มีเพื่อนเยอะๆ ดีกว่าการมีเพื่อนน้อยๆ จริงหรือ?
ถ้ามีเพื่อนเยอะๆ แล้วเพื่อนเหลานั้นเข้ากันได้ดีกับเรา ก็ถือว่าคุณเป็นคนโชคดี แต่หากมีเพื่อนเยอะกลายเป็นการฝืนใจ ฝืนอยู่กับคนที่ไม่ชอบจะทำให้เราเหนื่อยใจ เพราะไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่ถึงอย่างนั้นก็กลับหลอกตัวเองว่า ‘อย่างน้อยก็ดีกว่าอยู่คนเดียว’ คิดแบบนี้ดีจริงหรือ?
หลายคนคิดว่า คนที่อยู่คนเดียวคือคนที่น่าสงสาร ไม่มีเพื่อนเลยคงเหงาน่าดู การอยู่เดียวดูเหมือนเป็นคนเก็บตัวไม่น่าคบหา คนที่ไม่มีเพื่อนเลยหรือมีเพื่อนน้อย คือคนที่มนุษยสัมพันธ์ไม่ดี ความคิดที่เป็นแรงกดดันเช่นนี้ ทำให้หลายๆ คนต้องคบหาเพื่อนเยอะๆ เข้าไว้ เข้าหาผู้อื่นเสมอ เอาอกเอาใจผู้อื่นตลอดเวลา ใครชวนไปไหนก็ไป ใครอยากให้ทำอะไรก็ทำทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความต้องการของตัวเอง เพียงแต่คิดว่า กลัวถูกเกลียด กลัวถูกเมิน และเมื่อฝืนใจบ่อยเข้า ก็จะเริ่มรู้สึกเหนื่อยใจ อึดอัดใจ จนอาจสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองได้
แม้หลายคนอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น และยังมีความสุขกับการได้อยู่กับเพื่อนมากมาย แต่ความคิดที่ว่า ‘คนเราต้องมีเพื่อนเยอะๆ’ ก็ไม่ใช่ความที่ถูกต้อง เพราะการมีเพื่อนไม่ได้วัดกันที่ปริมาณแต่วัดกันที่คุณภาพในการคบกัน
ในชีวิตนี้คุณอาจได้พบเจอคนมากมาย ที่อาจได้พัฒนาจากคนรู้จักมาเป็นเพื่อน คุณอาจมีเพื่อนเป็นสิบหรือยี่สิบคนก็ได้ แต่สุดท้ายแล้ว ทัศนะคติ ความคิดเห็น ลักษณะนิสัยบางอย่าง จะช่วยคัดกรองเพื่อนให้แก่เรา
คนที่คิดเห็นไม่ตรงกัน ก็มีแต่จะห่างกันออกไป จะเหลือก็เพียงคนที่เข้ากับเราได้ดี ซึ่งอาจจะเหลือเพียง 2-3 คนที่เราเรียกว่า ‘เพื่อนคุณภาพดี’
เพื่อนที่มีคุณภาพดี ก็คือ เพื่อนที่เราสามารถหัวเราะและร้องไห้ไปด้วยกันได้ สามารถแสดงความคิดเห็นหรือขอคำแนะนำได้โดยไม่รู้สึกประหม่า หากคุยกันได้ทุกเรื่อง หรือแม้แต่นั่งฟังเรื่องของอีกฝ่ายอย่างไม่รำคาญใจ ไม่ว่าจะเพิ่งรู้จักกันเมื่อไม่นาน หรือใช้เวลาสร้างสัมพันธ์มาหลายปี หากเขามีคุณสมบัติแบบนั้นแม้มีเพียงคนเดียว ก็ถือว่าเพื่อนคนนั้นคือเพื่อนที่คุณควรเก็บรักษาเขาไว้
หากตอนนี้คุณมีเพื่อนมากมาย แต่ทุกครั้งที่อยู่ด้วยกันกลับอึดอัดใจ ไม่กล้าบอกเพื่อนว่า ไม่ชอบ ไม่อยากทำ ไม่อยากไป นั่นหมายความว่า คุณแค่กลัวการถูกเกลียด
ทั้งที่จริงแล้วในใจคุณก็คิดว่า ‘เพื่อนแบบนี้ไม่มีก็ได้’ แต่คุณก็ไม่อยากตัดสัมพันธ์กับพวกเขา ยังมีเรื่องบางอย่างที่ต้องพึ่งพาและขอคำแนะนำจากเขาอยู่ หรือเป็นเพื่อนร่วมงานที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ควรทำคือ คุยกันเฉพาะเรื่องจำเป็น ถ้าเขาเป็นเพื่อนร่วมงาน ก็คุยกันแค่เรื่องงานเท่านั้น เลี่ยงการไปไหนมาไหนด้วยกัน มีข้ออ้างที่จำเป็นไว้เสมอ
นอกจากนี้ ทุกวันนี้เราสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องการทำงานจากอินเทอร์เน็ตและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ได้ เช่น ถ้าเราต้องการเปิดร้านค้าขายของ แต่เพื่อนของเราไม่มีประสบการณ์ด้านนั้น เราก็เพียงใช้บริการจากบริษัทผู้เชี่ยวชาญ หรือปรึกษาคนที่มีประสบการณ์ประสบความสำเร็จมาก่อน
จะเห็นได้ว่า คนที่เราจะปรึกษาด้วยหรือแก้ไขปัญหาให้เราได้นั้น อาจไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนก็ได้ แต่คนเหล่านั้นอาจจะพัฒนามาเป็นเพื่อนที่มีคุณภาพของเราภายหลังก็ได้นะ
ข้อมูลประกอบจากหนังสือ เลิกเป็นคนดีแล้วจะมีความสุข
เขียนโดย โกะโด โทคิโอะ
สำนักพิมพ์ Amarin How-To