี่ยงเบนความสนใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพูดให้กำลังใจอยู่เสมอ

แต่หากผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า ไบโพล่า มีอาการทางจิต หรือเคยประสบเหตุการณ์ร้ายแรงมาแล้ว ต้องเจอกับเหตุการณ์ร้ายแรงที่คล้ายกับเหตุการณ์ในอดีต คนใกล้ชิดควรพาไปพบจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการ รับคำปรึกษา เพื่อให้สามารถรักษาได้อย่างถูกวิธี

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม 

Posted in NEWSTAGGED :
BACK
TO TOP
Tanatat
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.